การใช้จ่ายด้านกลาโหมของไต้หวันมุ่งเน้นไปที่การเตรียมความพร้อมสำหรับ “การปิดล้อมทั่วเกาะ” โดยจีน
รอยเตอร์
การใช้จ่ายด้านกลาโหมของไต้หวันใน พ.ศ. 2566 จะมุ่งเน้นไปที่การเตรียมอาวุธและอุปกรณ์สำหรับ “การปิดล้อมทั่วเกาะ” โดยสาธารณรัฐประชาชนจีน รวมถึงชิ้นส่วนสำหรับเครื่องบินขับไล่ เอฟ-16 และอาวุธยุทโธปกรณ์ ตามรายงานของกองทัพไต้หวัน
จีนมองว่าไต้หวันเป็นดินแดนของตน และได้เปิดฉากเกมสงครามรอบเกาะไต้หวันในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2565 โดยยิงขีปนาวุธเหนือกรุงไทเป ตลอดจนประกาศเขตห้ามบินและห้ามเดินเรือเพื่อจำลองสถานการณ์ว่ากองทัพของตนพยายามปิดล้อมไต้หวันในสงคราม
ในรายงานการขออนุมัติงบประมาณจากรัฐสภา กระทรวงกลาโหมของไต้หวันกล่าวว่าได้เริ่มตรวจสอบปริมาณเชื้อเพลิงสำรองเชิงยุทธศาสตร์และขีดความสามารถในการซ่อมแซมใน พ.ศ. 2565 แต่ไม่ได้ให้รายละเอียด
เพื่อ “รับมือการปิดล้อมช่องแคบไต้หวันทั้งหมด” การใช้จ่ายใน พ.ศ. 2566 จะรวมถึงการเติมคลังปืนใหญ่และจรวด ตลอดจนชิ้นส่วนสำหรับ เอฟ-16 “เพื่อเสริมสร้างความต่อเนื่องในการสู้รบ” ตามที่ระบุโดยกระทรวงกลาโหมไต้หวัน
จากข้อมูลการประเมินภัยคุกคามล่าสุด กระทรวงกลาโหมไต้หวันกล่าวว่ากองทัพจีนได้ดำเนินปฏิบัติการร่วม โดยมีเป้าหมายเพื่อควบคุมจุดบังคับทางยุทธศาสตร์และปฏิเสธการเข้าถึงของกองกำลังต่างชาติ
“เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีการปรับรูปแบบการฝึกซ้อมและการฝึกอบรมของกองทัพคอมมิวนิสต์จากประเภททหารเดี่ยวเป็นการปฏิบัติการร่วมของกองกำลังทางบก ทางทะเล ทางอากาศ และจรวด” รายงานระบุ “กองทัพคอมมิวนิสต์ใช้แนวทางการทำสงครามจริงและเปลี่ยนจากการฝึกซ้อมเป็นการเตรียมการรบ”
สำนักงานกิจการไต้หวันของจีนไม่ได้ตอบคำขอความคิดเห็นในทันที
รัฐบาลจีนไม่เคยปฏิเสธการใช้กำลังเพื่อทำให้ไต้หวันอยู่ภายใต้การควบคุมของตน แม้ว่าเกาะแห่งนี้จะไม่เคยเป็นส่วนหนึ่งของจีนมาก่อนก็ตาม
นายสี จิ้นผิง เลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน กล่าว เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2566 ว่าจีนจะต้องปรับปรุงกองทัพให้ทันสมัยเพื่อเป็น “กำแพงเหล็กที่ยิ่งใหญ่”
กระทรวงกลาโหมไต้หวันกล่าวว่า จีนได้เพิ่มความแข็งแกร่งของ “ความพร้อมในการสู้รบร่วม” รอบเกาะอย่างเป็นระบบ รวมถึงการบุกรุกโดยเครื่องบินทหารของจีนมากกว่า 1,700 ครั้งในเขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศของไต้หวันใน พ.ศ. 2565 ซึ่งมากกว่าปีที่ผ่านมาถึงสองเท่าและ เป็น “ภัยคุกคามที่สำคัญ” (ภาพ: เครื่องบินขับไล่ เอฟ-16 ของไต้หวันดำเนินการฝึกซ้อมเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2565)
กระทรวงกลาโหมไต้หวันตั้งข้อสังเกตว่า จีนได้ “สร้างบรรทัดฐาน” เขตห้ามเดินเรือรอบทะเลโบไฮ ทะเลเหลือง และช่องแคบไต้หวัน และรัฐบาลจีนยังหวังที่จะฝึกฝนความสามารถในการต่อสู้กับ “กลุ่มหมู่เกาะที่สอง” ซึ่งทอดยาวจากญี่ปุ่นไปยังเกาะต่าง ๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิกเพื่อ “ปิดกั้นและควบคุม” ช่องแคบบาชิ ช่องแคบมิยาโกะและสึชิมะ ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อสำคัญสู่มหาสมุทรแปซิฟิกและทะเลจีนตะวันออก
จีนยังคงใช้กลยุทธ์ “พื้นที่สีเทา” เพื่อทดสอบการตอบสนองของไต้หวัน ซึ่งรวมถึงการส่งโดรน บอลลูน และเรือประมงเข้าใกล้เกาะ ตามรายงานของกระทรวงกลาโหมไต้หวัน
โดยกระทรวงกลาโหมไต้หวันจะให้ความสำคัญกับการระดมทุนในงบประมาณ พ.ศ. 2566 สำหรับอาวุธหลักที่ผลิตในสหรัฐฯ รวมถึงขีปนาวุธต่อต้านอากาศยาน สติงเกอร์ และเครื่องยิงสำหรับระบบจรวดปืนใหญ่ความคล่องตัวสูง เอ็ม142 อีกด้วย
ภาพจาก: รอยเตอร์