ทรัพยากรส่วนรวมของโลกอำนาจอธิปไตยของชาติเรื่องเด่นเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ

อำนาจอธิปไตย ใน อวกาศ

ไม่มีใครสามารถครอบครองได้ ซึ่งผลักดันทั้งการแข่งขันและความร่วมมือ

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

สาธารณรัฐประชาชนจีนส่งจดหมายถึงองค์การสหประชาชาติในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2564 โดยร้องเรียนว่าตนถูกบังคับให้เคลื่อนย้ายสถานีอวกาศที่เพิ่งใช้งานใหม่ถึงสองครั้งในเวลาสี่เดือนเพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะกับดาวเทียมสตาร์ลิงก์ ส่วนหนึ่งของดาวเทียมที่ปล่อยโดยบริษัทสเปซเอ็กซ์ที่อยู่ในสหรัฐอเมริกา เพื่อนำอินเทอร์เน็ตไปยังพื้นที่ของโลกที่บริการเข้าไม่ถึง

ในจดหมายร้องเรียนของจีนนั้น จีนได้ตีความข้อกำหนดของสนธิสัญญาอวกาศขององค์การสหประชาชาติอย่างเลือกปฏิบัติ และไม่ยอมรับว่าตนล้มเหลวในการปรึกษาหารือในเชิงรุกกับชาติอื่น ๆ ตามที่ระบุในสนธิสัญญา ประเทศต่าง ๆ ต้องปรึกษาซึ่งกันและกันหากพบเห็นการปะทะกันที่อาจเกิดขึ้น นอกจากนี้ สนธิสัญญายังระบุว่า ผู้ใดก็ตามที่จัดวางวัตถุไว้ในอวกาศจะต้องเตรียมพร้อมที่จะปรับวงโคจรที่เกี่ยวข้องกับดาวเทียมดวงอื่น ๆ ที่ส่งออกไป ณ เวลานั้น มีดาวเทียมสตาร์ลิงก์อยู่จำนวนมาก และจีนเองก็รับทราบแม้กระทั่งเส้นทางโคจรของดาวเทียมทั้งสองดวงที่เป็นประเด็น ดาวเทียมทั้งสองดวงนั้นอยู่ในวงโคจรอยู่ก่อนแล้วเมื่อจีนปล่อยตัวทีมลูกเรือสามคนแรกของสถานีอวกาศเทียนกง 3 ของตน

นอกจากนี้ จีนยังไม่ยื่นคำร้องเรียนใด ๆ ต่อองค์การสหประชาชาติในช่วงไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้านี้เมื่อรัสเซียจงใจทำลายดาวเทียมที่ไม่สามารถใช้งานได้ในการทดสอบขีปนาวุธภาคพื้นดินของตน แรงระเบิดทำให้ดาวเทียมนั้นแตกออกเป็น “เศษซากอายุยืนยาว” ถึง 1,500 ชิ้นที่คุกคามผู้คนหลายชีวิตที่อยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติ สถานีอวกาศนานาชาติที่มีลูกเรือจำนวนหกคน และสิบหกโมดูล ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่ามากเมื่อเทียบกับเทียนกงที่ประกอบด้วยสามโมดูล

ในจดหมายของจีน สิ่งที่จีนทำนั้นมีมากกว่าเพียงแค่เอ่ยชื่อสเปซเอ็กซ์ แต่จีนมีเป้าหมายไปที่ “บริษัทสเปซเอ็กซ์พลอเรชันเทคโนโลยีคอปอเรชันหรือสเปซเอ็กซ์ แห่งสหรัฐอเมริกา” ภายใต้สนธิสัญญาอวกาศ หน้าที่รับผิดชอบต่อสิ่งของหรือผู้คนที่ปล่อยขึ้นสู่อวกาศ และความรับผิดหากมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นกับสิ่งเหล่านั้นจะตกเป็นของประเทศอธิปไตยนั้นแต่เพียงผู้เดียว “กิจกรรมของหน่วยงานเอกชนในอวกาศ รวมถึงดวงจันทร์ และวัตถุท้องฟ้าอื่น ๆ จะต้องได้รับอนุญาตและกำกับดูแลอย่างต่อเนื่องโดยรัฐภาคีของสนธิสัญญาที่เหมาะสม” ชื่อเต็มของสนธิสัญญาอวกาศ ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อ พ.ศ. 2510 และได้รับการรับรองโดยรัฐสมาชิกสหประชาชาติ 112 รัฐ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงบทบัญญัติอำนาจอธิปไตยนี้ ได้แก่ “สนธิสัญญาว่าด้วยหลักเกณฑ์การดำเนินกิจการของรัฐในการสำรวจและการใช้อวกาศ รวมทั้งดวงจันทร์ และวัตถุท้องฟ้าอื่น ๆ”

