เอเชียใต้

ศรีลังกาคาดว่าจะบรรลุข้อตกลงเพื่อก้าวข้ามวิกฤตการเงิน

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

ศรีลังกายังคงทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ก้าวผ่านวิกฤตการเงินที่เลวร้ายที่สุดในรอบหลายทศวรรษผ่านการเจรจาข้อตกลงเงินช่วยเหลือกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ นอกจากนี้ ศรีลังกายังคาดว่าจะบรรลุข้อตกลงการปลดหนี้กับสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุด

ศรีลังกาเป็นหนี้จีนคงค้างอยู่ที่ 7.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2.6 แสนล้านบาท) ณ สิ้น พ.ศ. 2564 คิดเป็นเกือบร้อยละ 20 ของหนี้ภายนอกของประเทศ ตามรายงานของโครงการวิจัยจีน-แอฟริกาเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2565 ของวิทยาลัยการต่างประเทศขั้นสูง มหาวิทยาลัยจอห์นส์ฮอปกินส์ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. โดยหนี้ส่วนใหญ่ที่ศรีลังกาเป็นหนี้จีนเกี่ยวข้องกับเงินกู้เพื่อสนับสนุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของรัฐบาลจีน

“จีนเป็นประเทศเจ้าหนี้ทวิภาคีที่ใหญ่ที่สุดของศรีลังกาและมีบทบาทสำคัญในกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้สาธารณะที่ประเทศหมู่เกาะในภาวะวิกฤตแห่งนี้กำลังเผชิญ” ตามเอกสารสรุปของโครงการวิจัยจีน-แอฟริกาในหัวข้อ “วิวัฒนาการของจีนในการให้กู้ยืมแก่ศรีลังกาตั้งแต่กลางทศวรรษ 2000 (พ.ศ. 2543 – 2552) – การแยกตำนานออกจากความเป็นจริง”

ศรีลังกามีหนี้ต่างประเทศรวมกว่า 4.76 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.64 ล้านล้านบาท) ตามรายงานรายไตรมาสของธนาคารกลางศรีลังกาเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2565 ซึ่งคิดเป็นมากกว่าครึ่งหนึ่งของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของศรีลังกา

นายรานิล วิกรามาสิงหะ ประธานาธิบดีศรีลังกา ได้กล่าวกับฝ่ายนิติบัญญัติว่า แม้จะมีสัญญาณของเศรษฐกิจที่ดีขึ้น แต่ประเทศก็ยังขาดทุนสำรองระหว่างประเทศที่จำเป็นสำหรับการนำเข้า ตามรายงานของรอยเตอร์เมื่อต้นเดือนมีนาคม พ.ศ. 2566 นายวิกรามาสิงหะกล่าวว่า เขาคาดว่าหวังให้จีนให้การรับรองด้านการเงินเพื่อขออนุมัติเงินกู้จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศจำนวน 2.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1 แสนล้านบาท) เพื่อให้ศรีลังกาสามารถปฏิบัติตามพันธกรณีทางการเงินได้ รัฐบาลศรีลังกาเชื่อว่าการได้รับการสนับสนุนจากจีนจะเป็นก้าวสําคัญในการบรรลุข้อตกลงกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ

“ตอนนี้เราได้ทำในส่วนของเราแล้ว และผมคาดว่ากองทุนการเงินระหว่างประเทศจะทำหน้าที่ในส่วนของตนภายในสิ้นเดือนนี้ ภายในสัปดาห์ที่สามหรือสี่” นายวิกรามาสิงหะกล่าวในช่วงต้นเดือนมีนาคม โดยชี้ให้เห็นว่าศรีลังกาได้รับจดหมายพร้อมคำรับรองที่จำเป็นจากธนาคารเพื่อการส่งออกและนําเข้าแห่งประเทศจีน (ภาพ: นายรานิล วิกรามาสิงหะ ประธานาธิบดีศรีลังกา (ซ้าย) เดินทางมาถึงรัฐสภากรุงโคลัมโบเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566)

ในจดหมายระบุว่า นอกจากการขยายเวลาชำระหนี้สองปีที่อนุมัติในเดือนมกราคม พ.ศ. 2566 แล้ว ธนาคารเพื่อการส่งออกและนําเข้าแห่งประเทศจีนจะเร่งเจรจาหนี้สินในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า อินเดียซึ่งเป็นผู้ให้กู้รายใหญ่อีกรายหนึ่งของศรีลังกาได้แจ้งกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศแล้วว่าจะให้การสนับสนุนด้วยการปลดหนี้และการจัดหาเงินทุนแก่ศรีลังกา

“ศรีลังกาได้ทำงานอย่างหนักและใช้เวลาหลายเดือนในการปฏิบัติตามข้อกำหนดของโครงการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ และในช่วงเวลาหนึ่ง ประธานาธิบดีก็ออกมาขอรับการสนับสนุนด้วยตนเองเป็นการส่วนตัว” นายบันดูลา กุนาวาร์ดาเน โฆษกคณะรัฐมนตรีศรีลังกา กล่าวในการสรุปข่าว ตามรายงานของรอยเตอร์ “หากไม่มีโครงการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ศรีลังกาก็ไม่สามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจได้”

วิกฤตการเงินได้ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อรัฐบาลและชีวิตประจำวันของประชาชนนับไม่ถ้วน ทำให้การเลือกตั้งล่าช้า อีกทั้งยังกระตุ้นให้มีการขึ้นภาษี คณะกรรมการการเลือกตั้งของศรีลังการะบุว่า พวกเขาไม่มีเงินสำหรับจ่ายค่าเครื่องพิมพ์ ตำรวจ หรือบัตรเลือกตั้งที่จะครบกำหนดชำระในวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2566 ตามรายงานของบลูมเบิร์ก ฝ่ายค้านได้กล่าวหานายวิกรามาสิงหะว่า เขาพยายามขัดขวางการลงคะแนนเสียง และมีการประท้วงเรื่องการเลือกตั้งล่าช้า “รัฐบาลสามารถใช้ข้ออ้างเรื่องการล้มละลายเพื่อเลื่อนการเลือกตั้งออกไป แล้วปล่อยให้ประเทศล้มละลายอย่างต่อเนื่อง เพื่ออยู่ในอำนาจต่อไป” นายชาริธ จานาปรียา ชาวโคลัมโบวัย 32 ปีกล่าวกับหนังสือพิมพ์เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ของฮ่องกงเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2566

นอกจากนี้ ต้นทุนด้านพลังงานยังเพิ่มขึ้นเนื่องจากวิกฤตดังกล่าวส่งผลให้เกิดการขาดแคลนเชื้อเพลิง ก๊าซหุงต้ม อาหาร และยา ตามรายงานของดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

นายวิกรามาสิงหะกล่าวว่า การตัดสินใจที่ไม่พึงประสงค์นี้เป็นสิ่งจำเป็นในการกู้คืนเศรษฐกิจของศรีลังกา “อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ ราคาสินค้าสูงขึ้น การจ้างงานมีความเสี่ยง ธุรกิจต่าง ๆ ปิดตัวลง ภาษีเพิ่มขึ้น เป็นเรื่องยากสำหรับทุกภาคส่วนของสังคมที่จะอยู่รอด” นายวิกรามาสิงหะกล่าว ตามรายงานของดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส “อย่างไรก็ตาม หากเราอดทนกับความยากลำบากนี้ต่อไปอีกห้าถึงหกเดือน เราก็จะสามารถหาทางออกได้”

ภาพจาก: ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button