การฝึกซ้อม ร่วมกันเป็นกลุ่ม
พันธมิตรทางทหารระดับภูมิภาคกระชับความสัมพันธ์และเสริมความพร้อม
เจ้าหน้าที่ ฟอรัม
เมื่อสาธารณรัฐประชาชนจีนและรัสเซียอวดอ้างว่าการฝึกซ้อมทางทหารแบบทวิภาคีของทั้งสองประเทศในช่วงกลาง พ.ศ. 2565 เป็นหลักฐานของมิตรภาพ “ที่ไร้ขีดจำกัด” ทั้งสองอาจเน้นย้ำให้เห็นถึงมิตรสหายอันน้อยนิดที่ต่างฝ่ายมีโดยไม่ได้ตั้งใจ ทำให้การประกาศความร่วมมือที่ยิ่งใหญ่ของรัฐบาลทั้งสองประเทศฟังดูไม่ต่างอะไรกับเสียงสั่นกรอกแกรกของกระบี่ในฝักที่ไม่พอดีกัน ในทางตรงกันข้ามกับการซ้อมรบทางอากาศและทางทะเลของจีนและรัสเซียจอมกระหายสงคราม ซึ่งถูกประนามโดยญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ก็ได้มีการจัดการฝึกซ้อมเพื่อการรักษาสันติภาพแบบพหุชาติขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันใกล้กับจีนและรัสเซีย
ข่านเควสต์ พ.ศ. 2565 ซึ่งจัดโดยกองทัพมองโกเลียร่วมกับกองทัพบกสหรัฐอเมริกา ภาคพื้นแปซิฟิก ได้รวบรวมเจ้าหน้าที่จากประเทศในอินโดแปซิฟิกและยุโรปกว่า 15 ประเทศมาร่วมการฝึกซ้อมที่มีระยะเวลาสองสัปดาห์ ซึ่งเป็นการฝึกซ้อมแบบผสมผสานด้านการตระหนักรู้อุปกรณ์ระเบิด การปฐมพยาบาลจากการต่อสู้ และการควบคุมจลาจล โดยดำเนินการร่วมมือกับองค์กรด้านมนุษยธรรม “ไม่เพียงแต่เป็นโอกาสอันยอดเยี่ยมในการแลกเปลี่ยนบทเรียนและเทคนิคต่าง ๆ เท่านั้น นี่ยังเป็นการแสดงออกถึงความมุ่งมั่นของประเทศที่เข้าร่วมที่มีต่อกฎบัตรขององค์การสหประชาชาติและเป็นสิ่งที่องค์การสหประชาชาติยืนหยัดเคียงข้างและยืนหยัดต่อต้าน” พล.ต. คริส สมิธ จากกองทัพบกออสเตรเลีย ผู้ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นรองผู้บัญชาการฝ่ายยุทธศาสตร์และแผนการของกองทัพบกสหรัฐฯ ภาคพื้นแปซิฟิก กล่าวในการแถลงข่าว “ด้วยเหตุนี้ การฝึกจึงรวบรวมผู้เข้าร่วมที่หลากหลายที่หาได้ยากจากการฝึกซ้อมทางทหารอื่น ๆ ทั่วโลก”
นับตั้งแต่ที่ราบสูงของเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือไปจนถึงหมู่เกาะภูเขาไฟในมหาสมุทรแปซิฟิก การผ่อนปรนการปิดเมืองและกักกันการแพร่ระบาดที่รอคอยมานานได้ก่อให้เกิดการฝึกซ้อมทางทหารแบบพหุภาคีอย่างมากมายทั่วภูมิภาคอินโดแปซิฟิก โดยมีการฝึกหลายอย่างที่ขยายตัวขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเนื่องจากมีประเทศที่มีอุดมการณ์เดียวกันฟื้นฟูความสัมพันธ์และเสริมสร้างความพร้อมในช่วงเวลาที่ มีความผันผวนทางภูมิรัฐศาสตร์ “ความร่วมมือกันเป็นสิ่งที่ไม่อาจ มองข้ามไปได้” พล.ท. ริก เบอร์ จากกองทัพบกออสเตรเลีย กล่าวในระหว่างการกล่าวคำปราศรัยในการประชุมกองกำลังภาคพื้นดินแปซิฟิกที่ฮาวาย ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2565 ที่ซึ่งมีหัวข้อสำคัญของการประชุมคือบทบาทของการฝึกอบรมแบบพหุชาติ รวมทั้งความพร้อมร่วมและแนวร่วมในการเสริมสร้างพันธมิตรและหุ้นส่วน พล.ท. เบอร์กล่าวว่า “การทำงานร่วมกันช่วยให้เราคิดไปไกลกว่าแค่เรื่องของตัวเอง … และช่วยปรับปรุงความยืดหยุ่นของเรา”
