กลุ่ม จี-7 จะยืนหยัดต่อต้าน “การบีบบังคับใด ๆ” เหนือช่องแคบไต้หวัน เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ กล่าว

รอยเตอร์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจากกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศเห็นพ้องที่จะต่อต้าน “การบีบบังคับ” หรือความพยายามใด ๆ ของสาธารณรัฐประชาชนจีนในการใช้อำนาจควบคุมช่องแคบไต้หวัน เจ้าหน้าที่อาวุโสกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ คนหนึ่ง กล่าว
ความกังวลเกี่ยวกับท่าทีที่แข็งกร้าวมากขึ้นของจีนในไต้หวันและในขอบเขตที่กว้างมากขึ้นอย่างภูมิภาคอินโดแปซิฟิก เป็นประเด็นที่ถูกจับตามองมากขึ้นในระหว่างการเจรจา 3 วันของคณะรัฐมนตรี เมื่อช่วงกลางเดือนเมษายน พ.ศ. 2566 ที่เมืองคารุอิซาวะ ประเทศญี่ปุ่น
“กลุ่ม จี-7 ต้องการที่จะส่งสารเดียวกัน นั่นคือ เราต้องการทำงานร่วมกับจีนในขอบเขตที่จีนพร้อมทำงานร่วมกับเรา” เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ กล่าว “แน่นอนว่าเราจะยืนหยัดต่อต้านการบีบบังคับ การปั่นตลาดหุ้น ตลอดจนความพยายามใด ๆ ในการเปลี่ยนแปลงสถานะที่เป็นอยู่ในช่องแคบไต้หวัน”
คณะรัฐมนตรีจากแคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ ต้องการแสดงให้เห็นถึงแนวร่วมที่เป็นหนึ่งเดียวกัน (ภาพ: เฮลิคอปเตอร์ทางทหารของจีน 2 ลำบินผ่านเรือลากจูงของกองทัพเรือของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนในบริเวณใกล้กับเกาะผิงถาน มณฑลฝูเจี้ยนทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีน ซึ่งเป็นจุดที่ใกล้ที่สุดกับไต้หวัน ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2566)
รัฐบาลจีนอ้างว่าไต้หวันเป็นดินแดนของตนและข่มขู่หนักขึ้นว่าจะใช้กำลังเข้ายึดครองเกาะแห่งนี้
ญี่ปุ่นรายงานว่าเรือบรรทุกเครื่องบิน ซานตง ของจีนดำเนินปฏิบัติการร่วมกับเครื่องบินขับไล่ไอพ่นและเฮลิคอปเตอร์ในช่วงกลางเดือนเมษายน พ.ศ. 2566 กองทัพเรือของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนได้ดำเนินการฝึกซ้อมรบทั่วบริเวณโดยรอบไต้หวัน ตามรายงานจากสื่อทางการของจีน
จีนพยายามมากขึ้นที่จะแทนที่กฎระเบียบระหว่างประเทศด้วย “กฎระเบียบที่จีนตั้งขึ้นเอง” นางอันนาเลนา แบร์บ็อค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนี กล่าวที่เมืองคารุอิซาวะ
“พันธมิตรจำนวนมากของเราในภูมิภาคนี้ต่างรู้สึกมากขึ้นเรื่อย ๆ ว่าจีนต้องการใช้กฎระเบียบที่ตั้งขึ้นเองแทนที่กฎระเบียบระหว่างประเทศที่มีผลผูกพันร่วมกันที่มีอยู่” นางแบร์บ็อค ซึ่งได้พบปะกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน ณ กรุงปักกิ่ง เมื่อต้นเดือนเมษายน พ.ศ. 2566 กล่าว
ภาพจาก: เอเอฟพี/เก็ตตี้อิมเมจ