การแพร่ขยายอาวุธติดอันดับปัญหาหลักระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ

การยิงยั่วยุด้วยขีปนาวุธของเกาหลีเหนือทำให้เกิดการตอบโต้อย่างเป็นเอกภาพ

ฟีลิกซ์ คิม

การยิงยั่วยุและทำลายเสถียรภาพด้วยขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ ซึ่งทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ใน พ.ศ. 2565 เป็นภัยคุกคามอย่างเห็นได้ชัดต่อเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ตลอดจนกองทัพสหรัฐอเมริกาที่ประจำการอยู่ในทั้งสองประเทศ และอาจเป็นภัยคุกคามต่อแผ่นดินใหญ่ของสหรัฐฯ รัฐบาลเกาหลีใต้มุ่งมั่นที่จะร่วมมือกับรัฐบาลญี่ปุ่นและรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อรับมือกับภัยคุกคามดังกล่าว

หลังจากมีการยิงทดสอบขีปนาวุธทิ้งตัวและขีปนาวุธร่อนมากกว่า 90 ครั้งตลอดปี รัฐบาลเกาหลีเหนือยังได้ยกระดับความตึงเครียดมากขึ้นในช่วงปลายเดือนธันวาคม เมื่อนางคิม โยจอง เจ้าหน้าที่ระดับสูงของเกาหลีเหนือและน้องสาวของนายคิม จองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือ ให้ความเห็นว่ารัฐบาลสามารถดำเนินการยิงขีปนาวุธข้ามทวีปแบบมาตรฐานได้ การยิงดังกล่าวจะก่อความไม่สงบอย่างยิ่ง เนื่องจากอาจเป็นการยิงขีปนาวุธไปยังมหาสมุทรแปซิฟิกและคุกคามแผ่นดินใหญ่ของสหรัฐฯ ได้

“หากเกาหลีเหนือยิงขีปนาวุธข้ามทวีปในมุมปกติเช่นนี้ นั่นหมายความว่าเกาหลีเหนือกำลังคุกคามสหรัฐฯ” นายปาร์ก ยองฮัน ผู้ช่วยนักวิจัยของศูนย์ความมั่นคงและยุทธศาสตร์ของสถาบันเกาหลีเพื่อการวิเคราะห์ด้านกลาโหม กล่าวกับ ฟอรัม “จุดประสงค์ของเกาหลีเหนือในการคุกคามสหรัฐอเมริกาในช่วงนี้คือเพื่อป้องกันและขัดขวางไม่ให้สหรัฐฯ เข้าแทรกแซงในคาบสมุทรเกาหลี”

สถาบันเกาหลีเพื่อการวิเคราะห์ด้านกลาโหมเป็นบริษัทในเครือที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลของกระทรวงกลาโหมของเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบายด้านกลาโหมของประเทศ

เกาหลีใต้และสหรัฐฯ กำลังเสริมสร้างขีดความสามารถในการป้องปรามเกาหลีเหนือโดยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่พันธมิตรของตน นายปาร์กกล่าว “แม้ว่าเกาหลีเหนือจะสามารถโจมตีสหรัฐฯ ด้วยอาวุธนิวเคลียร์ได้ แต่เรายังเชื่อมั่นว่าสหรัฐฯ จะสนับสนุนการป้องกันคาบสมุทรเกาหลี”

หนึ่งในมาตรการความพร้อมที่รัฐบาลเกาหลีใต้ใช้รับมือการโจมตีที่อาจเกิดขึ้นคือการเสริมสร้างระบบป้องกันภัยทางอากาศเพื่อสกัดกั้นขีปนาวุธที่ยิงเข้ามา นายปาร์กกล่าว

