การป้องปรามแบบบูรณาการกิจกรรมที่ผิดกฎหมายเรื่องเด่น

การตระหนักรู้ ในขอบเขต ทางทะเล

โครงการของสหประชาชาติมอบเทคโนโลยี และการฝึกเพื่อความปลอดภัยของน่านน้ำอินโดแปซิฟิกที่เพิ่มขึ้น

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม | ภาพจากสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ

ในการรักษาความปลอดภัยชายแดนทางทะเล การมีเทคโนโลยีในการตรวจจับความผิดปกติถือว่าไม่เพียงพอ และยังจำเป็นต้องมีพนักงานที่ได้รับการฝึกฝนใน การวิเคราะห์ข้อมูลอีกด้วย ผู้ที่มีทักษะในการวิเคราะห์สิ่งที่พวกเขากำลังมองเห็นและวิธีการที่จะอธิบายและรายงานสิ่งเหล่านี้เป็นองค์ประกอบสำคัญในการป้องปราม และโครงการอาชญากรรมทางทะเลทั่วโลกของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ กำลังขยายความร่วมมือกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายทางทะเลทั่วอินโดแปซิฟิก เพื่อรองรับเทคโนโลยีและขีดความสามารถข้างต้น

“เนื่องจากความท้าทายด้านความปลอดภัยทางทะเลไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยประเทศเดียวเท่านั้น และเนื่องด้วยความใกล้ชิดของขอบเขตทางทะเลระหว่างประเทศต่าง ๆ การเสริมสร้างความเข้มแข็งระหว่างหน่วยงานและการทำงานร่วมกันระหว่างประเทศเป็นกุญแจสำคัญในการตอบสนองต่อภัยคุกคามทางทะเลในภูมิภาค” ตามข้อมูลจากทีมมหาสมุทรแปซิฟิกของโครงการอาชญากรรมทางทะเลทั่วโลก

คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้จัดตั้งโครงการอาชญากรรมทางทะเลทั่วโลกขึ้นใน พ.ศ. 2553 เพื่อจัดการกับการ กระทำอันเป็นโจรสลัดนอกจะงอยแอฟริกา ในช่วงเริ่มต้น โครงการนี้เป็นที่รู้จักกันในชื่อ โครงการต่อต้านการกระทำอันเป็นโจรสลัด โดยโครงการนี้พัฒนาขึ้นเมื่อมีการขยายการมีส่วนร่วม การเข้าถึงทางภูมิศาสตร์ และการดำเนินการใน 6 พื้นที่ทั่วโลก

ในแปซิฟิก โครงการอาชญากรรมทางทะเลทั่วโลกได้ปรับปรุงความตระหนักรู้เกี่ยวกับขอบเขตทางทะเล โดยการติดตั้งระบบแสดงตนอัตโนมัติทางชายฝั่ง เทคโนโลยี และโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ และการยกระดับศูนย์เฝ้าระวังตำรวจทางทะเล ตลอดจนการฝึกอบรม ผู้บังคับใช้กฎหมายทางทะเลและชาวประมงท้องถิ่น นายชานาคา จายาเซคารา ผู้ประสานงานโครงการประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิกของโครงการอาชญากรรมทางทะเลทั่วโลก กล่าว

โครงการอาชญากรรมทางทะเลทั่วโลกของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ และ กองกำลังรักษาชายฝั่งอินโดนีเซียเปิดตัว
ศูนย์ฝึกทางทะเลในเมืองบาตัม ประเทศอินโดนีเซีย ใน พ.ศ. 2565

นายจายาเซคาราแบ่งปันรายละเอียดของการมีส่วนร่วมในปัจจุบันและการวางแผนของโครงการอาชญากรรมทางทะเลทั่วโลกกับประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก ในระหว่างการประชุมด้านความมั่นคงทางทะเล พ.ศ. 2565 การนำเสนอและการอภิปรายต่อเนื่องเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ ซึ่งจัดขึ้นที่โรงแรมแชงกรีลาในสิงคโปร์ เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2565 เป็นเวทีสำหรับเจ้าหน้าที่ทางทหาร รัฐบาล และบุคลากรระหว่างหน่วยงาน เพื่อเน้นย้ำถึงความพยายามในภูมิภาคแปซิฟิกและระดมความคิดเพื่อยกระดับความร่วมมือ

