ทรัพยากรส่วนรวมของโลกอำนาจอธิปไตยของชาติเรื่องเด่นเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ

งานกลาโหม ภายในประเทศ

ความท้าทายยุคนี้ผลักดันให้เกิดการพัฒนาการ ด้านกลาโหมภายในประเทศทั่วทั้งอินโดแปซิฟิก

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

ด้วยปืน เอ็มเค44 บุชมาสเตอร์ 30 มม.
ที่มีระยะยิงถึง 3 กิโลเมตรนี้เอง รถหุ้มเกราะซีเอ็ม-34 คลาวด์ เลพเพิร์ด ของกองทัพไต้หวันจึงสามารถสะกดรอยตามข้าศึกได้ทั่วทุกรูปแบบภูมิประเทศและในทุกสภาวะด้วยความเร็วสูงถึง 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ภายใน พ.ศ. 2566 รถหุ้มเกราะแปดล้อมากกว่า 300 คันที่ผลิตในตอนกลางของไต้หวันน่าจะนำมาใช้งานได้ คลาวด์ เลพเพิร์ด เป็นชื่อของแมวขนาดใหญ่ที่เชื่อว่าสูญพันธุ์จากเกาะแห่งนี้ไปแล้ว แต่ถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำหรับชนพื้นเมืองของไต้หวัน อีกทั้งยังเป็นสัญลักษณ์อันทรงพลังของอุตสาหกรรมการด้านกลาโหมภายในที่กำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแนวโน้มของความก้าวหน้าทางทหารในประเทศที่เห็นได้ทั่วทั้งภูมิภาคอินโดแปซิฟิก

ไม่กี่สัปดาห์ก่อนที่ไต้หวันจะจัดแสดง ซีเอ็ม-34 ที่สถานที่ทดสอบบนภูเขาเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2565 นักวิจัยชาวเกาหลีใต้ได้เปิดตัวแอปพลิเคชันที่ทำงานโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งวันหนึ่งอาจสามารถช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้แก่ยานพาหนะทางทหารอย่าง คลาวด์ เลพเพิร์ด ได้ สำนักข่าวยอนฮัปรายงานว่า เทคโนโลยีไร้คนขับที่จะวิเคราะห์ภูมิประเทศแบบใหม่เพื่อวางแผนเส้นทางที่สามารถเดินเรือผ่านได้โดยใช้ข้อมูลจากมนุษย์ที่จำกัด แม้ว่าจะมีความเร็วสูงก็ตาม โครงการนี้ดำเนินการโดยหน่วยงานบริหารโครงการจัดหายุทโธปกรณ์ของรัฐบาลเกาหลีใต้ ซึ่งส่งเสริมด้านการพัฒนาเทคโนโลยีภายในประเทศที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงของประเทศ ในวันที่มีการประกาศเกี่ยวกับเทคโนโลยีไร้คนขับ หน่วยงานบริหารโครงการจัดหายุทโธปกรณ์ยังได้เปิดเผยแผนการสำหรับอุปกรณ์เลเซอร์เคลื่อนที่เพื่อปลดชนวนวัตถุตกค้างที่ยังไม่ระเบิด เรดาร์ระยะไกลเพื่อตรวจสอบน่านฟ้าของประเทศ และหมวกนิรภัยน้ำหนักเบาที่สามารถทนทานต่อกระสุนที่แรงขึ้นได้ ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2565 เกาหลีใต้กลายเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศที่มีเครื่องบินขับไล่ความเร็วเหนือเสียงซึ่งสร้างขึ้นเองภายในประเทศ โดยได้ทำการบินปฐมฤกษ์ของเคเอฟ-21 โบราแม มีการคาดการณ์ว่า ภายใน พ.ศ. 2573 กองทัพอากาศสาธารณรัฐเกาหลีจะส่ง เคเอฟ-21 จำนวน 120 ลำเข้าประจำการ โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาร่วมกับอินโดนีเซีย ตามรายงานของสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น

ความท้าทายแห่งยุคนี้ ตั้งแต่ภาวะการระบาดใหญ่อย่างรุนแรงไปจนถึงการขยายกำลังทหารอย่างก้าวร้าวของคอมมิวนิสต์จีน และการโจมตียูเครนของรัสเซีย กำลังกระตุ้นความพยายามดังกล่าวไปทั่วอินโดแปซิฟิกเพื่อส่งเสริมการพัฒนาระบบอาวุธภายในประเทศและสินทรัพย์ด้านกลาโหมอื่น ๆ เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากแหล่งที่เป็นปัญหา เช่น รัสเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่อุตสาหกรรมอาวุธถูกทำลายโดยการคว่ำบาตรจากนานาชาติ ตอนนี้รัฐบาลอินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไทย และประเทศอื่น ๆ กำลังลงทุนเป็นจำนวนมากในภาคกลาโหมของประเทศตน เนื่องจากต้องรักษาวิธีการปกป้องอธิปไตยของชาติท่ามกลางความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์และภัยคุกคามที่กำลังพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ

