การทาบทามทางการทูตของจีนต่อเกาหลีเหนือก่อให้เกิดความคลุมเครือต่อการปลดอาวุธนิวเคลียร์ในเกาหลีเหนือ
เจ้าหน้าที่ ฟอรัม
เกิดข้อสงสัยขึ้นว่าความพยายามทางการทูตต่อเกาหลีเหนือที่เพิ่มขึ้นของรัฐบาลจีนจะเป็นการตัดทอนโครงการอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธทิ้งตัวจากรัฐบาลเกาหลีเหนือของนายคิม จองอึน หรือจะยิ่งเป็นการบั่นทอนการบังคับใช้มติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่มีเป้าหมายเพื่อหยุดยั้งการพัฒนาอาวุธเหล่านั้นของรัฐบาลเกาหลีเหนือ
เอเจนซ์ ฟรานซ์-เพรสรายงานว่า นายสี จิ้นผิง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้กล่าวไว้ในจดหมายถึงนายคิม ซึ่งได้รับการเผยแพร่เมื่อกลางเดือนเมษายน พ.ศ. 2566 ว่าตนแสวงหาความสัมพันธ์ “ในระดับที่สูงขึ้น” กับรัฐบาลเกาหลีเหนือ ตามข้อมูลที่ระบุโดยสำนักข่าวกลางเกาหลีของรัฐบาล
นายสีเขียนในจดหมายว่า เมื่อคำนึงจากการที่ “สถานการณ์ในระดับนานาชาติและระดับภูมิภาคขณะนี้กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก และเป็นไปในรูปแบบที่มีความซับซ้อน” นายสีจึงยินดีที่จะยกระดับความสัมพันธ์แบบทวิภาคีด้วยการ “เสริมสร้างการสื่อสารเชิงยุทธศาสตร์และร่วมกันชี้นำ” ความสัมพันธ์ ตามรายงานของสำนักข่าวกลางเกาหลี
แรงกดดันเกิดขึ้นเมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศหรือจี-7 ประณามการทดสอบอาวุธอย่างต่อเนื่องและในจำนวนที่มากเป็นประวัติการณ์ของเกาหลีเหนือ”การกระทำดังกล่าวต้องได้รับการตอบสนองในระดับนานาชาติอย่างรวดเร็ว เป็นหนึ่งเดียว และเข้มแข็ง ซึ่งรวมถึงมาตรการสำคัญที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติจะต้องดำเนินการต่อไป” คณะทูตระดับสูงจากกลุ่มจี-7 ได้แก่ แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา รวมถึงสหภาพยุโรป กล่าวในแถลงการณ์ร่วมที่ออกหลังจากการพูดคุยร่วมกันในเดือนเมษายน พ.ศ. 2566 ที่เมืองคารุอิซาวะ ประเทศญี่ปุ่น
รัฐบาลเกาหลีเหนือของนายคิมยังคงฝ่าฝืนมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ โดยจนถึงปัจจุบันได้ดำเนินการทดสอบขีปนาวุธอย่างน้อย 12 ครั้งใน พ.ศ. 2566 รวมถึงการยิงขีปนาวุธข้ามทวีปล่าสุดจำนวนหนึ่ง เกาหลีเหนืออ้างว่าการทดสอบในวันที่ 13 เมษายนของตนเป็นขีปนาวุธทิ้งตัวข้ามทวีปแบบเชื้อเพลิงแข็ง ที่หากได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่แล้วอาจใช้เพื่อกำหนดเป้าหมายไปที่ทวีปอเมริกาได้ ตามรายงานของดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส ใน พ.ศ. 2565 เกาหลีเหนือได้ทำการทดสอบ 68 ครั้ง ซึ่งมากกว่าใน พ.ศ. 2564 ถึง 10 ครั้ง ตามรายงานของนิตยสารไทม์
สำนักข่าวกลางเกาหลีประกาศว่า ในช่วงกลางเดือนเมษายน นายคิมอ้างว่าตนพร้อมสำหรับการปล่อยดาวเทียมลาดตระเวนทางทหารดวงแรกของเกาหลีเหนือ ตามรายงานของเครือข่ายออกอากาศซีเอ็นเอ็น
ในขณะที่การพูดคุยของกลุ่มจี-7 ดำเนินไป ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสหรัฐฯ ได้ดำเนินการฝึกของกองทัพเรือในน่านน้ำสากลระหว่างเกาหลีใต้และญี่ปุ่น โดยมุ่งเน้นไปที่การสร้างความชำนาญในขั้นตอนการตรวจจับ ติดตาม และแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับขีปนาวุธของเกาหลีเหนือที่พุ่งเป้ามา นอกจากนี้ เกาหลีใต้และสหรัฐฯ ยังได้ดำเนินการฝึกซ้อมทางอากาศร่วมเป็นเวลา 10 วัน ซึ่งทำการฝึกซ้อมปีละสองครั้ง เพื่อเพิ่มความสามารถในการทำงานร่วมกันระหว่างทั้งสองประเทศ (ภาพ: เครื่องบินขับไล่ของสาธารณรัฐเกาหลีและสหรัฐฯ บินเหนือคาบสมุทรเกาหลีเมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2566 ในระหว่างการฝึกซ้อมทางอากาศร่วมในเกาหลีใต้)
นับตั้งแต่ พ.ศ. 2549 คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติมีมติเป็นเอกฉันท์จากทั้งเก้าเสียงให้คว่ำบาตรเกาหลีเหนือสำหรับการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์และกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง ออสเตรเลีย สหภาพยุโรป ญี่ปุ่นเกาหลีใต้ และสหรัฐฯ ต่างก็ได้กำหนดมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติมแต่เพียงฝ่ายเดียว ซึ่งมาตรการดังกล่าวล่าสุดได้มีการประกาศในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2565
