ความร่วมมือปัญหาหลักระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การฝึกคอบร้าโกลด์เหนือชั้นกว่าครั้งที่ผ่าน ๆ มา

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

การฝึกคอบร้าโกลด์ พ.ศ. 2566 ที่แข็งแกร่งจะเริ่มขึ้นในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ในประเทศไทย โดยคาดว่าจะมีบุคลากรทางทหารเกือบ 7,400 นายจาก 30 ประเทศเข้าร่วมหรือสังเกตการณ์เป็นเวลา 2 สัปดาห์ เพื่อฟื้นฟูการฝึกให้กลับไปมีขนาดเทียบเท่ากับก่อนเกิดโรคระบาด ที่ผ่านมา การฝึกนี้ได้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นร่วมกันที่มีต่ออินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง

“เรากลับไปดำเนินการฝึก ‘คอบร้าโกลด์แบบเดิม’ อย่างแน่นอนในแง่ของขนาด” พ.อ. เคิร์ต เลฟฟ์เลอร์ ผู้ช่วยทูตฝ่ายกลาโหมสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย และหัวหน้าคณะที่ปรึกษาทางทหารร่วมสหรัฐฯ กล่าวระหว่างงานแถลงข่าว ณ กองบัญชาการกองทัพไทย ตามรายงานของเบนาร์นิวส์ “ในแง่ของขอบเขต … ปริมาณ และความซับซ้อนของกิจกรรมการฝึก คอบร้าโกลด์ครั้งนี้จะเหนือชั้นกว่าที่เคยเป็นมา”

การฝึกคอบร้าโกลด์ครั้งที่ 42 ในปัจจุบัน ซึ่งไทยและสหรัฐฯ เป็นเจ้าภาพเป็นประจำทุกปี ถือเป็นหนึ่งในการฝึกทางทหารพหุภาคีที่ใหญ่ที่สุดและดำเนินการมาอย่างยาวนานที่สุดในโลก

การฝึกซ้อมใน พ.ศ. 2566 จะประกอบด้วยการฝึกปฏิบัติการในอวกาศเป็นครั้งแรก พร้อมด้วยการฝึกภาคสนามและการฝึกออกคำสั่งบังคับบัญชา สงครามไซเบอร์ และการฝึกช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการรับมือภัยพิบัติ ตลอดจนโครงการช่วยเหลือพลเมืองในชุมชนไทย ตามรายงานของนิตยสารออนไลน์ เดอะดิโพลแมต

บุคลากรทางทหารจากอินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไทย และสหรัฐฯ จะเข้าร่วมการฝึกซ้อม ซึ่งจะจัดขึ้นจนถึงวันที่ 10 มีนาคมในจังหวัดลพบุรี จันทบุรี สระแก้ว และระยองของประเทศไทย ออสเตรเลียและอินเดียเป็นหนึ่งในประเทศที่เข้าร่วมในฐานะผู้สังเกตการณ์

คอบร้าโกลด์เป็นส่วนสำคัญของความพยายามในการมีส่วนร่วมระดับภูมิภาคเพื่อรักษาความพร้อมและยกระดับความสามารถ ขีดความสามารถ และการทำงานร่วมกันของประเทศพันธมิตร

“การตอบสนองที่มีประสิทธิภาพของเราต่อภัยพิบัติในภูมิภาคในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา ตั้งแต่น้ำท่วมและพายุ ไปจนถึงแผ่นดินไหวและการกู้ภัยในถ้ำ เป็นผลมาจากการฝึกคอบร้าโกลด์นับล้านชั่วโมงของบุคลากร” ตามรายงานจากเบอร์นามา ซึ่งเป็นสำนักข่าวของรัฐบาลมาเลเซีย

กองกำลังสหรัฐฯ ซึ่งมีบุคลากรมากกว่า 6,000 นายที่เข้าร่วมในการฝึกครั้งนี้ถือเป็น “การเข้าร่วมการฝึกคอบร้าโกลด์ครั้งใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ในรอบทศวรรษ” พ.อ. เลฟฟ์เลอร์ กล่าว บุคลากรทางทหารของไทยประมาณ 1,000 นายจะเข้าร่วมในการฝึกครั้งนี้ ตามรายงานจากเบอร์นามา (ภาพ: ทหารไทยเข้าร่วมการฝึกระดับพหุภาคี คอบร้าโกลด์ ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563)

“เพื่อให้มั่นใจว่าความเป็นหุ้นส่วนของเราจะยังคงแข็งแกร่งต่อไปในอีกหลายทศวรรษข้างหน้า เราได้นำความร่วมมือในด้านไซเบอร์และอวกาศมาปรับใช้ในการฝึกซ้อม ตลอดจนดำเนินการทดลองกับแนวคิดปฏิบัติการใหม่เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับภัยคุกคามใหม่ ๆ ในอนาคต” พ.อ. เลฟฟ์เลอร์ กล่าว ตามรายงานของเบอร์นามา

เป็นอีกครั้งหนึ่งที่เมียนมาร์ ซึ่งมีพรมแดนติดกับประเทศไทยและเป็นสมาชิกของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะไม่เข้าร่วมการฝึกคอบร้าโกลด์ เมียนมาร์ตกอยู่ในภาวะวิกฤตนับตั้งแต่กองทัพเข้ายึดอำนาจในการทำรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 พล.อ. ธิติชัย เทียนทอง เสนาธิการทหารของไทย กล่าวว่า “เราไม่ได้เชิญเมียนมาร์เข้าร่วมการฝึกในครั้งนี้ เนื่องจากเรารับผู้เข้าร่วมได้ในจำนวนจำกัด” ตามรายงานของเบนาร์นิวส์

คอบร้าโกลด์ พ.ศ. 2565 ซึ่งถูกลดขนาดลงเนื่องจากโรคระบาด ประกอบด้วยทหารไทย 1,953 นาย และบุคลากรสหรัฐ 1,296 นาย พร้อมด้วยทหาร 50 นายจากสิงคโปร์, 41 นายจากเกาหลีใต้, 36 นายจากมาเลเซีย, 35 นายจากญี่ปุ่น และ 16 นายจากอินโดนีเซีย ตลอดจนผู้สังเกตการณ์ 18 นาย จากออสเตรเลีย และอีก 5 คนจากอินเดีย ตามรายงานของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์

ไทยและสหรัฐฯ ซึ่งมีความสัมพันธ์ทางการทูตร่วมกันมานานถึง 190 ปี ดำเนินการซ้อมรบและฝึกซ้อมทางทหารทุกปีรวมกว่า 400 ครั้งก่อนเกิดโควิด-19 ตามรายงานของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ

ในช่วงที่เกิดโรคระบาด สหรัฐฯ ได้อำนวยความสะดวกด้านการศึกษาและการฝึกทางทหารร่วมกับไทย เพื่อยกระดับความสามารถในการทำงานร่วมกัน เช่น ใน พ.ศ. 2565 สหรัฐฯ มอบเงินจำนวน 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 863 ล้านบาท) แก่ไทยสำหรับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ ความตระหนักรู้ในขอบเขตทางทะเล และการฝึกอบรมด้านเทคนิคและวิชาชีพ

 

ภาพจาก: ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button