ทรัพยากรส่วนรวมของโลกปัญหาหลักระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ

ญี่ปุ่นส่งดาวเทียมข่าวกรองเพื่อเฝ้าระวังภัยพิบัติของเกาหลีเหนือ

ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

ญี่ปุ่นประสบความสำเร็จในการส่งจรวด ซึ่งบรรจุดาวเทียมรวบรวมข่าวกรองของรัฐบาล เมื่อปลายเดือนมกราคม พ.ศ. 2566 เพื่อปฏิบัติภารกิจในการเฝ้าระวังความเคลื่อนไหวที่ฐานทัพในเกาหลีเหนือและปรับปรุงการรับมือภัยพิบัติทางธรรมชาติ

จรวด เอช2เอ (ในภาพ) ซึ่งปล่อยโดยบริษัทมิตซูบิชิ เฮฟวีย์ อินดัสทรีส์ จำกัด เดินทางออกจากศูนย์อวกาศทาเนกาชิมะทางตะวันตกเฉียงใต้ของญี่ปุ่น โดยบรรทุกดาวเทียมลาดตระเวน ไอจีเอส-เรดาร์ 7 ซึ่งเป็นหนึ่งในความพยายามของรัฐบาลญี่ปุ่นในการสร้างขีดความสามารถทางทหาร โดยอ้างถึงภัยคุกคามที่เพิ่มขึ้นในเอเชียตะวันออก

ดาวเทียมดวงนี้เข้าสู่วงโคจรตามแผนได้สำเร็จ ตามรายงานของมิตซูบิชิ เฮฟวีย์

ดาวเทียมดังกล่าวสามารถจับภาพภาคพื้นดินได้ตลอด 24 ชั่วโมงและในสภาพอากาศที่รุนแรง ญี่ปุ่นได้เปิดตัวโครงการดาวเทียมรวบรวมข่าวกรองหลังจากเกาหลีเหนือยิงขีปนาวุธบินข้ามประเทศใน พ.ศ. 2531 และมีเป้าหมายที่จะติดตั้งเครือข่ายดาวเทียม 10 ดวงเพื่อแจ้งเตือนล่วงหน้าสำหรับการยิงขีปนาวุธที่อาจเกิดขึ้น นอกจากนี้ เครือข่ายดาวเทียมยังสามารถใช้สำหรับการเฝ้าระวังและตอบสนองต่อภัยพิบัติอีกด้วย

“รัฐบาลจะใช้ ไอจีเอส-เรดาร์ 7 และดาวเทียมสอดแนมอื่น ๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุดสำหรับความมั่นคงของชาติและการจัดการวิกฤตของญี่ปุ่น” นายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น กล่าวในแถลงการณ์เมื่อวันที่ 26 มกราคมที่ผ่านมา

ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2565 รัฐบาลของนายคิชิดะได้ปรับใช้ยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติใหม่ รวมถึงการครอบครองขีปนาวุธร่อนพิสัยไกลเป็นขีดความสามารถในการโจมตีตอบโต้ ซึ่งแตกต่างจากหลักการป้องกันตนเองเท่านั้นที่มีมาอย่างยาวนานของประเทศ โดยอ้างถึงความก้าวหน้าทางอาวุธอย่างรวดเร็วในสาธารณรัฐประชาชนจีนและเกาหลีเหนือ

บรรดาผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า การตอบโต้เพื่อขัดขวางการโจมตีของศัตรูนั้นจำเป็นต้องอาศัยความก้าวหน้าอย่างมากในการรวบรวมข่าวกรองและขีดความสามารถด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ ตลอดจนความช่วยเหลือที่สำคัญจากพันธมิตรของญี่ปุ่นอย่างสหรัฐอเมริกา

จรวดเชื้อเพลิงเหลว เอช2เอ ประสบความสำเร็จติดต่อกันถึง 40 ครั้งนับตั้งแต่ พ.ศ. 2546 เป็นต้นมา มิตซูบิชิ เฮฟวีย์ และองค์การสำรวจอวกาศประเทศญี่ปุ่นกำลังร่วมกันพัฒนาจรวดรุ่นเรือธง เอช3 เพื่อต่อยอดจาก เอช2เอ ซึ่งจะปลดระวางใน พ.ศ. 2567 จรวด เอช3 มีกำหนดการเปิดตัวเป็นครั้งแรกในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

 

ภาพจาก: โยมิอุริชิมบุนผ่านทางรอยเตอร์คอนเน็ก

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button