บังกลาเทศเปลี่ยนจุดยืน และกล่าวว่าสงครามยูเครน “ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ”
เบนาร์นิวส์
ก่อนหน้านี้ บังกลาเทศได้ประกาศว่าสงครามยูเครนนั้นละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศและกฎบัตรสหประชาชาติ
ประเทศในเอเชียใต้ได้ปรับเปลี่ยนจุดยืนของตนในแถลงการณ์ร่วมกับญี่ปุ่นซึ่งออกในระหว่างที่นางชีค ฮาสินา นายกรัฐมนตรีบังกลาเทศ เดินทางไปเยือนกรุงโตเกียวเมื่อปลายเดือนเมษายน พ.ศ. 2566 (ภาพ: นางชีค ฮาสินา นายกรัฐมนตรีบังกลาเทศ (ซ้าย) และนายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น จับมือกันหลังลงนามในแถลงการณ์ร่วม)
“นายกรัฐมนตรีทั้งสองคนยืนยันว่าสงครามในยูเครนถือเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎบัตรสหประชาชาติ และเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อความสงบเรียบร้อยระหว่างประเทศตามหลักนิติธรรม และส่งผลกระทบไปไกลเกินกว่ายุโรป รวมทั้งในอินโดแปซิฟิก” แถลงการณ์ดังกล่าวระบุ
“พวกเขาเน้นย้ำถึงการเรียกร้องให้มีกระบวนการสันติภาพผ่านการเจรจาและการทูตด้วยความเคารพต่ออำนาจอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครนภายในพรมแดนที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลและสอดคล้องกับหลักการของกฎบัตรสหประชาชาติ”
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา บังกลาเทศงดออกเสียงลงมติของที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่เรียกร้องให้รัสเซียถอนกองกำลังออกจากยูเครน
บังกลาเทศยังได้งดออกเสียงลงมติในลักษณะที่คล้ายกันเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2565
ในระหว่างการเดินทางไปเยือนกรุงโตเกียว นางฮาสินาหวังที่จะสร้างความร่วมมือด้านกลาโหมกับญี่ปุ่น ซึ่งกำลังขยายความร่วมมือในระดับภูมิภาคเพื่อตอบโต้อิทธิพลของรัฐบาลจีน
แถลงการณ์ร่วมระบุว่า “เรากำลังเข้าสู่เขตแดนใหม่ของความสัมพันธ์ทางการทูต” นายฮุมายุน คาเบียร์ อดีตผู้แทนทางการทูตบังกลาเทศประจำสหรัฐอเมริกา กล่าว
“ตอนนี้เราเห็นการเปลี่ยนแปลงจุดยืนของบังกลาเทศอย่างระมัดระวังเกี่ยวกับสงครามยูเครนในแถลงการณ์ร่วม … เนื่องจากประเทศต้องการส่งเสริมการลงทุนของญี่ปุ่นและปรับปรุงความสัมพันธ์แบบทวิภาคี บังกลาเทศจำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับตำแหน่งของญี่ปุ่นในระดับสูงสุด”
นายอิมเทียซ อาเหม็ด ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของมหาวิทยาลัยธากา กล่าวว่า บังกลาเทศมีการเปลี่ยนแปลงจุดยืนของตนต่อสงครามยูเครนเป็นครั้งแรก
ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2565 บังกลาเทศได้ปิดกั้นเรือรัสเซียไม่ให้เข้าสู่ท่าเรือท้องถิ่นเนื่องจากการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ต่อเรือที่มีความเชื่อมโยงกับสงครามของรัฐบาลรัสเซียในยูเครน หนึ่งเดือนต่อมา บังกลาเทศได้สั่งห้ามไม่ให้เรือรัสเซียกว่า 70 ลำที่ถูกคว่ำบาตรโดยสหรัฐฯ เข้ามาในพื้นที่ ซึ่งทําให้เกิดการร้องเรียนจากรัฐบาลรัสเซีย
“บางทีบังกลาเทศก็ไม่อาจมองข้ามปัญหาของสงครามยูเครนได้อีกต่อไป” นายอาเหม็ดกล่าว “นั่นเป็นเพราะว่าสงครามได้ทำลายห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก และในทางเศรษฐกิจเอง บังกลาเทศก็ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง”
นายอาเหม็ดและนายคาเบียร์ตั้งข้อสังเกตว่าคำแถลงการณ์ร่วมที่กล่าวถึงทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้ยังแสดงให้เห็นถึงการปลีกตัวของออกห่างของบังกลาเทศ รัฐบาลญี่ปุ่นมีข้อพิพาททางอาณาเขตกับรัฐบาลจีนเกี่ยวกับหมู่เกาะเซ็งกะกุในทะเลจีนตะวันออก ในขณะที่หลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็มีความขัดแย้งในการอ้างสิทธิ์กับรัฐบาลจีนในทะเลจีนใต้
“เป็นครั้งแรกที่บังกลาเทศแสดงจุดยืนในเรื่องนี้” นายคาเบียร์กล่าว “ซึ่งแน่นอนว่าเป็นจุดยืนเคียงข้างญี่ปุ่น”
ภาพจาก: รอยเตอร์