การป้องปรามแบบบูรณาการทรัพยากรส่วนรวมของโลกเรื่องเด่น

การบูรณาการ ความเป็นเลิศ

ศูนย์รับมือวิกฤตในอินโดแปซิฟิกปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมระหว่างพลเรือนและทหารที่มีการพัฒนา

ไอยนา พาสชาล/ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการภัยพิบัติและความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

นับตั้งแต่ก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2537 ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการภัยพิบัติและความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมได้พัฒนาขีดความสามารถในการรับมือวิกฤต ยกระดับการประสานงานและความร่วมมือ รวมถึงเสริมสร้างความสัมพันธ์เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพของกองทัพสหรัฐอเมริกาและประเทศหุ้นส่วนในช่วงภัยพิบัติ นอกเหนือจากพื้นที่หลักเหล่านี้แล้ว ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการภัยพิบัติและความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมยังได้ดำเนินการโครงการริเริ่มเพื่อให้เป็นไปตามแนวทางที่เกิดขึ้นใหม่ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ และกองบัญชาการสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นอินโดแปซิฟิก เช่น การอำนวยความสะดวกในโครงการสัมมนาปฏิบัติการรักษาสันติภาพที่สำคัญสำหรับผู้นำระดับสูงระหว่างประเทศ โครงการริเริ่มของโครงการให้ความรู้เกี่ยวกับเอชไอวี/เอดส์สำหรับกองกำลังระหว่างประเทศ และการฝึกอบรมเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถเกี่ยวกับการระบาดทั่วของไข้หวัดใหญ่สำหรับกองกำลังความมั่นคงอินโดแปซิฟิก ซึ่งให้ความช่วยเหลือองค์การสำหรับโครงการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหรัฐฯ ที่มุ่งเน้นไปยังกองบัญชาการสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นอินโดแปซิฟิกและกองบัญชาการสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นแอฟริกา รวมถึงให้การสนับสนุนโครงการความร่วมมือด้านการต่อต้านการก่อการร้าย

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการภัยพิบัติและความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมยังคงมุ่งเน้นไปยังบริบททางภูมิรัฐศาสตร์และสิ่งแวดล้อมแบบพลวัต อีกทั้งส่วนสำคัญของภารกิจคือการฝึกอบรมและการมีส่วนร่วมกับหุ้นส่วนด้านพลเรือนและทหาร ซึ่งโดยปกติแล้วจะมุ่งเน้นในด้านภัยพิบัติทางธรรมชาติผ่านการสนับสนุนองค์กรระดับภูมิภาคและการฝึกซ้อมของกองบัญชาการสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นอินโดแปซิฟิก รวมถึงหลักสูตรการฝึกอบรมเพื่อช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมของศูนย์ดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งยังเกิด มากขึ้นในบริเวณเขตเมืองที่มีประชากรหนาแน่น ในกรณีอย่าง การรุกรานยูเครนโดยไร้เหตุสมควรของรัสเซียในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 ประเทศระบอบเผด็จการจะมุ่งเน้นไปยังพลเรือนเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ทางการเมืองหรือชาตินิยมไม่ว่าด้วยวิธีการใดก็ตาม ด้วยเหตุนี้ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการภัยพิบัติและความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจึงมุ่งเน้นไปยังสถานการณ์ความขัดแย้งในการฝึกอบรม การวิจัย และการวางแผน