ขีปนาวุธทิ้งตัวแบบยิงจากใต้น้ำที่สร้างขึ้นภายในประเทศเป็นครั้งแรกของเกาหลีใต้ได้รับการทดสอบยิงจากเรือดำน้ำเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2564 กระทรวงกลาโหมเกาหลีใต้/ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

“เพื่อปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในสภาพแวดล้อมด้านความมั่นคง ญี่ปุ่นจึงต้องเสริมสร้างขีดความสามารถด้านกลาโหมด้วยความเร็วที่แตกต่างจากที่ผ่านมา” กระทรวงกลาโหมญี่ปุ่นประกาศในสมุดปกขาว “การป้องกันญี่ปุ่น พ.ศ. 2564” ซึ่งเรียกร้องให้มีการพัฒนาอากาศยาน เรือพิฆาต เรือดำน้ำ ขีปนาวุธ ยานเกราะรบ ดาวเทียม และระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ กระทรวงกลาโหมต้องการเพิ่มการใช้จ่ายทางทหารเป็นครั้งที่เก้าติดต่อกันเนื่องจากต้องสร้างกองกำลังแบบหลายมิติ “แนวโน้มทางทหารของจีนรวมทั้งความโปร่งใสที่ไม่เพียงพอเกี่ยวกับนโยบายด้านกลาโหมและกิจการทางทหารของจีน ได้กลายเป็นข้อกังวลที่ร้ายแรงต่อภูมิภาคดังกล่าว รวมทั้งต่อญี่ปุ่นและประชาคมนานาชาติ” ตามที่สมุดปกขาวระบุ

นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังกำลังพัฒนาอากาศยานและอาวุธความเร็วเหนือเสียง รวมถึงขีปนาวุธร่อนที่สามารถเดินทางได้เร็วกว่าเสียงอย่างน้อยห้าเท่า ช่วงกลาง พ.ศ. 2565 ในฐานะส่วนหนึ่งของโครงการโดยสำนักงานการจัดหา เทคโนโลยี และโลจิสติกส์ของกระทรวงกลาโหมญี่ปุ่น นักวิจัยหลายคนได้ดำเนินการทดสอบการบินแบบเผาไหม้ครั้งแรกสำหรับขีดความสามารถในการทำงานแบบความเร็วเหนือเสียง ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เดอะเจแปนไทมส์ เพื่อเป็นการเสริมความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมกลาโหมในขณะที่ยังคงส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ รัฐบาลญี่ปุ่นอาจผ่อนคลายกฎเกณฑ์ในการส่งออกสินค้าโดยเพิ่มข้อตกลงการถ่ายโอนเทคโนโลยีและยุทโธปกรณ์ด้านกลาโหมกับประเทศหุ้นส่วนอย่าง ออสเตรเลีย อินเดีย และฟิลิปปินส์ ตามรายงานของเกียวโดนิวส์เมื่อกลาง พ.ศ. 2562 ไม่เพียงแต่โลกต้องเผชิญกับ “ความยากลำบากอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเนื่องจากโควิด-19 เท่านั้น แต่ความท้าทายด้านความมั่นคงและปัจจัยด้านความไม่มั่นคงต่าง ๆ กลายเป็นสิ่งที่จับต้องได้และรุนแรงมากขึ้น อีกทั้งระเบียบระหว่างประเทศที่ยึดตามค่านิยมสากลซึ่งสนับสนุนสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองของประชาคมนานาชาติ ได้รับการทดสอบอย่างมาก” นายโนบุโอะ คิชิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมญี่ปุ่นในขณะนั้น ระบุไว้ในบทนำของสมุดปกขาว “สำหรับการรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ในสภาพแวดล้อมด้านความมั่นคงนั้น ไม่เพียงแต่ต้องเสริมสร้างขีดความสามารถด้านกลาโหมของญี่ปุ่นเองและขยายบทบาทที่เราสามารถทำได้เท่านั้น แต่ยังต้องร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับประเทศที่มีค่านิยมบนพื้นฐานเดียวกัน”