“เนื่องจากพื้นผิวร้อยละ 50 ของโลกประกอบด้วยน่านน้ำระหว่างประเทศที่อยู่นอกเหนือเขตอำนาจศาลของรัฐใด ๆ การบังคับใช้กฎหมายทางทะเลนั้นมีความซับซ้อนทางกฎหมายและท้าทายการดำเนินงานอย่างยิ่ง” นายมิวะ คาโตะ ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ กล่าวในรายงานประจำปีของโครงการอาชญากรรมทางทะเลทั่วโลก “ในเวลาเดียวกัน เนื่องจากเส้นทางการค้าที่สำคัญหลายแห่งของโลกต้องใช้เส้นทางเดินทะเลที่ปลอดภัย การรับรองหลักกฎหมายว่าด้วยน่านน้ำจึงเป็นกุญแจสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและความมั่นคง และหัวข้อดังกล่าวเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับวาระการประชุม พ.ศ. 2573 ของสหประชาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคที่มีการเชื่อมต่อและการค้าที่เติบโตอย่างรวดเร็ว เช่น ภูมิภาคอินโดแปซิฟิก”

กิจกรรมที่คึกคักในพื้นที่ที่กำลังเติบโตนี้มาพร้อมกับความท้าทาย กรอบการทำงานที่มีอยู่ เช่น อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ได้รับการออกแบบมาเพื่อจำกัดอุปสรรคเหล่านั้น เพื่อแนะนำช่องทางสำหรับการป้องกันความขัดแย้งและให้คำแนะนำในกรณีที่มีความกังวลเรื่องอำนาจอธิปไตย อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเลแสดงรายการที่ครอบคลุม ซึ่งกำหนดกฎเกณฑ์สำหรับการควบคุมการใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรของมหาสมุทรทั้งหมด “อนุสัญญาดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความคิดที่ว่าปัญหาทั้งหมดของพื้นที่มหาสมุทรมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดและจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขโดยรวม” ตามรายงานของกองกิจการมหาสมุทรและกฎหมายทะเลขององค์การสหประชาชาติ

คุณลักษณะที่สำคัญของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเลยืนยันว่า “รัฐชายฝั่งมีสิทธิ์ใช้อำนาจอธิปไตยเหนือทะเลในเขตแดนของตน โดยพวกเขามีสิทธิ์ที่จะกำหนดความกว้างได้ถึงขีดจำกัดไม่เกิน 12 ไมล์ทะเล ซึ่งช่วยให้เรือต่างประเทศ
“เดินเรือผ่านโดยสุจริต” ในน่านน้ำเหล่านั้น

ข้อความฉบับเต็มของอนุสัญญาประกอบด้วย 320 มาตราและภาคผนวก 9 บทที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมทุกแง่มุมของมหาสมุทร รวมถึงการจำกัดขอบเขต การควบคุมสิ่งแวดล้อม การวิจัยวิทยาศาสตร์ทางทะเล กิจกรรมทางเศรษฐกิจและการค้า การถ่ายโอนเทคโนโลยี และการระงับข้อพิพาทเกี่ยวกับมหาสมุทร

“ทุกประเทศชายฝั่งทะเลและประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลต่างพึ่งพาความมั่นคงของมหาสมุทรของโลก” นายกาห์ดา วาลี หัวหน้าสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ กล่าวตามรายงานของหน่วยงาน “เสรีภาพในการเดินเรือซึ่งได้รับการยืนยันโดยอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเลได้รับการยอมรับว่าเป็นหลักการพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งนับวันจะถูกคุกคามมากขึ้นเรื่อย ๆ”