การรุกรานยูเครนโดยไม่มีเหตุอันสมควรของรัสเซียเมื่อต้น พ.ศ. 2565 แสดงให้เห็นถึง “คุณค่าของความเป็นหุ้นส่วนและผลประโยชน์ร่วมกันในการปกป้องอธิปไตย” พล.ท. เบอร์กล่าวต่อผู้เข้าร่วมการประชุมเหล่ากองทัพบกที่ใหญ่ที่สุดของอินโดแปซิฟิก “รัฐบาลสู่รัฐบาล กองทัพสู่กองทัพ ประชาชนสู่ประชาชน การเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้พันธมิตรและหุ้นส่วนในภูมิภาคของเราเป็นองค์ประกอบสำคัญของยุทธศาสตร์ด้านกลาโหมเพื่อช่วยก่อร่าง ยับยั้ง และตอบโต้ การฝึกซ้อมร่วมกับกองทัพอื่น ๆ เป็นการมอบบทบาทและสร้างขีดความสามารถและความเชื่อมโยงกันในภูมิภาคของเรา รวมทั้งเป็นการช่วยก่อร่างเสถียรภาพและอธิปไตยของภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง”
การสร้างความไว้วางใจ และความสามารถในการทำงานร่วมกัน
หนึ่งสัปดาห์หลังจากข่านเควสต์ด่านที่ 18 สิ้นสุดลงในพื้นที่ฝึกซ้อมไฟว์ฮิลส์ใกล้กับอูลานบาตอร์ซึ่งเป็นเมืองหลวงของมองโกเลีย ออสเตรเลียเป็นหนึ่งใน 10 ผู้เข้าร่วมที่ได้ส่งเจ้าหน้าที่ทหารและสินทรัพย์ทางทหารเข้ามาสู่น่านน้ำรอบหมู่เกาะฮาวายและแคลิฟอร์เนียใต้เพื่อการฝึกริมออฟเดอะแปซิฟิก (RIMPAC) ภายใต้หัวข้อ “หุ้นส่วนที่พึ่งพาได้และปรับตัวได้” การฝึกที่นำโดยสหรัฐฯ ซึ่งจัดขึ้นทุกสองปี ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมิถุนายนไปจนถึงต้นเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2565 มีเจ้าหน้าที่กว่า 25,000 คนเข้าร่วม โดยมาจากกว่ายี่สิบสี่ประเทศในอินโดแปซิฟิก ยุโรป ตะวันออกกลาง อเมริกาเหนือ และอเมริกาใต้ ตามรายงานของกองทัพเรือสหรัฐฯ การฝึกนี้จัดขึ้นครั้งแรกใน พ.ศ. 2514 โดยการฝึกทางทะเลที่ใหญ่ที่สุดในโลกนี้ประกอบไปด้วยปฏิบัติการสะเทินน้ำสะเทินบก ปฏิบัติการปราบปรามเรือดำน้ำ การป้องกันทางอากาศ การฝึกซ้อมยิงปืนและขีปนาวุธ ปฏิบัติการต่อต้านการกระทำอันเป็นโจรสลัด ปฏิบัติการเก็บกวาดทุ่นระเบิด ปฏิบัติการเก็บกู้วัตถุระเบิด รวมทั้งปฏิบัติการดำน้ำและกู้ภัย
สำหรับกองทัพสิงคโปร์ ซึ่งเข้าร่วมในข่านเควสต์และริมออฟเดอะแปซิฟิก การฝึกดังกล่าวเป็นสิ่งที่ขาดไปไม่ได้ โดยสิงคโปร์ให้เจ้าหน้าที่ของตนเข้าถึงพื้นที่การฝึกดังกล่าว ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าประเทศที่มีขนาด 719 ตารางกิโลเมตรนี้หลายเท่านัก “การฝึกฝ่ายเดียวเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งของแผนงานโดยรวมของเรา” พล.จ. เฟรเดอริก ชู เสนาธิการกองทัพบกสิงคโปร์ กล่าวในระหว่างการนำเสนอหัวข้อ “การฝึกร่วมแบบผสมผสาน – ประสบการณ์และโอกาสในอนาคตของสิงคโปร์” ที่การประชุมกองกำลังภาคพื้นแปซิฟิก “โอกาสในการฝึกร่วมกับกองทัพบกอื่น ๆ นั้นมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน เพราะทำให้กองทัพบกได้เรียนรู้จากกันและกัน ส่งเสริมมิตรภาพ สร้างความไว้วางใจร่วมกัน และยกระดับความสามารถในการทำงานร่วมกัน เป็นเพราะการฝึกดังกล่าวในช่วงปีแรก ๆ ของกองทัพสิงคโปร์ที่ทำให้เราได้เรียนรู้ เปรียบเทียบผลการปฏิบัติการ และสร้างความเชี่ยวชาญได้ตั้งแต่ช่วงต้นและรวดเร็ว”
