บุชมาสเตอร์ของออสเตรเลียส่งเสริมความพยายามในการรักษาสันติภาพและการปรับปรุงความทันสมัยของกองทัพบกอินโดนีเซีย

กัสดี ดา คอสตา
การเพิ่มรถหุ้มเกราะบุชมาสเตอร์ 15 คันจากออสเตรเลียเข้ามาในกองทัพจะสนับสนุนการปรับปรุงความทันสมัยด้านกลาโหมของอินโดนีเซีย ในขณะเดียวกันก็ส่งเสริมการทำงานร่วมกันระหว่างกองทัพของประเทศต่าง ๆ ตลอดจนเน้นย้ำถึงความสัมพันธ์ด้านกลาโหมที่แข็งแกร่งระหว่างพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุม เจ้าหน้าที่กล่าว
ภายใต้ทุนสนับสนุน 19.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 663 ล้านบาท) จากรัฐบาลออสเตรเลีย บุชมาสเตอร์ทั้งหมดจะแบ่งออกเป็นยานเกราะลำเลียงพล 13 คัน ยานเกราะที่บังคับการ 1 คัน และยานเกราะพยาบาล 1 คัน พร้อมด้วยชิ้นส่วนอะไหล่ นอกจากนี้ ออสเตรเลียจะจัดการฝึกอบรมผู้ขับขี่และการบำรุงรักษาสำหรับบุคลากรของกองทัพอินโดนีเซียอีกด้วย
“ในแง่มุมทางเทคนิค ยานหุ้มเกราะที่จะรับมอบล้วนอยู่ในสภาพดี พร้อมใช้งาน และสามารถยกระดับประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการฝึกอบรมและปฏิบัติการได้ ยานพาหนะทางยุทธวิธีเหล่านี้จะสนับสนุนภารกิจทางทหารของอินโดนีเซียในปฏิบัติการสันติภาพโลก” นายมูฮัมหมัด เฮรินดรา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมอินโดนีเซีย กล่าวในแถลงการณ์
ยานเกราะทั้งหมดได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นและมีการติดตั้งคุณสมบัติต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนภารกิจรักษาสันติภาพ และ “จะช่วยเพิ่มการทำงานร่วมกันระหว่างกองทัพของทั้งสองประเทศ” ตามรายงานของกระทรวงกลาโหมออสเตรเลีย
บุชมาสเตอร์ (ภาพ) เป็นที่รู้จักกันดีในอินโดนีเซีย พล.ต. เจน ปีเอตา เอเต ผู้เกษียณอายุราชการของกองทัพอินโดนีเซีย กล่าวกับ ฟอรัม ใน พ.ศ. 2556 รัฐบาลอินโดนีเซียได้จัดซื้อบุชมาสเตอร์ 3 คันจากออสเตรเลียเป็นครั้งแรกสำหรับหน่วยปฏิบัติการพิเศษของประเทศหรือที่รู้จักกันในชื่อ โกปาสซัส
ซานกาเป็นยานพาหนะที่ผลิตในอินโดนีเซียและมีความสามารถในการต่อต้านทุ่นระเบิดที่ผลิตโดย พีที พินแดด ได้รับแรงบันดาลใจจากบุชมาสเตอร์ นายเดฟ ลักโซโน สมาชิกสภานิติบัญญัติของคณะกรรมาธิการ 1 สภาผู้แทนราษฎรอินโดนีเซีย ซึ่งดูแลด้านกลาโหมและกิจการต่างประเทศ กล่าวกับ ฟอรัม
บุชมาสเตอร์ ได้รับการออกแบบมาเพื่อปกป้องลูกเรือ 10 คนจากทุ่นระเบิดและวัตถุระเบิดอื่น ๆ รวมถึงการยิงกระสุนปืนเล็ก นอกจากนี้ยังมีการติดตั้งอุปกรณ์เพื่อลดหรือขจัดผลกระทบของการรบกวนทางอิเล็กทรอนิกส์ต่อเซ็นเซอร์และอาวุธต่าง ๆ
นายลักโซโนกล่าวว่า การเพิ่มบุชมาสเตอร์มานี้ เข้ากับรูปแบบของการปรับปรุงความทันสมัยของกองทัพอินโดนีเซีย ซึ่งรวมถึงการซื้อรถถัง เลพเพิร์ด 2 จำนวน 114 คันจากเยอรมนี และเฮลิคอปเตอร์โจมตี เอเอช-64อี อาปาเช่ จำนวน 8 ลำจากสหรัฐฯ
“การรับมอบเงินสนับสนุนดังกล่าวจะช่วยรักษาความสัมพันธ์พหุภาคีระหว่างอินโดนีเซียและออสเตรเลีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคกลาโหมและปฏิบัติการรักษาสันติภาพ” นายลักโซโนกล่าว “ความช่วยเหลือนี้จะช่วยลดการจัดสรรเงินทุนในการบำรุงรักษาสำหรับยุทโธปกรณ์เดียวกันจากศูนย์ภารกิจรักษาสันติภาพของกองทัพอินโดนีเซียในระยะยาวในช่วง 3 – 5 ปี”
กองทัพอินโดนีเซียมีแนวโน้มที่จะพิจารณาส่ง บุชมาสเตอร์ ไปปฏิบัติภารกิจรักษาสันติภาพในเลบานอนและแอฟริกา พล.ต. เอเต กล่าว
โดยตั้งข้อสังเกตว่าเงินสนับสนุนนี้มีที่มาจากการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและกลาโหมของออสเตรเลียและอินโดนีเซียในเดือนกันยายน พ.ศ. 2564 การประชุมที่มีชื่อเรียกว่า 2+2 เป็น “เวทีที่ยอดเยี่ยมสำหรับอินโดนีเซียในการรวบรวมความร่วมมือระหว่างอินโดนีเซียและออสเตรเลีย” พล.ต. เอเต กล่าว
ในการประชุม 2+2 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 รัฐมนตรีของทั้งสองประเทศได้ยืนยันความเชื่อมโยงด้านการศึกษาและการฝึกอบรมทางทหารของออสเตรเลียและอินโดนีเซีย ตลอดจนการขยายกิจกรรมระหว่างกองทัพออสเตรเลียและกองทัพอินโดนีเซียอีกด้วย
กัสดี ดา คอสตา เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของ ฟอรัม รายงานจากประเทศอินโดนีเซีย
ภาพจาก: ส.ต. เดวิด คอตตอน/กองทัพออสเตรเลีย