ลำดับความสำคัญในแปซิฟิก

ทีมมหาสมุทรแปซิฟิกมีลำดับความสำคัญ 5 ประการสำหรับภูมิภาค ได้แก่

  • ส่งเสริมการทูตเรือสีขาวโดยใช้กองกำลังประเภทรักษาชายฝั่งมากกว่ากองกำลังทางเรือปกติ เพื่อสร้างความมั่นคงโดยการสร้างทักษะในการลดเหตุการณ์ทางทะเลและเพิ่มความร่วมมือระดับภูมิภาคผ่านการเจรจาว่าด้วยการบังคับใช้กฎหมายทางทะเล
  • จัดตั้งเครือข่ายผู้บัญชาการกองกำลังรักษาชายฝั่งระดับภูมิภาคไตรภาคีระหว่างอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาในทะเลซูลูและเซเลบีส และเพื่อเผยแพร่ข้อมูลอาชญากรรมทางทะเลภายใต้โครงการกลุ่มผู้ประสานงานในทะเลซูลูและ
    เซเลบีส
  • ขยายผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้วยแนวทางหลายหน่วยงานเพื่อต่อต้านการค้ายาเสพติดในทะเลอันดามันและอ่าวไทย
  • เพิ่มขีดความสามารถและการวิเคราะห์ด้านความตระหนักรู้เกี่ยวกับขอบเขตทางทะเลผ่านการสนับสนุนอุปกรณ์และเสริมสร้างขีดความสามารถในการวิเคราะห์
  • เพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินคดี โดยการประสานมาตรฐานสากลผ่านการประเมินกฎหมายทางทะเลและสถานการณ์จำลองในประเทศตามชายฝั่ง

ตามข้อมูลของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ มีเจ้าหน้าที่ชายแดนเพียงร้อยละ 30 เท่านั้นที่กล่าวว่าพวกเขาได้รับการฝึกอบรมและบางครั้งก็ไม่เพียงพอ

“ในแง่ของการตระหนักรู้เกี่ยวกับขอบเขตทางทะเลโดยใช้เทคโนโลยี เราต้องพิจารณาที่การรวบรวมข่าวกรองของมนุษย์” นายจายาเซคารากล่าวระหว่างการประชุมคณะทำงานในสิงคโปร์

เจ้าหน้าที่อินโดนีเซียฝึกฝนขั้นตอนการเข้าตรวจค้น การขึ้นเรือ การค้นหาและ การจับกุมในระหว่างการฝึกอบรมที่จัดขึ้นโดยโครงการอาชญากรรมทางทะเลทั่วโลก

การเตรียมความพร้อมให้แก่ชุมชนชายฝั่งด้วยระบบแสดงตนอัตโนมัติและอุปกรณ์ตรวจจับความถี่วิทยุนั้นไม่เพียงพอ หากเจ้าหน้าที่ทางทะเลไม่ทราบวิธีการวิเคราะห์ข้อมูลและระบุแนวโน้ม การมีอุปกรณ์ดังกล่าวก็ถือว่าสูญเปล่า

ในฟิจิและที่อื่น ๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิก โครงการอาชญากรรมทางทะเลทั่วโลกกำลังทำงานร่วมกับหัวหน้าหมู่บ้านต่าง ๆ เพื่อรวบรวมข้อมูลจากชุมชนชายฝั่งและชาวประมง ตลอดจนฝึกอบรมพวกเขาให้จดบันทึกรูปแบบที่ผิดปกติของชีวิตในทะเลและรายงานสิ่งที่ค้นพบต่อเจ้าหน้าที่ทางทะเลผ่านแอปสื่อสังคมออนไลน์
นายจายาเซคารากล่าวว่าการป้อนข้อมูลของมนุษย์จะช่วยเสริมการทำงานของแหล่งข้อมูลทางเทคนิค

ในด้านเทคโนโลยี โครงการอาชญากรรมทางทะเลทั่วโลกได้จัดหาเรดาร์ย่านความถี่เอกซ์สำหรับชายฝั่งให้แก่ศูนย์เฝ้าระวังทางทะเลเพื่อยกระดับขีดความสามารถในหมู่เกาะคุก ฟิจิ คิริบาตี นาอูรู ตองงา และตูวาลู ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

การฝึกอบรมที่ดีขึ้นเพื่อยับยั้งการก่อการร้าย

กลุ่มผู้ก่อการร้ายต่างตระหนักถึงช่องโหว่ด้านความมั่นคงทางทะเลที่พวกเขาสามารถใช้เพื่อผลประโยชน์ของตน ตามข้อมูลจาก “ความรุนแรงในทะเล: ผู้ก่อการร้าย ผู้ก่อความไม่สงบ และลัทธิหัวรุนแรงอื่น ๆ ใช้ประโยชน์จากขอบเขตทางทะเลอย่างไร” รายงาน พ.ศ. 2563 ที่ตีพิมพ์โดย สเตเบิลซีส์ ซึ่งเป็นโครงการวิจัยข้ามชาติเพื่อตอบโต้ภัยคุกคามต่อสันติภาพในทะเล

