พันธมิตรและหุ้นส่วนในอินโดแปซิฟิกร่วมกันรักษาสิทธิในการเดินเรือ รับรองเส้นทางคมนาคมทางทะเลทั่วโลกที่ปลอดภัยและเปิดกว้าง
เจ้าหน้าที่ ฟอรัม
สหรัฐอเมริกาพร้อมด้วยพันธมิตรและหุ้นส่วนของตนยังคงมีส่วนร่วมในกิจกรรมด้านความมั่นคงทางทะเลเพื่อปกป้องน่านน้ำสากลและเส้นทางคมนาคมทางทะเลทั่วโลกที่สำคัญ
ตัวอย่างเช่น ประเทศไทยและสหรัฐฯ ได้จัดการฝึกผสานความร่วมมือและความพร้อมทางเรือ หรือ กะรัต ครั้งที่ 29 และการฝึกทางทะเลในประเทศไทยเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2566 ซึ่งประกอบด้วยการฝึกซ้อมปราบปรามเรือดำน้ำ การฝึกปฏิบัติการตรวจค้นเรือ และการตระหนักรู้ในขอบเขตทางทะเลเป็นเวลาห้าวัน
“ในฐานะที่ทั้งสองประเทศเป็นประเทศที่มีพื้นที่ติดทะเล ซึ่งเข้าใจบทบาทสำคัญในการปกป้องทะเลและอธิปไตยของเรา บทเรียนที่เราได้เรียนรู้ที่นี่จะเสริมสร้างความสามารถของเราในการสร้างเสถียรภาพระหว่างประเทศและส่งเสริมให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองของโลก” น.ท. ริชาร์ด สกินเนลล์ แห่งกองทัพเรือสหรัฐฯ ผู้บังคับการเรือประจัญบาน ยูเอสเอส โมบาย กล่าว ซึ่งเข้าร่วมในการฝึกทางทะเลในอ่าวไทยพร้อมกับเรือฟริเกตของกองทัพเรือไทย เรือหลวงนเรศวร เรือหลวงบางปะกง และเรือหลวงกระบุรี
ชุดการฝึกกะรัต/การฝึกทางทะเลช่วยเสริมสร้างความเข้าใจทางทะเล ความร่วมมือ การทำงานร่วมกัน และการรักษาความปลอดภัย (ภาพ: นาวิกโยธินศรีลังกาและสหรัฐฯ เตรียมความพร้อมสำหรับการฝึกปฏิบัติการตรวจค้นเรือระหว่างการฝึกกะรัต/การฝึกทางทะเลในประเทศศรีลังกา ประจำ พ.ศ. 2566)
นอกจากนี้ พันธมิตรและหุ้นส่วนอื่น ๆ ได้แก่ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสหราชอาณาจักรยังตระหนักถึงความสำคัญของการควบคุมทางทะเลของกองทัพเรือ
การปกป้องเส้นทางคมนาคมทางทะเลเป็นการรับรองว่าเส้นทางน้ำยังคงเปิดกว้างสำหรับทุกประเทศ รวมทั้งได้รับการปกป้องคุ้มครองจากการมุ่งร้ายและการค้าที่ไม่เป็นกลาง การควบคุมทางทะเลที่มีประสิทธิภาพช่วยรักษาสิทธิในการเดินเรือ ป้องกันการแทรกแซงโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และอาจปฏิเสธการใช้งานช่องแคบของศัตรู ตลอดจนเส้นทางคับแคบอื่น ๆ ที่เชื่อมระหว่างมหาสมุทรและเส้นทางเดินเรือหลักเพื่อการค้าและวัตถุประสงค์อื่น ๆ
กองกำลังพันธมิตรและหุ้นส่วนกำลังปฏิบัติการร่วมมือกันเพื่อตอบโต้ความพยายามในการบ่อนทำลายการกำกับดูแลทางทะเลระหว่างประเทศ กีดกันการเข้าถึงศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ และยับยั้งเสรีภาพทางทะเล การปฏิบัติต่าง ๆ ดังเช่น การแทรกแซงโดยมิชอบด้วยกฎหมายต่อสิทธิในเขตเศรษฐกิจพิเศษของรัฐ กระทำการอ้างสิทธิทางทะเลที่เกินขอบเขต และยั่วยุให้เกิดการตอบโต้ที่เป็นอันตรายระหว่างเรือและอากาศยานที่ปฏิบัติการอย่างถูกต้องตามกฎหมายในน่านน้ำหรือน่านฟ้าสากลทั้งหมดล้วนเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ
พรรคคอมมิวนิสต์จีนยังคงดำเนินกิจกรรมทางทหารที่ยั่วยุ รวมทั้งในทะเลฟิลิปปินส์ตะวันตก ช่องแคบไต้หวัน และใกล้กับน่านน้ำของญี่ปุ่น เพื่อคุกคามการขนส่งเชิงพาณิชย์และกิจกรรมทางทะเลอื่น ๆ ของประเทศเพื่อนบ้าน
นอกจากนี้ สาธารณรัฐประชาชนจีนยังคงดำเนินการบีบบังคับและข่มขู่ประเทศต่าง ๆ โดยทำการอ้างสิทธิ์ทางทะเลที่เกินขอบเขต ตลอดจนสร้างสิ่งปลูกสร้างเทียมและด่านทหารในอาณาเขตที่เป็นข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ ตัวอย่างเช่น รัฐบาลจีนได้ทำการแทรกแซงซ้ำแล้วซ้ำเล่าในภารกิจการส่งเสบียงของฟิลิปปินส์ไปยังสันดอนสกาโบโรห์ในเขตเศรษฐกิจพิเศษของรัฐบาลฟิลิปปินส์ ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 เรือของกองกำลังรักษาชายฝั่งจีนเล็งเป้าเลเซอร์ที่ได้มาตรฐานทางทหารไปยังเรือของกองกำลังรักษาชายฝั่งฟิลิปปินส์ที่อยู่ใกล้กับสันดอนอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งส่งผลให้ลูกเรือสูญเสียทัศนวิสัยชั่วขณะ
สหรัฐฯ ได้ยืนยันว่า การโจมตีด้วยอาวุธต่อกองทัพฟิลิปปินส์ อากาศยาน หรือเรือของรัฐบาลในทะเลจีนใต้จะเป็นการเรียกร้องให้ปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาร่วมกันด้านกลาโหมระหว่างสหรัฐฯ กับฟิลิปปินส์
นอกจากการปรับปรุงข้อตกลงด้านกลาโหมแล้ว ประเทศที่มีอุดมการณ์เดียวกันยังทำงานร่วมกันเพื่อเสรีภาพในการเดินเรือเป็นประจำผ่านช่องทางเดินเรือที่สำคัญ ตลอดจนการฝึกซ้อมของกองทัพเรือระดับพหุชาติ เช่น บาลิกาตัน ไอร์ออน ฟิสต์ การูด้าชิลด์ ริมออฟเดอะแปซิฟิก และการฝึกความร่วมมือและการฝึกผสมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เนื่องด้วยช่องแคบและเส้นทางคมนาคมทางทะเลมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจโลก สหรัฐฯ พร้อมด้วยพันธมิตรและหุ้นส่วนจึงดำเนินการฝึกซ้อมต่าง ๆ เช่น การฝึกกะรัต/การฝึกทางทะเล ประจำ พ.ศ. 2566 ที่ประเทศไทย เพื่อรับรองว่าเส้นทางน้ำยังคงเปิดกว้างสำหรับการค้าและเสรีภาพในการเดินเรือ และได้รับการคุ้มครองจากการมุ่งร้ายและการขนส่งสินค้าสนับสนุนการทำสงครามของศัตรู
“การฝึกครั้งนี้ยังคงเป็นแบบอย่างของความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯ และไทยที่มีความซับซ้อนมากขึ้น รวมทั้งช่วยให้กองทัพเรือของเราสามารถปรับปรุงการปฏิบัติการและยุทธวิธีเพื่อรับมือกับความท้าทายที่เกิดขึ้นใหม่” พล.ร.ต. เดเร็ค ทรินเก้ ผู้บัญชาการหน่วยปฏิบัติการเฉพาะกิจที่ 76/3 และกองกำลังเฉพาะกิจร่วมกลุ่มกะรัต กล่าวระหว่างพิธีเปิด “ประเทศไทยเป็นพันธมิตรในสนธิสัญญาที่เก่าแก่ที่สุดของอเมริกาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และการฝึกกะรัตเป็นการแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นอย่างแน่วแน่ของสหรัฐฯ ที่มีต่อประเทศไทยรวมถึงพันธมิตรและหุ้นส่วนที่มีอุดมการณ์เดียวกัน เพื่อสนับสนุนอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง ซึ่งจะคอยรักษาสันติภาพ ความเจริญรุ่งเรือง และความมั่นคงในภูมิภาค”
ภาพจาก: ส.อ. เควิน จี. ริวาส/นาวิกโยธินสหรัฐฯ