ตลอดช่วง 25 ปีที่ผ่านมา ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการภัยพิบัติและความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมได้ร่วมมือกับคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศและมหาวิทยาลัยฮาวาย วิทยาเขตมาโนอา ในการอำนวยความสะดวกในการจัดหลักสูตรประจำปี ด้านภาวะฉุกเฉินทางสุขภาพในประชากรจำนวนมาก คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศได้พัฒนากรอบการทำงานของภาวะฉุกเฉินทางสุขภาพในประชากรจำนวนมากสำหรับผู้ปฏิบัติงานด้านมนุษยธรรมในช่วงที่มีความขัดแย้งและการสนับสนุนด้านการอำนวยความสะดวกโดยองค์กรหุ้นส่วนทั่วโลก หลักสูตรศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการภัยพิบัติและความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมซึ่งจัดขึ้นเป็นเวลาสองสัปดาห์ในฮาวาย ประกอบด้วยผู้เข้าร่วมที่เป็นทั้งพลเรือนและทหาร โดยมีความหลากหลายของภูมิหลังที่สมดุลกันเพื่อช่วยให้มั่นใจว่ามีประสบการณ์ด้านการศึกษาที่มีคุณภาพและโอกาสในการสร้างเครือข่ายที่มีคุณค่าในหมู่ผู้เชี่ยวชาญที่เส้นทางอาจเปลี่ยนแปลงไปอีกครั้งในภาวะฉุกเฉินด้านมนุษยธรรม ในขณะนี้มีผู้สำเร็จการศึกษาหลักสูตรภาวะฉุกเฉินทางสุขภาพในประชากรจำนวนมากของศูนย์ดังกล่าวมากกว่า 600 คน

นาวิกโยธินของสาธารณรัฐเกาหลีและสหรัฐฯ ชะล้างโคลนและเศษขยะรอบนอกตลาดในเมืองโพฮัง ประเทศเกาหลีใต้ หลังจากพายุไต้ฝุ่นหินหนามหน่อในเดือนกันยายน พ.ศ. 2565 ร.ท. ดาโกตา เอ. ฟอร์จูนา-ชุน/นาวิกโยธินสหรัฐฯ

ศูนย์ดังกล่าวยังมีหลักสูตรการฝึกอบรมเพื่อช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในภาวะที่มีความขัดแย้งหลักสูตรใหม่ที่ช่วยทำให้กองกำลังร่วมและหุ้นส่วนของสหรัฐฯ รู้จักกับความซับซ้อนของการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในเขตที่มีความขัดแย้ง หัวข้อต่าง ๆ ได้แก่ ระบบการแจ้งเตือนด้านมนุษยธรรม กลไกการประสานงานระหว่างพลเรือนและทหาร การเตรียมการสำหรับการเคลื่อนย้ายพลเรือนจำนวนมาก การวิเคราะห์ความขัดแย้งด้านมนุษยธรรม การเข้าถึงและความมั่นคง รวมถึงผลที่ตามมาจากความขัดแย้งและการทำสงครามแบบติดอาวุธ

ความรับผิดชอบอื่น ๆ ของศูนย์แห่งนี้ยังรวมถึงการบูรณาการ การวางแผนจัดการภัยพิบัติเข้ากับการทำงานของกองบัญชาการสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นอินโดแปซิฟิก และการสนับสนุนนโยบายและแนวทางของสำนักงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการภัยพิบัติและความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมยังดำเนินการวิจัยและสร้างผลิตภัณฑ์สำหรับการให้ข้อมูล เช่น คู่มืออ้างอิงด้านการจัดการภัยพิบัติ เอกสารข้อเท็จจริง และใบปลิวแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด ซึ่งทั้งหมดนี้ได้เผยแพร่ต่อสาธารณะทางออนไลน์ที่เว็บไซต์ cfe-dmha.org/publications นอกจากนี้ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการภัยพิบัติและความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมยังส่งเสริมโครงการริเริ่มเพื่อลดการไหลเวียนของข้อมูลที่สำคัญในหมู่หุ้นส่วนทางพลเรือนและทหารในระหว่างที่พยายามบรรเทาทุกข์ นักวิจัยของศูนย์ดังกล่าวได้ทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษาและองค์กรที่เป็น หุ้นส่วนเกี่ยวกับโครงการและข้อเสนอต่าง ๆ เพื่อให้แน่ใจว่าผลการวิจัยของพวกเขาพร้อมสำหรับผู้ปฏิบัติงานและผู้เชี่ยวชาญในสาขา ตลอดจนเพื่อให้มีการวิเคราะห์ที่ครอบคลุมของการประสานงานระหว่างพลเรือนและทหารในสภาพแวดล้อมที่มีภัยพิบัติ

