การประชุมกองกำลังภาคพื้นดินแปซิฟิกช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพต่าง ๆ ในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม
การประชุมสัมมนาและนิทรรศการของกองกำลังภาคพื้นดินแปซิฟิกได้นำบุคลากรทางทหาร นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงและกลาโหมกว่า 1,700 คนมารวมตัวกันที่โฮโนลูลู ฮาวาย ในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2566 กิจกรรมนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 10 โดยเน้นย้ำถึงบทบาทของกองกำลังภาคพื้นดินทั่วทั้งภูมิภาคอินโดแปซิฟิก
ผู้มีส่วนร่วมและผู้เข้าร่วมประกอบด้วยคณะผู้แทนจากกว่า 25 ประเทศ รวมถึงผู้บัญชาการกองทัพจากออสเตรเลีย บังกลาเทศ บรูไน ญี่ปุ่น มาเลเซีย มองโกเลีย นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย ตองงา สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และวานูอาตู
พล.อ. ชาร์ลส์ ฟลินน์ ผู้บัญชาการกองทัพบกสหรัฐฯ ภาคพื้นแปซิฟิก เรียกการประชุมสัมมนานี้ว่าเป็นสถานที่สำหรับการเจรจาทวิภาคีและพหุภาคี การสร้างความสัมพันธ์ และการแบ่งปันแนวคิด
“ความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกเรียกร้องและบีบบังคับให้ผู้นำจากกองทัพต่าง ๆ ของทุกประเทศต้องทำงานร่วมกันและกระชับความสัมพันธ์ให้ใกล้ชิดกันมากขึ้นในฐานะหุ้นส่วนในภูมิภาคนี้” พล.อ. ฟลินน์กล่าว ประเด็นสำคัญของการประชุมกองกำลังภาคพื้นดินแปซิฟิกครั้งนี้ คือ “การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นใหม่ของสงคราม” และ พ.อ. ฟลินน์กล่าวเสริมว่ากิจกรรมนี้เปิดโอกาสให้เรามีความเข้าใจที่ดีขึ้นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี สังคม และองค์กร รวมถึงเปิดโอกาสให้พันธมิตรและหุ้นส่วนเข้าใจซึ่งกันและกันมากขึ้น
“ผมเคยพูดไว้เมื่อนานมาแล้วว่ากองกำลังภาคพื้นดินเสมือนเป็นโครงสร้างด้านความมั่นคงสำคัญที่เชื่อมโยงภูมิภาคนี้เข้าด้วยกัน และเมื่อร่วมมือกันเราจะสามารถรักษาอินโดแปซิฟิกที่ปลอดภัย มีเสถียรภาพ และมั่นคงไว้ได้ และนั่นเป็นสิ่งที่เราจะทำ” พล.อ. ฟลินน์กล่าว
กิจกรรมนี้มีความสำคัญเนื่องจากทำให้เกิดจุดยืนร่วมกัน พล.ท. โรมิโอ บราวเนอร์ จูเนียร์ ผู้บัญชาการกองทัพฟิลิปปินส์ กล่าวกับ ฟอรัม “เมื่อเราย้อนกลับไปพิจารณาว่าสิ่งที่สำคัญจริง ๆ คืออะไร คำตอบที่ได้ก็คือการมาพบหน้ากันเช่นนี้แล้วพูดคุยและมองข้ามความแตกต่างกันอย่างแท้จริง เพื่อทำให้มั่นใจว่าเราเข้าใจซึ่งกันและกันและมีวัตถุประสงค์เดียวกันนั่นคือ การป้องปรามสงครามและมีสันติภาพที่ยั่งยืนในทุกหนแห่ง” (ภาพ: พล.ท. โรมิโอ บราวเนอร์ จูเนียร์ จากกองทัพฟิลิปปินส์ กล่าวถึงการฝึกซ้อมสำหรับการทำสงครามในอนาคตที่การประชุมสัมมนากองกำลังภาคพื้นดินแปซิฟิกในฮาวาย เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2566)
การประชุมสัมมนาระยะเวลาสามวันดังกล่าวประกอบด้วยการนำเสนอและการอภิปรายในหัวข้อต่าง ๆ ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าของการทำสงคราม ความพร้อมทางทหาร และการป้องปราม ไปจนถึงข้อสังเกตจากสงครามในยูเครนและสถานะของการฝึกพหุภาคีในอินโดแปซิฟิก