เมื่อประเทศต่าง ๆ ประเมินท่าทีด้านกลาโหมของตนอีกครั้งท่ามกลางสงครามในยุโรปและความตึงเครียดทั่วโลก ประเทศเหล่านี้ “ควรมุ่งมั่นสร้างความมั่นคงร่วมกัน แม้จะอยู่ในช่วงที่พวกเขากำลังเพิ่มศักยภาพด้านกลาโหมของตนก็ตาม” นายลี เซียนลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ กล่าวระหว่างการเดินทางไปยังกรุงโตเกียวเพื่อร่วมการประชุมนานาชาติในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2565 “ความมั่นคงไม่ใช่เรื่องของประเทศใดประเทศหนึ่งเพียงอย่างเดียว ดังนั้นเราจึงต้องร่วมมือกับประเทศอื่น ๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งความมั่นคงร่วมกัน” นายลีกล่าว ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เดอะสเตรตส์ไทมส์ของสิงคโปร์
ความวิตกกังวลร่วมกันเกี่ยวกับความสมบูรณ์ของอำนาจอธิปไตยของชาติ รวมถึงความพยายามของจีนในการมีอิทธิพลในภูมิภาคหมู่เกาะแปซิฟิก อีกทั้งข้อตกลงด้านความมั่นคงที่จีนลงนามกับหมู่เกาะโซโลมอนในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2565 ซึ่งหลายคนกลัวว่าอาจนำไปสู่การสร้างฐานทัพจีนในหมู่เกาะโซโลมอน ซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากร 700,000 คนโดยไม่มีกองกำลังทหารเป็นของตนเอง แม้ว่าทั้งสองประเทศจะปฏิเสธแผนการสำหรับการปรากฏตัวของกองทัพจีนอย่างถาวรในประเทศ ซึ่งเป็นแนวโน้มที่นายกรัฐมนตรีของหมู่เกาะโซโลมอนได้ปฏิเสธอีกครั้งในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2565 แต่ร่างข้อตกลงที่รั่วไหลออกมาระบุว่าเรือรบจีนสามารถจอดเทียบท่าในหมู่เกาะโซโลมอนเพื่อเติมเชื้อเพลิงสำหรับระบบโลจิสติกส์และพรรคคอมมิวนิสต์จีนสามารถส่งตำรวจและทหารไปที่นั่นได้ “เพื่อช่วยรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม” ตามรายงานของดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส นักวิเคราะห์ยังชี้ให้เห็นถึงประวัติของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในการผิดสัญญาสัญญาที่บอกว่าจะไม่ส่งกำลังทางทหารไปประจำตามอาคารที่สร้างขึ้นในที่อื่น ๆ รวมถึงในกัมพูชา จิบูตี ปากีสถาน และทะเลจีนใต้
‘วิธีการแก้ปัญหาในภูมิภาคร่วมกัน’
ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากข้อตกลงด้านความมั่นคงของจีนและโซโลมอนเป็นประเด็นสำคัญระหว่างการอภิปรายเรื่อง “การฝึกร่วมแบบผสมผสานในอินโดแปซิฟิก” ที่การประชุมกองกำลังภาคพื้นดินแปซิฟิกในเดือนเดียวกัน “ปาปัวนิวกินีและประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกทั้งหมดมีผลประโยชน์ร่วมกันในภูมิภาคที่มั่นคงและเจริญรุ่งเรือง” พล.ต. มาร์ค โกอินนา จากกองทัพปาปัวนิวกินี กล่าวกับผู้เข้าร่วมประชุม “เมื่อสังเกตเห็นว่าปาปัวนิวกินีนั้นมีพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ตั้งอยู่ตรงจุดที่เป็นประตูของแปซิฟิกตะวันตกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปาปัวนิวกินีต้องเผชิญกับความท้าทายเฉพาะตัว เราไม่สามารถรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ได้เพียงลำพัง แต่จำเป็นต้องมีวิธีการแก้ปัญหาในระดับภูมิภาคร่วมกันผ่านความเป็นหุ้นส่วนกัน สำหรับภูมิภาคแปซิฟิกที่มั่นคงและเจริญรุ่งเรือง ความเป็นหุ้นส่วนของเราต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความไว้วางใจ ความเคารพ และความมุ่งมั่นต่อการทำงานร่วมกัน และหากผลประโยชน์ของเราสอดคล้องกัน เราก็สามารถรวมความพยายามเข้าด้วยกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของเราให้สูงสุด”
สำหรับกองกำลังขนาดเล็กที่มีขีดความสามารถจำกัด เช่น ปาปัวนิวกินี การสนับสนุนจากพันธมิตรดั้งเดิม เช่น ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส นิวซีแลนด์ และสหรัฐฯ ผ่านการฝึกซ้อมร่วมมีความสำคัญต่อการเพิ่ม “ประสิทธิภาพของกองกำลังกลาโหมของเราและขีดความสามารถในการทำงานร่วมกันอย่างประสบความสำเร็จ” พล.ต. โกอินนากล่าว พล.ต. โกอินนาเน้นย้ำให้เห็นถึงการมีส่วนร่วมของประเทศของตนกับหุ้นส่วนระดับภูมิภาค รวมทั้ง ออสเตรเลีย ฟิจิ นิวซีแลนด์ และตองงา ในการตอบสนองต่อคำร้องขอความช่วยเหลือของหมู่เกาะโซโลมอนเพื่อช่วยปราบปรามการก่อความไม่สงบและฟื้นฟูความมั่นคงและบริการสาธารณะที่เริ่มต้นใน พ.ศ. 2546 หลังจากผ่านไปหนึ่งทศวรรษ ภารกิจแบบพหุชาติที่รู้จักกันในชื่อปฏิบัติการเฮล์มเปมเฟรนได้เปลี่ยนมาร่วมมือกับกองกำลังตำรวจหมู่เกาะโซโลมอน เพื่อปรับปรุงขีดความสามารถในการบังคับใช้กฎหมายของประเทศให้ทันสมัยขึ้น “ผมมั่นใจว่าทุกคนจะเห็นพ้องกันว่านี่เป็นปฏิบัติการความร่วมมือในแปซิฟิกที่ดีที่สุดและประสบความสำเร็จมากที่สุดที่เราเคยทำมาในภูมิภาคของเรา” พล.ต. โกอินนากล่าว โดยชื่นชมการฝึกซ้อมร่วมที่กองกำลังที่เข้าร่วมดำเนินร่วมกันในดาร์วิน ประเทศออสเตรเลีย
การฝึกซ้อมดังกล่าวต้องได้รับการมองในบริบทของ “การตระหนักถึงการขาดช่วงเวลาเตือนเชิงกลยุทธ์และเชิงปฏิบัติการที่ ณ ตอนนี้มีอยู่ในสภาพแวดล้อมภูมิยุทธศาสตร์” ผู้ร่วมอภิปรายของ พล.ต. โกอินนา จากกองทัพเรือออสเตรเลีย พล.ร.ต. เบรตต์ ซันเตอร์ ผู้ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการปฏิบัติการทางทะเลของกองเรือสหรัฐฯ ภาคพื้นแปซิฟิก กล่าวเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2565 “เช่นนั้นแล้ว จึงฝึกให้เสมือนคุณต่อสู้ เพราะเราไม่มีเวลามากแล้ว เราได้ดำเนินการด้านพฤติกรรมเหล่านั้น แนวทางปฏิบัติเหล่านั้น ก่อนที่จะถึงสถานการณ์อันโชคร้ายที่เราต้องใช้สิ่งเหล่านั้นจริง ๆ และหากเราต้องการให้การป้องปรามระดับและการรับรองได้ประโยชน์สูงสุดจากการฝึกซ้อม การฝึกซ้อมเหล่านั้นจำเป็นต้องมีความยืดหยุ่น การฝึกซ้อมเหล่านั้นจำเป็นต้องสามารถเปลี่ยนแปลงได้เมื่อเรามองเห็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางภูมิยุทธศาสตร์ขณะเดินหน้าต่อไป”