“สิ่งจำเป็นทางศีลธรรม”

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการภัยพิบัติและความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมยังคงปรับให้เข้ากับภูมิประเทศที่เปลี่ยนแปลงไปของภัยพิบัติทางธรรมชาติและภัยพิบัติที่มนุษย์สร้างขึ้น รวมถึงความขัดแย้ง โครงการริเริ่มเมื่อไม่นานมานี้ ได้แก่ โครงการคุ้มครองพลเรือนและโครงการผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โครงการคุ้มครองพลเรือนพยายามบรรเทาและรับมืออันตรายที่พลเรือนจะได้รับในระหว่างการปฏิบัติการทางทหาร มีแนวทางหลักสามประการสำหรับความพยายามนี้ นั่นคือ สนับสนุนกองบัญชาการสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นอินโดแปซิฟิกในการปรับใช้และดำเนินการตามนโยบายและแนวทางปฏิบัติใหม่ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เพื่อป้องกันพลเรือน ระบุและส่งเสริมแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด และสุดท้ายคือส่งเสริมการหารือเกี่ยวกับความท้าทายที่สำคัญและแนวทางปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพในบรรดาหุ้นส่วนระดับภูมิภาค ในการกำหนดแนวปฏิบัติที่ดีที่สุด ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการภัยพิบัติและความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมทำงานร่วมกับหน่วยงานด้านมนุษยธรรมและทำการเจรจาอย่างใกล้ชิดอยู่สม่ำเสมอกับคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ ซึ่งดำเนินการคล้ายคลึงกับศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการภัยพิบัติและความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม โดยเมื่อไม่นานมานี้ได้มีการเผยแพร่คู่มือเกี่ยวกับแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดสำหรับการบรรเทาอันตรายที่เกิดกับพลเรือน

ความพยายามเหล่านี้สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการบรรเทาและรับมืออันตรายที่เกิดกับพลเรือนแผนใหม่ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ซึ่งเผยแพร่ในช่วงปลายเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2565 ภายใต้การกำกับดูแลของนายลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ในบรรดามาตรการของแผนดังกล่าว:

จัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านการคุ้มครองพลเรือนเพื่ออำนวยความสะดวกในการวิเคราะห์ การเรียนรู้ และการฝึกอบรมอย่างทั่วถึง

พัฒนากระบวนการรายงานและการจัดการข้อมูลด้านปฏิบัติการที่เป็นอันตรายต่อพลเรือน

มีข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อช่วยให้ผู้บัญชาการและผู้ปฏิบัติงานเข้าใจสภาพแวดล้อมของพลเรือนได้ดีขึ้น รวมถึงการรวบรวมคู่มือในการจัดการกับอันตรายที่เกิดกับพลเรือนไว้ในหลักการและแผนปฏิบัติการทางทหาร

“การคุ้มครองพลเรือนจากอันตรายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติการทางทหารนั้นไม่เพียงแต่เป็นสิ่งจำเป็นทางศีลธรรมเท่านั้น แต่ยังมีความสำคัญต่อการบรรลุความสำเร็จในระยะยาวในสนามรบอีกด้วย หากไม่ได้รับการดูแลเพื่อปกป้องสภาพแวดล้อมของพลเรือนให้มากที่สุดเท่าที่สถานการณ์จะเอื้ออำนวย ความสำเร็จทางยุทธวิธีและการปฏิบัติการที่ได้มาอย่างยากลำบากนั้นในท้ายที่สุดอาจจบลงด้วยความล้มเหลวทางยุทธศาสตร์” ข่าวประชาสัมพันธ์ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ระบุ

กองกำลังญี่ปุ่นและสหรัฐฯ เข้าร่วมการฝึกซ้อมความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกระดับ
พหุชาติ ริมออฟเดอะแปซิฟิก ใน พ.ศ. 2565 ไอยานา ปัสชาล/กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ

นางเจนนี่ แมกอะวอย ที่ปรึกษาและหัวหน้าทีมสำหรับโครงการคุ้มครองพลเรือน กล่าวว่า “สิ่งที่ขาดหายไปคือแนวทางของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ที่ครอบคลุม” นางแมกอะวอย ผู้ทำงานด้านการคุ้มครองพลเรือนมานานหลายทศวรรษ ได้ตั้งข้อสังเกตถึงความจำเป็นสำหรับ “การลงทุนในขีดความสามารถประเภทต่าง ๆ ที่จะช่วยให้ผู้บัญชาการสามารถปรับเปลี่ยนให้เข้ากับความท้าทายของปฏิบัติการที่เฉพาะเจาะจงของพวกเขาได้”

ความเร่งด่วนส่วนหนึ่งก็เกิดจากความขัดแย้งที่เพิ่มขึ้นของสภาพแวดล้อมในเมืองและผลกระทบอย่างมหาศาลที่เกิดต่อพลเรือน องค์กรด้านมนุษยธรรมและหน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐฯ กำลังพยายามแก้ไขปัญหานี้ นอกเหนือจากการบาดเจ็บและเสียชีวิตและการทำลายล้างแล้ว ความขัดแย้งที่เพิ่มขึ้นในพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่นยังทำให้จำนวนผู้พลัดถิ่นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อช่วงปลาย พ.ศ. 2564 ประชาชน 89.3 ล้านคนทั่วโลกถูกบังคับให้ต้องพลัดถิ่นอันเนื่องมาจากการข่มเหง ความขัดแย้ง ความรุนแรง การละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือการเกิดความไม่สงบครั้งใหญ่ ตามรายงานของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ เพียงแค่ในเมียนมาเพียงแห่งเดียวก็มีประชาชนประมาณ 1 ล้านคนที่ถูกบังคับให้ต้องหลบหนีจากบ้านและชุมชนของตน ท่ามกลา งความรุนแรงที่ปะทุขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการรัฐประหารของทหารในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

เนื่องจากผู้ลี้ภัยต้องข้ามพรมแดนเพื่อหลบหนีจากเขตความขัดแย้ง จึงมีการถกเถียงกันเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตย ซึ่งหมายถึงความสามารถของประเทศใดประเทศหนึ่งในการควบคุมสิ่งที่เกิดขึ้นภายในพรมแดนของตน บางประเทศได้ปฏิเสธผู้ลี้ภัย ในขณะที่บางประเทศกำหนดให้ผู้ลี้ภัยต้องมีคุณสมบัติบางประการตามเกณฑ์การรับเข้าประเทศ นโยบายดังกล่าวก่อให้เกิดคำถามเชิงจริยธรรมและเชิงปฏิบัติที่สำคัญเกี่ยวกับวิธีการรองรับประชากรผู้ลี้ภัยอย่างปลอดภัยโดยใช้หลักการระหว่างประเทศว่าด้วยการไม่ส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศ ซึ่งว่าด้วยการห้ามบังคับให้ผู้ลี้ภัยเดินทางกลับประเทศต้นทาง
หากพวกเขามีความหวาดกลัวต่อการถูกข่มเหง

นางแมกอะวอยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการภัยพิบัติและความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมกับหุ้นส่วนระดับภูมิภาคในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ โดยใช้ความเป็นศูนย์กลางของความร่วมมือด้านความมั่นคงในยุทธศาสตร์ทางทหารโดยรวมของสหรัฐฯ นอกจากนี้ ศูนย์ดังกล่าวยังทำงานร่วมกับสำนักงานเพื่อการประสานงานรับมือด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ ซึ่งมุ่งเน้นด้านการประสานความร่วมมือด้านมนุษยธรรมระดับโลกและความพยายามในการบรรเทาทุกข์ การสนับสนุน การพัฒนานโยบาย การให้บริการด้านการจัดการข้อมูล และการระดมทรัพยากรทางการเงิน

