ทรัพยากรส่วนรวมของโลกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

กองทัพเรือสิงคโปร์เสริมกำลังเรือรบอเนกประสงค์ที่มีขีดความสามารถด้านปัญญาประดิษฐ์

ทอม แอบกี

กองทัพเรือสิงคโปร์กำลังจะนำปัญญาประดิษฐ์ การวิเคราะห์ข้อมูล และเทคโนโลยีอื่น ๆ มาใช้ประโยชน์ในการตอบโต้ภัยคุกคามทางทะเล โดยมีแผนที่จะนำเรือรบอเนกประสงค์จำนวน 6 ลำเข้าประจำการแทนที่เรือลาดตระเวนติดตั้งขีปนาวุธชั้นวิกตอรี โดยจะเริ่มต้นใน พ.ศ. 2571

เรือรุ่นใหม่นี้จะทำหน้าที่เป็น “เรือแม่” สำหรับระบบไร้ลูกเรือที่วางแผนไว้ และจะได้รับการติดตั้งเทคโนโลยีขั้นสูงจำนวนมากจากความร่วมมือระหว่างสิงคโปร์และสวีเดน (ภาพ: ภาพจำลองแสดงเรือรบอเนกประสงค์และระบบไร้ลูกเรือที่เกี่ยวข้อง)

การจี้ปล้น ทุ่นระเบิด และการปล้นสะดมในทะเลเป็นหนึ่งในภัยคุกคามทางทะเลที่สำคัญที่ประเทศหมู่เกาะแห่งนี้กำลังเผชิญอยู่ กระทรวงกลาโหมสิงคโปร์ระบุ ในบทความเดือนมีนาคม พ.ศ. 2566 เรื่อง “ลาดตระเวน ตรวจจับ มีส่วนร่วม: เรื่องราวของความมั่นคงทางทะเล” กระทรวงกลาโหมสิงคโปร์ระบุว่า เรือรบอเนกประสงค์เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของการยกระดับสินทรัพย์และขีดความสามารถทางทะเลตามแผนของประเทศ

“เรือใหม่เหล่านี้จะเสริมสร้างความสามารถของกองทัพเรือสาธารณรัฐสิงคโปร์ในการปกป้องสิงคโปร์และเส้นทางคมนาคมทางทะเล” กระทรวงกลาโหมระบุ เรือรบอเนกประสงค์เหล่านี้จะทำหน้าที่เป็น “ตัวคูณกำลังรบ” โดยจะเป็นแพลตฟอร์มสำหรับระบบไร้ลูกเรือหลายประเภทที่จะขยายขอบเขตของการเฝ้าระวังและการปฏิบัติการของเรือดังกล่าว

“อากาศยานไร้คนขับจะขึ้นสู่ท้องฟ้าเพื่อเป็น ‘ดวงตา’ สอดส่องเพิ่มเติม เรือผิวน้ำไร้คนขับจะลาดตระเวนทะเล ในขณะที่เรือใต้น้ำไร้คนขับจะสแกนความลึก โดยทั้งหมดมีเรือรบอเนกประสงค์ลำเดียวเป็นศูนย์รวมปฏิบัติการ” กระทรวงกลาโหมระบุ

แผนการต่าง ๆ ทำให้เรือจำเป็นต้องติดตั้งเซ็นเซอร์และอาวุธขั้นสูง เช่น เรดาร์ซีไฟร์ เครื่องยิงขีปนาวุธต่อต้านเรือ เครื่องยิงตอร์ปิโด ปืนขนาด 76 มิลลิเมตร, 30 มิลลิเมตร และ 12.7 มิลลิเมตร และขีปนาวุธจากพื้นผิวสู่อากาศแอสเตอร์และวีแอล มิกา เรือดังกล่าวคาดว่าจะดำเนินภารกิจตั้งแต่การรักษาความปลอดภัยเส้นทางคมนาคมทางทะเลไปจนถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ และสามารถปรับให้เข้ากับขีดความสามารถที่เกิดขึ้นใหม่ได้ ตามรายงานของกระทรวงกลาโหมสิงคโปร์

บริษัท เอสที เอนจิเนียริ่ง ของสิงคโปร์ประกาศว่าจะต่อเรือดังกล่าวภายใต้สัญญากับกระทรวงกลาโหมในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2566 และจะให้การสนับสนุนและบำรุงรักษาตลอดช่วงอายุการใช้งานของเรือ นอกจากนี้ ในเดือนมีนาคม บริษัท ซาบ ของสวีเดนและสำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหมของสิงคโปร์ ตกลงที่จะร่วมมือกันในด้านปัญญาประดิษฐ์ การวิเคราะห์ข้อมูล และเทคโนโลยีอื่น ๆ เพื่อทำให้แนวคิดที่จะทำให้เรือรบอเนกประสงค์ดังกล่าวเป็น “เรือดิจิทัลขั้นสูง” สัมฤทธิ์ผล

“นอกเหนือจากการกำหนดระยะเพื่อร่วมกันส่งมอบเรือรบแบบอเนกประสงค์ที่มีการขับเคลื่อนด้วยระบบดิจิทัลและข้อมูลขั้นสูงแล้ว ความร่วมมือนี้จะช่วยเร่งการพัฒนาความรู้ไม่เพียงแต่ในการออกแบบเรือเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเทคโนโลยีที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ เช่น ปัญญาประดิษฐ์และการวิเคราะห์ข้อมูล” นายเมอร์วิน ตัน ประธานบริหารของสำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม กล่าวในแถลงการณ์

การพัฒนาระบบไร้ลูกเรือเป็นสิ่งสำคัญในวิสัยทัศน์ของกองทัพสิงคโปร์ไปจนถึง พ.ศ. 2583 กองทัพเรือคาดว่าจะประจำการเรือผิวน้ำไร้คนขับ 4 ลำที่มีการติดตั้งอุปกรณ์สำหรับการเฝ้าระวังและการตอบสนองเชิงปฏิบัติการ ตามรายงานของนิตยสารออนไลน์ดีเฟนส์ นิวส์ นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังได้พัฒนาระบบกำจัดทุ่นระเบิด เค-สเตอร์ แบบใช้แล้วทิ้งซึ่งมีน้ำหนักเบา โดยสามารถปล่อยตัวได้จากเรือผิวน้ำ

กระทรวงกลาโหมได้จัดซื้ออากาศยานลาดตระเวนไร้คนขับ ออร์บิเตอร์ 4 จำนวนหลายลำใน พ.ศ. 2565 จากบริษัทด้านการบินของอิสราเอลที่ชื่อว่า แอโรโนติกส์ ซึ่งเป็นอากาศยานที่มีโอกาสเข้ามาทดแทนฝูงอากาศยานลาดตระเวน สแกนอีเกิล ของกองทัพเรือสิงคโปร์ ซึ่งได้ปฏิบัติการบนเรือลาดตระเวนติดตั้งขีปนาวุธมาประมาณหนึ่งทศวรรษ

ทอม แอบกี เป็นผู้สื่อข่าวของ ฟอรัม รายงานจากประเทศสิงคโปร์

ภาพจาก: กระทรวงกลาโหมสิงคโปร์

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button