ความแน่วแน่ที่แข็งแกร่งขึ้น

อาจไม่มีประเทศใดที่ความท้าทายด้านความมั่นคงของภูมิภาคนี้จับต้องได้มากไปกว่าไต้หวัน ซึ่งถูกคั่นจากชายฝั่งจีนด้วยช่องแคบไต้หวันที่มีระยะทาง 160 กิโลเมตร โดยช่องแคบดังกล่าวเป็นคูน้ำตามธรรมชาติที่อาจดูแคบไปลงอีกเมื่อเทียบกับประชากร 24 ล้านคนบนเกาะที่ปกครองตนเองแห่งนี้ ในขณะเดียวกันพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่เป็นคู่กรณีก็ข่มขู่ว่าจะใช้กำลังบังคับอ้างอธิปไตยเหนือไต้หวันมากขึ้นเรื่อย ๆ อากาศยานของกองทัพปลดปล่อยประชาชนในจำนวนที่มากเป็นประวัติการณ์ได้รุกล้ำเขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศของไต้หวันเมื่อ พ.ศ. 2565 ซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนว่าเป็นส่วนหนึ่งของสงครามพื้นที่สีเทาของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่พยายามจะพังทลายและครอบงำการป้องกันของไต้หวัน ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2565 กองทัพปลดปล่อยประชาชนได้ทำการฝึกซ้อมด้วยกระสุนจริงครั้งใหญ่ที่สุดทั้งในและรอบ ๆ ช่องแคบดังกล่าว รวมถึงการยิงขีปนาวุธเป็นจำนวนมาก โดยหลายลูกได้พุ่งลงในน่านน้ำภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษของญี่ปุ่น การซ้อมรบที่ก่อให้เกิดความไม่มั่นคงนี้ถูกประณามในฐานะการตอบโต้อย่างชัดแจ้งต่อการไปเยือนไต้หวันของผู้บัญญัติกฎหมายจากประเทศระบอบประชาธิปไตยในอินโดแปซิฟิก ซึ่งได้แก่ ญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา ในขณะเดียวกัน พล.อ. เว่ย เฟิงเหอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจีน ได้กล่าวข่มขู่ในระหว่างการประชุมสุดยอดด้านความมั่นคงระหว่างประเทศที่สิงคโปร์เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2565 ว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนจะ “ไม่ลังเลที่จะต่อสู้” หากไต้หวันแสวงหาเอกราช แม้ว่าเกาะแห่งนี้จะไม่เคยเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐประชาชนจีนมาก่อนก็ตาม

การรุกรานยูเครนของรัสเซียในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 ทำให้ความหวาดหวั่นต่อการโจมตีของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในไต้หวันทวีความรุนแรงขึ้น โดยนักวิเคราะห์โต้แย้งว่านายสี จิ้นผิง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน อาจเห็นว่าสงครามในยุโรปเป็นโอกาสในการปรับแผนสงครามของกองทัพปลดปล่อยประชาชน นายสีปฏิเสธที่จะประณามนายวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย หรือเข้าร่วมกับเสียงส่วนใหญ่ของโลกในการคว่ำบาตรรัฐบาลรัสเซียจากการโจมตีโดยไร้เหตุอันสมควร ทว่ากลับตอกย้ำถึงมิตรภาพ “ที่ไร้ขีดจำกัด” ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนกับรัสเซีย สำหรับไต้หวันแล้ว สิ่งที่เทียบเคียงกับยูเครนได้ชัดเจนที่สุด คือ ทั้งสอง “เป็นประชาธิปไตยที่รักสันติภาพซึ่งเป็นเป้าหมายของกลุ่มผู้กระหายสงครามที่เป็นส่วนของระบอบอัตตาธิปไตยที่มีอำนาจทางทหารมากกว่าและมักคุกคามประเทศเพื่อนบ้าน” ตามที่ระบุในการวิเคราะห์เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2565 โดยสถาบันเพื่อสันติภาพสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นสถาบันวิจัยอิสระ

นาวิกโยธินไทยและนาวิกโยธินสหรัฐฯ ใช้ยานจู่โจมสะเทินน้ำสะเทินบกของกองทัพเรือไทยระหว่างการฝึกคอบร้าโกลด์ประจำ พ.ศ. 2565 ที่ไทย จ.ส.ท. ไทเลอร์ ฮัลแวค/นาวิกโยธินสหรัฐฯ

นับตั้งแต่ได้รับการเลือกตั้งครั้งแรกใน พ.ศ. 2559 นางไช่ อิงเหวิน ประธานาธิบดีไต้หวัน ได้ให้ความสำคัญกับการปรับปรุงกองกำลังทางทหารของเกาะให้ทันสมัย รวมถึงการพัฒนาเรือดำน้ำ เรือรบล่องหน เรือวางทุ่นระเบิด และเทคโนโลยีชั้นสูงภายในประเทศ ซึ่งเป็นอาวุธเคลื่อนที่ที่สามารถโจมตีได้อย่างแม่นยำและยากที่ศัตรูจะเล็งเป้าได้ ไต้หวันเป็นที่รู้จักในฐานะ “ยุทธศาสตร์เม่น” ซึ่งมุ่งเน้นไปยังการป้องกันแบบอสมมาตรที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อทำให้ความสูญเสียที่ต้องแลกกับการสร้างความขัดแย้งสำหรับผู้บุกรุกไม่เป็นที่น่าพอใจ “แนวคิดคือการทำให้ตนเองถูกกลืนกินได้ยากจนศัตรูต้องคิดไตร่ตรองเกี่ยวกับการเริ่มดำเนินการใด ๆ” พล.ร.อ. ลี ซีหมิน ผู้เกษียณอายุราชการ ซึ่งดำรงตำแหน่งหัวหน้าเจ้าหน้าที่ทั่วไปของกองทัพไต้หวัน กล่าวกับหนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทมส์เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2565

