การป้องปรามแบบบูรณาการทรัพยากรส่วนรวมของโลกประเทืองปัญญา

พบกับ แมลงสาบไซบอร์กของญี่ปุ่น ที่จะคลานเข้าสู่ภัยพิบัติที่คุณได้ประสบ

เรื่องและภาพโดย รอยเตอร์

หากเกิดแผ่นดินไหวขึ้นในอนาคตอันใกล้แล้วมีผู้รอดชีวิตติดอยู่ใต้ซากปรักหักพัง สิ่งแรกที่ค้นพบผู้รอดชีวิตเหล่านั้นอาจเป็นฝูงแมลงสาบไซบอร์ก นี่ถือเป็นการประยุกต์ใช้ศักยภาพของความก้าวหน้าล่าสุดของนักวิจัยชาวญี่ปุ่นที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการติดตั้งเซลล์แสงอาทิตย์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบ “กระเป๋าเป้” บนตัวแมลงเพื่อควบคุมการเคลื่อนไหวของแมลงจากระยะไกล

นายเคนจิโระ ฟุคุดะ และทีมงานที่ห้องปฏิบัติการ ทิน-ฟิล์มดิ ไวซ์ แล็บโบราโทรี แห่งริเคน บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านการวิจัยของญี่ปุ่น ได้พัฒนาฟิล์มเซลล์แสงอาทิตย์ที่มีความยืดหยุ่น โดยมีความหนาเพียง 4 ไมครอน ความกว้างประมาณ 1 ใน 25 ของเส้นผมมนุษย์ และสามารถติดตั้งเข้ากับท้องของแมลงได้พอดี ฟิล์มดังกล่าวช่วยให้แมลงสาบเคลื่อนที่ได้อย่างอิสระ ในขณะเดียวกันเซลล์แสงอาทิตย์ก็สร้างพลังงานได้เพียงพอที่จะประมวลผลและส่งสัญญาณบังคับทิศทางไปยังอวัยวะรับความรู้สึกที่อยู่บนส่วนหลังของแมลง

งานวิจัยนี้พัฒนามาจากการทดลองควบคุมแมลงที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยางในสิงคโปร์ และได้ผลลัพธ์เป็นการที่แมลงไซบอร์กสามารถเข้าไปในพื้นที่อันตรายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าหุ่นยนต์ “แบตเตอรี่ภายในหุ่นยนต์ขนาดเล็กหมดลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้นเวลาในการสำรวจจึงสั้นลงตามไปด้วย” นายฟุคุดะกล่าว ประโยชน์หลัก ๆ ของแมลงไซบอร์ก “คือการเคลื่อนไหวของแมลง โดยแมลงจะเคลื่อนที่ไปมาด้วยตัวเอง ดังนั้นกระแสไฟฟ้าที่ต้องใช้จึงไม่มากเท่าหุ่นยนต์ทั่วไป”

นายฟุคุดะและทีมงานเลือกใช้แมลงสาบมาดากัสการ์สำหรับการทดลอง เนื่องจากมีขนาดใหญ่เพียงพอที่จะติดตั้งอุปกรณ์และไม่มีปีกคอยขวางทาง แม้จะมีกระเป๋าเป้และฟิล์มติดอยู่ที่หลัง ทว่าแมลงสาบเหล่านี้สามารถข้ามผ่านสิ่งกีดขวางขนาดเล็กหรือพลิกตัวกลับได้เมื่อตัวเองเกิด
การพลิกคว่ำ

ถึงกระนั้น งานวิจัยดังกล่าวยังมีเส้นทางอีกยาวไกล จากที่ได้แสดงให้เห็นเมื่อไม่นานมานี้ นายยูจิโระ คาเคอิ นักวิจัยที่ริเคน ได้ใช้คอมพิวเตอร์เฉพาะทางและสัญญาณบลูทูธในการสั่งให้แมลงสาบไซบอร์กเลี้ยวซ้าย ซึ่งทำให้แมลงสาบตัวนั้นตะเกียกตะกายไปในทิศทางดังกล่าว ทว่าเมื่อได้รับสัญญาณ “เลี้ยวขวา” แมลงสาบกลับหมุนเป็นวงกลม ความท้าทายถัดไปคือการย่อส่วนประกอบให้เล็กลงเพื่อให้แมลงสามารถเคลื่อนที่ไปมาได้ง่ายขึ้น รวมถึงสามารถติดตั้งเซ็นเซอร์และกล้องได้อีกด้วย นายคาเคอิ กล่าวว่า เขาสร้างกระเป๋าเป้ด้วยชิ้นส่วนที่มีมูลค่า 35 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1,200 บาท) ที่หาซื้อได้ในย่านเครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างอากิฮาบาระที่มีชื่อเสียงของโตเกียว

กระเป๋าเป้ดังกล่าวและฟิล์มสามารถถอดออกได้ ซึ่งทำให้แมลงสาบสามารถกลับไปใช้ชีวิตอีกครั้งในห้องจำลองระบบนิเวศของห้องปฏิบัติการ แมลงจะโตเต็มที่ในสี่เดือน และจะมีชีวิตอยู่ได้นานถึงห้าปีในสภาวะแบบปิด

นอกเหนือจากแมลงสำหรับการช่วยเหลือด้านภัยภัยพิบัติแล้ว นายฟุคุดะได้เห็นการประยุกต์ใช้งานที่หลากหลายสำหรับฟิล์มเซลล์แสงอาทิตย์ ซึ่งประกอบด้วยชั้นพลาสติก เงิน และทองในระดับจุลภาค โดยสามารถสร้างขึ้นในรูปแบบเสื้อผ้าหรือแผ่นแปะผิวหนังเพื่อติดตามสัญญาณชีพ สำหรับวันที่มีแดด ร่มกันแดดที่เคลือบด้วยวัสดุดังกล่าวจะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากเพียงพอที่จะชาร์จโทรศัพท์มือถือ

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button