ความร่วมมือติดอันดับปัญหาหลักระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ความหวังสู่สันติภาพและประชาธิปไตยเป็นแรงบันดาลใจให้ขบวนการต่อต้านของชาวเมียนมา

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

กลุ่มต่อต้านของชาวเมียนมาที่มีความเห็นแตกต่างกันเผยให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ของประเทศประชาธิปไตยและได้เริ่มดำเนินการไปสู่การมีประชาธิปไตย ผู้สังเกตการณ์หลายคนเห็นพ้องกันว่า หากฝ่ายตรงข้ามของกองกำลังติดอาวุธที่มีความโหดร้ายซึ่งเข้ายึดครองเมียนมาเมื่อสองปีที่ผ่านมารวมกลุ่มกัน และมีการดำเนินการสนับสนุนการประณามจากนานาชาติ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยซึ่งถูกยึดอำนาจอยู่สามารถมีชัยได้

นับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติในรูปแบบใต้ดินและกลุ่มชาติพันธุ์หลายสิบกลุ่มที่ปกครองดินแดนทั่วประเทศเป็นเวลาหลายสิบปีกำลังก้าวหน้าสู่ความสำเร็จ โดยได้เปลี่ยนยุทธวิธีจากอารยะขัดขืนไปเป็นการต่อต้านด้วยอาวุธ การวิพากษ์วิจารณ์จากนานาชาติเกี่ยวกับระบอบการปกครองที่ไม่ชอบธรรมก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยบางคนกล่าวว่าคำพูดที่รุนแรงนั้นยังไม่เพียงพอ (ภาพ: สมาชิกกองกำลังพิทักษ์ประชาชน ซึ่งเป็นกองกำลังติดอาวุธของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติของพลเรือนที่ต่อต้านรัฐบาลทหารของเมียนมา ฝึกอบรมที่ค่ายในรัฐกะหยิ่นใกล้กับชายแดนเมียนมา-ไทย เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2564)

รัฐบาลทหาร หรือที่เรียกว่าตะมะดอว์ ได้สังหารนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยและพลเรือนอื่น ๆ รวมทั้งเด็ก ๆ ไปแล้วกว่า 2,800 คน และได้จับกุมประชาชนเกือบ 17,500 คน ณ ปลายเดือนมกราคม พ.ศ. 2566 ตามรายงานของสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง ซึ่งเป็นองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนที่ไม่แสวงหาผลกำไรที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยและนครย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา มีผู้พลัดถิ่นมากกว่า 1.4 ล้านคน โดยหลายคนอาศัยอยู่ในค่ายกักกันในป่า ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทมส์เมื่อต้นเดือนธันวาคม พ.ศ. 2565 ท่ามกลางการสังหาร การทรมาน การข่มขืน การทิ้งระเบิดใส่หมู่บ้าน และความโหดร้ายอื่น ๆ การประหารชีวิตนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม 4 คนของรัฐบาลทหารในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2565 รวมถึงนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยที่มีชื่อเสียง 2 คนทำให้เกิดการลุกขึ้นต่อต้านของฝ่ายตรงข้ามภายในและเกิดการวิจารณ์ไปทั่วโลก

“ประชาคมโลกโดยรวมประสบกับความล้มเหลว และองค์การสหประชาชาติเองก็เป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลกนั้นด้วย” นายอันโตนิอู กุแตเรช เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวในที่ประชุมสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2565 “สถานการณ์ด้านการเมือง ความมั่นคง สิทธิมนุษยชน และมนุษยธรรมในเมียนมากำลังถลำลึกเข้าสู่หายนะ”

เมื่อกลางเดือนธันวาคม พ.ศ. 2565 คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้ลงมติเรียกร้องให้ดำเนินการดังนี้ ยุติความรุนแรงโดยทันที ปล่อยตัวนักโทษการเมือง รวมถึงนางอองซาน ซูจี ผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ให้การเข้าถึงด้านมนุษยธรรมโดยไม่มีข้อจำกัด ตลอดจนส่งเสริมสิทธิสตรีและเด็ก รัสเซียและสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นสองประเทศที่จัดหาอาวุธให้แก่รัฐบาลทหารเมียนมา ของดออกเสียงลงคะแนน

นายโธมัส แอนดรูส์ ผู้เสนอรายงานการประชุมพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติในเมียนมา กล่าวในแถลงการณ์ว่า “นี่เป็นเวลาที่สมควรแก่การสร้างแนวร่วมการทำงานของประเทศต่าง ๆ ที่เต็มใจจะยืนหยัดร่วมกับประชาชนชาวเมียนมา โดยการจัดหาสิ่งที่ประชาชนต้องการมากที่สุด นั่นคือการดำเนินการ”

นายคริส ไซโดติ สมาชิกผู้ก่อตั้งสภาที่ปรึกษาพิเศษแห่งเมียนมา ซึ่งเป็นกลุ่มผู้เชี่ยวชาญอิสระระหว่างประเทศ กล่าวในข่าวประชาสัมพันธ์ว่าประชาคมโลกรวมถึงศาลอาญาระหว่างประเทศต้องดำเนินการเพื่อทวงความยุติธรรม ศาลอาญาระหว่างประเทศตั้งอยู่ในกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ทำหน้าที่สืบสวนและดำเนินคดีเกี่ยวกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรรมสงคราม และอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

นายมิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหาร ได้ชะลอการใช้ฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียนออกไปเรื่อย ๆ แม้จะมีการรับรองฉันทามติดังกล่าวในเดือนเมษายน พ.ศ. 2564 โดยข้อตกลงดังกล่าวมุ่งไปที่การยุติความรุนแรงโดยทันที การเจรจาเพื่อสันติภาพ รวมถึงบทบัญญัติอื่น ๆ

ความหวังที่เหลืออยู่ของฝ่ายต่อต้านส่วนหนึ่งอยู่ที่แรงกดดันจากนานาชาติที่จะปราบปรามองค์กรปกครองที่จัดตั้งขึ้นโดยกองทัพ นั่นคือสภาบริหารแห่งรัฐ กลุ่มต่อต้านไม่เชื่อคำมั่นสัญญาของนายมิน อ่อง หล่าย อีกต่อไปว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งขึ้นในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2566 หลังจากให้สัญญาหลังการรัฐประหารว่าจะหยุดการนองเลือด

มีข้อบ่งชี้หลายประการว่าการควบคุมของรัฐบาลทหารอ่อนกำลังลง นอกจากปัญหาด้านขวัญกำลังใจแล้ว สภาบริหารแห่งรัฐยังประสบปัญหาในการจัดหากระสุนปืน อาวุธ อาหาร และทหารเกณฑ์ ตามรายงานของสถาบันวิจัยนโยบายการต่างประเทศและยุทธศาสตร์เมื่อต้นเดือนธันวาคม พ.ศ. 2565 ในขณะเดียวกัน กองกำลังฝ่ายต่อต้านก็กำลังรุกคืบเข้ามาในดินแดนที่สภาบริหารแห่งรัฐยึดครองอยู่ สถาบันวิจัยดังกล่าวระบุ

“กองทัพกำลังล่มสลาย” ดร. มีมี วินน์ เบิร์ด ผู้เชี่ยวชาญชาวเมียนมาประจำศูนย์เอเชียแปซิฟิก แดเนียล เค. อิโนะอุเอะ เพื่อการศึกษาด้านความมั่นคงในรัฐฮาวาย กล่าวกับ ฟอรัม “กองทัพดังกล่าวไม่ใช่ทหารมืออาชีพอีกต่อไป เป็นแค่พวกที่ไม่มีหลักจรรยาบรรณ”

การแปรพักตร์ทางทหาร แรงกดดันจากนานาชาติ และการสนับสนุนจากภายในที่มากขึ้นเป็นปัจจัยสำคัญในการสนับสนุนการต่อต้านโดยไม่เกิดความรุนแรง ดร. เบิร์ดกล่าว โดยได้เดินทางไปเยี่ยมผู้แปรพักตร์และผู้ลี้ภัยใกล้กับชายแดนไทย-เมียนมาเมื่อเร็ว ๆ นี้

กลุ่มปกป้องสิทธิได้เรียกร้องให้มีการห้ามค้าอาวุธทั่วโลก รวมไปถึงปิดกั้นการนำเข้าเชื้อเพลิงอากาศยานและธุรกรรมเงินได้จากต่างประเทศของรัฐบาลทหาร ตามรายงานของเดอะนิวยอร์กไทมส์เมื่อต้นเดือนธันวาคม พ.ศ. 2565 และในช่วงปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติยินดีให้สหรัฐฯ ผ่านกฎหมายเพื่อให้มีการเจรกับรัฐบาลพลัดถิ่นของเมียนมาโดยตรง และอนุญาตให้นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เสนอการสนับสนุนอย่างไม่ลดละให้แก่กองกำลังที่ต่อต้านรัฐบาลทหาร

“เราต้องสร้างแรงกดดันต่อไป นี่เป็นหนทางเดียวที่จะออกจากความขัดแย้งนี้ได้” นายโจเซป บอร์เรลล์ หัวหน้าฝ่ายนโยบายต่างประเทศของสหภาพยุโรป กล่าวต่อนิตยสารเดอะดิโพลแมตเมื่อกลางเดือนธันวาคม พ.ศ. 2565

ภาพจาก: เอเอฟพี/เก็ตตี้อิมเมจ

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button