กระทรวงกลาโหมไต้หวันได้ประกาศเพิ่มกำลังการผลิตขีปนาวุธประจำปีขึ้นสองเท่าโดยเป็นจำนวนเกือบ 500 ลูกใน พ.ศ. 2565 ซึ่งรวมถึงการพัฒนาหัวรบทำลายหลุมหลบภัยที่มีพิสัย 1,000 กิโลเมตร ซึ่งสามารถโจมตีฐานทัพทหารในประเทศจีน และยุทโธปกรณ์จากพื้นดินสู่อากาศที่สามารถทำลายเครื่องบินขับไล่และขีปนาวุธร่อนได้ ซึ่งเกิดมาจากแผนการที่จะผลิตโดรนโจมตี ตามรายงานของรอยเตอร์ เพื่อเสริมสร้างการป้องกันให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ไต้หวันได้อนุมัติเงินจำนวน 8.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2.85 แสนล้านบาท) เพื่อใช้ทางการทหารเพิ่มเติมในช่วงหลายปีข้างหน้า โดยประมาณ 2 ใน 3 ของเงินดังกล่าวได้นำไปจัดสรรให้กับขีปนาวุธและอาวุธต่อต้านเรือที่ผลิตภายใน

โครงการภายในประเทศเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนด้วยยอดขายทางทหารจากหุ้นส่วนดั้งเดิมในอินโดแปซิฟิก รวมถึงยุทโธปกรณ์และชิ้นส่วนทางเรือมูลค่า 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 4.17 พันล้านบาท) จากสหรัฐฯ ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2565 การซื้อครั้งนี้นับเป็นครั้งที่สามในรอบ 6 เดือนที่รัฐบาลไต้หวันทำการซื้อขายกับรัฐบาลสหรัฐฯ “ถือเป็นอีกครั้งที่ได้แสดงให้เห็นว่าความร่วมมือที่แข็งแกร่งระหว่างไต้หวันและสหรัฐฯ กำลังช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถในการป้องกันตนเองของไต้หวัน” นายซาเวียร์ ชาง โฆษกประจำสำนักประธานาธิบดีไต้หวัน กล่าวในแถลงการณ์ “ไต้หวันซึ่งเป็นแนวหน้าของการปะทะกับลัทธิขยายอำนาจเผด็จการ จะยังคงแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการป้องกันตนเองอย่างแนวแน่ ในขณะเดียวกัน… ก็เสริมสร้างความร่วมมือกับประเทศที่มีอุดมการณ์เดียวกันเพื่อรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวันและภูมิภาคอินโดแปซิฟิก ตลอดจนร่วมกันเสริมสร้างความยืดหยุ่นของระบอบประชาธิปไตยทั่วโลก”

แสวงหาการพึ่งพาตนเอง

สำหรับอินเดียซึ่งเป็นประเทศที่ทุ่มงบให้แก่ทางการทหารมากเป็นอันดับสามของโลกใน พ.ศ. 2564 ความสัมพันธ์กับจีนและรัสเซียกำลังกระตุ้นให้อินเดียต้องพึ่งพาตนเองในการผลิตด้านกลาโหม บริเวณเทือกเขาหิมาลัย อินเดียต้องติดอยู่ในสถานการณ์ความขัดแย้งทางชายแดนกับจีน ซึ่งเป็นข้อพิพาทยาวนานหลายทศวรรษที่ปะทุขึ้นอย่างรุนแรงระหว่างกองกำลังทหารของทั้งสองประเทศ เมื่อกลาง พ.ศ. 2563 และมีการข่มขู่ว่าจะเกิดความขัดแย้งขึ้นอีกครั้งในขณะที่การเจรจาเพื่อปลดปล่อยเป็นอิสระดำเนินไปอย่างรวดเร็ว เมื่อไม่นานมานี้ การรุกรานยูเครนของรัสเซียซึ่งถูกประณามอย่างกว้างขวางว่าเป็นสงครามต่อต้านอุดมคติประชาธิปไตยและระเบียบระหว่างประเทศที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกติกา ได้ก่อให้เกิดคำถามเกี่ยวกับการพึ่งพารัฐบาลรัสเซียในฐานะแหล่งผลิตอาวุธที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาจากมาตรการคว่ำบาตรที่เข้มงวดต่อระบอบการปกครองของนายปูติน และความตึงเครียดในฐานทัพและอุตสาหกรรมของรัสเซีย ปัจจัยดังกล่าวทำให้เกิดความกังวลอย่างต่อเนื่องในหมู่ผู้ซื้อจากต่างประเทศซึ่งรวมไปถึงอินเดีย เกี่ยวกับคุณภาพที่แย่ของเครื่องบินขับไล่ รถถัง และระบบอาวุธอื่น ๆ ที่ผลิตโดยรัสเซีย “เราประเมินว่าการทุจริตที่แพร่หลายในอุตสาหกรรมกลาโหมรัสเซียและระบบระเบียบกลาโหมของประเทศฉุดรั้งให้ประเทศนี้ตามหลังผู้นำด้านอาวุธของโลกถึง 20 – 25 ปี” ตามรายงานของสถาบันโรเบิร์ตแลนซิง สถาบันวิจัยภัยคุกคามและประชาธิปไตยระดับโลก ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2564

