ติดอันดับทรัพยากรส่วนรวมของโลกปัญหาหลักระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ

อุตสาหกรรมกลาโหมของญี่ปุ่นพร้อมเติบโตด้วยการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นและการปฏิรูป

มาร์ค พรอสเซอร์

นักวิเคราะห์กล่าวว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ญี่ปุ่นได้ประกาศเพิ่มการใช้จ่ายด้านกลาโหมเป็นร้อยละ 2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศภายในปี พ.ศ. 2570 ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงของประเทศ พร้อมกันนั้นยังช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมกลาโหมของประเทศ

ในช่วง 5 ปีข้างหน้า ญี่ปุ่นวางแผนที่จะใช้จ่ายเงินในด้านกลาโหมเพิ่มอีก 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 10 ล้านล้านบาท) โดยรัฐบาลของนายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรี (ภาพ) ได้จัดสรรเงินทุนไว้สำหรับด้านต่าง ๆ เช่น การป้องกันทางไซเบอร์ โครงการด้านอวกาศ คลังอาวุธ และระบบขีปนาวุธ ญี่ปุ่นได้ร่วมมือกับบริษัทมิตซูบิชิ เฮฟวีย์ อินดัสทรีส์ ให้เป็นผู้นำในการพัฒนาโครงการขีปนาวุธหลายโครงการ

การเพิ่มการใช้จ่ายครั้งนี้จะเป็นการอัดฉีดเชื้อเชิญบริษัทมิตซูบิชิ เฮฟวีย์ อินดัสทรีส์ และผู้ผลิตด้านกลาโหมของญี่ปุ่นรายอื่น ๆ โดยมีสาเหตุมาจากความกังวลที่เพิ่มขึ้นในรัฐบาลญี่ปุ่นและภาคส่วนอื่น ๆ เกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์และขีปนาวุธของเกาหลีเหนือและกิจกรรมที่บ่อนทำลายเสถียรภาพของสาธารณรัฐประชาชนจีนในช่องแคบไต้หวัน

การสั่งห้ามเคลื่อนย้ายอาวุธไปยังตลาดต่างประเทศของรัฐบาลญี่ปุ่น ซึ่งผ่อนปรนลงใน พ.ศ. 2557 ภายใต้เงื่อนไขบางประการ ได้จำกัดปริมาณการผลิตและโอกาสในการส่งออกสำหรับบริษัทเหล่านั้น ซึ่งลดอัตรากำไรที่บริษัทจะได้รับจากสัญญาด้านกลาโหม ด้วยเหตุนี้ บริษัทต่าง ๆ ได้แก่ มิตซูอิ, ซูมิโตโม เฮฟวีย์ อินดัสทรีส์ และโคมัตสึจึงได้ระงับการผลิตปืนกล ยานเกราะลำเลียงพล เรือ และยุทโธปกรณ์อื่น ๆ

ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2565 เคดันเร็น ซึ่งเป็นองค์กรล็อบบี้ธุรกิจที่มีชื่อเสียงที่สุดของญี่ปุ่น ได้เตือนถึงวิกฤตการณ์อุตสาหกรรมกลาโหมในประเทศ นายนาโอฮิโกะ อาเบะ หัวหน้าฝ่ายระบบกลาโหมและอวกาศแบบบูรณาการของบริษัทมิตซูบิชิ เฮฟวีย์ อินดัสทรีส์ กล่าวกับหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทมส์ว่า “เราต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อรักษาอุตสาหกรรมกลาโหมไว้ เนื่องจากบริษัทต่าง ๆ พากันถอนตัวจากอุตสาหกรรมในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา”

นายบอนจิ โอฮาระ นักวิจัยอาวุโสของมูลนิธิเพื่อสันติภาพซาซาคาว่า ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยในประเทศญี่ปุ่น กล่าวกับ ฟอรัม ว่าอุตสาหกรรมกลาโหมจำเป็นต้องได้รับการปฏิรูปขั้นพื้นฐาน