โล่ขนาดใหญ่
การฝึกซ้อมทางทหารกำลังพัฒนาและขยายตัวไปทั่วภูมิภาค ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2565 กองทัพอินโดนีเซียได้ประกาศว่า การูด้าชิลด์ที่เป็นการฝึกซ้อมแบบทวิภาคีกับสหรัฐฯ ซึ่งดำเนินมาอย่างยาวนานเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2565 นั้น จะเพิ่มประเทศผู้เข้าร่วมอีกนับสิบประเทศ รวมทั้งออสเตรเลีย ญี่ปุ่น ปาปัวนิวกินี และสิงคโปร์
ข่าวนี้เกิดขึ้นหลังจากที่รัฐบาลจีนส่งเรือกองกำลังรักษาชายฝั่งเข้ามากีดขวางอินโดนีเซียจากการสำรวจน้ำมันและก๊าซใกล้กับหมู่เกาะนาตูนาในเขตเศรษฐกิจพิเศษของอินโดนีเซีย นั่นทำการให้การขยายตัวของการูด้าชิลด์ “เป็นสิ่งที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง” นายคอลลิน โกะ นักวิจัยที่วิทยาลัยนานาชาติศึกษา เอส ราชารัตนัมในสิงคโปร์ กล่าวกับซีเอ็นเอ็น “เห็นได้ชัดว่าอินโดนีเซียปราถนาที่จะมีส่วนร่วมในการถ่วงดุลภายนอกในทะเลจีนใต้ ในขณะที่จะใช้การฝึกซ้อมนี้เป็นสื่อในการแสดงให้เห็นถึงสถานะและอิทธิพลในแง่ของการทูตกลาโหมแบบพหุภาคี”
ซูเปอร์การูด้าชิลด์ พ.ศ. 2565 กลายเป็นการฝึกซ้อมล่าสุดจากการฝึกซ้อมแบบทวิภาคีและพหุภาคีมากกว่า 60 รายการ โดยประกอบด้วยประเทศต่าง ๆ นับสิบประเทศ ซึ่งมีกองทัพออสเตรเลียเข้าร่วมทุกปี “ตลอดช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ความลึกซึ้ง ขนาด และความซับซ้อนของการมีส่วนร่วมกับหุ้นส่วนของเราได้พัฒนาขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ” พล.ท. เบอร์กล่าวในระหว่างการกล่าวคำปราศรัยที่การประชุมกองกำลังภาคพื้นดินแปซิฟิก การฝึกเหล่านี้รวมไปถึงทาลิสมันเซเบอร์ ซึ่งเป็นกิจกรรมการฝึกซ้อมแบบทวิภาคีที่ใหญ่ที่สุดอันประกอบไปด้วยกองทัพออสเตรเลียและสหรัฐฯ และการฝึกซ้อมรบในสงครามแบบไตรภาคีเซาเทิร์นแจ็คคารูกับญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ในพื้นที่ฝึกซ้อมอ่าวโชลวอเทอร์อันกว้างขวางของออสเตรเลีย
“ตัวอย่างเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าเราทุกคนต่างแสวงหาสิ่งต่าง ๆ มากขึ้น ทั้งความทะเยอทะยานที่มากขึ้น กิจกรรมที่เพิ่มความช่ำชองพร้อมความซับซ้อนที่มากยิ่งขึ้นไปอีก การสร้างประโยชน์ต่อผู้คนของเรามากขึ้น และโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อผู้นำในอนาคตของเรา” พล.ท. เบอร์กล่าว “เราทุกคนเข้าใจถึงคุณค่าของความสัมพันธ์อันใกล้ชิดของประเทศของเรา เพื่อรับรองความมั่นคงและส่งเสริมความเจริญรุ่งเรือง”