นับตั้งแต่ พ.ศ. 2553 การนำเข้าอาวุธร้อยละ 62 ของอินเดียมาจากรัสเซีย ซึ่งทำให้รัฐบาลอินเดียกลายเป็นลูกค้าต่างชาติรายใหญ่ที่สุดสำหรับผู้ค้าอาวุธอย่างรัฐบาลรัสเซีย ตามรายงานของสถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสต็อกโฮล์ม “ด้วยความต้องการของกองทัพรัสเซียเองกับความสูญเสียที่รัสเซียต้องเผชิญในยูเครน อาจหมายถึงอะไหล่บางส่วนที่เราต้องการอาจจะถูกโยกย้ายไป” พล.ท. ดี.เอส. ฮูดา ผู้เกษียนอายุราชการจากกองทัพอินเดีย กล่าวกับนิตยสาร เดอะดิโพลแมต เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2565

ค่าใช้จ่ายทางการทหารของอินเดียพุ่งสูงขึ้นถึงร้อยละ 33 ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งคิดเป็นเงินกว่า 7.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2.64 ล้านล้านบาท) ใน พ.ศ. 2564 ซึ่งตามหลังเพียงสหรัฐฯ และจีนเท่านั้น ตามรายงานของสถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสต็อกโฮล์ม เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2565 รายงานดังกล่าวพบว่า “ในการผลักดันเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมอาวุธในประเทศ ร้อยละ 64 ของเงินทุนในงบประมาณทางการทหารของ พ.ศ. 2564 ได้นำไปจัดสรรเพื่อซื้ออาวุธที่ผลิตในประเทศ” รัฐบาลอินเดียจัดตั้งระเบียงอุตสาหกรรมกลาโหมสองแห่ง และกระทรวงกลาโหมคาดว่าจะมีคำสั่งซื้อรวมมูลค่า 2.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 9.74 แสนล้านบาท) ให้กับบริษัทกลาโหมที่ดำเนินการโดยรัฐและเอกชนภายในประเทศในอีกห้าปีข้างหน้า ตามรายงานของเดอะดิโพลแมต ภายใต้การกำกับดูแลขององค์กรวิจัยและพัฒนาด้านกลาโหม บริษัทสัญชาติอินเดียหลายแห่งกำลังผลิตระบบการป้องกันภัยทางอากาศและการสงครามอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องยิงจรวดหลายลำกล้อง ขีปนาวุธพิสัยใกล้และพิสัยไกล รถถังและเครื่องบินรบขนาดเบา เรือบรรทุกเครื่องบิน “ไอเอ็นเอส วิกรานต์” ลำแรกที่ผลิตภายในประเทศ มีกำหนดให้เข้าประจำการในเดือนกันยายน พ.ศ. 2565

ทหารของกองทัพไต้หวันยืนอยู่ใกล้กับปืนใหญ่วิถีโค้งอัตตาจรที่สร้างขึ้นเองในระหว่างการฝึกทางทหารฮั่นกวงประจำปีของไต้หวัน เอเอฟพี/เก็ตตี้อิมเมจ

ในช่วงกลาง พ.ศ. 2565 กระทรวงกลาโหมได้ลงนามในสัญญากับบริษัทที่ดำเนินการโดยรัฐเพื่อติดตั้งติดตั้งขีปนาวุธอากาศสู่อากาศ แอสตรา เอ็มเค-วัน ให้แก่กองทัพอากาศอินเดียและกองทัพเรืออินเดีย โดยใช้เทคโนโลยีที่พัฒนาโดยองค์กรวิจัยและพัฒนาด้านกลาโหม โครงการนี้ถือเป็นก้าวสำคัญสู่การพึ่งพาตนเอง พล.อ.ท. อานิล โชปรา ผู้เกษียณอายุราชการจากกองทัพอากาศอินเดีย กล่าวกับหนังสือพิมพ์ฮินดูสถานไทมส์
“เราต้องพึ่งพาระบบขีปนาวุธของรัสเซียและอิสราเอลมาโดยตลอด” พล.อ.ท. โชปรา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากำลังทางอากาศในกรุงนิวเดลี ระบุ “การผลิตขีปนาวุธแอสตราในท้องถิ่นช่วยเติมเต็มช่องว่างที่สำคัญของขีดความสามารถในประเทศ”