แคปซูลดราก้อนของสเปซเอ็กซ์ได้รับการปล่อยออกมาจากสถานีอวกาศนานาชาติ
รอยเตอร์

แต่เมื่ออยู่ในอวกาศ พรมแดนก็ไม่มีอีกต่อไป ไม่มีดินแดนในอาณัติ ดินแดน หรือภูมิศาสตร์ที่เป็นเครื่องบอกเขตพิเศษที่ต้องปกป้องไว้ให้ได้จากการบุกรุกของต่างประเทศ สนธิสัญญาอวกาศสั่งห้ามการครอบครองและมุ่งเน้นการแบ่งปันระหว่างประเทศ ข้อ 1 ประกาศว่าอวกาศเป็น “อาณาเขตของมนุษยชาติทั้งหมด” โดยระบุว่า “จะต้องมีการเข้าถึงทุกพื้นที่ของวัตถุท้องฟ้าได้โดยเสรี” ข้อ 2 ระบุว่า “อวกาศ รวมทั้งดวงจันทร์ และวัตถุท้องฟ้าอื่น ๆ ไม่อยู่ภายใต้การจัดสรรของชาติโดยอ้างอำนาจอธิปไตย โดยวิธีใช้หรือยึดครอง หรือโดยวิธีอื่นใด”

หากพูดโดยไม่ซับซ้อนคือ อวกาศนั้นแตกต่างออกไป

อย่างไรก็ตาม ด้วยประวัติศาสตร์ของประสบการณ์ที่ยากลำบากบนโลกใบนี้ที่มีการแข่งขันเพื่อผลประโยชน์ส่วนตนในระดับภูมิภาคและเชิงอุดมการณ์ ทำให้ทุกประเทศที่มีอำนาจอธิปไตยมีโอกาสที่จะเกิดความขัดแย้งในอวกาศ พวกเขาเตรียมความพร้อมสำหรับขอบเขตการต่อสู้ใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยแรงจูงใจที่คุ้นเคย นั่นคือ เพื่อป้องกันศัตรูผ่านการบัญชาการที่ยกระดับขึ้นด้วยดาวเทียมและการควบคุมกองกำลังบนโลก แต่สำหรับผู้ลงนามในสนธิสัญญาแล้ว ยังมีอีกแรงจูงใจคือสิ่งที่เป็นลำดับความสำคัญนอกโลก กล่าวคือ ต้องทำให้แน่ใจว่าไม่มีใครมีความโลภในเส้นทางและจุดหมายปลายทางที่เป็นอวกาศแห่งนี้

การปกป้องสันติภาพ

ในบทความ พ.ศ. 2565 จากนิตยสารอีเทอร์ของมหาวิทยาลัยแอร์ พล.ท. จอห์น อี. ชอว์ รองผู้บัญชาการกองทัพอวกาศสหรัฐฯ ได้อธิบายหนึ่งในภารกิจของเหล่าทัพใหม่ล่าสุดของประเทศและศูนย์บัญชาการการรบใหม่ล่าสุดอย่างศูนย์บัญชาการอวกาศสหรัฐฯ ไว้ว่า “การปกป้องและป้องกันอวกาศเพื่อให้แน่ใจว่าสามารถเข้าถึงขอบเขตนี้ได้อย่างอิสระและไม่ถูกจำกัด รวมทั้งส่งมอบขีดความสามารถที่เป็นไปได้จากอวกาศอย่างต่อเนื่องไปยังโลกเบื้องล่าง” ในลักษณะเดียวกันกับที่พวกเขาปกป้องเสรีภาพของโลก กองทัพสหรัฐฯ และหุ้นส่วนกำลังพัฒนายุทธศาสตร์และอุปกรณ์เพื่อปกป้องกิจกรรมที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม ปัจจุบัน นั่นหมายถึงการปกป้องดาวเทียมที่โคจรไปตามเส้นทางและระดับความสูงที่แตกต่างกันเพื่อช่วยให้สิ่งมีชีวิตบนโลกสามารถติดตามสภาพอากาศ คอยบอกทิศทางให้ผู้คนและการขนสินค้า และให้การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต รวมทั้งการใช้งานที่สำคัญอื่น ๆ

