เอเชียใต้

เขื่อนขนาดใหญ่ของจีนในเทือกเขาหิมาลัยก่อให้เกิดความตึงเครียดในพื้นที่ปลายน้ำ

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

การปิดบังรายละเอียดเกี่ยวกับเขื่อนพลังน้ำขนาดใหญ่พิเศษที่วางแผนไว้ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งอาจเป็นเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดในโลกบนแม่น้ำพรหมบุตรหรือแม่น้ำยาร์ลุงซางโปในเขตปกครองตนเองทิเบต ได้กระตุ้นให้เกิดความวิตกกังวลและความไม่ไว้วางใจในหมู่ประเทศเพื่อนบ้าน

แม่น้ำพรหมบุตรเป็นแหล่งน้ำสำหรับเกษตรกรรม การประมง และการขนส่งในบังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย และสาธารณรัฐประชาชนจีน กระแสของแม่น้ำนี้เป็นสิ่งที่กำหนดว่าชุมชนปลายน้ำจะต้องเผชิญกับภัยแล้ง น้ำท่วม หรือระดับน้ำปกติตามฤดูกาล แม้ว่าช่วงปลายแม่น้ำจะประกอบไปด้วยน้ำจากหลายแหล่งที่มา แต่ความเป็นไปได้ที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนจะควบคุมแม้เพียงส่วนหนึ่งของกระแสของแม่น้ำนี้ด้วยเขื่อนขนาดใหญ่บนต้นน้ำในส่วนยาร์ลุงซางโปของแม่น้ำพรหมบุตรสร้างความกังวลให้กับหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับอินเดีย การขาดความโปร่งใสของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเกี่ยวกับแผนการต่าง ๆ ยิ่งเป็นการทำให้ความกังวลดังกล่าวทวีความรุนแรงขึ้นไปอีก ประกอบกับประวัติศาสตร์การสร้างเขื่อนของชุมชนที่ย้ายถิ่นฐาน ความหลากหลายทางชีวภาพที่เสียหาย และความแห้งแล้งและอุทกภัยที่เกิดจากโครงสร้าง

เขื่อนใหญ่พิเศษดังกล่าว ซึ่งมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าโครงการเมดอก ซึ่งตั้งชื่อตามสถานที่ตั้งของเขื่อนที่อยู่ในเขตปกครองเมดอก (ภาพ) จะผลิตพลังงานจากจุดที่แม่น้ำไหลผ่านยาร์ลุงซางโปแกรนด์แคนยอน ซึ่งเป็นหนึ่งในหุบเขาลึกที่ยาวและลึกที่สุดในโลก ซึ่งอยู่ห่างจากชายแดนจีนและอินเดียที่เป็นข้อพิพาทกันเพียงไม่กี่กิโลเมตร ตามข้อมูลจากสื่อที่ดำเนินการโดยรัฐบาลจีน เขื่อนแห่งนี้จะผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำได้มากถึง 60 กิกะวัตต์ หรือเกือบสามเท่าของปริมาณที่ผลิตได้โดยเขื่อนสามผา ซึ่งเป็นเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดในโลกขณะนี้บนแม่น้ำแยงซี ตามรายงานของวอยซ์ออฟอเมริกา เพาเวอร์คอนสตรักชันคอร์ป ซึ่งเป็นบริษัทรัฐวิสาหกิจจีน เป็นผู้รับเหมาของโครงการนี้

ปรากฏการณ์แผ่นดินไหวในภูมิภาคเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตามปกติ รวมถึงที่พื้นที่เขื่อนใหญ่พิเศษเกรตเบนด์ ซึ่งเป็นจุดที่แม่น้ำโค้งรอบยอดเขานัมจาบาร์วา รอยร้าวของโครงสร้างที่เกิดจากแผ่นดินไหวหรือดินถล่มอาจก่อให้เกิดน้ำท่วมรัฐอรุณาจัลประเทศและรัฐอัสสัมของอินเดีย ตลอดจนชุมชนปลายน้ำอื่น ๆ ในอินเดียและบังกลาเทศ ตามรายงานของนิตยสารเอาต์ลุกของอินเดียในช่วงปลายเดือนมีนาคม พ.ศ. 2566

เหตุผลในการสร้างเขื่อนใหญ่พิเศษที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนระบุไว้คือ เพื่อช่วยให้จีนเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ่านหิน ซึ่งปัจจุบันใช้เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าส่วนใหญ่ให้กับจีน อีกทั้งยังยังก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกด้วย นายสี จิ้นผิง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้ให้คำมั่นว่าจีนจะเป็นประเทศที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอนภายใน พ.ศ. 2603

ฝ่ายคัดค้านของเขื่อนขนาดใหญ่พิเศษบางรายกล่าวว่าโครงสร้างดังกล่าวยังจะช่วยให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนมีอำนาจควบคุมเหนือประเทศเพื่อนบ้านได้ ไม่มีข้อตกลงทวิภาคีหรือพหุภาคีใดสำหรับการบริหารแม่น้ำพรหมบุตร ตามรายงานของเอาต์ลุก

