อำนาจอธิปไตยของชาติอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้างเรื่องเด่นเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ

ความพยายาม ด้านความมั่นคง

ญี่ปุ่นเสริมสร้าง อินโดแปซิฟิก ที่เสรีและเปิดกว้าง

นายฟูมิโอะ คิชิดะ/นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น | ภาพโดยดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

นายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ได้กล่าวปราศรัยนี้เปิดการประชุมสุดยอดด้านความมั่นคง แชงกรีลา ที่ประเทศสิงคโปร์เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2565 โดยมีการเรียบเรียงเนื้อหาเพื่อให้เหมาะสมกับการนำเสนอของ ฟอรัม

เนื่องด้วยรากฐานของระเบียบระหว่างประเทศกำลังสั่นคลอนจากการที่รัสเซียรุกรานยูเครน ทำให้ประชาคมโลกต่างต้องยืนอยู่บนทางแยกแห่งประวัติศาสตร์ ครั้งสุดท้ายที่โลกเผชิญกับจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญเช่นนี้เกิดขึ้นเมื่อ 30 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงเวลาของสงครามเย็น เป็นช่วงที่โลกแบ่งออกเป็นสองฝ่าย และผู้คนต่างหวาดกลัวว่าการเป็นปรปักษ์กันของทั้งสองฝ่ายอาจระอุขึ้นอีกครั้ง เมื่อสงครามเย็นสิ้นสุดลง ยุคหลังสงครามเย็นก็เริ่มต้นขึ้น

ในการกล่าวคำปราศัยต่อสภานิติบัญญัติ นายคิอิจิ มิยาซาวะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในสมัยนั้น ซึ่งดำรงตำแหน่งก่อนผมทั้งในฐานะเพื่อนสมาชิกสภานิติบัญญัติจากฮิโรชิมาและผู้นำของกลุ่มโคชิไก ซึ่งเป็นกลุ่มนโยบายที่ผมเป็นสมาชิกอยู่ ได้กล่าวถึงยุคหลังสงครามเย็นว่าเป็นจุดเริ่มต้นของยุคแห่งการสร้างระเบียบใหม่เพื่อสันติภาพของโลก โดยกล่าวถึงความเป็นจริงที่ว่าญี่ปุ่นได้รับการเรียกร้องให้มีบทบาทระหว่างประเทศมากขึ้นในเวทีความมั่นคง ภายหลังการอภิปรายอย่างครอบคลุมในญี่ปุ่น นายมิยาซาวะก็สามารถผ่านพระราชบัญญัติความร่วมมือด้านปฏิบัติการรักษาสันติภาพได้ และได้ส่งกองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่นไปยังกัมพูชาตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ เวลาผ่านไปราว 30 ปีนับตั้งแต่ยุคสมัยของนายมิยาซาวะ ตอนนี้เราอยู่ในยุคไหนกันแน่ ตั้งแต่ที่มีการระบาดใหญ่ ทั่วโลกก็ยิ่งมีความไม่แน่นอนมากขึ้น

ท่ามกลางการหยุดชะงักทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เราได้ตระหนักถึงความสำคัญของห่วงโซ่อุปทานที่น่าเชื่อถือและปลอดภัย ในขณะที่โลกยังคงพยายามฟื้นตัวจากการระบาดใหญ่ การรุกรานยูเครนของรัสเซียก็ได้อุบัติขึ้น ไม่มีประเทศใดหรือภูมิภาคใดในโลกที่จะเพิกเฉยต่อเหตุการณ์ครั้งนี้ว่าเป็นปัญหาของผู้อื่น นี่เป็นสถานการณ์ที่สั่นคลอนรากฐานของระเบียบระหว่างประเทศ ซึ่งทุกประเทศและทุกคนควรมองว่าเป็นเรื่องของตนเองด้วย

มีการเคารพกฎระเบียบในทะเลจีนใต้จริงหรือไม่ ทั้งกฎหมายระหว่างประเทศโดยเฉพาะอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเลซึ่งทุกประเทศที่เกี่ยวข้องได้ตกลงกันหลังจากเจรจาและพยายามมาเป็นเวลาหลายปี รวมถึงคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการภายใต้อนุสัญญาฉบับนี้ ซึ่งได้แก่ คำวินิจฉัยที่เห็นชอบกับฟิลิปปินส์และยกเลิกการอ้างสิทธิ์ในอาณาเขตส่วนใหญ่ของสาธารณรัฐประชาชนจีน ต่างก็ไม่ได้รับการยอมรับ ในทะเลจีนตะวันออกซึ่งเป็นที่ตั้งของประเทศญี่ปุ่น ความพยายามแต่เพียงฝ่ายเดียวที่จะเปลี่ยนแปลงสถานภาพที่เป็นอยู่โดยใช้กำลังโดยละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศยังคงดำเนินต่อไป

นายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น (ขวา) กล่าวคำทักทายนายแอนโธนี อัลบานีส นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย (จากซ้าย), นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และนายนเรนทระ โมที นายกรัฐมนตรีอินเดีย ในการประชุมสุดยอดของผู้นำการเจรจาด้านความมั่นคงจตุภาคีในกรุงโตเกียว เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2565