ในอนาคตที่ซึ่งจินตนาการถึงประตูทางผ่านอวกาศ การทำเหมืองบนดวงจันทร์ และการสร้างอาณานิคมบนดาวอังคาร บทบาททางทหารนั้นก็มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงไป เหตุผลหนึ่งก็คือ การเรียกร้องที่เพิ่มขึ้นเพื่อตระหนักถึงความจำเป็นในการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง เพื่อส่งเสริมการลงทุนของผู้ประกอบการที่จะช่วยให้มนุษยชาติใช้ประโยชน์จากอวกาศให้เกิดประโยชน์สูงสุด ภายใต้เงื่อนไขของสนธิสัญญาอวกาศ มีเพียงประเทศที่มีอำนาจอธิปไตยผู้มีกองทัพอยู่เป็นของตนเท่านั้นที่จะเป็นผู้มีบทบาทในอวกาศ ตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่จะเชิญหน่วยงานเอกชนและหน่วยงานเชิงพาณิชย์มาร่วมโต๊ะด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายฝ่ายในชุมชนอวกาศโต้แย้งกัน

“พวกเขามีความเชี่ยวชาญ ความรู้เชิงปฏิบัติ และประสบการณ์ที่นักกฎหมายและนักการเมืองขาด” ดร. มิเชล แอล.ดี. ฮันลอน ผู้อำนวยการร่วมของโครงการกฎหมายอากาศและอวกาศแห่งมหาวิทยาลัยมิสซิสซิปปี และผู้ก่อตั้งกลุ่มมรดกอวกาศที่ไม่แสวงหาผลกำไรชื่อฟอร์ออลแมนไคน์ กล่าวกับคณะอนุกรรมการของคณะกรรมการสหประชาชาติว่าด้วยการใช้อวกาศอย่างสันติใน พ.ศ. 2562 หน่วยงานเอกชนเป็นผู้บุกเบิกความก้าวหน้าในเทคโนโลยีที่ทำให้อวกาศสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้นและปรับปรุงชีวิตบนโลก เมื่อคำนึงถึงโครงข่ายดาวเทียมสตาร์ลิงก์ ซึ่งเป็นเครือข่ายที่จะประกอบด้วยดาวเทียมขนาดเล็ก 42,000 ดวง และจรวดแบบนำกลับมาใช้ใหม่ได้ซึ่งได้รับการบุกเบิกใช้งานโดยสเปซเอ็กซ์และร็อกเก็ตแล็บยูเอสเอ โดยมีต้นกำเนิดและจุดปล่อยในนิวซีแลนด์ นอกจากนี้ สามบริษัทในสหรัฐฯ มีเพียงบริษัทเดียวที่กำลังพิจารณาถึงการสร้างสถานีอวกาศส่วนตัว

ทำการค้าจากอวกาศ

ผู้นำกองบัญชาการอวกาศสหรัฐฯ กล่าวในการประชุมสัมมนาอวกาศประจำปีที่รัฐโคโลราโดเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2565 ว่าการเร่งทำการค้าจากอวกาศเป็นยุทธศาสตร์สำคัญสำหรับกองบัญชาการอวกาศสหรัฐฯ “นี่เป็นเพราะการเป็นหุ้นส่วนกับหน่วยงานเชิงพาณิชย์ทำให้เราสามารถปรับตัวได้เร็วขึ้น คิดค้นเทคโนโลยีล้ำสมัยที่พร้อมและผสานรวมกันมากขึ้น” พล.อ. เจมส์ ดิคคินสัน แห่งกองทัพบกสหรัฐฯ กล่าว “เรายังสามารถเสริมสร้างสถาปัตยกรรมอวกาศให้มีความยืดหยุ่น ทำความเข้าใจขอบเขตอวกาศได้ดีขึ้น เร่งการตัดสินใจ และคิดค้นแนวทางแก้ไขปัญหาเชิงกลยุทธ์อย่างประหยัด”