“กลุ่มผู้ก่อการร้ายใช้ประโยชน์จากจุดบอดและขีดความสามารถทางทะเลที่อ่อนแอมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งในด้านการลักลอบนำเข้าเครื่องบินรบและอาวุธ การโจมตีเป้าหมายทางทะเล และแม้แต่การสนับสนุนทางการเงินแก่ปฏิบัติการของตนผ่านการค้ามนุษย์และการจัดเก็บภาษีที่ผิดกฎหมาย” ตามรายงานของสเตเบิลซีส์ “แม้ว่าความท้าทายในการรักษาขอบเขตทางทะเลจะเป็นที่เข้าใจกันดีทั้งในแวดวงวิชาการและนโยบาย แต่การพัฒนาขีดความสามารถที่แข็งแกร่งและมีประสิทธิภาพในการระงับภัยคุกคามทางทะเลยังคงเป็นความท้าทายที่ซับซ้อน”

ผู้ก่อการร้ายมุ่งเป้าไปที่เรือในทะเลอย่างแยบยล โดยมุ่งเป้าไปที่เรือของกองทัพและพลเรือนที่ดำเนินการอยู่และจอดในท่าเรือ ตามการบรรยายสรุปของโครงการอาชญากรรมทางทะเลทั่วโลก ผู้ก่อการร้าย “ใช้ประโยชน์จากทะเลเป็นวิธีการขนส่งเครื่องบินรบและอาวุธไปยังสถานที่เกิดเหตุโจมตี” ตามรายงานของโครงการอาชญากรรมทางทะเลทั่วโลก “ความสามารถของรัฐในการตรวจสอบเรือในทะเลอย่างใกล้ชิดเป็นเครื่องมือสำคัญต่อความสำเร็จที่เพิ่มขึ้นของมาตรการคว่ำบาตรที่บังคับใช้กับการก่อการร้าย”

เพื่อต่อสู้กับการก่อการร้ายที่ดียิ่งขึ้น โครงการอาชญากรรมทางทะเลทั่วโลกทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่รักษาชายฝั่ง อัยการ ศาล และเจ้าหน้าที่ท่าเรือ เพื่อปรับปรุงการเดินเรือและความปลอดภัยของท่าเรือ ส่งมอบการสนับสนุนการเฝ้าระวังด้วยเทคโนโลยีดาวเทียมล่าสุด ตลอดจนอำนวยความสะดวกในการจำลองสถานการณ์การก่อการร้ายทางทะเล “โครงการอาชญากรรมทางทะเลทั่วโลกตระหนักดีว่าการก่อการร้ายทางทะเลมักจะเชื่อมโยงกับอาชญากรรมทางทะเลในรูปแบบอื่น ๆ ดังนั้น ขีดความสามารถหลายประการที่เราจัดหาให้แก่เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายทางทะเลจึงมีความเกี่ยวข้องกับการจัดการกับการก่อการร้ายทางทะเล” สำนักงานโครงการระบุ

ทรัพยากรเพิ่มเติม รวมถึง หลักสูตรความตระหนักรู้เกี่ยวกับขอบเขตทางทะเลเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจในการเข้าตรวจค้น
การขึ้นเรือ การค้นหาและการจับกุม การเดินเรือที่ปลอดภัย การกระทำอันเป็นโจรสลัด การก่อการร้าย และการลักลอบขนของเถื่อนและมนุษย์

“การสนับสนุนประเทศสมาชิกในการต่อต้านภัยคุกคามและอาชญากรรมทางทะเลโดยรวมจะมีส่วนช่วยโดยตรงในการปรับปรุงชีวิตของผู้คนทั่วโลก” นายคาโตะกล่าวในรายงานประจำปีของโครงการอาชญากรรมทางทะเลทั่วโลก “การลดการละเว้นโทษและการเสริมสร้างหลักนิติธรรมในมหาสมุทรของโลกจึงเป็นขั้นตอนสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงสันติภาพและความมั่นคงในวงกว้าง”

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button