อินเดียและจีนมีความสัมพันธ์ที่ตึงเครียด หุ้นส่วนทางการค้าที่เฟื่องฟูทั้งสองประเทศนี้ได้ปะทะกันหลายต่อหลายครั้งในเส้นแบ่งเขตควบคุมตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นเขตแดนระยะทาง 3,440 กิโลเมตรที่แยกอินเดียที่อยู่ทางตอนเหนือออกจากจีน ไม่มีผู้เสียชีวิตในการเผชิญหน้ากันครั้งล่าสุดในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2565 แต่ความขัดแย้งกันเกี่ยวกับตำแหน่งของเขตแดนยังคงมีอยู่ และความไม่ไว้วางใจก็ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น

เขื่อนขนาดใหญ่พิเศษที่วางแผนไว้และเขื่อนอื่น ๆ ของจีนในภูมิภาคยังเป็นการสุมไฟให้ความขัดแย้งดังกล่าวอีกด้วย จีนได้สัญญาว่าโครงสร้างที่สูง 50 เมตรนี้จะไม่ส่งผลกระทบในทางลบต่อกระแสน้ำในช่วงปลายน้ำของแม่น้ำ ชาวอินเดียบางส่วนไม่เชื่อคำกล่าวอ้างดังกล่าว

จีนแสวงหา “อำนาจครอบงำทางน้ำ” นายเอสดี ปราธาน อดีตประธานคณะกรรมการข่าวกรองร่วมของอินเดีย แสดงความคิดเห็นในหนังสือพิมพ์เดอะไทมส์ออฟอินเดียในช่วงปลายเดือนมกราคม พ.ศ. 2566 “ภาพรวมที่เกิดขึ้นคือการที่จีนถือว่าน้ำเป็นอาวุธเชิงยุทธศาสตร์ในการชักจูงพฤติกรรมของประเทศติดแม่น้ำที่อยู่ในพื้นที่ต่ำกว่า และยังมองว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในแผนการอำนาจครอบงำของตน” นายปราธานเขียน

บังกลาเทศเองก็เป็นกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นของเขื่อนขนาดใหญ่พิเศษนี้เช่นกัน ผู้เชี่ยวชาญด้านอุทกวิทยาในประเทศกล่าวว่า นี่อาจถือเป็นเรื่อง “ชี้เป็นชี้ตาย” สำหรับบังกลาเทศ ตามรายงานของเบนาร์นิวส์ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2563 ซึ่งเป็นเวลาหนึ่งเดือนหลังจากที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนประกาศโครงการดังกล่าว

อินเดียวางแผนที่จะตอบโต้เขื่อนขนาดใหญ่พิเศษในช่วงปลายน้ำด้วยเขื่อนพลังน้ำขนาด 11,000 เมกะวัตต์บนแม่น้ำเซียง ซึ่งเป็นชื่อของแม่น้ำพรหมบุตรในรัฐอรุณาจัลประเทศของอินเดีย ตามรายงานของไทมส์ออฟอินเดีย นอกเหนือจากการผลิตกระแสไฟฟ้าแล้ว อินเดียยังอ้างว่าเขื่อนของตนจะบรรเทาภัยแล้งหรืออุทกภัยที่อาจเกิดขึ้นอันเป็นผลมาจากกระแสน้ำที่ถูกเบนไปเพราะเขื่อนขนาดใหญ่พิเศษของจีน ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ไทมส์ออฟอินเดีย ชุมชนบางแห่งในรัฐอรุณาจัลประเทศคัดค้านโครงการอเนกประสงค์ที่ต้นแม่น้ำเซียง ซึ่งจะเป็นเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำที่ใหญ่ที่สุดของอินเดีย ตามรายงานของหนังสือพิมพ์นิกเคอิในช่วงปลายเดือนมกราคม พ.ศ. 2566

พรรคคอมมิวนิสต์จีนยังไม่ได้ประกาศแผนการที่ชัดเจนของเขื่อนขนาดใหญ่พิเศษนี้ รวมถึงกำหนดการด้วย การกระทำของจีนในลักษณะนี้เกิดขึ้นแม้ว่าจะมีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฏหมายเกี่ยวกับการใช้ลำน้ำระหว่างประเทศที่มิใช่เพื่อการเดินเรือ พ.ศ. 2540 ซึ่งเรียกร้องให้มีการใช้ทางน้ำไหลข้ามพรมแดนอย่างเท่าเทียมและสมเหตุสมผล

แทนที่จะบรรเทาข้อกังวลของอินเดีย รัฐบาลจีนกลับปฏิเสธว่าตนไม่ได้มีเจตนาร้ายใด ๆ ตามรายงานของนิตยสารเดอะดิโพลแมตในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2565 “หากไม่มีการเปิดเผยข้อมูลทางอุทกวิทยาต่อสาธารณชนหรือแผนการสร้างเขื่อน ก็เป็นการยากที่จะคาดการณ์ผลกระทบของโครงการขนาดใหญ่ต่ออินเดียได้อย่างแม่นยำ” ตามรายงานของนิตยสารเดอะดิโพลแมต “การระงับการให้ข้อมูลมีแต่จะเพิ่มความไม่ไว้วางใจของอินเดียต่อจีนเท่านั้น”

ภาพจาก: เก็ตตี้

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button