“การคุ้มครองพลเรือนถือเป็นหัวใจสำคัญของทุกสิ่งที่เราทำในฐานะผู้ปฏิบัติงานด้านมนุษยธรรมเพื่อบรรเทาความทุกข์ ลดความเสี่ยง และป้องกันความรุนแรงที่เกิดกับประชากรที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤต ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากภัยพิบัติและความขัดแย้งในหลากหลายรูปแบบ อีกทั้งยังต้องมีการรับมือจากหลายภาคส่วนและมีความครอบคลุม” นางเฮเลน สการ์ดัล เจ้าหน้าที่ด้านมนุษยธรรมประจำสำนักงานภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกของสำนักงานเพื่อการประสานงานรับมือด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ กล่าว

บทบาทของกองทัพตามข้อบังคับ

การประสานงานระหว่างผู้ปฏิบัติงานด้านมนุษยธรรมและผู้มีบทบาททางทหารอาจแตกต่างกันอย่างมาก ขึ้นอยู่กับว่าการรับมือครั้งนั้นเกี่ยวข้องกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ ความขัดแย้งแบบติดอาวุธ หรือสถานการณ์ฉุกเฉินที่ซับซ้อนอื่นหรือไม่ ในอินโดแปซิฟิก กองทัพหลายแห่งมีบทบาทในการรับมือภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยมีขีดความสามารถที่มักจะเกินกว่าที่หน่วยงานพลเรือนและองค์การนอกภาครัฐจะสามารถทำได้ ดังนั้น ในการรับมือภัยพิบัติทางธรรมชาติ “จะถือเป็นสิ่งสำคัญที่เราได้สร้างกลไกการประสานงานระหว่างพลเรือนและทหารอย่างชัดเจนเพื่อที่เราจะสามารถแบ่งงาน แบ่งปันข้อมูล และร่วมกันวางแผนการปฏิบัติงานได้” นางสการ์ดัลกล่าว

นางสการ์ดัลตั้งข้อสังเกตว่า “อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ฉุกเฉินที่ซับซ้อนและความขัดแย้งแบบติดอาวุธ กองทัพมักจะเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง” “ดังนั้น ในฐานะที่เป็นจุดเริ่มต้น การมีส่วนร่วมด้านมนุษยธรรมกับผู้ปฏิบัติงานทางทหารนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับรูปแบบความร่วมมือ ทว่าขึ้นอยู่กับการอยู่ร่วมกันและการทูตด้านมนุษยธรรม” ซึ่งเนื่องมาจากความพยายามด้านมนุษยธรรมต้องเป็นอิสระจากวัตถุประสงค์ทางการเมืองหรือทางทหารเสมอ โดยจะทำให้ผู้ปฏิบัติงานด้านมนุษยธรรมมีความเป็นกลางและเป็นธรรมในขณะเดียวกันก็ส่งเสริมและสนับสนุนผลของการคุ้มครอง “สิ่งที่เราพยายามทำโดยพื้นฐานแล้วคือการเจรจาการเข้าถึงด้านมนุษยธรรมเพื่อเข้าถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง โดยการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเพื่อช่วยชีวิตและสนับสนุนการคุ้มครองพลเรือน รวมถึงการเคารพกฎหมายด้านมนุษยธรรมระหว่างประเทศ” นางสการ์ดัลกล่าว

บุคลากรพลเรือนและทหารจาก 15 ประเทศเข้าร่วมในหลักสูตรด้านภาวะฉุกเฉินทางสุขภาพในประชากรจำนวนมาก ซึ่งจัดขึ้นโดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการภัยพิบัติและความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมโดยได้ร่วมมือกับคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศและมหาวิทยาลัยฮาวาย ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2565 ไอยานา ปัสชาล/กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ

ภูมิทัศน์ของสงครามที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งการขยายตัวของเมืองที่เพิ่มขึ้นและการกำหนดเป้าหมายโดยเจตนาของพลเรือน ทำให้ความท้าทายอย่างมากสำหรับความพยายามด้านมนุษยธรรมเพื่อลดความเสี่ยงและให้การคุ้มครอง “สิ่งที่เรามักพบในความขัดแย้งที่มีการใช้อาวุธในปัจจุบันคือ ข้อจำกัดในการเคลื่อนไหวของบุคลากรด้านมนุษยธรรมนั้นมีการกำหนดโดยผู้ปฏิบัติงานที่ติดอาวุธโดยตรงเพื่อลดการเข้าถึงประชากรที่ได้รับผลกระทบ” นางสการ์ดัล ซึ่งไปประจำการที่ยูเครนเพื่อช่วยปรับปรุงการเข้าถึงด้านมนุษยธรรมในเขตความขัดแย้งภายหลังจากการรุกรานของรัสเซีย กล่าว “ในแง่หนึ่ง เราไม่สามารถเข้าถึงประชากรที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งด้วยความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่จำเป็นอย่างมากได้ และอีกแง่หนึ่ง การละเมิด สิทธิมนุษยชนและความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นก็อาจไม่ได้รับการรับรู้”

การเจรจาการเข้าถึงด้านมนุษยธรรมมักจะเป็นไปได้ช้าเนื่องจากลักษณะลำดับชั้นของผู้ปฏิบัติงานที่ติดอาวุธ ซึ่งอาจทำให้การ
ส่งมอบความช่วยเหลือเพื่อช่วยชีวิตเกิดความล่าช้าและไม่ได้รับ การแก้ปัญหาเฉพาะจุด อย่างไรก็ตาม การให้ความช่วยเหลือโดย ปราศจากการมีส่วนร่วมกับฝ่ายต่าง ๆ ที่มีความขัดแย้งด้วยอาจ ทำให้บุคลากรด้านมนุษยธรรมได้รับความเสี่ยงสูงขึ้น เว็บไซต์ข่าว อิรวดีรายงานว่า อุปสรรคเหล่านี้สามารถเห็นได้ชัดเจนในเมียนมาร์ ซึ่งเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2565 รัฐบาลทหารได้สั่งให้หน่วยงานของสหประชาชาติและองค์การนอกภาครัฐยุติการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่รัฐยะไข่ โดยการเข้าถึงชุมชนถูกปิดกั้นจากการปะทะกันระหว่างกองกำลังทหารและกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์

แม้จะมีความท้าทายดังกล่าว สำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติและองค์กรอื่น ๆ ก็กำลังทำงานเพื่อคุ้มครองพลเรือนควบคู่ไปกับความพยายามที่จะจัดระบบการคุ้มครองพลเรือนในการปฏิบัติทางทหาร เช่น แผนปฏิบัติการบรรเทาและรับมืออันตรายที่เกิดกับพลเรือนแผนใหม่ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ นางสการ์ดัลกล่าวว่า ถึงกระนั้น กลไกด้านการรับผิดชอบจะต้องได้รับการส่งเสริมสำหรับการละเมิดกฎหมายด้านมนุษยธรรมระหว่างประเทศ “ความเป็นศูนย์กลางของการคุ้มครองนั้นมีอยู่ในการทำงานในระบบของสหประชาชาติและการทำงานในภาคส่วนด้านมนุษยธรรมมาเป็นเวลานานแล้ว” นางสการ์ดัลกล่าว “ได้มีกระบวนการในสถาบันด้านมนุษยธรรมเป็นเวลาหลายปีเพื่อเสริมสร้างความเป็นศูนย์กลางของการคุ้มครอง แต่ถึงกระนั้นก็อาจเป็นการได้รับแรงผลักดันใหม่ ๆ ในปัจจุบันนี้อันเนื่องมาจากสงครามในยูเครน ซึ่งรวมถึงการได้รับรู้ว่ายูเครนอยู่ในบริบทที่เป็นเป้าสายตาของสาธารณะชนเพียงแห่งเดียวจากหลาย ๆ ตัวอย่างที่ประชากรพลเรือนกำลังทุกข์ทรมานอย่างถึงที่สุด”

สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป

ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ไม่มีเสถียรภาพถือเป็นภัยต่อความมั่นคงของมนุษย์ คลื่นความร้อนและภัยแล้งทำให้การผลิตอาหารลดน้อยลง น้ำท่วม พายุ และไฟป่าสร้างความเสียหายและทำลายทั้งชีวิต ความเป็นอยู่ และโครงสร้างพื้นฐาน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจทำให้พื้นที่ที่เปราะบางไม่สามารถอยู่อาศัยได้ เนื่องจากการเกิดอุทกภัยหรือการกลายสภาพเป็นทะเลทราย ซึ่งผลักดันให้เกิดการอพยพของมนุษย์เพื่อหลบหนีภัยคุกคามเหล่านี้

“เราได้เห็นถึงผลกระทบเหล่านี้ที่จะเกิดขึ้นต่อไป” นายสตีฟ
ฟราโน ผู้จัดการโครงการสำหรับโครงการด้านผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแบบใหม่ของศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการภัยพิบัติและความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม กล่าว “ตัวอย่างที่ชัดเจนในหมู่เกาะแปซิฟิกคือระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงการที่น้ำเพิ่มสูงขึ้นจนบีบบังคับให้ชุมชนต้องหนีออกไปอย่างช่วยไม่ได้เท่านั้น แต่จะเป็นตัวอย่างการรุกไล่ที่จะเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ โดยที่ขณะนี้ระดับน้ำทะเลได้เพิ่มสูงขึ้นมากพอและมีคลื่นพายุที่ซัดฝั่งอย่างหนักจนสามารถทำให้เกิดการรุกล้ำของน้ำเค็มที่จะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการดำรงชีพและการผลิตอาหาร หากผู้คนไม่สามารถปรับตัวเพื่อความอยู่รอดบนพื้นที่แห่งนั้นได้อีกต่อไป พวกเขาก็จะต้องย้ายถิ่นฐาน … แล้วพวกเขาจะไปที่ไหนได้ สำหรับหลาย ๆ ประเทศที่เกิดปัญหา ไม่ว่าจะเป็นชุมชน ครอบครัว หรือประวัติความเป็นมา ทุกสิ่งล้วนผูกพันกับพื้นที่ที่อยู่อาศัยมาทั้งสิ้น ดังนั้นในบางกรณี ความคิดที่จะละทิ้งผืนแผ่นดินของตนจึงเป็นทางออกที่ฟังไม่ขึ้น”

โครงการผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศช่วยสนับสนุนการสร้างความตระหนักรู้และการแลกเปลี่ยนความรู้เพื่อเน้นย้ำให้เห็นถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อโครงการริเริ่มด้านความมั่นคงระดับภูมิภาคที่จะช่วยขับเคลื่อนอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง ประเด็นสำคัญคือการส่งเสริมเครือข่ายระดับภูมิภาคที่ครอบคลุมของผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงทางสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการจัดเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูลและหารือแผนงานและโครงการร่วมกันเพื่อรับมือผลกระทบด้านความ มั่นคงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การมีส่วนร่วมกับหุ้นส่วนระดับภูมิภาคจะทำให้ผู้เชี่ยวชาญสามารถแบ่งปันแนวทาง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความมั่นคงของประเทศตนเอง ตลอดจนเน้นย้ำถึงลำดับความสำคัญต่าง ๆ ได้ “เราได้สนทนากับพันธมิตรและหุ้นส่วน พัฒนาโครงการและโครงการริเริ่มต่าง ๆ และนำมารวมเข้ากับการวางแผนของเราเอง” นายฟราโนกล่าว