แต่ญี่ปุ่นก็ยืนหยัดอย่างแน่วแน่เพื่อต่อต้านความพยายามดังกล่าว สันติภาพและเสถียรภาพทั่วทั้งช่องแคบไต้หวัน ซึ่งอยู่ระหว่างทะเลสองแห่งนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งเช่นกัน เป็นเรื่องที่น่าเสียดายยิ่งนักที่การกระทำจำนวนมากซึ่งไม่เคารพต่อความหลากหลาย เจตจำนงเสรี และสิทธิมนุษยชนของผู้คนก็เกิดขึ้นในภูมิภาคนี้เช่นกัน นอกจากนี้ นับตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2565 เกาหลีเหนือได้ยิงขีปนาวุธทิ้ง รวมถึงขีปนาวุธทิ้งตัวข้ามทวีปชนิดใหม่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งนับเป็นจำนวนหลายครั้งอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนและยังเกิดขึ้นในรูปแบบใหม่ ๆ ด้วยเหตุนี้ เกาหลีเหนือจึงเสริมความแข็งแกร่งให้กับกิจกรรมด้านนิวเคลียร์และขีปนาวุธโดยละเมิดมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ซึ่งเป็นความท้าทายที่ชัดเจนและร้ายแรงต่อประชาคมโลก เป็นที่น่าเสียใจอย่างยิ่งที่มติของคณะมนตรีความมั่นคงที่เพิ่งได้รับการเสนอ กลับไม่ได้นำมาใช้อันเนื่องมาจากการใช้มาตรการยับยั้ง ประเด็นการลักพาตัวพลเมืองญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่สุดของการบริหารงานของผม เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงเช่นกัน ต้นตอของปัญหาเหล่านี้คือสถานการณ์ที่ความเชื่อมั่นในกฎสากลที่ใช้ควบคุมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกำลังสั่นคลอน ซึ่งเป็นปัญหาเบื้องลึกที่สำคัญและร้ายแรงที่สุด

ระเบียบระหว่างประเทศที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกติกาที่เราได้สร้างขึ้นจากการทำงานอย่างทุ่มเท การเจรจา และฉันทามติจะได้รับการยึดถือหรือไม่ รวมถึงการเดินไปสู่สันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองจะดำเนินต่อไปได้หรือไม่ หรือเราจะกลับไปสู่โลกที่ไร้กฎหมาย ที่ซึ่งกฎเกณฑ์ถูกละเลยและถูกละเมิด ที่ซึ่งการเปลี่ยนแปลงแต่เพียงฝ่ายเดียวต่อสถานภาพที่เป็นอยู่โดยการใช้กำลังนั้นไม่ได้รับการทักท้วงแต่ได้รับการยอมรับ และที่ซึ่งมหาอำนาจบีบบังคับผู้ที่อ่อนแอกว่าในทางทหารหรือทางเศรษฐกิจ นี่เป็นทางเลือกที่เราต้องตัดสินใจในวันนี้ ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจเติบโตเป็นอันดับสามของโลกและพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะนำมาซึ่งสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาคนี้นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง โดยมุ่งพัฒนาในด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก ดังนั้น ความรับผิดชอบที่ญี่ปุ่นต้องทำให้สำเร็จจึงเป็นเรื่องที่หนักหนาสาหัส จากความเข้าใจดังกล่าว ญี่ปุ่นควรมีบทบาทอย่างไรในการตระหนักถึงสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองขณะที่เราเผชิญกับทางแยกนี้ในประวัติศาสตร์

ขณะมุ่งเน้นไปที่ค่านิยมสากลที่ทุกคนควรเคารพและปกป้อง เราต้องยึดมั่นในอุดมคติของเราเพื่ออนาคต เช่น โลกที่ไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ พร้อมกับตอบโต้อย่างชาญฉลาดและเด็ดขาดตามความจำเป็นของสถานการณ์ ผมมุ่งมั่นที่จะทำให้การทูตสำหรับยุคใหม่เป็นจริง ซึ่งเป็นการยึดมั่นในแบบปฏิบัตินิยมอย่างรอบคอบเช่นนี้ ท่ามกลางประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้ ญี่ปุ่นจะยังคงมีความอ่อนน้อมถ่อมตน และปรับตัวเพื่อให้ความสำคัญกับความหลากหลายหรือความอดทน ซึ่งเคารพต่อความเป็นปัจเจกชนของผู้อื่น อย่างไรก็ตาม เราจะทำงานในเชิงรุกมากขึ้นกว่าเดิมในการรับมือกับความท้าทายและวิกฤตที่ญี่ปุ่น เอเชีย และทั่วโลกต้องเผชิญ

วิสัยทัศน์เพื่อสันติภาพ

ผมจะใช้มุมมองดังกล่าวเพื่อรักษาและเสริมสร้างความสงบเรียบร้อยในภูมิภาคนี้ รวมทั้งจะดำเนินการตามวิสัยทัศน์แห่งคิชิดะเพื่อสันติภาพและเพิ่มบทบาททางการทูตและความมั่นคงของญี่ปุ่นในภูมิภาค โดยส่งเสริมความคิดริเริ่ม 5 ประการดังต่อไปนี้

ประการแรกคือการรักษาและเสริมสร้างระเบียบระหว่างประเทศที่เสรีและเปิดกว้าง ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของกติกา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เราจะแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเกี่ยวกับการพัฒนาในด้านใหม่ ๆ ไปสู่อินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง

ประการที่สองคือการยกระดับการรักษาความปลอดภัย เราจะดำเนินการเสริมสร้างขีดความสามารถพื้นฐานด้านกลาโหมของญี่ปุ่นควบคู่ไปกับการเสริมสร้างพันธมิตรระหว่างญี่ปุ่นและสหรัฐฯ รวมทั้งเสริมสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงกับประเทศอื่น ๆ ที่มีอุดมการณ์เดียวกัน

ประการที่สามคือการส่งเสริมความพยายามที่จะนำมาซึ่งโลกที่ปราศจากอาวุธนิวเคลียร์ให้เป็นจริง

ประการที่สี่คือการเสริมสร้างการทำงานขององค์การสหประชาชาติ รวมถึงการปฏิรูปคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ

ประการที่ห้าคือการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านนโยบายใหม่ ๆ เช่น ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ

ในการนำสันติภาพมาสู่ประชาคมโลก เราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดำเนินการต่อไปเพื่อรักษาและเสริมสร้างระเบียบระหว่างประเทศที่เสรีและเปิดกว้าง ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของกติกา หลักนิติธรรมเป็นรากฐานในการสนับสนุนระเบียบระหว่างประเทศเช่นนี้ ควบคู่ไปกับการยุติข้อพิพาทอย่างสันติ การไม่ใช้กำลัง และการเคารพในอำนาจอธิปไตย ในทางทะเล สิ่งนั้นคือเสรีภาพในการเดินเรือ และในทางเศรษฐกิจคือการค้าเสรี

การเคารพสิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งสำคัญ เช่นเดียวกับระบบการเมืองประชาธิปไตยที่สะท้อนให้เห็นถึงเจตจำนงเสรีและความหลากหลายของผู้คน สิ่งเหล่านี้คือหลักการทั่วไปและเป็นสากลที่พัฒนาขึ้นโดยผู้คนทั่วโลกที่ปรารถนาสันติภาพของโลกและได้รวบรวมความคิดเข้าไว้ด้วยกัน กฎระเบียบและหลักการที่ผมกล่าวถึงนี้ยังสอดคล้องกับวัตถุประสงค์และหลักการของกฎบัตรสหประชาชาติ นั่นคือเราต้องเคารพกฎระเบียบ แม้ว่ากฎระเบียบจะกลายเป็นสิ่งที่ยุ่งยาก แต่เราก็ไม่สามารถอนุญาตให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งกระทำการโดยเสมือนว่ากฎระเบียบไม่มีอยู่จริง และไม่สามารถอนุญาตให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบได้เพียงฝ่ายเดียว หากใครต้องการจะเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบ พวกเขาจะต้องจัดทำฉันทามติใหม่

ญี่ปุ่นได้ส่งเสริมอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้างด้วยมุมมองที่จะรักษาและเสริมสร้างระเบียบระหว่างประเทศที่เสรีและเปิดกว้าง ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของกติกาในภูมิภาคแห่งนี้ และวิสัยทัศน์ที่เราสนับสนุนก็ได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางในประชาคมโลก ญี่ปุ่นได้สนับสนุนแนวคิดของอาเซียนเกี่ยวกับอินโดแปซิฟิกอย่างต่อเนื่องและจริงจัง ซึ่งอาเซียนได้พัฒนาแนวคิดนี้เป็นนโยบายพื้นฐาน เมื่อมองไปรอบ ๆ โลก ผู้มีบทบาทหลายประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย สหภาพยุโรป ฝรั่งเศส เยอรมนี อินเดีย อิตาลี เนเธอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ ล้วนมีวิสัยทัศน์สำหรับอินโดแปซิฟิก และแบ่งปันวิสัยทัศน์ที่ยิ่งใหญ่ร่วมกัน

เรือบรรทุกเครื่องบินของกองทัพเรืออินเดีย ไอเอ็นเอส วิกรมทิตย์ (ด้านหน้า) และเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ของญี่ปุ่น เจเอส อิซึโมะ เข้าร่วมการฝึกมาลาบาร์ในอ่าวเบงกอล

ผลประโยชน์ด้านความมั่นคงที่มีร่วมกัน

หุ้นส่วนที่มีอุดมการณ์เดียวกันต่างก็กำลังดำเนินการตามความคิดริเริ่มของตนเอง ไม่ใช่ตามคำสั่งของผู้อื่น นี่เป็นแนวคิดของอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของความสามัคคีที่เรียกว่าแนวคิดอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง โดยเฉพาะในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก ความร่วมมือกับอาเซียนเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง หลังจากรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ผมได้เดินทางไปเยือนกัมพูชาครั้งแรก ซึ่งเป็นประเทศที่ดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนใน พ.ศ. 2565 ต่อมาผมได้ไปเยือนอินโดนีเซีย เวียดนาม และไทย และในวันนี้ผมอยู่ที่สิงคโปร์ นอกจากนี้ ผมยังได้ประชุมกับบรรดาผู้นำของประเทศในกลุ่มอาเซียน ประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่นและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีรากฐานมาจากประวัติศาสตร์อันยาวนานของมิตรไมตรีและมิตรภาพ ภายหลังสงคราม ญี่ปุ่นได้สนับสนุนการพัฒนาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ได้ส่งต่อความช่วยเหลือไปยังญี่ปุ่นในการฟื้นตัวจากภัยพิบัติแผ่นดินไหวและสึนามิที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ผมต้องการทำงานร่วมกับผู้นำของประเทศอาเซียนต่อไปเพื่อหารือกันในเชิงลึกเกี่ยวกับแนวทางเพื่อให้เกิดสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาค ประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกยังเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญในการสร้างอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง เช่นเดียวกับประเทศอาเซียน เราจะมีส่วนร่วมในการเสริมสร้างรากฐานสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและยืดหยุ่น รวมถึงการจัดการกับความท้าทายที่มีอยู่ในด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

เราได้ให้ความช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมด้านความมั่นคงล่าสุด เช่น การวางสายเคเบิลใต้ทะเลในภาคตะวันออกของไมโครนีเซียโดยร่วมมือกับออสเตรเลียและสหรัฐฯ และเราจะทำงานร่วมกันกับพันธมิตรของเราในหมู่เกาะแปซิฟิกเพื่อรับรองความสงบเรียบร้อยทางทะเลอย่างยั่งยืน ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของกติกา ความร่วมมือบนพื้นฐานแนวคิดอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง คือความร่วมมือที่สร้างขึ้นจากความไว้วางใจที่มีมาอย่างยาวนาน ซึ่งไม่ได้จำกัดเพียงฮาร์ดแวร์ เช่น การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน แต่ยังมุ่งเน้นไปที่การสนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในท้องถิ่น ส่งเสริมการพัฒนาอย่างอิสระและครอบคลุม รวมทั้งส่งเสริมอุตสาหกรรมผ่านโครงการริเริ่มของภาครัฐและเอกชน ในฐานะหุ้นส่วนด้านการลงทุนที่มีศักยภาพ เรายังสนับสนุนความพยายามในการเสริมสร้างความเชื่อมโยงของอาเซียน

นอกจากนี้ยังมีความจำเป็นสำหรับประเทศที่มีอุดมการณ์เดียวกัน ในการร่วมมือกันเพื่อเพิ่มการลงทุนด้านทรัพยากรในภูมิภาคนี้ นอกเหนือจากประเทศในอาเซียนและหมู่เกาะแปซิฟิกแล้ว ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย อินเดีย และสหรัฐฯ หรือที่รู้จักกันในชื่อควอด ยังมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง ในการประชุมผู้นำกลุ่มควอดเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2565 ที่กรุงโตเกียว เราได้ยืนยันว่ากลุ่มควอดจะพยายามส่งต่อความช่วยเหลือด้านโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุนเพิ่มเติมในอินโดแปซิฟิกอีกกว่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.7 ล้านล้านบาท) ในอีก 5 ปีข้างหน้า ซึ่งจะเป็นสิ่งจำเป็นในการส่งเสริมผลผลิตและความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาคนี้ ผมเองก็จะเร่งให้เกิดความพยายามเหล่านี้ต่อไป เรามีความตั้งใจที่จะยกระดับความร่วมมือด้านอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้างที่มีอยู่โดยยกระดับความพยายามทางการทูตของเรา รวมถึงส่งต่อความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการของเรา พร้อมกับมีส่วนร่วมในการใช้ความร่วมมือระหว่างประเทศอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดและมีกลยุทธ์ผ่านความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการ

ผมจะวางแผนอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้างเพื่อสันติภาพภายในฤดูใบไม้ผลิหน้า (พ.ศ. 2566) ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความพยายามของญี่ปุ่นในการส่งเสริมวิสัยทัศน์ของอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง โดยเน้นการจัดหาเรือลาดตระเวนและยกระดับขีดความสามารถในการบังคับใช้กฎหมายทางทะเล ตลอดจนความมั่นคงทางไซเบอร์ ความคิดริเริ่มด้านดิจิทัลและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ญี่ปุ่นได้เสริมสร้างความพยายามด้านความมั่นคงทางทะเลเป็นพิเศษ พร้อมกับใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น ดาวเทียม ปัญญาประดิษฐ์ และอากาศยานไร้คนขับ และเราจะยังคงแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของเรากับประเทศอื่น ๆ ต่อไป จากมุมมองนี้ในอีกสามปีข้างหน้า เราจะใช้ประโยชน์จากความร่วมมือทางเทคนิค การฝึกอบรม และวิธีการอื่น ๆ ที่เอื้อต่อการเสริมสร้างขีดความสามารถในการบังคับใช้กฎหมายทางทะเลของ 20 ประเทศเป็นอย่างน้อย เพื่อส่งเสริมความพยายามในการฝึกอบรมบุคลากรด้านความมั่นคงทางทะเลอย่างน้อย 800 คน รวมถึงเสริมสร้างเครือข่ายทรัพยากรมนุษย์ของประเทศเหล่านั้น นอกจากนี้ เราจะมอบเงินช่วยเหลืออย่างน้อยประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 7 หมื่นล้านบาท) เช่น การจัดหาอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยทางทะเล รวมถึงเรือลาดตระเวน และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งทางทะเลในประเทศอินโดแปซิฟิกในช่วงสามปีข้างหน้า

เราจะเสริมสร้างการสนับสนุนในประเทศแถบแปซิฟิก โดยใช้ความร่วมมือของควอดและกรอบการทำงานขององค์กรระหว่างประเทศ และยิ่งไปกว่านั้น เราจะเสริมสร้างการเชื่อมต่อและเครือข่ายระหว่างประเทศและประชาชน เพื่อรักษาและเสริมสร้างระเบียบระหว่างประเทศบนพื้นฐานของกติกาและค่านิยมที่เป็นสากล เช่น หลักนิติธรรม ด้วยเหตุนี้ เราจะฝึกอบรมบุคลากรกว่า 1,500 คนในด้านหลักนิติธรรมและการปกครองในช่วงสามปีข้างหน้า

บทบาทของญี่ปุ่น

ประการที่สองผมอยากจะพูดเกี่ยวกับบทบาทที่ญี่ปุ่นควรมีในด้านความมั่นคง จากการรุกรานยูเครนของรัสเซีย มุมมองของประเทศต่าง ๆ
เกี่ยวกับความมั่นคงได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากทั่วโลก เยอรมนีได้ประกาศว่าจะเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านความมั่นคงของตน และเพิ่มงบประมาณด้านกลาโหมเป็นร้อยละ 2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ฟินแลนด์และสวีเดน ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านของรัสเซีย ได้เปลี่ยนแปลงนโยบายความเป็นกลางครั้งประวัติศาสตร์และประกาศว่าประเทศของตนได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโต

ผมเองรู้สึกถึงสัญญาณที่ชัดเจนของภาวะฉุกเฉินนี้ว่า ยูเครนในวันนี้อาจเป็นเอเชียตะวันออกในวันหน้า นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังได้ตัดสินใจเปลี่ยนแปลงนโยบายของเราที่มีต่อรัสเซีย และเป็นหนึ่งเดียวกับประชาคมโลกด้วยความพยายามของเราที่จะคว่ำบาตรรัสเซียอย่างเต็มที่และสนับสนุนยูเครน ในฐานะนายกรัฐมนตรีของประเทศที่รักสันติภาพอย่างญี่ปุ่น ผมมีหน้าที่รับผิดชอบในการปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนชาวญี่ปุ่น และมีส่วนร่วมในการสร้างความสงบเรียบร้อยในภูมิภาคนี้ ผมจะพยายามสร้างระเบียบระหว่างประเทศที่มีเสถียรภาพผ่านการเจรจา ไม่ใช่การเผชิญหน้ากัน อย่างไรก็ตาม ขณะเดียวกันเราต้องเตรียมพร้อมสำหรับการอุบัติขึ้นของหน่วยงานที่เหยียบย่ำสันติภาพและความมั่นคงของประเทศอื่น ๆ โดยการใช้กำลังหรือภัยคุกคามอย่างไม่เคารพกฎระเบียบ เพื่อเป็นการป้องกันสถานการณ์ดังกล่าวและปกป้องตัวเราเอง เราจำเป็นต้องยกระดับขีดความสามารถในการยับยั้งและตอบโต้

สิ่งนี้จะมีความสำคัญอย่างยิ่งหากญี่ปุ่นต้องการเรียนรู้ที่จะอยู่รอดในยุคใหม่ และเป็นกระบอกเสียงในฐานะผู้ยึดถือบรรทัดฐานแห่งสันติภาพ เมื่อสภาพแวดล้อมด้านความมั่นคงรอบ ๆ ญี่ปุ่นมีความรุนแรงมากขึ้น เราจะกำหนดยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่ภายในสิ้นปี พ.ศ. 2565 ผมมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างขีดความสามารถพื้นฐานด้านกลาโหมของญี่ปุ่นภายใน 5 ปีข้างหน้า และตรึงงบประมาณด้านกลาโหมของญี่ปุ่นที่เพิ่มขึ้นอย่างมากเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อการเสริมสร้างดังกล่าว ในการทำเช่นนั้น เราจะไม่ตัดตัวเลือกใด ๆ ออกไป รวมถึงสิ่งที่เรียกว่าความสามารถในการตอบโต้ และจะพิจารณาตามความเป็นจริงถึงสิ่งที่จำเป็นต่อการปกป้องชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนของเรา สำหรับทุกท่านแล้ว ผมขอเน้นย้ำว่าจุดยืนของญี่ปุ่นในฐานะประเทศที่รักสันติภาพจะไม่เปลี่ยนแปลงไป ความพยายามของเราจะดำเนินไปภายใต้ขอบเขตของรัฐธรรมนูญของเรา และสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศในลักษณะที่ไม่เปลี่ยนแปลงบทบาทและภารกิจพื้นฐานที่มีร่วมกันระหว่างญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ภายใต้ความเป็นพันธมิตรของเรา เราจะอธิบายแนวทางของเราต่อไปให้กับประเทศอื่น ๆ อย่างโปร่งใสและทั่วถึง ไม่มีประเทศใดสามารถรับประกันความปลอดภัยของตนเองได้ทั้งหมด นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ผมจะส่งเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคงหลายชั้นกับประเทศที่มีอุดมการณ์เดียวกัน ที่มีค่านิยมสากลร่วมกัน โดยจัดให้พันธมิตรระหว่างญี่ปุ่นและสหรัฐฯ เป็นแกนหลัก ในการประชุมกับนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ระหว่างการเยือนญี่ปุ่นเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2565 นายไบเดนได้สนับสนุนความมุ่งมั่นของผมเกี่ยวกับขีดความสามารถด้านกลาโหมของญี่ปุ่น นอกจากนี้ เรายังได้ทำข้อตกลงอย่างเต็มรูปแบบในการขยายและกระชับความร่วมมือด้านความมั่นคงและกลาโหมระหว่างญี่ปุ่นและสหรัฐฯ เราจะเสริมสร้างขีดความสามารถในการป้องปรามและตอบโต้ของพันธมิตรระหว่างญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ต่อไป ซึ่งได้กลายเป็นรากฐานสำคัญของสันติภาพและเสถียรภาพไม่เพียงแต่ในอินโดแปซิฟิกเท่านั้น แต่รวมถึงทั่วโลกด้วย

ในขณะเดียวกัน เราจะส่งเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคงกับออสเตรเลียและประเทศอื่น ๆ ที่มีอุดมการณ์เดียวกัน ผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะเริ่มการเจรจากับสิงคโปร์เพื่อทำข้อตกลงการจัดหายุทโธปกรณ์และการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านกลาโหม เราจะส่งเสริมความพยายามของเราต่อไปในการทำข้อตกลงดังกล่าวกับประเทศในอาเซียนและจัดทำโครงการความร่วมมือเฉพาะด้าน ตามความต้องการของประเทศเหล่านั้น ในส่วนของข้อตกลงการเข้าถึงที่เป็นผลประโยชน์ต่อทุกฝ่าย หลังจากการลงนามในข้อตกลงกับออสเตรเลียเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2565 เราได้บรรลุข้อตกลงหลักการกับสหราชอาณาจักร และญี่ปุ่นจะทำงานอย่างใกล้ชิดกับพันธมิตรที่มีอุดมการณ์เดียวกันในยุโรปและเอเชียเพื่อนำไปสู่ข้อสรุปของข้อตกลงเหล่านี้ นอกจากนี้ เพื่อกระตุ้นให้เกิดความตระหนักถึงระเบียบทางทะเลที่เสรีและเปิดกว้าง ญี่ปุ่นได้ส่งหน่วยกองกำลังป้องกันตนเองทางทะเล ซึ่งนำโดยเรือพิฆาตอิซึโมะไปยังภูมิภาคอินโดแปซิฟิกเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2565 เพื่อดำเนินการซ้อมรบร่วมกับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค รวมถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก

การป้องปรามนิวเคลียร์

ประการที่สาม เราจะพยายามอย่างเต็มที่เพื่อโลกที่ปราศจากอาวุธนิวเคลียร์ ท่ามกลางวิกฤตในยูเครน มีการถกเถียงกันว่าการใช้อาวุธนิวเคลียร์ของรัสเซียมีความเป็นไปได้ว่าจะเกิดขึ้นจริง เราต้องไม่ทำให้ภัยพิบัติของอาวุธนิวเคลียร์เกิดขึ้นอีก ภัยคุกคามจากอาวุธนิวเคลียร์หรือแม้กระทั่งการใช้อาวุธดังกล่าว เป็นสิ่งที่ต้องไม่ปล่อยให้เกิดขึ้น ในฐานะนายกรัฐมนตรีของประเทศเพียงหนึ่งเดียวที่ได้รับความเสียหายจากการทิ้งระเบิดปรมาณู ผมขอเรียกร้องเรื่องนี้อย่างยิ่ง ภัยคุกคามของรัสเซียในการใช้อาวุธนิวเคลียร์ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ตัวภัยคุกคามเท่านั้น ภัยคุกคามดังกล่าวอาจก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อระบอบการปกครองที่ยึดมั่นการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ไปแล้วเสียด้วยซ้ำ ซึ่งอาจทำให้ประเทศต่าง ๆ ที่ต้องการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ยกเลิกแผนของตนได้ยากยิ่งขึ้น ความเคลื่อนไหวในการพัฒนาและครอบครองอาวุธนิวเคลียร์อาจแพร่ขยายไปยังประเทศอื่น ๆ

สิ่งเหล่านี้เป็นหนึ่งในข้อกังวลต่าง ๆ ที่ได้รับการพูดถึง แม้กระทั่งก่อนวิกฤตยูเครน เกาหลีเหนือได้ยิงขีปนาวุธทิ้งตัวบ่อยครั้งและต่อเนื่อง รวมทั้งขีปนาวุธทิ้งตัวข้ามทวีป และเรามีความกังวลอย่างยิ่งว่าการทดสอบยิงนิวเคลียร์ครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นในไม่ช้า การเสริมกำลังขีดความสามารถทางทหารที่ไม่โปร่งใส รวมทั้งอาวุธนิวเคลียร์ที่สามารถพบเห็นได้ในบริเวณใกล้เคียงกับญี่ปุ่นได้กลายเป็นความกังวลด้านความมั่นคงระดับภูมิภาคที่ร้ายแรง การกลับไปปฏิบัติตามข้อตกลงนิวเคลียร์ของอิหร่านได้ก็ยังไม่ได้เกิดขึ้นจริง

เส้นทางสู่โลกที่ปราศจากอาวุธนิวเคลียร์กลายเป็นสิ่งที่ท้าทายมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสถานการณ์ที่ยากลำบากอย่างยิ่งนี้ ในฐานะที่ผมเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีภูมิลำเนามาจากฮิโรชิมา ที่ซึ่งเคยถูกระเบิดปรมาณูถล่ม ผมตัดสินใจที่จะแสดงออกและทำงานอย่างไม่หยุดหย่อนเพื่อเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ปัจจุบันและมีส่วนร่วมในการปรับปรุงไปสู่โลกที่ปราศจากอาวุธนิวเคลียร์ จะไม่มีความขัดแย้งกันระหว่างการรับรองความมั่นคงระดับชาติของญี่ปุ่นพร้อมกับเผชิญกับความเป็นจริงของสภาพแวดล้อมด้านความมั่นคงที่รุนแรงรอบ ๆ ญี่ปุ่น และในขณะเดียวกันก็มุ่งไปสู่โลกในอุดมคติที่ปราศจากอาวุธนิวเคลียร์

จากความสัมพันธ์แบบไว้วางใจกันที่เรามีต่อสหรัฐฯ ซึ่งเป็นพันธมิตรแต่เพียงผู้เดียวของเรา ญี่ปุ่นจะนำเสนอแผนการดำเนินงานที่จะนำพาเราจากความเป็นจริงไปสู่อุดมคติของเรา และเดินหน้าต่อไปด้วยความพยายามที่จะปลดอาวุธนิวเคลียร์ให้ได้ กองกำลังนิวเคลียร์ที่มีความโปร่งใสมากขึ้นเป็นสิ่งที่จะช่วยสนับสนุนความพยายามดังกล่าว ซึ่งเป็นเหมือนขั้นตอนแรกในการสนับสนุนการปลดอาวุธนิวเคลียร์ที่ไม่สามารถย้อนคืนได้และตรวจสอบได้ และเพื่อสร้างความไว้วางใจในหมู่รัฐที่มีอาวุธนิวเคลียร์ รวมทั้งระหว่างรัฐที่มีอาวุธนิวเคลียร์และรัฐที่ไม่มีอาวุธนิวเคลียร์

เมื่อคำนึงถึงลักษณะที่ไม่โปร่งใสที่บางประเทศได้เพิ่มขีดความสามารถด้านนิวเคลียร์ของตน เราจึงเรียกร้องให้ทุกรัฐที่มีอาวุธนิวเคลียร์เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับกองกำลังนิวเคลียร์ของตน เราจะสนับสนุนให้สหรัฐฯ และจีนมีส่วนร่วมในการเจรจาทวิภาคีเกี่ยวกับการปลดอาวุธนิวเคลียร์และการควบคุมอาวุธร่วมกับประเทศต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ยังเป็นกุญแจสำคัญในการกลับมาหารือเกี่ยวกับสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองอาวุธโดยสมบูรณ์และสนธิสัญญาห้ามใช้วัสดุฟิสไซล์ ซึ่งถูกลืมไปเมื่อไม่นานมานี้ ยิ่งไปกว่านั้นเราจำเป็นต้องรักษาและเสริมสร้างสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญยิ่งของการปลดอาวุธนิวเคลียร์ระหว่างประเทศและระบอบการปกครองที่ไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์

เราจะทำทุกวิถีทางเพื่อให้แน่ใจว่าการประชุมทบทวนสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์จะได้ผลลัพธ์ที่ดี โดยจัดขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2565 ซึ่งมีทั้งรัฐที่มีอาวุธนิวเคลียร์และรัฐที่ไม่มีอาวุธนิวเคลียร์เข้าร่วม เนื่องจากการใช้อาวุธนิวเคลียร์ในปัจจุบันมีความเป็นไปได้อย่างแท้จริง การย้ำเตือนโลกอีกครั้งเกี่ยวกับภัยพิบัติและความไร้มนุษยธรรมของการใช้อาวุธนิวเคลียร์ถือเป็นเรื่องสำคัญ ในฐานะที่เราเป็นประเทศเพียงหนึ่งเดียวที่ได้รับความเสียหายจากการทิ้งระเบิดปรมาณู ญี่ปุ่นจะใช้ทุกโอกาส รวมถึงการประชุมว่าด้วยผลกระทบด้านมนุษยธรรมจากอาวุธนิวเคลียร์ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2565 เพื่อถ่ายทอดให้เห็นความเป็นจริงของการทิ้งระเบิดปรมาณูให้โลกได้รับรู้ ด้วยเจตนาที่จะสนับสนุนการอภิปรายเพิ่มเติมโดยกลุ่มบุคคลสำคัญเพื่อความก้าวหน้าสำคัญของการปลดอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งผมได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และเพื่อจุดประกายแรงผลักดันสำหรับการปลดอาวุธนิวเคลียร์ระหว่างประเทศอีกครั้ง เราจะก่อตั้งกลุ่มบุคคลสำคัญระหว่างประเทศเพื่อโลกที่ปราศจากอาวุธนิวเคลียร์

โดยกลุ่มนี้จะได้รับประโยชน์จากการมีส่วนร่วมของผู้นำทางการเมืองของประเทศต่าง ๆ ทั้งในปัจจุบันและในอดีต และแผนของเราคือการจัดประชุมครั้งแรกที่ฮิโรชิมาใน พ.ศ. 2565 ในส่วนของเกาหลีเหนือนั้น ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี และสหรัฐฯ จะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดในด้านความมั่นคงในภูมิภาค การพิจารณาที่องค์การสหประชาชาติ และความพยายามทางการทูต เพื่อปฏิบัติการปลดอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนืออย่างสมบูรณ์ตามมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และญี่ปุ่นจะดำเนินการร่วมกับประชาคมโลกโดยรวมต่อไป เรามุ่งมั่นที่จะก้าวไปสู่โลกที่ปราศจากอาวุธนิวเคลียร์ทีละขั้นตอน ผ่านความพยายามที่เป็นรูปธรรมทุกรูปแบบ

การปฏิรูปองค์การสหประชาชาติ

ประการที่สี่ เราต้องรีบเร่งต่อการปฏิรูปองค์การสหประชาชาติ ซึ่งควรจะทำหน้าที่เป็นผู้พิทักษ์สันติภาพ ประเทศรัสเซีย หนึ่งในสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ซึ่งเป็นองค์กรที่มีหน้าที่หลักในการรักษาสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ ได้มีส่วนร่วมในการกระทำที่ก้าวร้าวซึ่งสั่นคลอนรากฐานของระเบียบระหว่างประเทศ ทำให้องค์การสหประชาชาติอยู่ในช่วงที่ต้องพิจารณาคดี จุดยืนของญี่ปุ่นในการให้ความสำคัญกับองค์การสหประชาชาติยังคงเหมือนเดิม

นับตั้งแต่สมัยที่ผมดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ผมได้ทุ่มเททำงานเพื่อปฏิรูปองค์การสหประชาชาติ และเมื่อได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปัจจุบัน ผมได้ใช้โอกาสทางการทูตระดับสูงสุดเพื่อหารือกับผู้นำของประเทศต่าง ๆ เกี่ยวกับแนวทางในการเสริมสร้างการทำงานขององค์การสหประชาชาติ การปฏิรูปองค์การสหประชาชาติไม่ใช่เรื่องง่ายเมื่อคำนึงถึงความซับซ้อนของผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องของประเทศต่าง ๆ

แต่ญี่ปุ่น ในฐานะประเทศที่รักสันติภาพ จะเป็นผู้นำการเจรจาเพื่อเสริมสร้างการทำงานขององค์การสหประชาชาติ รวมถึงการปฏิรูปคณะมนตรีความมั่นคง ญี่ปุ่นจะเข้าร่วมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่จะเริ่มต้นใน พ.ศ. 2566 และเมื่ออยู่ในคณะมนตรีความมั่นคง เราก็จะทำงานอย่างไม่หยุดหย่อนเช่นกัน ในขณะเดียวกัน เราจะยังคงแสวงหาแนวทางดำเนินการต่อไปสำหรับการปกครองระดับโลกที่คอยตอบโต้ความท้าทายใหม่ ๆ ในประชาคมโลก

ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ

ประการสุดท้าย ผมอยากหารือเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านนโยบายใหม่ ๆ เช่น ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ท่ามกลางการแพร่ระบาดใหญ่อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ความเปราะบางของห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกได้ปรากฏขึ้นมาให้เห็น การกดดันทางเศรษฐกิจที่ไม่สมเหตุสมผลต่อประเทศอื่น ๆ เพื่อเรียกร้องสิทธิแต่เพียงฝ่ายเดียว หรือการเผยแพร่ข้อมูลที่บิดเบือนโดยเจตนาก็เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้เช่นกัน

การรุกรานยูเครนทำให้เราตระหนักมากขึ้นถึงความจำเป็นที่ชัดเจนและเร่งด่วนในการทำให้เศรษฐกิจของเรามีความยืดหยุ่นมากขึ้น เมื่อพิจารณาว่าเศรษฐกิจเชื่อมโยงโดยตรงกับความมั่นคงของชาติและด้านต่าง ๆ เช่น ความมั่นคงทางไซเบอร์และการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลมีความสำคัญมากขึ้นสำหรับความมั่นคงของชาติ เราจึงส่งเสริมความคิดริเริ่มด้านความมั่นคงทางเศรษฐกิจเพื่อรับประกันความมั่นคงของประเทศและประชาชนของเราจากมุมมองทางเศรษฐกิจ

ในญี่ปุ่น เราได้มีการออกกฎหมายส่งเสริมความมั่นคงทางเศรษฐกิจภายใต้การนำของผมเพื่อจัดการกับความท้าทายนี้ แต่ญี่ปุ่นไม่สามารถรับมือเรื่องนี้ได้เพียงลำพัง ความร่วมมือระหว่างประเทศจึงเป็นสิ่งจำเป็น รวมถึงภายใต้กรอบการทำงานของประเทศที่มีอุดมการณ์เดียวกัน เช่นกลุ่มประเทศจี 7 หรือกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศ ญี่ปุ่นและอาเซียนได้สร้างห่วงโซ่อุปทานหลายชั้นมานานแล้ว เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่ภาครัฐและภาคเอกชนของเรายังคงลงทุนในการรักษาและเสริมสร้างห่วงโซ่อุปทานเหล่านี้ต่อไป ทั้งนี้ ญี่ปุ่นจะสนับสนุนโครงการห่วงโซ่อุปทานที่มีความยืดหยุ่นมากกว่า 100 โครงการในช่วง 5 ปีข้างหน้า

นอกจากนี้ เมื่อสถานะของประเทศในประชาคมโลก รวมถึงการพัฒนาเศรษฐกิจได้รับการยกระดับขึ้นแล้ว ประเทศเหล่านั้นไม่เพียงแต่จะได้รับประโยชน์ แต่ยังควรปฏิบัติตามความรับผิดชอบและข้อผูกพันที่สอดคล้องกับสถานะดังกล่าวด้วย ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการจัดหาเงินทุนจะต้องมีความโปร่งใส และควรนำไปสู่สวัสดิการระยะยาวของประชาชนในประเทศผู้รับ

เราจะยังคงส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจบนพื้นฐานแนวคิดด้านความมั่นคงของมนุษย์ เคารพความเป็นเจ้าของของแต่ละประเทศ ตลอดจนผลประโยชน์ของคนในชาติต่อไป ในการนำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรืองในช่วงเวลาที่ยากลำบากเหล่านี้ อาเซียนและภูมิภาคอินโดแปซิฟิกจะยังคงต้องเป็นกลไกขับเคลื่อนการเติบโตของโลก ญี่ปุ่นจะมีส่วนร่วมต่อไปในการสร้างประเทศที่มีความยืดหยุ่นที่สามารถเอาชนะความท้าทายครั้งใหญ่หรือยากลำบากที่ประเทศต่าง ๆ อาจต้องเผชิญ

ผมขอให้ทุกท่านไตร่ตรองถึงอนาคตของเรา วิสัยทัศน์ที่ผมได้แสดงให้ทุกท่านเห็นในวันนี้ เป็นวิสัยทัศน์ของระเบียบระหว่างประเทศที่เสรีและเปิดกว้าง ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของกติกา เป็นหนึ่งในสิ่งที่เราทุกคนทำงานร่วมกัน เราจะยกระดับอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้างไปสู่ขั้นถัดไป ผมเชื่อมั่นว่าหากเราทำเช่นนั้น อนาคตของสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองจะรอเราอยู่แน่นอน เป็นโลกที่สดใสและรุ่งโรจน์ที่เต็มไปด้วยความหวัง ที่ซึ่งมีความไว้วางใจและความเห็นอกเห็นใจร่วมกันในหมู่พวกเรา

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button