ความร่วมมือปัญหาหลักระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ

การฝึกซ้อมทวิภาคีไอร์ออน ฟิสต์ย้ายไปยังหมู่เกาะญี่ปุ่น

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

การฝึกซ้อมไอร์ออน ฟิสต์ ซึ่งเป็นภารกิจฝึกอบรมประจำปีของทหารญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกาเป็นเวลาหลายสัปดาห์ กำลังจะมีขึ้นในและรอบ ๆ ประเทศญี่ปุ่นในช่วงต้น พ.ศ. 2566 การย้ายสถานที่ฝึกซ้อมจากค่ายเพนเดิลตัน รัฐแคลิฟอร์เนีย เกิดขึ้นเมื่อญี่ปุ่นเผชิญกับพฤติกรรมคุกคามจากสาธารณรัฐประชาชนจีน รัสเซีย และเกาหลีเหนือ อีกทั้งเป็นการปฏิบัติตามคำมั่นของผู้นำญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ในการกระชับความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศพร้อมกับยืนยันว่าพันธมิตรเป็นรากฐานสำคัญของสันติภาพ ความมั่นคง และความเจริญรุ่งเรืองในอินโดแปซิฟิก

ปฏิบัติการสะเทินน้ำสะเทินบกเป็นลักษณะเฉพาะที่สำคัญของการฝึกซ้อมทวิภาคี ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ไปจนถึง 12 มีนาคม การฝึกอบรมบริเวณชายฝั่งเป็นการเตรียมพร้อมกองกำลังในการปกป้องเกาะจากศัตรู ตลอดจนการบรรเทาภัยพิบัติและให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในพื้นที่ชายฝั่ง

ญี่ปุ่นได้เปิดตัวกองพลน้อยสะเทินน้ำสะเทินบกเคลื่อนที่เร็วใน พ.ศ. 2561 โดยเป็นการเปลี่ยนจุดมุ่งเน้นของไอร์ออน ฟิสต์และการฝึกอบรมที่คล้ายกัน ทหารเรือและนาวิกโยธินของญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ได้ฝึกอบรมร่วมกันเพื่อฝึกฝนความสามารถและพัฒนากำลังพลที่สามารถทำงานร่วมกันได้ (ภาพ: เหล่าทหารของกองกำลังป้องกันตนเองภาคพื้นดินญี่ปุ่นฝึกอบรมในยานพาหนะสะเทินน้ำสะเทินบกระหว่างการฝึกซ้อมไอร์ออน ฟิสต์ ที่ค่ายเพนเดิลตันในฐานทัพนาวิกโยธินสหรัฐฯ ในรัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2565)

กองกำลังป้องกันตนเองทางทะเลญี่ปุ่นกำลังเข้าร่วมกับกองกำลังป้องกันตนเองภาคพื้นดินญี่ปุ่น นาวิกโยธินสหรัฐฯ และกองทัพเรือสหรัฐฯ สำหรับการฝึกไอร์ออน ฟิสต์ครั้งที่ 17 “ตลอดช่วงการฝึกนี้ กองกำลังป้องกันตนเองภาคพื้นดินญี่ปุ่นจะปรับปรุงขีดความสามารถร่วมและทวิภาคีของเราในการปฏิบัติการสะเทินน้ำสะเทินบกและสนับสนุนการรักษาและเสริมสร้างอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง” กองกำลังป้องกันตนเองภาคพื้นดินญี่ปุ่นทวีตข้อความเมื่อวันที่ 27 มกราคม

การฝึกซ้อมดังกล่าวยังรวมถึงการฝึกซ้อมทักษะการยิงปืน การลาดตระเวน การจู่โจมการส่งกำลังบำรุง และการสนับสนุนทางการแพทย์ ตลอดจนปฏิบัติการยิง เช่น ปืนครก ปืนใหญ่และการสนับสนุนทางอากาศระยะประชิด