ใน พ.ศ. 2563 รัฐบาลอินเดียประกาศห้ามนำเข้าอาวุธและระบบต่าง ๆ มากกว่า 100 ประเภท ตั้งแต่ปืนไรเฟิลซุ่มยิงไปจนถึงเรือพิฆาตขีปนาวุธ ตามรายงานของนิตยสารฟอร์บส์ ข้อห้ามดังกล่าวได้ครอบคลุมไปถึงทรัพย์สินทางทหารมากกว่า 300 หมวดหมู่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์ “อินเดียที่พึ่งพาตนเอง” หรือ อาตมนิรภร ภารต ของรัฐบาล ในขณะเดียวกัน อินเดียก็กำลังเชิญชวนประเทศหุ้นส่วนต่าง ๆ เช่นสหรัฐฯ ให้ร่วมมือกับอุตสาหกรรมกลาโหมของตน ความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับสหรัฐฯ สร้างขึ้นบนพื้นฐานของ “ความร่วมมือในการยกระดับขีดความสามารถด้านกลาโหม ตลอดจนในตอนนี้ที่มุ่งเน้นในด้านการพัฒนาและการผลิตร่วมกัน” นายราชนาถ ซิงห์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอินเดีย กล่าวต่อหอการค้าอเมริกันในอินเดียเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2565 ซึ่งเป็นเวลาหลายวันหลังจากเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. นายซิงห์กล่าวกับกลุ่มธุรกิจในกรุงนิวเดลีว่า “ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ตั้งแต่สิ่งของพื้นฐานที่ไม่สำคัญไปจนถึงอาวุธยุทโธปกรณ์จากสหรัฐฯ ซึ่งมีมูลค่าเกินกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 6.96 แสนล้านบาท)” ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เดอะไทมส์ออฟอินเดีย “เนื่องด้วยธุรกิจต่าง ๆ ที่มีเพิ่มมากขึ้น เราจึงมุ่งหวังว่าบริษัทกลาโหมของสหรัฐฯ จะเพิ่มการลงทุนในอินเดียภายใต้โครงการ ‘ผลิตในอินเดีย’”

การรักษาอธิปไตย

การปกป้องบูรณภาพของดินแดนไม่ว่าจะเป็นในเทือกเขาหิมาลัยหรือทะเลจีนใต้ ถือเป็นหนึ่งในหลายปัจจัยที่ช่วยขับเคลื่อนโครงการด้านกลาโหมภายในประเทศทั่วทั้งอินโดแปซิฟิก ตามรายงานของหัวหน้ากองกำลังทางบกของสหรัฐฯ ภาคพื้นอินโดแปซิฟิก “ในขณะนี้ มีหลายสิ่งหลายอย่างที่เปลี่ยนแปลงไป ตั้งแต่เทคโนโลยีไปจนถึงการพัฒนาอาวุธ หรือตั้งแต่แนวคิดไปจนถึงการตรวจสอบประเภทของขีดความสามารถที่ประเทศต่าง ๆ กำลังลงทุนและจำนวนเงินที่ต้องใช้ในการดำเนินการดังกล่าว” พล.อ. ชาร์ลส์ ฟลินน์ ผู้บัญชาการกองทัพบกสหรัฐฯ ภาคพื้นแปซิฟิก กล่าวกับ ฟอรัม ในระหว่างการประชุมสัมมนานานาชาติกองกำลังภาคพื้นแปซิฟิกที่รัฐฮาวาย เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2565 “แน่นอนว่าผมได้ยิน ได้เห็น และรับรู้ได้ถึงการอภิปรายเกี่ยวกับประเภทของการป้องกันดินแดนมากขึ้น ในระหว่าง พ.ศ. 2557 ถึง พ.ศ. 2561 ผมได้มาอยู่ ณ ที่แห่งนี้ในฐานะผู้บัญชาการในหน่วยกองพลทหารราบที่ 25 และต่อมาในฐานะรองผู้บัญชาการทหารสูงสุดนั้น ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของการอภิปราย

พล.อ. ฟลินน์ระบุว่า “เราตระหนักดีว่ามีการแข่งขันด้านทรัพยากร” “และอำนาจอธิปไตยของชาติและสิทธิทางอธิปไตยในแร่ธาตุ น้ำจืด อาหาร และสิ่งเหล่านั้นที่ดำรงไว้ซึ่งสังคมที่มั่นคง… ผมคิดว่ามีความตึงเครียดและภัยคุกคามต่อสิ่งเหล่านั้น และผมคิดว่าบางทีนั่นอาจเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในภูมิภาคนี้”

