ความร่วมมือโอเชียเนีย

กองทัพออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ทำการฝึกทหารยูเครนในสหราชอาณาจักร

ทอม แอบกี

เพื่อการต่อสู้กับการรุกรานจากรัสเซีย กองทัพยูเครนได้รับการฝึกจากกองทัพออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ด้วยกิจกรรมต่าง ๆ ในสนามรบ รวมถึงการจัดการและการยิงอาวุธ การสู้รบในเมืองและในป่า สงครามสนามเพลาะ และเทคนิคการเอาชีวิตรอดทางการแพทย์ การฝึกอบรมนี้จัดขึ้นที่ฐานฝึกของกองทัพบกสหราชอาณาจักรในสหราชอาณาจักร โดยเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการรบอินเตอร์เฟล็กซ์ที่อยู่ภายใต้การนำของสหราชอาณาจักร

ความพยายามระดับพหุชาติในครั้งนี้ได้ฝึกชาวยูเครนกว่า 10,000 คนเพื่อต่อสู้กับกองทัพรัสเซีย โดยมีออสเตรเลีย แคนาดา เดนมาร์ก ฟินแลนด์ เยอรมนี ลัตเวีย ลิทัวเนีย นอร์เวย์ เนเธอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ และสวีเดนเข้าร่วมด้วย สหราชอาณาจักรได้เปิดตัวโครงการริเริ่มนี้เมื่อ พ.ศ. 2558 เพื่อตอบโต้การยึดและผนวกภูมิภาคไครเมียของยูเครนอย่างผิดกฎหมายโดยรัสเซียเมื่อหนึ่งปีก่อนหน้านั้น

เมื่อเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 กระทรวงกลาโหมออสเตรเลียระบุว่า บุคลากรของกองทัพออสเตรเลียประมาณ 70 นายได้ให้ความรู้แก่ทหารของกองทัพยูเครน 200 นายในเรื่องพื้นฐานการสู้รบ โดยใช้สถานการณ์ที่เลียนแบบสถานการณ์ในยูเครน (ภาพ: ทหารจากกองทัพบกออสเตรเลียสาธิตยุทธวิธีการทำสงครามสนามเพลาะให้แก่ทหารยูเครน ในระหว่างการฝึกอบรมปฏิบัติการรบอินเตอร์เฟล็กซ์ในสหราชอาณาจักรเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566)

“พวกเราหลายคนได้เห็นการสู้รบในช่วงสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนแล้ว แต่ในทำนองเดียวกัน เรารู้สึกประทับใจกับระดับความรู้ของครูฝึกชาวออสเตรเลียที่มาที่นี่” ผู้บัญชาการทหารยูเครน ซึ่งไม่ได้ระบุตัวตนเนื่องจากความกังวลด้านความมั่นคง กล่าวในรายงานข่าวของกระทรวงกลาโหมออสเตรเลีย

หน่วยทหารของกองทัพออสเตรเลียมาจากกองพลน้อยที่ 1 ของกองทัพบกออสเตรเลีย ซึ่งเป็นกองกำลังป้องกันตนเองออสเตรเลียที่รวมตัวกันเป็นกองกำลังร่วมครั้งแรกใน พ.ศ. 2446

หลังจากเสร็จสิ้นการฝึกอบรมในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 ซึ่งเป็นวันครบรอบหนึ่งปีของการรุกรานยูเครนโดยไม่มีเหตุยั่วยุของรัสเซีย ทหารยูเครนก็ได้เดินทางกลับประเทศเพื่อเข้าร่วมกองกําลังของตน

นายเบน วอลเลซ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหราชอาณาจักร กล่าวต่อรัฐสภาในเดือนมกราคมว่า ปฏิบัติการอินเตอร์เฟล็กซ์จะฝึกอบรมทหารยูเครนเพิ่มเติมอีก 20,000 นายใน พ.ศ. 2566 พร้อมกับส่งกำลังพลอีกสามครั้งเพื่อติดตามกองทัพออสเตรเลีย