เพื่อส่งเสริมการเป็นผู้ประกอบการ รวมทั้งด้วยเหตุผลอื่น ๆ องค์การสหประชาชาติยังต้องเผชิญกับแรงกดดันในการทบทวนสนธิสัญญาอวกาศ ซึ่งถือว่าเป็นมหากฎบัตรของกฎหมายอวกาศ แต่ปัจจุบันมีอายุมากกว่า 50 ปีแล้ว การไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ถือเป็นแรงผลักดันให้กับสหรัฐฯ ในขณะนั้น เนื่องจากสหรัฐฯ เข้าร่วมกับสหภาพโซเวียตในอดีตและสหราชอาณาจักรในการสนับสนุนสนธิสัญญา อีกเหตุผลหนึ่งสำหรับการเปลี่ยนรูปลักษณ์ใหม่ คือเพื่อลบล้างความขัดแย้งที่ชัดเจนระหว่างข้อห้ามในการครอบครองอวกาศและสิทธิในการเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่ระบุไว้ในประกาศขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชน “ถึงอย่างไรก็ต้องมีแนวคิดเรื่องการเป็นเจ้าของ” ดร. ฮันลอนกล่าวกับ ฟอรัม “เราเรียกสิ่งนั้นว่าการเป็นเจ้าของหรือไม่ ฉันไม่คิดว่าเราสามารถเรียกได้เพราะสัมภาระที่บรรทุกมาด้วย”

ในขณะที่ประเทศมหาอำนาจดั้งเดิมอย่างจีน รัสเซีย และสหรัฐฯ เป็นผู้นำในการสำรวจเขตแดนใหม่ ประเทศกำลังพัฒนาต่าง ๆ เตือนถึงการซ้ำรอยประวัติศาสตร์ของการล่าอาณานิคมอย่างกดขี่ ซึ่งนับเป็นประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติในช่วงหลายศตวรรษที่ผ่านมา ดร. ฮันลอนเป็นหนึ่งในผู้ที่มองเห็นอนาคตในอวกาศที่อยู่เหนือความจำเป็นในการมีความเป็นชาติ “ฉันหวังว่าเราจะไม่ต้องใช้คำว่าอำนาจอธิปไตยในอวกาศ” ดร. ฮันลอนกล่าว “เราจำเป็นต้องสลัดแนวคิดการล่าอาณานิคมที่ทุกคนต่างหวาดกลัวกันออกไป เราแตกต่างไปจากเดิมมากเมื่อเทียบกับที่เราเป็นในศตวรรษที่ 15, ศตวรรษที่ 16 และศตวรรษที่ 17 ในเกือบทุกด้าน” เรื่องที่ว่าใครจะเป็นผู้จัดการกิจกรรมของมนุษย์ในอวกาศนั้น ยังคงเป็นหัวข้อที่อยู่ในช่วงแรกเริ่มของการอภิปราย หน่วยงานบางส่วนชี้ให้เห็นว่าเป็นรูปแบบที่เป็นไปได้ของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งดูแลการจัดสรรวงโคจรดาวเทียม และของหน่วยงานกำกับดูแลกิจการทางทะเลระหว่างประเทศ ซึ่งถือกำเนิดขึ้นจากอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเล แต่ส่วนใหญ่ถูกปฏิเสธที่จะใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุงสนธิสัญญาอวกาศ

ดร. ฮันลอนพูดถึงอนาคตของชาวอาณานิคมบนดาวอังคาร โดยเชื่อมั่นว่าพวกเขาจะได้รับแรงบันดาลใจจากหลักการต่าง ๆ เช่น เสรีภาพและประชาธิปไตย “เมื่อถึงจุดหนึ่ง พวกเขาจะเบื่อหน่ายที่จะต้องเชื่อฟังสหรัฐอเมริกา รัสเซีย และจีน และพวกเขาจะสร้างอารยธรรมของตนเองด้วยบรรทัดฐานของตนเอง” ดร. ฮันลอนกล่าว “หน้าที่ของเราในวันนี้คือทำให้แน่ใจว่าผู้คนที่ต้องไปอยู่บนดาวอังคารด้วยขีดความสามารถที่จะใช้ชีวิตอย่างเป็นอิสระนั้น คือผู้คนที่จะเคารพสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพของมนุษย์”

สาธารณรัฐประชาชนจีนร้องเรียนต่อองค์การสหประชาชาติว่า ดาวเทียมสตาร์ลิงก์จากสเปซเอ็กซ์ที่ตั้งอยู่ในสหรัฐฯ บังคับให้มีการปรับเปลี่ยนวงโคจรของสถานีอวกาศเทียนกง 3 ตามที่ปรากฏในภาพประกอบนี้พร้อมกับยานอวกาศเซินโจวที่มีลูกเรือ เอเอฟพี/เก็ตตี้อิมเมจ

การขยายพันธมิตรอวกาศ

ในขณะเดียวกัน ประเทศต่าง ๆ มุ่งดำเนินตามเป้าหมายในอวกาศของตนทั้งในระดับรายประเทศและในระดับกลุ่มประเทศ ในขณะที่กองทัพของประเทศเหล่านั้นเตรียมความพร้อมสำหรับความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้น เช่น อินเดียมีแผนที่จะพยายามนำยานอวกาศลงจอดบนดวงจันทร์อีกครั้งใน พ.ศ. 2566 หลังจากความพยายามก่อนหน้านี้ที่ไปถึงวงโคจรของดวงจันทร์ แต่จบลงด้วยการลงจอดอย่างรุนแรง พันธมิตรอวกาศใหม่ปรากฏขึ้นโดยมีระดับความสามารถที่แตกต่างกัน รวมทั้งองค์การอวกาศแอฟริกาที่มีประเทศสมาชิก 55 ประเทศ องค์การอวกาศลาตินอเมริกาและแคริบเบียนที่มีประเทศสมาชิก 7 ประเทศ และกลุ่มประสานงานอวกาศอาหรับที่มีประเทศสมาชิกตะวันออกกลาง 12 ประเทศ จีนเป็นผู้นำองค์การความร่วมมือด้านอวกาศแห่งเอเชียแปซิฟิก ซึ่งก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2548 ซึ่งประกอบไปด้วยบังกลาเทศ อินโดนีเซีย อิหร่าน มองโกเลีย ปากีสถาน เปรู ไทย และตุรกี การพัฒนาและปล่อยดาวเทียมเป็นเป้าหมายที่กว้าง แต่องค์กรยังทำงานเพื่อขยายและทำให้การใช้งานระบบกำหนดตำแหน่งบนโลกเป็นมาตรฐาน

สถานีอวกาศนานาชาติเป็นหนึ่งในความร่วมมือระหว่างประเทศที่มีความทะเยอทะยานมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา และมีนักบินอวกาศจาก 18 ประเทศเดินทางมาเยือน และสถานีแห่งนี้ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องเมื่อเข้าสู่ปีที่ 25 เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2565 รัสเซียประกาศว่าจะออกจากสถานีอวกาศนานาชาติภายในปลาย พ.ศ. 2567 และเริ่มสร้างฐานโคจรของตนเอง นี่แสดงให้เห็นถึงการถอยห่างจากตะวันตกอีกครั้ง ซึ่งรุดก้าวเร็วขึ้นเนื่องด้วยการต่อต้านจากนานาชาติต่อการรุกรานยูเครนของรัสเซีย อย่างไรก็ตาม องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกาหรือนาซาได้ย้ำว่ายังคงทำงานร่วมกับองค์การอวกาศรัสเซีย รอสคอสมอส ซึ่งเป็นหุ้นส่วนรายใหญ่ที่สุดในสถานีอวกาศนานาชาติ นอกจากนี้ สมาชิก 10 คนขององค์การอวกาศยุโรปได้เข้าร่วมกับนาซาในข้อตกลงอาร์เทมิสเพื่อดำเนินการสำรวจดวงจันทร์อย่างยั่งยืนและเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับภารกิจของมนุษย์ไปยังดาวอังคาร อาร์เทมิสเปิดกว้างสำหรับทุกประเทศ แต่รัสเซียและจีนหลีกเลี่ยงสิ่งนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเขาอ้างว่าเป็นความพยายามในการสร้างกฎระเบียบระหว่างประเทศในอวกาศที่นำโดยสหรัฐฯ ทั้งจีนและรัสเซียกำลังร่วมมือกันในการปฏิบัติภารกิจของตนเองด้วยการส่งนักบินอวกาศไปยังดวงจันทร์ ซึ่งเปิดกว้างสำหรับทุกประเทศด้วยเช่นกัน ไม่มีประเทศในข้อตกลงอาร์เทมิสเข้าร่วม