“จากการหารือกับพวกท่านทั้งหลายและหุ้นส่วนของเราตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา ผมสังเกตเห็นว่า แม้ลักษณะของความท้าทายจะแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ แต่ธรรมชาติของความท้าทายที่เราเผชิญนั้นมีความสอดคล้องกันอย่างน่าทึ่ง” พล.ท. ไซมอน สจ๊วร์ต ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของออสเตรเลีย กล่าวในระหว่างการนำเสนอหลักของตนเองในหัวข้อ “ความท้าทายร่วมสมัยในการรักษาความพร้อมทางทหาร”
พล.ต. เดวิด นีโอ ผู้บัญชาการทหารบกสิงคโปร์ ได้เน้นย้ำถึงแนวทางในการป้องปรามของประเทศตนเอง ซึ่งรวมถึง “การนำทุกคนเข้าร่วมการต่อสู้” ด้วยกลยุทธ์การเกณฑ์ทหารที่ได้นำชาวสิงคโปร์เพศชายเข้าสู่กองทัพมาแล้วกว่า 1 ล้านคนในช่วง 56 ปีที่ผ่านมา การใช้เทคโนโลยีเป็นตัวคูณกำลังรบช่วยให้นครรัฐอย่างสิงคโปร์สามารถก้าวข้ามข้อจำกัดด้านประชากรที่น้อยและพื้นที่ขนาดเล็กของตนเองได้ พล.ต. นีโอ กล่าวว่า หากการป้องปรามสามารถใช้ได้ผลในประเทศเล็ก ๆ อย่างสิงคโปร์ ก็สามารถใช้ได้กับทุกประเทศ
พล.ท. บราวน์เนอร์กล่าวสนับสนุนการฝึกพหุภาคีว่า การเตรียมพร้อมสำหรับสงครามคือแนวทางในการป้องปรามสงคราม ภูมิภาคนี้เป็นสนามแข่งขันแย่งชิงทรัพยากร ซึ่งทำให้กองทัพจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมสำหรับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดหลากหลายรูปแบบ พล.ท. บราวเนอร์กล่าว ซึ่งครอบคลุมถึงสภาพแวดล้อมด้านความมั่นคงที่ก่อให้เกิดข้อพิพาทเกี่ยวกับดินแดน รวมถึงยุทธวิธีต่อต้านการเข้าถึงและยุทธวิธีต่อต้านการยึดครองพื้นที่ที่ขัดต่อระเบียบและหลักนิติธรรมระหว่างประเทศ
“เมื่อเราฝึกอบรมร่วมกัน เสียงของเราจะดังขึ้นซึ่งช่วยให้เราสามารถส่งสารไปยังทั่วโลกได้ว่าเรากำลังสร้างขีดความสามารถของพวกเราเอง และสร้างความสามารถในการทำงานร่วมกันอย่างจริงจัง เพื่อให้เราสามารถทำงานร่วมกันได้ เมื่อเกิดเหตุจำเป็น” พล.ท. บราวเนอร์กล่าวกับ ฟอรัม “วัตถุประสงค์คือเพื่อป้องปรามสงครามโดยการทำให้โลกรู้ว่าเรากำลังทำงานร่วมกัน และทำให้รู้ว่าเราพร้อมโต้ตอบจนถึงที่สุด หากจำเป็น”
ในระหว่างการอภิปรายเกี่ยวกับสงครามของรัสเซียในยูเครน ผู้อภิปรายได้ตรวจสอบบทบาทของข้อมูลและเทคโนโลยีในการเพิ่มความยืดหยุ่นของกองทัพยูเครน และชี้ให้เห็นว่าความร่วมมือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการสู้รบ
“สงครามครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงคุณค่า… ของความสัมพันธ์ที่ไม่ใช่ความสัมพันธ์เชิงสถาบันแต่เป็นความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล” นายแจ็ก วัตลิง นักวิจัยอาวุโสด้านการทำสงครามภาคพื้นดิน แห่งสถาบันรอยัลยูไนเต็ดเซอร์วิส ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยที่ตั้งอยู่ในสหราชอาณาจักร กล่าว “หากคุณต้องการความสัมพันธ์เชิงสถาบัน คุณต้องรวมผู้คนเข้าด้วยกัน ด้วยเหตุนี้ การประชุมเช่นนี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง นี่เป็นเรื่องของการรู้จักและไว้วางใจซึ่งกันและกันระหว่างบุคคล”
พล.ต. คริส แบร์รี ผู้อำนวยการศูนย์การสงครามทางบกของกองทัพอังกฤษ กล่าวเสริมว่า “มีคำกล่าวหนึ่งในภาษาไอริช” “‘มีเพื่อนไว้ย่อมดีในวันออกศึก’ นี่คือสิ่งที่เราได้จากโอกาสครั้งนี้”
ภาพจาก: เจ้าหน้าที่ ฟอรัม