ความร่วมมือเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ

กลุ่มจี 7 เรียกร้องให้จีนกดดันรัสเซียเพื่อยุติสงครามในยูเครน และเคารพต่อสถานะของไต้หวัน

ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศได้เรียกร้องให้สาธารณรัฐประชาชนจีนกดดันพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ของตนอย่างรัสเซีย เพื่อยุติสงครามกับยูเครน พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลจีนแก้ไขข้อพิพาทด้านอาณาเขตอย่างสันติ

ในระหว่างการประชุมสุดยอดเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2566 ที่จังหวัดฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น ผู้นำกลุ่มจี 7 ได้ออกแถลงการณ์ร่วมที่เน้นย้ำว่ากลุ่มกำลังแสวงหา “ความสัมพันธ์ที่สร้างสรรค์และมั่นคง” กับจีน โดยแถลงการณ์ระบุว่า “เพื่อตระหนักถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมอย่างตรงไปตรงมาและแสดงความกังวลของเราไปยังจีนโดยตรง”

“เราขอเรียกร้องให้จีนกดดันรัสเซียเพื่อยุติการรุกรานทางทหาร และถอนกองกำลังทั้งหมดออกจากยูเครนทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข” “เราส่งเสริมให้จีนสนับสนุนสันติภาพที่ครอบคลุม ยุติธรรม และยั่งยืน โดยยึดตามบูรณภาพของดินแดน ตลอดจนหลักการและวัตถุประสงค์” ของกฎบัตรสหประชาชาติ

ความร่วมมือกับจีนเป็นเรื่องจำเป็น เนื่องจากจีนมีบทบาทและขนาดเศรษฐกิจในระดับโลก โดยกลุ่มได้เรียกร้องให้มีการทำงานร่วมกันสำหรับประเด็นความท้าทายต่าง ๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพ หนี้สินและความต้องการทางการเงินของกลุ่มประเทศที่มีความเปราะบาง สุขภาพโลก ตลอดจนเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

แต่บรรดาผู้นำต่างแสดง “ความกังวลอย่างมาก” เกี่ยวกับสถานการณ์ในทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้ ในระยะหลัง รัฐบาลจีนได้ขยายบทบาททางทหารและข่มขู่ว่าจะใช้กำลังเข้ายึดครองไต้หวันที่ปกครองตนเอง โดยอ้างว่าไต้หวันนั้นเป็นดินแดนของตน ทั้ง ๆ ที่เกาะแห่งนี้ไม่เคยเป็นส่วนหนึ่งของจีนเลย

ผู้นำกลุ่มจี 7 เรียกร้องให้มี “การแก้ปัญหาอย่างสันติ” ในแถลงการณ์ของกลุ่มระบุว่า “ไม่มีพื้นฐานทางกฎหมายข้อใดระบุว่าจีนสามารถอ้างสิทธิ์ทางทะเลที่กว้างขวางในทะเลจีนใต้ และเราต่อต้านกิจกรรมทางทหารของจีนในภูมิภาคนี้”

“จีนที่เติบโตโดยปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศจะเป็นที่สนใจของทั่วโลก” แถลงการณ์ระบุ

กลุ่มจี 7 ซึ่งรวมถึงแคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ยังพร้อมใจกันแสดงความกังวลเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในจีน รวมถึงในทิเบต ฮ่องกง และซินเจียง (ภาพ: เหล่าผู้นำกลุ่มจี 7 และเจ้าหน้าที่คนอื่น ๆ รวมตัวกันระหว่างการประชุมสุดยอดจี 7 ในจังหวัดฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2566)

แถลงการณ์ดังกล่าวยังได้พยายามที่จะตอบโต้ข้อกล่าวหาที่ว่ากลุ่มจี 7 กำลังพยายามป้องกันไม่ให้จีนก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจระดับโลก

“แนวทางนโยบายของเราไม่ได้ออกแบบมาเพื่อทำร้ายจีน และไม่ได้พยายามขัดขวางความก้าวหน้าและการพัฒนาทางเศรษฐกิจของจีน” เหล่าผู้นำกล่าว แถลงการณ์นี้ได้เน้นย้ำถึงฉันทามติที่ว่าความพยายามในการกระจายห่วงโซ่อุปทานด้านการผลิต และรับรองการเข้าถึงแร่ธาตุสำคัญเชิงกลยุทธ์และทรัพยากรอื่น ๆ อย่างมีเสถียรภาพ ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อลดทอนความสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลก

“เราไม่มีเจตนาจะตัดความสัมพันธ์ทางการค้าหรือหันมาค้าขายกันแค่ภายในกลุ่ม” แถลงการณ์ระบุ “ทั้งนี้ เราตระหนักดีว่าความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจจำเป็นต้องลดความเสี่ยงและกระจายความเสี่ยง เราจะดำเนินการร่วมมือกันทีละขั้นตอน เพื่อลงทุนเพื่อความเฟื่องฟูทางเศรษฐกิจของเราเอง เราจะลดการพึ่งพาที่มากเกินจำเป็นในห่วงโซ่อุปทานที่สำคัญของเรา”

ในขณะเดียวกัน สมาชิกกลุ่มจี 7 ให้คำมั่นว่าจะยืนหยัดต่อต้าน “การบีบบังคับทางเศรษฐกิจ” โดยกล่าวว่าพวกเขาจะ “ตอบโต้การกระทำที่มุ่งร้าย เช่น การถ่ายโอนเทคโนโลยีหรือการเปิดเผยข้อมูลอย่างผิดกฎหมาย” พร้อมหลีกเลี่ยง “การจำกัดทางการค้าและการลงทุนที่มากเกินควร”

ในแถลงการณ์ กระทรวงการต่างประเทศจีนกล่าวหาว่ากลุ่มจี 7 พยายาม “ที่จะป้ายสีและโจมตีจีน รวมถึงแทรกแซงกิจการภายในของจีนอย่างโจ่งแจ้ง”

พร้อมกันนั้น ไต้หวันได้แสดงความขอบคุณต่อกลุ่มจี 7 ที่ให้การสนับสนุน

“ไต้หวันจะยืนหยัดเคียงข้างระบอบประชาธิปไตยและร่วมมือกับชุมชนทั่วโลกเพื่อกำจัดความเสี่ยง” นางไช่ อิง-เหวิน ประธานาธิบดีไต้หวัน กล่าวในระหว่างการแถลงข่าว “ตอนนี้ ทั่วโลกแสดงฉันทามติชัดเจนมาก ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ว่าปัญหาระหว่างจีนกับไต้หวันต้องได้รับการแก้ไขอย่างสันติ สงครามไม่ใช่ทางเลือก”

ภาพจาก: เอเอฟพี/เก็ตตี้อิมเมจ

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button