สำหรับไทยซึ่งเป็นประเทศพันธมิตรตามสนธิสัญญาของสหรัฐฯ และเป็นประเทศหุ้นส่วนนานกว่า 190 ปี รวมถึงเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองจากสมาชิกจำนวน 10 ประเทศในสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภัยคุกคามต่อความมั่นคงและอธิปไตยของชาติ รวมถึงข้อพิพาททางดินแดน เช่น ข้อพิพาทกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชาและลาวในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา ตลอดจนการก่อการร้ายภายในประเทศและอาชญากรรมข้ามชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการค้ายาเสพติดในพื้นที่ข้ามพรมแดนบริเวณสามเหลี่ยมทองคำที่แสนขึ้นชื่อ มีการคาดการณ์ว่างบประมาณด้านกลาโหมของระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญจะสูงถึง 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2.44 แสนล้านบาท) ใน พ.ศ. 2565 ซึ่งเท่ากับร้อยละ 1.3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ตามรายงานขององค์การบริหารการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นหน่วยงานของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ “รัฐบาลไทยยังมีแผนที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมกลาโหมภายในประเทศเพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าจากประเทศอื่น ส่งเสริมการถ่ายโอนเทคโนโลยี และเสริมสร้างความมั่นคงของประเทศ” ตามรายงานขององค์การบริหารการค้าระหว่างประเทศเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2564

นอกเหนือจากมาตรการอื่น ๆ แล้ว รัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมกลาโหมภายในประเทศในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และกำลังจัดตั้งเขตอุตสาหกรรมกลาโหมเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน “ประเทศไทยได้เปลี่ยนผ่านจากการจัดซื้อจัดจ้างด้านกลาโหมจากการนำเข้าโดยใช้ผู้ผลิตต่างประเทศเป็นการสร้างฐานอุตสาหกรรมกลาโหมภายในประเทศที่มีความยืดหยุ่น” ตามข้อมูลจาก “ภาพรวมอุตสาหกรรมกลาโหมของไทยในศตวรรษที่ 21” ซึ่งเป็นการสัมมนาผ่านทางเว็บไซต์เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2564 โดยสถาบันเทคโนโลยีกลาโหม ซึ่งมุ่งเน้นไปที่ความก้าวหน้าในการใช้งานแบบสองทาง เช่น ยานพาหนะไร้คนขับ ความเป็นจริงเสมือนและเครื่องจำลอง การสื่อสาร รวมถึงระบบจรวดนำทาง “สิ่งที่สำคัญเป็นอันดับแรก คือ การถ่ายโอนเทคโนโลยีสำหรับโครงการจัดซื้อจัดจ้างทางกลาโหมซึ่งสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมภายในประเทศและเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่กิจกรรมทางทหารของกองทัพไทย การจัดหากองกำลังทหารภายในประเทศ การมุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนา ตลอดจนการยกระดับทั้งด้านประสิทธิภาพและเทคโนโลยี”

ความท้าทายที่ใกล้จะมาถึง

การใช้จ่ายด้านกลาโหมของไทยช่วยผลักดันงบประมาณด้านการทหารทั่วโลกจนทะลุ 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 70 ล้านล้านบาท) เป็นครั้งแรกใน พ.ศ. 2564 โดย 5 ประเทศแรกที่มีการใช้จ่ายด้านกลาโหมสูงสุด ได้แก่ สหรัฐฯ จีน อินเดีย สหราชอาณาจักร และรัสเซีย ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 62 ของการใช้จ่ายทั้งหมด ตามรายงานของสถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสต็อกโฮล์ม ภัยคุกคามที่พบบ่อยก็เริ่มเกิดขึ้นในบรรดาประเทศหุ้นส่วนในอินโดแปซิฟิกที่ปรับเพิ่มงบประมาณดังกล่าว “ความก้าวร้าวที่เพิ่มขึ้นของจีนในและโดยรอบทะเลจีนใต้รวมถึงทะเลจีนตะวันออก ได้กลายเป็นแรงผลักดันสำคัญในการใช้จ่ายทางทหารในประเทศต่าง ๆ เช่น ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น” ดร. หนาน เทียน นักวิจัยประจำสถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสต็อกโฮล์ม ระบุในข่าวประชาสัมพันธ์ “อย่างเช่นข้อตกลงด้านความมั่นคงไตรภาคี อูกัส ระหว่างออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีการจัดหาเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์จำนวนแปดลำให้แก่ออสเตรเลีย โดยมีมูลค่าสูงถึง 1.28 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 4.46 ล้านล้านบาท)” ภายใต้สนธิสัญญาอูกัสที่ลงนามเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2564 พันธมิตรทั้งสามยังร่วมมือกันในโครงการริเริ่มด้านขีดความสามารถขั้นสูง เช่น ปัญญาประดิษฐ์ ไซเบอร์ สงครามอิเล็กทรอนิกส์ ความเร็วเหนือเสียงและการต่อต้านความเร็วเหนือเสียง รวมถึงเทคโนโลยีควอนตัม “ในขณะที่งานของเราดำเนินการต่อไปในด้านดังกล่าวและด้านขีดความสามารถด้านกลาโหมและความมั่นคงที่สำคัญอื่น ๆ เราจะแสวงหาโอกาสที่จะมีส่วนร่วมกับประเทศพันธมิตรและหุ้นส่วนที่ใกล้ชิด” ตามรายงานของทำเนียบขาวที่ระบุในแถลงการณ์วันครบรอบหนึ่งปีของอูกัส