แม้ว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนจะเห็นด้วยกับการคว่ำบาตรขององค์การสหประชาชาติต่อเกาหลีเหนือฐานดำเนินการทดสอบนิวเคลียร์ แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานว่าจีนได้บังคับใช้มาตรการคว่ำบาตร โดยจีนเลือกที่จะเบี่ยงเบนความสนใจและสนับสนุนโครงการอาวุธของนายคิมอย่างเงียบ ๆ แทน
นักวิเคราะห์กล่าวว่า ในอดีตจีนได้พยายามที่จะลดทอนการดำเนินการตามมติของสหประชาชาติและยังคงพัฒนาความสัมพันธ์ทางการค้ากับเกาหลีเหนืออย่างต่อเนื่อง ประเทศตะวันตกหลายประเทศกล่าวหาว่าจีนช่วยเกาหลีเหนือหลีกเลี่ยงการคว่ำบาตร เช่น การทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นเกี่ยวกับการจำหน่ายถ่านหินของเกาหลีเหนือ ในขณะเดียวกัน บริษัทจีนได้ละเมิดข้อจำกัดทางการค้ากับเกาหลีเหนือ ตามข้อมูลของผู้ตรวจสอบการคว่ำบาตรจากองค์การสหประชาชาติ กระทรวงการคลังสหรัฐฯ และหน่วยงานอื่น ๆตามรายงานของหนังสือพิมพ์เดอะวอลล์สตรีทเจอร์นัล เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2565
คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่มีสมาชิก 15 คนไม่สามารถตกลงการตอบโต้ต่อการฝ่าฝืนการสั่งห้ามการทดสอบล่าสุดของเกาหลีเหนือได้ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะการรุกรานยูเครนของรัสเซียได้เพิ่มความตึงเครียดในระดับโลกขึ้น ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2565 จีนและรัสเซียได้ปฏิเสธมติที่ร่างโดยสหรัฐฯ ที่จะกำหนดการคว่ำบาตรเพิ่มเติม เช่น สั่งห้ามการส่งออกน้ำมันและยาสูบไปยังเกาหลีเหนือ
ในช่วงปีที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐฯ ได้กล่าวหาว่าจีนและรัสเซียได้ปิดกั้นความพยายามของพันธมิตรและหุ้นส่วนในการลงโทษรัฐบาลเกาหลีเหนือจากการทดสอบล่าสุด รัฐบาลจีนและรัฐบาลรัสเซียได้ยืนยันว่ามาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติมจะยิ่งเป็นการเพิ่มความตึงเครียดกับเกาหลีเหนือ และได้เรียกร้องให้มีการผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรที่มีอยู่ ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์
นอกเหนือจากชะตาของโครงการอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือที่อยู่ภายใต้การทูตที่ทรงพลังของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ยังคงมีคำถามอยู่ว่าจีนจะช่วยบรรเทาความหิวโหยและความยากจนที่ประชากรเกาหลีเหนือกว่าร้อยละ 60 ต้องเผชิญหรือไม่ ตามที่ประเมินโดยองค์กรบอร์เกนโปรเจกต์ที่ไม่แสวงหาผลกำไร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการปกครองที่ล้มเหลวของนคิม
นักวิเคราะห์กล่าวว่า ปัจจุบันจีนเป็นหุ้นส่วนทางการค้าหลักของเกาหลีเหนือและเป็นแหล่งการสนับสนุนทางการเมือง อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ชี้ให้เห็นว่าความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อเกาหลีเหนือของจีนในอดีตนั้นไม่เพียงพอ เมื่อคำนึงจากปัญหาความหิวโหยของเกาหลีเหนือที่ยังคงมีอยู่มานานหลายทศวรรษ มาตรการคว่ำบาตรขององค์การสหประชาชาติไม่ได้จำกัดการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม
นอกเหนือจากความเชื่อมั่นที่มีต่อเกาหลีเหนือล่าสุดของนายสีแล้ว ในช่วงปลายเดือนมีนาคม พ.ศ. 2566 พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้แต่งตั้งนายหวัง หยาจุน เป็นเอกอัครราชทูตจีนประจำเกาหลีเหนือคนใหม่ ตามรายงานข่าว ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณถึงการสานต่อความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ
นายหวังจะส่งเสริมมิตรภาพแบบดั้งเดิมระหว่าง “เพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดที่มีภูเขาและแม่น้ำร่วมกัน” นางเหมา หนิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของพรรคคอมมิวนิสต์จีน กล่าวในระหว่างการกล่าวแถลงการณ์สั้นประจำวัน ตามรายงานของดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส
รัฐบาลจีนได้แต่งตั้งนายหวังในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 ให้เข้ามาแทนที่นายหลี่ จินจุน ในฐานะเอกอัครราชทูตจีนประจำเกาหลีเหนือ แต่การเข้าดำรงตำแหน่งของนายหวังถูกเลื่อนออกไปเป็นเวลามากกว่าสองปีเนื่องจากข้อจำกัดด้านชายแดนของเกาหลีเหนือในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตามรายงานของสำนักข่าวยอนฮัป
ภาพจาก: ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส