เปลี่ยนขยะจากเกาหลีเหนือ ให้กลายเป็นสมบัติล้ำค่า
เรื่องและภาพโดย ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส
เมื่อคลื่นซัดขยะเข้าชายฝั่งเกาะแนวหน้าของเกาหลีใต้ มักจะพบ นายคัง ดง วอน กำลังตามล่าหาสิ่งที่เขาเรียกว่า “ขุมทรัพย์” ซึ่งเป็นขยะจากเกาหลีเหนือที่เป็นเหมือนดังช่องให้เขาแอบมองเข้าไปดูพื้นที่ที่คนภายนอกส่วนใหญ่เข้าไปไม่ได้
“นี่อาจเป็นข้อมูลชิ้นสำคัญมาก เพราะเราสามารถเรียนรู้ได้ว่าผลิตภัณฑ์ใดบ้างที่ผลิตในเกาหลีเหนือ และสินค้าใดบ้างที่ผู้คนใช้ที่นั่น” นายคัง ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยดงอาของเกาหลีใต้ กล่าว
เขาจำเป็นต้องหันไปใช้วิธีการรวบรวมข้อมูลที่ละเอียดยิ่งขึ้น เนื่องจากโควิด-19 ส่งผลให้การหาข้อมูลว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในเกาหลีเหนือโดยบุคคลภายนอกเป็นไปได้ยากขึ้นมาก ซึ่งเกาหลีเหนือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการปิดประเทศมากที่สุดในโลก แม้จะไม่มีการปิดกั้นพรมแดนจากโรคระบาดก็ตาม
นายคังเชื่อว่าความหลากหลาย จำนวน และความซับซ้อนของขยะที่เพิ่มขึ้น เป็นการยืนยันถึงรายงานของสื่อทางการเกาหลีเหนือว่า ผู้นำคิม จอง อึน กำลังผลักดันให้มีการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคอย่างหลากหลายและส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมการออกแบบที่ใหญ่ขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้คนและปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขา แม้นายคิมจะมีการปกครองแบบเผด็จการ แต่ก็ไม่อาจเพิกเฉยต่อรสนิยมของผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าในตลาดแบบทุนนิยมได้ จากการที่ระบบการปันส่วนสาธารณะแบบสังคมนิยมของประเทศได้พังทลายลง และปัญหาทางเศรษฐกิจของเกาหลีเหนือก็ยิ่งเสื่อมถอยลงในช่วงที่มีภาวะโรคระบาด
“ผู้อยู่อาศัยในเกาหลีเหนือในปัจจุบันบางส่วนคือกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เริ่มตระหนักว่าตลาดและเศรษฐกิจเป็นอย่างไร นายคิมคงไม่อาจได้รับการสนับสนุนจากพวกเขา หากเอาแต่ปราบปรามและควบคุมพวกเขา ขณะที่ยังยึดมั่นที่จะดำเนินโครงการพัฒนานิวเคลียร์ต่อไป” นายคังกล่าว “เขาต้องแสดงให้เห็นว่าในยุคของเขาจะมีการเปลี่ยนแปลง”
ก่อนเกิดภาวะโรคระบาด นายคังได้เดินทางไปเยือนตามเมืองชายแดนของจีนอยู่เป็นประจำเพื่อพบปะกับชาวเกาหลีเหนือที่อาศัยอยู่ที่นั่น เขายังได้ซื้อผลิตภัณฑ์จากเกาหลีเหนือและถ่ายภาพหมู่บ้านของชาวเกาหลีเหนือที่ตั้งอยู่ฝั่งชายแดนตรงข้ามแม่น้ำอีกด้วย แต่ถึงกระนั้น นายคังก็ไม่สามารถเดินทางไปที่นั่นได้อีก อันเนื่องมาจากข้อจำกัดการต่อต้านไวรัสของจีนที่จำกัดไม่ให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา
ตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2563 นายคังก็ได้เดินทางไปเยือนเกาะชายแดนของเกาหลีใต้ถึง 5 แห่งที่ตั้งอยู่นอกชายฝั่งตะวันตกของประเทศ และเก็บขยะจากเกาหลีเหนือได้อีกประมาณ 2,000 ชิ้น ซึ่งมีตั้งแต่ถุงขนมขบเคี้ยว ถุงน้ำผลไม้ กระดาษห่อลูกอม และขวดเครื่องดื่ม
นายคังกล่าวว่า เขารู้สึกทึ่งที่เห็นชิ้นบรรจุภัณฑ์หลากสีสันของสินค้าต่าง ๆ มากมาย เช่น เครื่องปรุงรส ไอศกรีมแท่ง ขนมเค้กขบเคี้ยว รวมถึงผลิตภัณฑ์จากนมและโยเกิร์ต มีหลายชิ้นที่มีองค์ประกอบด้านกราฟิก มีตัวละครที่มาจากการ์ตูน และมีรูปแบบตัวอักษรที่หลากหลาย บรรจุภัณฑ์บางชิ้นดูล้าสมัยตามมาตรฐานตะวันตก และบางชิ้นก็
ลอกเลียนมาจากการออกแบบของเกาหลีใต้และญี่ปุ่นอย่างชัดเจน
ผู้เชี่ยวชาญคนอื่น ๆ ต่างศึกษาความหลากหลายของสินค้าและการออกแบบบรรจุภัณฑ์ในเกาหลีเหนือผ่านการออกอากาศและสิ่งพิมพ์จากสื่อของรัฐ แต่การเก็บขยะของนายคังช่วยให้เกิดการวิเคราะห์ที่ละเอียดถี่ถ้วนยิ่งขึ้น นายอัน คยังซู หัวหน้าเว็บไซต์ที่มุ่งเน้นประเด็นด้านสุขภาพในเกาหลีเหนือ กล่าว
ผลงานของนายคังยังเผยให้เห็นถึงมุมมองที่น่าสนใจอีกด้วย เช่น ข้อมูลส่วนผสมบนถุงน้ำผลไม้บางชิ้น แสดงให้เห็นว่าเกาหลีเหนือใช้ใบไม้จากต้นไม้แทนสารให้ความหวานทดแทนน้ำตาล นายคังสงสัยว่าอาจเป็นเพราะเกาหลีเหลือขาดแคลนน้ำตาลและอุปกรณ์แปรรูปน้ำตาล
นายคังกล่าวว่าการพบซองใส่สารปรุงแต่งรสสังเคราะห์มากกว่า 30 ชนิดอาจบ่งบอกว่าครัวเรือนของเกาหลีเหนือไม่สามารถซื้อวัตถุดิบจากธรรมชาติที่มีราคาแพงได้ เช่น เนื้อสัตว์และเนื้อปลาสำหรับทำซุปและแกงเคี่ยว ชาวเกาหลีใต้จำนวนมากเลิกใช้อาหารเสริมสังเคราะห์เนื่องจากความกังวลด้านสุขภาพ
ถุงพลาสติกสำหรับใส่ผงซักฟอกมีวลีเช่นคำว่า “เป็นมิตรกับแม่บ้าน” หรือ “ให้ความสะดวกสบายแก่ผู้หญิง” เนื่องด้วยข้อสันนิษฐานที่ว่ามีเพียงผู้หญิงเท่านั้นที่ทำงานดังกล่าว จึงอาจสะท้อนให้เห็นถึงสถานภาพอันต่ำต้อยของผู้หญิงในสังคมเกาหลีเหนือที่ชายเป็นใหญ่
กระดาษห่อสินค้าบางชิ้นยังแสดงการกล่าวอ้างที่เกินจริงอีกด้วย บางชิ้นระบุว่าขนมเค้กขบเคี้ยวรสวอลนัทเป็นแหล่งโปรตีนที่ดีกว่าเนื้อสัตว์ อีกชิ้นระบุว่าไอศกรีมคอลลาเจนทำให้เด็กสูงขึ้นและเพิ่มความยืดหยุ่นให้แก่ผิว และอีกชิ้นยังกล่าวอ้างอีกว่าขนมเค้กขบเคี้ยวที่ทำจากสาหร่ายขนาดเล็กบางชนิดสามารถป้องกันโรคเบาหวาน โรคหัวใจ และความชราได้
นายคังกล่าวว่าการเก็บขยะนี้เป็นความพยายามของเขาที่จะทำความเข้าใจชาวเกาหลีเหนือให้ดียิ่งขึ้น และศึกษาวิธีการเชื่อมช่องว่างระหว่างสองเกาหลีที่แตกแยกในกรณีที่อาจมีการรวมประเทศในอนาคต