นิวซีแลนด์ได้เข้าร่วมปฏิบัติการอินเตอร์เฟล็กซ์เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2565 และในอีกไม่กี่สัปดาห์ต่อมาได้ส่งทหาร 120 นายไปฝึกทหารยูเครนในสหราชอาณาจักร รัฐบาลนิวซีแลนด์ได้มอบหมายให้กองทัพนิวซีแลนด์เข้าร่วมปฏิบัติการจนถึงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2566 ตามรายงานข่าวของกองทัพนิวซีแลนด์

ครูฝึกจากกองทัพบกนิวซีแลนด์ได้ให้คำแนะนำในการฝึกซ้อมทางยุทธวิธี การฝึกซ้อมยิงปืน และการยิงด้วยกระสุนจริงในสนามรบตลอดโปรแกรมการฝึกห้าสัปดาห์ นอกจากนี้ การฝึกยังครอบคลุมถึงกฎหมายคุ้มครองการปฏิบัติการทางทหาร ปฏิบัติการป้องกันและปราบปราม ตลอดจนการฝึกเป็นนักแม่นปืน

“บุคลากรของเรามีแรงจูงใจในการฝึกอบรมนี้เช่นเดียวกับที่ทหารใหม่จากกองทัพยูเครนมีแรงจูงใจในการเรียนรู้” พล.ร.ต. จิม กิลมัวร์ ผู้บัญชาการกองกำลังร่วมนิวซีแลนด์ กล่าวในการแถลงข่าวเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2565 “ในสถานการณ์ที่อันตรายเช่นนี้ ทหารอาชีพของเราได้เปลี่ยนกลุ่มคนที่มีแรงจูงใจให้กลายเป็นคนที่มีความสามารถ ซึ่งจะนำทุกสิ่งที่พวกเขาได้เรียนรู้ไปใช้ในการป้องกันประเทศของยูเครนในไม่ช้า”

ออสเตรเลียและนิวซีนิวซีแลนด์มีส่วนช่วยในการป้องกันประเทศยูเครนในหลาย ๆ ด้าน โดยรัฐบาลออสเตรเลียได้ให้เงินช่วยเหลือแก่รัฐบาลยูเครนมากกว่า 437 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท) รวมถึงมอบรถหุ้มเกราะบุชมาสเตอร์ 90 คันมูลค่า 317 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาท) ออสเตรเลียให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมซึ่งมีมูลค่ารวม 43 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.5 พันล้านบาท)

ทางด้านกองทัพนิวซีแลนด์ก็ได้ให้ความช่วยเหลือด้านการวิเคราะห์ข้อมูลและการส่งกำลังบำรุงแก่ยูเครน และจัดหาเครื่องบินเพื่อลำเลียงสิ่งของช่วยเหลือทางทหารที่ได้รับบริจาค นอกจากนี้ นิวซีแลนด์ยังได้มอบเงินจำนวน 37 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.3 พันล้านบาท) ให้แก่คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศเพื่อช่วยเหลือชาวยูเครน

ทอม แอบกี เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของ ฟอรัม รายงานจากประเทศสิงคโปร์

 

ภาพจาก: กระทรวงกลาโหมออสเตรเลีย

แสดงความคิดเห็นที่นี่

ความเป็นส่วนตัวของคุณเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเรา หากคุณเลือกที่จะระบุที่อยู่อีเมลของคุณ เจ้าหน้าที่ของ ฟอรัม จะใช้เพื่อติดต่อกับคุณเท่านั้น เราจะไม่เปิดเผยหรือเผยแพร่ที่อยู่อีเมลของคุณ เฉพาะชื่อและเว็บไซต์ของคุณเท่านั้นที่จะปรากฏในความคิดเห็นของคุณ ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

บทความที่เกี่ยวข้อง

Back to top button