สหรัฐฯ ได้สร้างความร่วมมือด้านกลาโหมในอวกาศที่สำคัญเช่นกัน โดยมีประเทศที่สำคัญ ๆ เช่น ออสเตรเลีย แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี นิวซีแลนด์ และสหราชอาณาจักร ซึ่งล้วนดำเนินงานหรือร่วมมือกับศูนย์ปฏิบัติการอวกาศผสมผสานที่ฐานทัพอวกาศแวนเดนเบิร์กในแคลิฟอร์เนียตอนใต้ โดยรวมแล้วสหรัฐฯ มีข้อตกลงด้านสถานการณ์อวกาศกับประเทศอื่น ๆ มากกว่า 30 ประเทศ ในทางตรงกันข้าม จีนได้แยกตัวออกจากพันธมิตรทางทหารอย่างเป็นทางการ แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาจีนได้ขยายการซ้อมรบร่วมกับประเทศต่าง ๆ รวมทั้งอิหร่าน ปากีสถาน และรัสเซีย มุมมองที่กว้างขึ้นต่อประเทศต่าง ๆ ที่มีค่านิยมแบบเดียวกับจีนปรากฏออกมาให้เห็นเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2564 ด้วยมติขององค์การสหประชาชาติที่สหราชอาณาจักรเป็นผู้ริเริ่มเพื่อลดโอกาสอันจะเกิดการคำนวณผิดพลาดที่เป็นอันตรายในอวกาศ ฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามในการลงคะแนนเสียงซึ่งได้ผลลัพธ์ 164 ต่อ 12 ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบเผด็จการ เช่น คิวบา อิหร่าน เกาหลีเหนือ จีน รัสเซีย ซีเรีย และเวเนซุเอลา จีนและรัสเซียกำลังพัฒนาขีดความสามารถด้านอวกาศอย่างรวดเร็ว ซึ่ง “คุกคามเสถียรภาพและความมั่นคงของขอบเขต” พล.อ. ดิคคินสัน จากกองบัญชาการอวกาศสหรัฐฯ กล่าวในระหว่างการกล่าวปราศรัยเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2565 แต่ พล.อ. ดิคคินสันเน้นว่าวัตถุประสงค์สูงสุดของคำสั่งคือ “ยับยั้งความขัดแย้งไม่ให้เริ่มต้นขึ้นหรือไม่ให้ขยายไปสู่ขอบเขตอวกาศ” และสุดท้ายแล้ว อวกาศ “ไม่จำเป็นต้องเป็นศัตรูกับใคร”