สถานที่ฝึกซ้อมต่าง ๆ ได้แก่ เกาะคิไคในจังหวัดคาโกชิมะของญี่ปุ่นและค่ายแฮนเซ่นของนาวิกโยธินสหรัฐฯ บนเกาะหลักของจังหวัดโอกินาวะ ซึ่งทั้งสองเกาะนี้เป็นส่วนหนึ่งของหมู่เกาะริวกิวที่ทอดยาวจากทางตะวันตกเฉียงใต้ของคิวชูไปยังไต้หวัน ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เดอะเจแปนนิวส์ เมื่อปลายเดือนมกราคม พ.ศ. 2566 รัฐบาลจีนและรัฐบาลญี่ปุ่นถกเถียงกันว่าประเทศใดมีอำนาจควบคุมดินแดนในพื้นที่ดังกล่าว และพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ดำเนินการอย่างก้าวร้าวมากขึ้นในบริเวณใกล้เคียงด้วยเรือและเครื่องบินทหาร

นอกจากนี้ พรรคคอมมิวนิสต์จีนยังได้เพิ่มบทบาททางทหารรอบ ๆ ไต้หวัน ซึ่งจีนอ้างว่าเป็นดินแดนของตนและข่มขู่หนักขึ้นว่าจะใช้กำลังเข้ายึดครองไต้หวัน แม้ไต้หวันจะไม่เคยเป็นส่วนหนึ่งของจีนมาก่อนก็ตาม ในขณะเดียวกัน การรุกรานยูเครนของรัสเซียทำให้ญี่ปุ่น พันธมิตร และหุ้นส่วนต่างหวาดกลัวการโจมตีในลักษณะเดียวกันในอินโดแปซิฟิก ตลอดจนจำนวนการทดสอบขีปนาวุธของเกาหลีเหนือใน พ.ศ. 2565 ซึ่งรวมถึงขีปนาวุธทิ้งตัวที่ยิงเหนือญี่ปุ่นในเดือนตุลาคม ก็ไม่มีท่าทีว่าจะลดลงเช่นกัน

ผู้เข้าร่วมการฝึกไอร์ออน ฟิสต์จะเคลื่อนพลไปยังเกาะญี่ปุ่นที่ไม่มีกองกำลังประจำการอยู่และจำลองการยึดคืนเกาะห่างไกลที่ถูกยึดครอง การฝึกซ้อมรบจะรวมปฏิบัติการยกพลขึ้นบกแบบสะเทินน้ำสะเทินบกเข้ากับการฝึกอบรมด้วยร่มชูชีพ

“ผมได้เห็นความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างนาวิกโยธินสหรัฐฯ กองกำลังป้องกันตนเองภาคพื้นดินญี่ปุ่น และกองกำลังป้องกันตนเองทางทะเลญี่ปุ่น ตั้งแต่ตอนที่ผมเป็นผู้บัญชาการหน่วยนาวิกโยธินปฏิบัติการนอกประเทศที่ 31” พ.อ. แมทธิว ซี. แดนเนอร์กล่าว “เมื่อสร้างรากฐานที่มั่นคงแล้ว การฝึกไอร์ออน ฟิสต์ 23 จะแสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งและความสามารถที่ไม่มีใครเทียบได้ของกองกำลังร่วมของเรา เนื่องจากเราทำงานร่วมกันเพื่อรับรองความมั่นคงและเสถียรภาพในภูมิภาค”

การประกาศร่วมกันเกี่ยวกับความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นระหว่างทั้งสองประเทศมีขึ้นในช่วงกลางเดือนมกราคม พ.ศ. 2566 ซึ่งเป็นเวลาหนึ่งเดือนหลังจากที่ญี่ปุ่นได้เผยถึงยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งรวมถึงการเสริมกำลังทางทหารครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง โดยแผนงานนี้จะเพิ่มการใช้จ่ายด้านกลาโหมเป็นสองเท่าภายใน พ.ศ. 2570 และเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงท่าทีสันตินิยมของประเทศเมื่อเผชิญกับภัยคุกคามที่เพิ่มขึ้น

การได้มาซึ่งความสามารถในการตอบโต้เป็น “กุญแจสำคัญต่อการยับยั้งการรุกรานญี่ปุ่น” ยุทธศาสตร์ดังกล่าวระบุ โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของพันธมิตรที่สามารถตอบโต้การรุกรานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ภาพจาก: ส.ต. ซิดนีย์ สมิธ/นาวิกโยธินสหรัฐฯ

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button