ระบบป้องกันภัยทางอากาศเป็นส่วนหนึ่งของระบบป้องกันสามแกนของเกาหลีใต้ พร้อมด้วยกลยุทธ์คิล เชน ที่จะโจมตีเชิงรุกไปยังสถานที่ยิงขีปนาวุธของเกาหลีเหนือหากการโจมตีใกล้เข้ามา และเป็นส่วนหนึ่งของแผนการลงโทษและการตอบโต้ครั้งใหญ่ของเกาหลีใต้เพื่อสกัดกั้นความสามารถในการนำประเทศของเกาหลีเหนือหากการสู้รบเริ่มขึ้น กล่าวโดยสรุปคือ รัฐบาลของนายคิมจะถึงกาลอวสานหากเริ่มการโจมตี ตามคำกล่าวของนายปาร์ก

นอกจากนี้ การมีบทบาทของกองทัพสหรัฐฯ ยังรวมถึงระบบป้องกันขีปนาวุธในบริเวณพิกัดตำแหน่งสูงที่ติดตั้งในซองจู เพื่อสกัดขีปนาวุธของเกาหลีเหนือไม่ให้มาถึงเกาหลีใต้ การประสานงานระหว่างกองทัพสาธารณรัฐเกาหลีและสหรัฐฯ “เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการจัดการกับภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นจากการยิงขีปนาวุธข้ามทวีปของเกาหลีเหนือ” นายปาร์กกล่าว

ญี่ปุ่นเองก็เป็นพันธมิตรที่สำคัญในการขัดขวางและตอบโต้ภัยคุกคามนิวเคลียร์และขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ นายคิม ซังจิน ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายระหว่างประเทศของกระทรวงกลาโหมเกาหลีใต้ เขียนในบทความล่าสุดให้กับสถาบันเกาหลีเพื่อการวิเคราะห์ด้านกลาโหม

“ญี่ปุ่นถือเป็นพันธมิตรที่ดีในการยับยั้งและตอบโต้ภัยคุกคามจากนิวเคลียร์/ขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความได้เปรียบด้านที่ตั้งทางภูมิศาสตร์อันเป็นเอกลักษณ์ของญี่ปุ่น ซึ่งสามารถให้ข่าวกรองที่เป็นประโยชน์แก่เราเกี่ยวกับอาวุธนิวเคลียร์/ขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ” นายคิมระบุ “นอกจากนี้ การฝึกซ้อมไตรภาคีระหว่างเกาหลีใต้ สหรัฐฯ และญี่ปุ่นยังช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถทางทหารของเกาหลีใต้อีกด้วย”

นายคิมแสดงความเห็นว่า การเข้าร่วมการสวนสนามทางเรือนานาชาติของกองทัพเรือเกาหลีใต้ ซึ่งญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2565 และการฝึกปราบปรามเรือดำน้ำร่วมกับญี่ปุ่นและสหรัฐฯ เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2565 ได้ช่วยเสริมสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงทางทะเล (ภาพ: ทหารของสาธารณรัฐเกาหลีใช้ระบบขีปนาวุธจากพื้นสู่อากาศพิสัยใกล้ระหว่างการฝึกทางทหารที่เมืองยางจู ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อปลายเดือนธันวาคม พ.ศ. 2565)

กระทรวงกลาโหมเกาหลีใต้ “จะยังคงมุ่งมั่นรักษาจุดยืนด้านกลาโหมที่แน่วแน่ร่วมกันระหว่างเกาหลีใต้และสหรัฐฯ เพื่อต่อต้านภัยคุกคามที่ซับซ้อนจากนิวเคลียร์/ขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ” นายคิมสรุป “และพร้อมกันนั้น เราจะพยายามอย่างเต็มที่เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคงและการสนับสนุนระหว่างประเทศระหว่างเกาหลีใต้ สหรัฐฯ และญี่ปุ่น รวมถึงระหว่างเกาหลีใต้และญี่ปุ่น เพื่อใช้ประโยชน์จากการเข้าร่วมของกองทัพเรือครั้งนี้อย่างเต็มที่”

 

ฟีลิกซ์ คิม เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของ ฟอรัม รายงานจากกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้

 

ภาพจาก: กระทรวงกลาโหมเกาหลีใต้/ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button