ปาปัวนิวกินีและสหราชอาณาจักรกระชับความสัมพันธ์ด้านกลาโหม

เบนาร์นิวส์
ปาปัวนิวกินีและสหราชอาณาจักรได้ลงนามในข้อตกลงด้านความมั่นคงที่เห็นพ้องกันเมื่อปลายเดือนเมษายน พ.ศ. 2566 เพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์ด้านกลาโหมระหว่างสองประเทศ
ข้อตกลงเกี่ยวกับสถานะของกองทัพ ซึ่งเป็นสนธิสัญญาที่ปาปัวนิวกินีและสหราชอาณาจักรใช้ร่วมกันเพื่อกําหนดกฎเกณฑ์สําหรับบุคลากรทางทหารจากต่างประเทศในการปฏิบัติงานในประเทศใดประเทศหนึ่ง เป็นข้อตกลงที่ลงนามโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองประเทศในพอร์ตมอร์สบี และเป็นข้อตกลงที่เกิดขึ้นในขณะที่สาธารณรัฐประชาชนจีนพยายามเพิ่มอิทธิพลในภูมิภาค
นายจัสติน คัตเชนโก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศปาปัวนิวกินี กล่าวว่า ข้อตกลงดังกล่าวมีลักษณะเนื้อหาที่กว้างและกองทัพของสหราชอาณาจักรกำลังฝึกร่วมกับกองกำลังของประเทศในมหาสมุทรแปซิฟิกแล้ว
“นี่คือการเสริมสร้างและกระชับความสัมพันธ์ของเราในด้านการป้องกันประเทศ” นายคัตเชนโกกล่าว “สิ่งนี้จะช่วยให้เราสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ง่ายขึ้นเมื่อจัดการกับเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันประเทศ การฝึกอบรม และสิ่งอื่น ๆ อีกมากมาย”
ปาปัวนิวกินีได้ลงนามข้อตกลงด้านความมั่นคงและด้านกลาโหมกับออสเตรเลียเมื่อต้น พ.ศ. 2566 และกำลังเจรจาข้อตกลงความร่วมมือด้านกลาโหมกับสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ เป็นภาคีในข้อตกลงด้านความมั่นคงที่เรียกว่า อูกัส ประเทศต่าง ๆ ดังกล่าวได้ตกลงที่จะจัดหาเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ให้แก่ออสเตรเลีย ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวที่เชื่อกันว่ามีเป้าหมายเพื่อยับยั้งรัฐบาลจีน
ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา จีนเป็นแหล่งการค้า โครงสร้างพื้นฐาน และความช่วยเหลือของประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิก เนื่องจากจีนพยายามที่จะใช้วิธีการทางการทูตแยกไต้หวันออกจากประเทศอื่น ๆ และสร้างพันธมิตรในองค์กรระหว่างประเทศ
โดยประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิกหวังว่าจะได้รับประโยชน์จากความสนใจของสหรัฐฯ ที่มีต่อภูมิภาคนี้อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ในขณะที่รัฐบาลสหรัฐฯ และรัฐบาลจีนแข่งขันกันเพื่ออิทธิพล ประเทศเหล่านั้นก็แสวงหาความสมดุลมากขึ้นเรื่อย ๆ
นายเจมส์ เคลเวอร์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักร กล่าวว่า ข้อตกลงที่ลงนามร่วมกับปาปัวนิวกินีสะท้อนให้เห็นถึงผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของทั้งสองฝ่าย “ความมั่นคงของมิตรสหายก็คือความมั่นคงของเรา” นายเคลเวอร์ลีกล่าว “โลกกําลังกลายเป็นสถานที่ที่เล็กลงเรื่อย ๆ และความเสี่ยงด้านความมั่นคงอาจมาจากฝ่ายใดก็ได้ หรืออาจมาจากหลายปัจจัยและหลายสิ่งหลายอย่างที่เราไม่คาดคิดมาก่อน”
นายคัตเชนโกกล่าวว่า ข้อตกลงนี้ไม่ใช่การตอบสนองต่อจีนโดยตรง แต่เพื่อตอบสนองต่อความท้าทายด้านความมั่นคงหลายประการในภูมิภาคตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปจนถึงความมั่นคงทางชีวภาพและการป้องกันประเทศ
“ผมแค่อยากจะบอกให้ชัดเจนว่าปาปัวนิวกินียืนหยัดเคียงข้างพันธมิตรดั้งเดิมของภูมิภาค นั่นก็คือ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา และอินโดนีเซีย ซึ่งล้วนเป็นพันธมิตรดั้งเดิมในด้านความมั่นคงในภูมิภาคของเรา” นายคัตเชนโกกล่าว
นอกจากนี้ ปาปัวนิวกินียังได้ลงนามในข้อตกลงสถานะของกองกำลังกับฝรั่งเศสในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2565 อีกด้วย นายคัตเชนโกกล่าวว่าตนคาดว่าจะมีเรือรบฝรั่งเศสเดินทางมาเยือนถึง 4 ครั้งในอีก 12 เดือนข้างหน้า
ภาพจาก: ไอสต็อกอิมเมจ