เรือลาดตระเวน ถ่าเจียง ของกองทัพเรือไต้หวันที่ผลิตภายในประเทศ ยิงพลุไฟในระหว่างการฝึกซ้อมความพร้อมรบในเดือนมกราคม พ.ศ. 2565
เอเอฟพี/เก็ตตี้อิมเมจ

แม้จะมีหายนะทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากภาวะการระบาดใหญ่ ทว่าด้วยการปิดโรงงานและห่วงโซ่อุปทานที่หยุดชะงัก ทำให้การใช้จ่ายทางทหารของจีนพุ่งสูงขึ้นถึงร้อยละ 4.7 จนมีมูลค่ามากกว่า 2.9 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 10.1 ล้านล้านบาท) ใน พ.ศ. 2564 ตามการประมาณการของสถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสต็อกโฮล์ม นั่นเป็นการยืดเวลาของการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปีนับตั้งแต่ พ.ศ. 2538 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่กองทัพปลดปล่อยประชาชนได้จุดชนวนให้เกิดวิกฤตช่องแคบไต้หวันครั้งที่สาม โดยการยิงขีปนาวุธและการทำสงครามในน่านน้ำเชิงยุทธศาสตร์ ในขณะที่ไต้หวันได้เตรียมพร้อมในการจัดการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยเป็นครั้งแรกสำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดี การคุกคามของพรรคคอมมิวนิสต์จีนต่อไต้หวันสิ้นสุดลงหลังจากสหรัฐฯ ได้เคลื่อนพลกลุ่มเรือบรรทุกอากาศยานไปยังภูมิภาคดังกล่าว

โอกาสที่จะเกิดวิกฤตเช่นนี้อีกครั้งในช่องแคบดังกล่าวสร้างความกังวลเป็นอย่างยิ่งต่อรัฐบาลญี่ปุ่น ซึ่งได้ประท้วงรัฐบาลจีนที่มีการรุกรานดินแดนบริเวณหมู่เกาะเซ็งกะกุที่อยู่ภายใต้การควบคุมของญี่ปุ่นและเป็นหมู่เกาะที่จีนอ้างสิทธิในทะเลจีนตะวันออก กระทรวงกลาโหมญี่ปุ่นได้อ้างอิงถึงไต้หวันในสมุดปกขาวประจำปีเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2564 โดยระบุว่า “การรักษาเสถียรภาพของสถานการณ์ในบริเวณรอบ ๆ ไต้หวันมีความสำคัญต่อความมั่นคงและเสถียรภาพของญี่ปุ่นในประชาคมโลก ดังนั้น จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่เราต้องเฝ้าจับตาสถานการณ์นี้เป็นพิเศษ ด้วยความตระหนักถึงวิกฤตมากยิ่งกว่าที่เคย”

การป้องปรามความขัดแย้งที่เป็นภัยต่อภูมิภาคนี้เป็นตัวเร่งให้ญี่ปุ่นเพิ่มการใช้จ่ายด้านกลาโหมขึ้นร้อยละ 7.3 เป็นมูลค่า 5.41 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.88 ล้านล้านบาท) ใน พ.ศ. 2564 ซึ่งนับเป็นการเพิ่มงบประมาณครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 50 ปี ตามรายงานของสถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสต็อกโฮล์ม รอยเตอร์รายงานว่า แนวโน้มการเพิ่มงบประมาณไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงในเร็ว ๆ นี้ โดยเห็นได้จากเมื่อกลาง พ.ศ. 2565 นายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ได้ให้คำมั่นว่าจะเพิ่มการใช้จ่ายด้านกลาโหม “อย่างมหาศาล” เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางทหารของประเทศตน “มีความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงสถานภาพเพียงฝ่ายเดียวโดยใช้กำลังบังคับในเอเชียตะวันออก ทำให้ความมั่นคงในภูมิภาคสั่นคลอนอย่างรุนแรงมากขึ้น” คณะบริหารของนายคิชิดะระบุในร่างนโยบายเศรษฐกิจ “เราจะเสริมสร้างขีดความสามารถด้านกลาโหมอย่างมาก ซึ่งจะเป็นหลักประกันสูงสุดในการรักษาความมั่นคงแห่งชาติ”

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button