การทำความเข้าใจเกี่ยวกับศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ตลอดจนผลกระทบที่มีต่อผู้คน ชุมชน และประเทศต่าง ๆ ถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับหน่วยงานทางทหารระดับภูมิภาคอย่าง กองบัญชาการสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นอินโดแปซิฟิก เนื่องจากประเด็นดังกล่าวส่งผลกระทบต่อความสามารถของกองทัพในการรักษาความมั่นคงและเสถียรภาพ ในขณะที่หลายประเทศขอความช่วยเหลือจากประเทศอื่น ๆ เพื่อบรรเทาทุกข์เมื่อเผชิญกับภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งและรุนแรงขึ้น บางประเทศอาจกำลังกังวลเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยที่ลดน้อยลง เช่น สำหรับประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิกบางประเทศ น้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นกำลังชะล้างพรมแดนบางส่วนที่เป็นตัวกำหนดอำนาจอธิปไตยของประเทศนั้น การกัดเซาะที่ในท้ายที่สุดอาจนำไปสู่การย้ายถิ่นฐานของมนุษย์ครั้งใหญ่ และในทางกลับกันก็ทำลายรากฐานของความมั่นคงในภูมิภาค “เมื่อเรามองไปที่อำนาจอธิปไตยและความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ จะเห็นว่าทุกอย่างไม่ได้เป็นไปตามแผนเสมอไป ดังนั้นเมื่อมีบางอย่างเกิดขึ้น เราก็ทำได้เพียงรับมือ” นายฟราโนกล่าว “แต่การเปลี่ยนแปลงอื่น ๆ เหล่านี้จะผลักดันเราไปในทิศทางที่จะเน้นย้ำถึงความสามารถของประเทศต่าง ๆ ในการจัดเตรียมบริการแก่ประชาชนของตน”

ดังนั้นโครงการและสายงานต่าง ๆ ของศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการภัยพิบัติและความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจะยังคงมีส่วนร่วมกับหุ้นส่วนในภูมิภาคตนเองและภูมิภาคอื่น ๆ เพื่อให้แน่ใจว่าความกังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการคุ้มครองพลเรือนจะรวมอยู่ในการวางแผนและการดำเนินการของความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ เมื่อใกล้ครบรอบ 30 ปี ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการภัยพิบัติและความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมยังคงเป็นทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์สำหรับกองทัพสหรัฐฯ และกองทัพของหุ้นส่วน หน่วยงานพลเรือน และองค์กรด้านมนุษยธรรมที่พยายามปรับปรุงการรับมือระหว่างพลเรือนและทหารต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติและภัยพิบัติที่มนุษย์สร้างขึ้น ซึ่งขอบเขตด้านการทำงานหลักของการฝึกอบรมและการมีส่วนร่วม การวิจัย การแบ่งปันข้อมูล และการวางแผนปฏิบัติการต่างมีความเกี่ยวข้องในปัจจุบันเช่นเดียวกับตอนที่จัดตั้งศูนย์ ในขณะเดียวกัน ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการภัยพิบัติและความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมยังคงปรับเปลี่ยนและพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบสนองต่อความต้องการที่เกิดขึ้นใหม่ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ และกองบัญชาการสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นอินโดแปซิฟิก โดยมีการคุ้มครองพลเรือนและโครงการผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพียงสองโครงการจากโครงการริเริ่มใหม่ ๆ เพื่อรับมือกับภูมิทัศน์ทางยุทธศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลงไปในอินโดแปซิฟิกและทั่วโลก

แสดงความคิดเห็นที่นี่

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

บทความที่เกี่ยวข้อง

Back to top button