“ปัจจุบัน บริษัทด้านกลาโหมของญี่ปุ่นมีลูกค้าเพียงรายเดียวคือรัฐบาลญี่ปุ่น” นายโอฮาระ ซึ่งก่อนหน้านี้เคยดำรงตำแหน่งผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารเรือของญี่ปุ่นในจีนและผู้บัญชาการฝูงบินที่ 21 ของกองกำลังป้องกันตนเองทางทะเลญี่ปุ่น กล่าว “หากไม่มีการแก้ไขปัญหานี้ การเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาก็จะยังคงเกิดขึ้นได้ยาก”

นายทิโมธี แลงลีย์ ซึ่งเป็นชาวต่างชาติคนแรกที่ทำงานในสภานิติบัญญัติของญี่ปุ่นภายใต้นายทาโร นากายามะ ผู้ซึ่งต่อมาได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ กล่าวว่าญี่ปุ่นกำลังรับมือกับความท้าทายที่อุตสาหกรรมกลาโหมกำลังเผชิญอยู่ กลยุทธ์หนึ่งคือความร่วมมือระหว่างประเทศ เช่น บริษัทมิตซูบิชิ เฮฟวีย์ อินดัสทรีส์ กำลังพัฒนาเครื่องบินขับไล่รุ่นใหม่ร่วมกับบริษัทบีเออีซิสเต็มส์ของสหราชอาณาจักรและบริษัทลีโอนาร์โด บริษัทข้ามชาติของอิตาลี

“โครงการพัฒนาระหว่างประเทศที่ดำเนินการร่วมกับพันธมิตรต่าง ๆ สามารถลดต้นทุนและเวลาที่ใช้ในการพัฒนาได้” นายแลงลีย์ ประธานกรรมการบริหารของแลงลีย์เอสไควร์ บริษัทรัฐกิจสัมพันธ์ในกรุงโตเกียว กล่าวกับ ฟอรัม “นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้บริษัทญี่ปุ่นต่าง ๆ ได้ขายยุทโธปกรณ์ให้กับตลาดต่างประเทศด้วย”

อีกด้านหนึ่งที่ให้ความสำคัญคือการผสานช่องว่างระหว่างภาคกลาโหมของเอกชนและภาครัฐของญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับบริษัทเกิดใหม่ เช่น ญี่ปุ่นได้เปิดตัวกองทุนมูลค่า 940 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3.1 หมื่นล้านบาท) ที่เสนอเงินกู้และการลงทุนสำหรับบริษัทเกิดใหม่ด้านอวกาศใน พ.ศ. 2561 ในขณะนั้น มีธุรกิจดังกล่าวไม่ถึง 20 แห่งทั่วประเทศ อย่างไรก็ตาม จำนวนธุรกิจดังกล่าวกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ งบประมาณปี พ.ศ. 2566 ของญี่ปุ่นยังรวมถึงเงิน 160 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 5.3 พันล้านบาท) สำหรับ “การวิจัยแบบเครือข่าย” เพื่อศึกษาวิธีการนำงานวิจัยภาคเอกชนไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางทหาร ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ประมาณ 7 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 232 ล้านบาท)

นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังหาทางเลียนแบบสำนักงานโครงการวิจัยขั้นสูงของกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกาด้วยการเปิดตัวสถาบันวิจัยด้านกลาโหมเพื่อสนับสนุนโครงการพลเรือนในด้านปัญญาประดิษฐ์ คอมพิวเตอร์ควอนตัม และเทคโนโลยีโดรน

นอกจากนี้ กระทรวงกลาโหมญี่ปุ่นยังต้องการศึกษาหน่วยนวัตกรรมด้านกลาโหมของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ซึ่งร่วมมือกับบริษัทเทคโนโลยีในซิลิคอนวัลเลย์ของรัฐแคลิฟอร์เนีย

 

ภาพจาก: ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button