ปัญหาหลักระดับภูมิภาคอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้างเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ

“กองทัพเรือที่สอง” ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นภัยคุกคามที่เพิ่มขึ้นในทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

กองกำลังรักษาชายฝั่งจีนที่กำลังขยายอำนาจและมีความก้าวร้าวปรากฏตัวและสร้างความกังวลมากขึ้นในน่านน้ำที่เป็นกรณีพิพาทในอินโดแปซิฟิก กองเรือของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งมีเรือของกองกำลังรักษาชายฝั่งประมาณ 150 ลำซุ่มอยู่นอกชายฝั่งของประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่อินโดนีเซียและเวียดนามไปจนถึงญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์ บางครั้งก็ปะทะกับเรือที่หาปลา น้ำมัน ก๊าซ และแร่ธาตุ

ผู้สังเกตการณ์กล่าวว่า เรือของกองกำลังรักษาชายฝั่งจีนพยายามอ้างอำนาจในเขตเศรษฐกิจพิเศษของประเทศอื่น ซึ่งขยายออกจากชายฝั่งไปถึง 200 ไมล์ทะเลหรือประมาณ 370 กิโลเมตร รัฐบาลจีนโต้แย้งว่า น่านน้ำและสิ่งปลูกสร้างส่วนใหญ่ในทะเลจีนใต้อยู่ในดินแดนของจีน แม้ว่าใน พ.ศ. 2558 ศาลระหว่างประเทศจะประกาศว่าสิ่งเหล่านั้นไม่มีสถานะทางกฎหมายก็ตาม

กฎหมายกองกำลังรักษาชายฝั่งของรัฐบาลจีน ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 อนุญาตให้กองเรือของตนใช้กฎหมายทางทะเลในการใช้กำลังร้ายแรงกับเรือต่างชาติที่ปฏิบัติการในน่านน้ำที่จีนอ้างสิทธิ์ โดยกฎหมายดังกล่าวละเมิดอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล และขัดต่อหลักการอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง ตามรายงานของนิตยสารข่าวเดอะ ดิโพลแมตเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2564 นอกจากนี้ยังมีรายงานเพิ่มเติมอีกว่า “แม้ว่ากองกำลังดังกล่าวจะอ้างตัวว่าเป็นหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย แต่กองกำลังรักษาชายฝั่งจีนกลับมีความสามารถในการรบเหนือกว่ากองทัพเรือส่วนใหญ่ในเอเชีย”

กองกำลังรักษาชายฝั่งจีนมีลักษณะคล้ายกับเป็นกองทัพเรือที่สอง โดยเรือบางลำนั้นได้ติดตั้งปืนใหญ่แบบเดียวกันกับเรือรบ ตามรายงานของเกียวโดนิวส์เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 หากย้อนกลับไปเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2558 สถาบันกองทัพเรือสหรัฐอเมริกาได้ตั้งข้อสังเกตว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีน “ใช้ประโยชน์จากการบังคับใช้กฎหมายทางทะเลอย่างต่อเนื่อง และใช้กองกำลังรักษาชายฝั่งเป็นเครื่องมือในการปกครอง” ตั้งแต่นั้นมา กองกำลังรักษาชายฝั่งจีนก็เติบโตขึ้นอย่างมาก โดยมีการเพิ่มจำนวนเรือและบุคลากรในกองทัพจนก่อให้เกิดการเผชิญหน้ากันหลายครั้ง

  • หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของจีนและฟิลิปปินส์ปะทะกันนอกเกาะถิตู เมื่อลูกเรือของกองกำลังรักษาชายฝั่งจีนได้ตัดสายลากของเรือฟิลิปปินส์เพื่อกู้เศษซากจรวดของจีนเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2565 ซึ่งเป็นเวลาประมาณหนึ่งปีหลังจากที่เรือของกองกำลังรักษาชายฝั่งจีนยิงปืนใหญ่เพื่อขัดขวางการส่งอาหารให้นาวิกโยธินฟิลิปปินส์บนสันดอนโทมัสที่สอง หรือที่เรียกว่าสันดอนอยุงอิน ตามรายงานของดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส กองกำลังรักษาชายฝั่งฟิลิปปินส์ได้เพิ่มการลาดตระเวนเพื่อต่อต้านภัยคุกคามของกองกำลังรักษาชายฝั่งจีนต่อชาวประมงและประชาชนอื่น ๆ ในพื้นที่ ตามรายงานของรอยเตอร์เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566
  • ในช่วงปลายเดือนมกราคม พ.ศ. 2566 เรือของกองกำลังรักษาชายฝั่งจีน 4 ลำได้เข้าใกล้เรือส่วนบุคคลลำหนึ่งในน่านน้ำอาณาเขตของญี่ปุ่นรอบ ๆ หมู่เกาะเซ็งกะกุในทะเลจีนตะวันออก ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เดอะเจแปนไทมส์ เรือของกองกำลังรักษาชายฝั่งญี่ปุ่นได้เรียกร้องให้เรือของกองกำลังรักษาชายฝั่งจีนออกจากพื้นที่ไป ทั้งสองประเทศต่างก็อ้างสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียวในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการเผชิญหน้ากันอยู่บ่อยครั้ง
  • เรือของกองกำลังรักษาชายฝั่งที่ใหญ่ที่สุดของรัฐบาลจีนลอยลำอยู่เป็นเวลาหลายสัปดาห์ใกล้กับแหล่งก๊าซและน้ำมันในทะเลนาตูนา ซึ่งเป็นบริเวณที่อินโดนีเซียและเวียดนามมีสิทธิ์ในอาณาเขต ตามรายงานของเรดิโอฟรีเอเชียเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2566 ซึ่งเรือรบอินโดนีเซียลำหนึ่งได้เฝ้าติดตามเรือของกองกำลังรักษาชายฝั่งจีน

กองกำลังรักษาชายฝั่งจีนได้เพิ่มการแสดงตนในพื้นที่ 5 แห่งในทะเลจีนใต้ใน พ.ศ. 2565 โดยมีการลาดตระเวนเกือบทุกวันในบางพื้นที่ ตามรายงานของโครงการเพื่อความโปร่งใสทางทะเลในเอเชียภายใต้สถาบันวิจัยนโยบายการต่างประเทศและยุทธศาสตร์

เช่น การวิเคราะห์ของโครงการเพื่อความโปร่งใสทางทะเลในเอเชีย เผยให้เห็นว่า เรือของกองกำลังรักษาชายฝั่งจีนได้ออกลาดตระเวนที่บริเวณสันดอนสกาโบโรห์เป็นเวลา 344 วันใน พ.ศ. 2565 ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 287 ลำใน พ.ศ. 2563 โดยรัฐบาลจีนได้ยึดคืนสันดอนดังกล่าวจากฟิลิปปินส์ใน พ.ศ. 2555 (ภาพ: เรือของกองกำลังรักษาชายฝั่งจีนลาดตระเวนในบริเวณสันดอนสกาโบโรห์ในทะเลจีนใต้เมื่อปลายเดือนธันวาคม พ.ศ. 2565) ส่วนบริเวณสันดอนแวนการ์ด ซึ่งเป็นที่ตั้งของแหล่งพัฒนาน้ำมันและก๊าซของเวียดนาม เรือของกองกำลังรักษาชายฝั่งจีนได้ลาดตระเวนเป็นเวลา 310 วันใน พ.ศ. 2565 เทียบกับ 142 วันใน พ.ศ. 2563

รายงานฉบับเดือนมกราคม พ.ศ. 2566 ของโครงการเพื่อความโปร่งใสทางทะเลในเอเชียสรุปว่า กิจกรรมดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลจีนที่จะควบคุมเขตทางทะเลอันกว้างใหญ่ที่รัฐบาลอ้างว่าเป็นดินแดนของตน

ในขณะเดียวกัน ความพยายามที่ฟื้นฟูกลับมาเมื่อเร็ว ๆ นี้ของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในการพัฒนาหลักปฏิบัติในทะเลจีนใต้มีความหวังเพียงเล็กน้อยที่จะประสบความสำเร็จ เนื่องจากสถานการณ์ในภูมิภาคไม่เอื้ออำนวยต่อการทำข้อตกลง นักวิเคราะห์กล่าวกับเบนาร์นิวส์เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

นายคอลลิน โกะ นักวิจัยจากวิทยาลัยนานาชาติศึกษา เอส. ราชารัตนัมในสิงคโปร์กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า “เหตุการณ์ล่าสุดที่จีนบังคับคู่เข็ญคู่แข่งทางทะเลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ไม่ได้มีส่วนช่วยในการสร้างความไว้วางใจ”

ภาพจาก: เอเอฟพี/เก็ตตี้อิมเมจ

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button