ความตระหนักรู้เท่าทันขอบเขต

ไม่ว่าอนาคตจะมีอะไรรออยู่ ดร. ฮันลอนมองเห็นบทบาทสำคัญสำหรับกองทัพ “ฉันคิดจริง ๆ ว่าเราจะได้รับสันติภาพจากอวกาศ และฉันคิดว่ากองทัพสหรัฐฯ มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการส่งเสริมสันติภาพดังกล่าว ไม่เพียงแต่เพื่อทำให้ดูเป็นแบบอย่างและทำตัวสงบสุข แต่ต้องทำให้แน่ใจว่าเรานำพาประเทศเกิดใหม่ไปกับเราด้วย และต้องทำให้แน่ใจว่าไม่มีใครต้องรู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง” ก้าวแรกสู่อวกาศนั้นเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ด้านการป้องกันประเทศ การใช้จ่ายทางทหารได้สร้างความก้าวหน้าที่ยิ่งใหญ่ในเทคโนโลยีอวกาศ รวมถึงคำมั่นสัญญาของพลังงานแสงอาทิตย์ในอวกาศ ซึ่งอาจเป็นตัวพลิกโฉมสำหรับมนุษยชาติ ในขณะเดียวกัน ความตระหนักรู้ในอาณาเขตก็เป็นสิ่งสำคัญในอวกาศและส่วนของกองบัญชาการอวกาศสหรัฐฯ จะติดตามและสื่อสารให้สาธารณชนทราบถึงการชนกันที่อาจเกิดขึ้นได้ผ่านเว็บไซต์ Space-Track.org

“เราจำเป็นต้องจัดการการจราจรทางอวกาศ และข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งคือ ฝ่ายกลาโหมทั่วโลกมีขีดความสามารถที่ดีที่สุดและวิสัยทัศน์กว้างไกลที่สุด” ดร. ฮันลอนกล่าว อีกทั้งยังกล่าวว่า อาจจำเป็นต้องมี “ยาม” อวกาศ ซึ่งเป็นแนวคิดที่ได้รับการสำรวจโดยห้องปฏิบัติการวิจัยของกองทัพอากาศสหรัฐฯ

กองทัพจะต้องพัฒนาเพื่อตอบสนองต่อความท้าทายด้านอวกาศที่มีอยู่ ซึ่งแตกต่างจากสิ่งที่เคยเผชิญมาก่อน และมีลักษณะโดดเด่นด้วยแนวชั้นต่าง ๆ ที่ดูเหมือนจะไม่มีที่สิ้นสุดในอวกาศ ดร. ฮันลอนกล่าว เช่น ความแออัดของวงโคจรที่อยู่ติดกับชั้นบรรยากาศของโลกจำเป็นต้องใช้แนวทางที่แตกต่างไปจากการสำรวจในแถบดาวเคราะห์น้อยที่อยู่ไกลออกไป

การเบิกทางเข้าไปสู่อวกาศทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยและการป้องกันประเทศ ประเทศมากกว่า 70 ประเทศมีองค์การอวกาศ โดยมี 14 ประเทศในจำนวนนี้ที่สามารถปล่อยวัตถุขึ้นสู่วงโคจรได้ เพียงแค่สองปีหลังจากที่สนธิสัญญาอวกาศมีผล ศาสตราจารย์สตีเฟน โกโรฟ ผู้บุกเบิกกฎหมายอวกาศ บ่งชี้ว่าการเป็นเจ้าของโดยภาคเอกชนในอวกาศอาจเป็นเรื่องที่ได้รับอนุญาตภายใต้สนธิสัญญานี้ เนื่องจากไม่เป็นสิ่งต้องห้ามโดยชัดแจ้ง เจ็ดประเทศในเส้นศูนย์สูตรใน พ.ศ. 2519 ประกาศอำนาจอธิปไตยเหนือวงโคจรค้างฟ้า ซึ่งเป็นเส้นทางระยะ 35,400 กิโลเมตรเหนือเส้นศูนย์สูตรที่มีการวางตำแหน่งดาวเทียมการสื่อสาร ดาวเทียมข่าวกรอง และดาวเทียมเตือนขีปนาวุธบางดวงอยู่ เพราะดาวเทียมเหล่านั้นสามารถคงอยู่ได้ในตำแหน่งคงที่ของโลก เมื่อเผชิญกับการคัดค้านอย่างกว้างขวาง ผู้สนับสนุนหลายรายได้ถอนตัวออกจากปฏิญญาโบโกตา และยืนยัน “บุริมสิทธิ” ในอวกาศน้อยลง อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นเอกวาดอร์ได้อ้างสิทธิ์ในวงโคจรค้างฟ้าผ่านบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2551 ที่เขียนขึ้นใหม่ของตนเอง

