ระบบอัตโนมัติและเทคโนโลยีใหม่เป็นสิ่งที่สนับสนุนอนาคตด้านกลาโหมของญี่ปุ่น
มาร์ค เจคอบ พรอสเซอร์
แผนของญี่ปุ่นที่จะเพิ่มการใช้จ่ายด้านกลาโหมเป็นร้อยละ 2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศภายใน พ.ศ. 2570 เกิดขึ้นเมื่อประเทศเผชิญกับความท้าทายด้านความมั่นคงที่ร้ายแรง นั่นคือ สังคมผู้สูงอายุและการลดลงของประชากร
ใน พ.ศ. 2537 พลเมืองญี่ปุ่นอายุระหว่าง 18 ถึง 26 ปีมีจำนวน 17 ล้านคน ซึ่งเป็นแกนหลักของกองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่น ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2564 จำนวนพลเมืองในช่วงอายุดังกล่าวลดลงเหลือเพียง 10.5 ล้านคนเท่านั้น นอกจากนี้ กองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่นยังเผชิญกับการแข่งขันจากภาคเอกชนในการสรรหาผู้ที่อาจเป็นสมาชิกอีกด้วย
ส่วนหนึ่งของคำตอบตามที่ระบุไว้ในโครงการเสริมสร้างศักยภาพการป้องกันประเทศที่แก้ไขเมื่อเร็ว ๆ นี้ คือ การมุ่งเน้นไปยังเทคโนโลยีใหม่ ๆ และระบบอัตโนมัติเพิ่มขึ้น ญี่ปุ่นให้คำมั่นว่าจะส่งเสริมระบบอัตโนมัติ มาตรการประหยัดแรงงาน และการเพิ่มประสิทธิภาพอย่างจริงจัง เพื่อแก้ไขปัญหาประชากรสูงอายุและอัตราการเกิดที่ลดลง
“เทคโนโลยีใหม่และระบบอัตโนมัติสามารถสร้างความแตกต่างเชิงบวกให้กับทุกหน้าที่ในกองกำลังป้องกันของญี่ปุ่น รวมถึงข่าวกรอง ปฏิบัติการ การส่งกำลังบำรุง การบังคับบัญชาและการควบคุม” นายโนโซมุ โยชิโทมิ อาจารย์ประจำวิทยาลัยการจัดการความเสี่ยงแห่งมหาวิทยาลัยนิฮอนและเสนาธิการผู้เกษียณอายุของกองกำลังป้องกันตนเองภาคพื้นดินญี่ปุ่น กล่าวกับ ฟอรัม
การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลจะเป็นกุญแจสำคัญ ตามที่นายเจมส์ อองเฌลุส ประธานสภาอุตสาหกรรมความปลอดภัยระหว่างประเทศในญี่ปุ่น กล่าว
“อนาคตด้านกลาโหมจำเป็นต้องอาศัยนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเชื่อมโยงผู้คนกับแนวคิด กลยุทธ์ และการปฏิบัติการ อีกทั้งยังช่วยให้สามารถตัดสินใจและปรับใช้ได้อย่างรวดเร็ว” นายอองเฌลุส กล่าวกับ ฟอรัม โดยเสริมว่าวลีที่เป็นกระแสโดย พล.อ.ชาร์ลส์ บราวน์ จูเนียร์ กองทัพอากาศสหรัฐ เหมาะสำหรับญี่ปุ่น นั่นคือ “เร่งรัด เปลี่ยนแปลง หรือสูญเสีย”
ญี่ปุ่นได้บูรณาการระบบอัตโนมัติและเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อนำทางภูมิทัศน์ภัยคุกคามในอินโดแปซิฟิก
นายโยชิโทมิได้ชี้ให้เห็นเรือฟริเกตชั้นโมกามิ (ภาพ) เป็นตัวอย่าง เรือปฏิบัติหลายภารกิจของกองกำลังป้องกันตนเองทางทะเลของญี่ปุ่นมีความสามารถในการซ่อนเร้น และสามารถใช้งานยานใต้น้ำและผิวน้ำแบบไร้คนขับได้ ระบบอัตโนมัติขั้นสูงช่วยลดความจำเป็นของลูกเรือในห้องควบคุมเรือ ห้องควบคุมเครื่องยนต์ และศูนย์ข้อมูลการสู้รบ โดยรวมเอาเทคโนโลยีความเป็นจริงเสริมมาปรับใช้
ยุทโธปกรณ์ดังกล่าวสนับสนุนความสามารถของญี่ปุ่นในการยับยั้งความมุ่งร้ายในภูมิภาค ซึ่งมีประเทศต่าง ๆ เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีนและเกาหลีเหนือ ที่ได้แสดงท่าทีเชิงรุกรานและก้าวร้าวมากขึ้นเรื่อย ๆ
ปัญญาประดิษฐ์ โดรน และเทคโนโลยีอื่น ๆ ได้รับการนำมาใช้เพื่อสนับสนุนการประมวลผลข้อมูลและการตัดสินใจ สถานีเรดาร์ เรือ เรือดำน้ำ และระบบป้องกันที่สำคัญอื่น ๆ ในอนาคตจะมีความจำเป็นต้องใช้ลูกเรือน้อยลง
ในทำนองเดียวกัน รูปแบบของสงครามสมัยใหม่จำเป็นต้องพึ่งพาระบบที่เป็นอิสระและอัตโนมัติเพิ่มขึ้น การทดสอบขีปนาวุธหลายระลอกของเกาหลีเหนือส่งผลให้ญี่ปุ่นต้องวิเคราะห์และตอบสนองต่อการยิงโดยแทบไม่มีการเตือนล่วงหน้าเลยแม้แต่น้อย ซึ่งการวิเคราะห์และตอบสนองจำเป็นต้องใช้การบูรณาการและการแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างรวดเร็วระหว่างอุปกรณ์ข่าวกรองและระบบป้องกันขีปนาวุธ
การปรับใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ จะช่วยให้เกิดระบบอิสระและอัตโนมัติมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยให้ตัดสินใจได้เร็วขึ้นอีกด้วย การรับรองว่าระบบใหม่ ๆ จะมีข้อมูลที่จำเป็นในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพในสภาพแวดล้อมที่มีการแข่งขันสูงและตัวแปรที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจะเป็นเป้าหมายหลักสำหรับรัฐบาลญี่ปุ่น
นายอองเฌลุสและนายโยชิโทมิได้เน้นย้ำว่า ความพยายามในการเพิ่มระบบอัตโนมัติและปรับใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ในกองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่นยังจำเป็นต้องมีกลุ่มผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการฝึกอบรม ตลอดจนการปรับปรุงในวงกว้างทั่วทั้งโครงสร้างพื้นฐานด้านการป้องกันอีกด้วย
มาร์ค เจคอบ พรอสเซอร์ เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของ ฟอรัม รายงานจากกรุงโตเกียว
ภาพจาก: รอยเตอร์