ความเป็นไปได้ในการเป็นเจ้าของ

ท่ามกลางคำถามอื่น ๆ ที่เกิดขึ้น อาทิ สนธิสัญญาอวกาศกำหนดให้ประเทศต่าง ๆ ไม่ยุ่งเกี่ยวกับวัตถุที่ผู้อื่นปล่อย เช่นนั้นแล้ว นี่ถือว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของอำนาจอธิปไตยของตำแหน่งในวงโคจรตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งด้วยหรือไม่ นี่จะถือเป็นการครอบครองหรือไม่หากกองกำลังทหารทำหน้าที่ปกป้องวัตถุในอวกาศจากภัยคุกคาม บทบัญญัติที่สำคัญของสนธิสัญญาหมายถึง “อวกาศ รวมถึงดวงจันทร์และวัตถุท้องฟ้าอื่น ๆ” เมื่อขาดคำจำกัดความเพิ่มเติม นั่นหมายความว่าทุกจุดของฝุ่นคอสมิกจะต้องถือว่าเป็นวัตถุท้องฟ้าหรือไม่

จีนได้เข้ามาแทรกแทรงในช่องโหว่ของสนธิสัญญานี้เมื่อจีนได้ส่งข้อร้องเรียนเกี่ยวกับสตาร์ลิงก์ไปยังองค์การสหประชาชาติ คณะกรรมการว่าด้วยการใช้ประโยชน์จากอวกาศอย่างสันติกำลังต่อสู้กับความซับซ้อนของยุคอวกาศ ปลุกปล้ำกับวิธีการบันทึกการปล่อยดาวเทียมที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นการส่งวัตถุชิ้นเดียวขึ้นไป แต่ปัจจุบันเป็นการส่งทีละหลายสิบชิ้น ในขณะเดียวกันนั้นก็พยายามแก้ไขปัญหาที่ไกลออกไป เช่น การใช้ทรัพยากรในอวกาศ แต่ทุก ๆ ครั้งที่โลกหมุนไปก็ยิ่งชี้ชัดให้เห็นว่าสนธิสัญญาอวกาศอันเป็นรากฐานสำคัญนี้จัดการปัญหาเกี่ยวกับกิจกรรมของมนุษย์ในอวกาศทุกวันนี้ได้น้อยเพียงใด ใครจะมีจุดยืน จะมีการจัดการอย่างไร

สำหรับตอนนี้ ทั่วโลกใช้เครื่องมือที่มีอยู่ สหรัฐฯ ตอบสนองต่อข้อร้องเรียนของจีนด้วยการส่งจดหมายของตนเองถึงองค์การสหประชาชาติ ซึ่งระบุมาตรการเพื่อแก้ไขข้อกังวลที่ขัดแย้งกันในเวลาเดียวกันของชาติอธิปไตยในพื้นที่ส่วนกลางในอวกาศ คำตอบนั้นมีใจความสำคัญดังนี้ อัปเดตรายชื่อผู้ติดต่อของคุณ ใส่ใจกับข้อมูลที่พร้อมใช้งาน และพูดคุยซึ่งกันและกัน ขั้นตอนเหล่านี้มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งเมื่ออวกาศเริ่มคึกคักขึ้นด้วยกิจกรรมของภาคเอกชน คำตอบระบุไว้ว่า นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2557 สหรัฐฯ ได้แจ้งเตือนเหตุฉุกเฉินเกี่ยวกับอันตรายจากการชนที่มีความเสี่ยงสูงระหว่างยานอวกาศจีนแบบมีลูกเรือและหุ่นยนต์และวัตถุอวกาศอื่น ๆ ในกรณีของดาวเทียมสตาร์ลิงก์ กองบัญชาการอวกาศสหรัฐฯ ไม่เห็นความเป็นไปได้ของการชนกันอย่างมีนัยสำคัญ คำตอบแนะนำว่า เพื่อให้จีนสบายใจ จีนเองควรติดต่อมาโดยตรงแทนที่จะประกาศเหตุการณ์ระหว่างประเทศ และใช้ประโยชน์จากเว็บไซต์ Space-Track.org ที่เข้าถึงได้ฟรี

แสดงความคิดเห็นที่นี่

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

บทความที่เกี่ยวข้อง

Back to top button