ความร่วมมือติดอันดับปัญหาหลัก

การแสดงแสนยานุภาพของเทคโนโลยีทางทหารใน พ.ศ. 2565 แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการสร้างสรรค์นวัตกรรมในปีหน้า

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

ตั้งแต่การเปิดตัวเครื่องบินทิ้งระเบิดล่องหน บี-21 ไรเดอร์ ของสหรัฐอเมริกาไปจนถึงการฝึกอบรมข้ามขอบเขตในระดับนานาชาติใน พ.ศ. 2565 ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกได้แสดงความมุ่งมั่นต่อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทางการทหารและแผนการที่ชัดเจนที่จะขยายนวัตกรรมในปีหน้า

หนึ่งในการประกาศครั้งใหญ่ที่สุดมาจากสหรัฐฯ ซึ่งได้เปิดตัวเครื่องบิน บี-21 ไรเดอร์ (ภาพ) ในเดือนธันวาคม ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีการเปิดตัวเครื่องบินทิ้งระเบิดลำใหม่ของสหรัฐฯ ในรอบกว่า 30 ปี และแสดงให้เห็นถึงการตอบสนองของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ต่อความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับความขัดแย้งในอนาคตกับสาธารณรัฐประชาชนจีน

นายลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ กล่าวว่า “เครื่องบินลำนี้ไม่เหมือนเครื่องบินลำอื่น ๆ” “บี-21 เป็นศูนย์รวมแห่งความมุ่งมั่นของอเมริกาที่จะปกป้องสาธารณรัฐอันเป็นที่รักของเราทุกคน”

ก่อนหน้านี้ใน พ.ศ. 2565 ผู้นำทางทหารจากออสเตรเลีย ฝรั่งเศส อินเดีย ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ ได้ประชุมกันที่กรุงนิวเดลี เพื่อเน้นย้ำบทบาทของเทคโนโลยีในการยับยั้งการก่อการร้ายแบบบูรณาการ และแบ่งปันวิธีการใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมเพื่อยกระดับความมั่นคง

“ค่านิยมและผลประโยชน์ร่วมกันของเราทำให้เรามารวมตัวกัน” พล.ร.อ. จอห์น อาควิลิโน ผู้บัญชาการกองบัญชาการสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นอินโดแปซิฟิก กล่าวในระหว่างการประชุม “เทคโนโลยีทุกรูปแบบได้รับการนำไปใช้ในขอบเขตทางทหาร ทุกประเทศกำลังใช้ประโยชน์จากทุกแง่มุมเพื่อพยายามสร้างความได้เปรียบ”

ซึ่งรวมถึงจีนซึ่งกำลังอยู่ในแผนการที่จะครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ 1,500 ลูกภายใน พ.ศ. 2578 จากการที่มีขีดความสามารถด้านความเร็วเหนือเสียง ด้านการทำสงครามไซเบอร์ และด้านอวกาศเพิ่มมากขึ้น ตามรายงานของดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส ความก้าวหน้าดังกล่าวของจีนแสดงให้เห็น “ความท้าทายที่สำคัญและเป็นระบบมากที่สุดต่อความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ และระบบระหว่างประเทศที่เสรีและเปิดกว้าง” ตามรายงานประจำปีของกระทรวงกลาโหมจีน

ประเทศนอกภูมิภาคอินโดแปซิฟิกก็กำลังเผชิญกับความท้าทายเหล่านั้นเช่นกัน เช่น ในเดือนมิถุนายน รัฐบาลเอกวาดอร์ได้หันไปใช้เทคโนโลยีของแคนาดาเพื่อเฝ้าติดตามการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุมของกองเรือจีนรอบหมู่เกาะกาลาปากอส บริษัทเทคโนโลยีอวกาศอย่าง เอ็มดีเอ ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองแบรมพ์ตัน รัฐออนแทรีโอ ได้ให้บริการการติดตามทางดาวเทียม การตรวจจับระยะไกล และความสามารถในการสังเคราะห์ข้อมูลจำนวนมากแก่กองทัพเรือเอกวาดอร์ โดยได้ตรวจพบเรือของจีน 180 ลำ ใกล้กับเขตเศรษฐกิจพิเศษของหมู่เกาะดังกล่าว ตามรายงานของไดอาโลโก อเมริกา ซึ่งเป็นสิ่งพิมพ์ของกองบัญชาการสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นตอนใต้

นายมิลโก ชวาตซ์แมน ผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์ทางทะเลของอาร์เจนตินาและสมาชิกขององค์การนอกภาครัฐ ซีร์คูโล เด โพลิติกาส แอมเบียนทาเลส ซึ่งพยายามเสริมสร้างนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมการปกป้องระบบนิเวศ กล่าวว่า “ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ดีอย่างยิ่งที่เอกวาดอร์ได้จัดทำข้อตกลงประเภทนี้กับบริษัทหรือประเทศต่าง ๆ ที่ร่วมมือกันในด้านระบบเทคโนโลยีเพื่อตรวจจับกองเรือเหล่านี้” ตามรายงานของไดอาโลโก อเมริกา

ในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือยังมีความตึงเครียดสูง เนื่องจากเกาหลีเหนือยังคงมีการทดสอบการโจมตีด้วยขีปนาวุธอย่างต่อเนื่องตลอดทั้ง พ.ศ. 2565 การคุกคามดังกล่าวได้กระตุ้นให้ทางการของเกาหลีใต้และสหรัฐฯ หารือเกี่ยวกับการขยายขนาดการฝึก ไซเลนต์ชาร์ก ใน พ.ศ. 2566 การฝึก ไซเลนต์ชาร์ก จะผสานรวมยุทโธปกรณ์สงครามต่อต้านเรือดำน้ำของสหรัฐฯ และสาธารณรัฐเกาหลีเพื่อเพิ่มการทำงานร่วมกัน การฝึกซ้อมที่เริ่มขึ้นใน พ.ศ. 2550 นี้ มีแนวโน้มที่จะใหญ่กว่าในอดีต ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เดอะโคเรียไทมส์

ในเอเชียใต้ อินเดียได้เฉลิมฉลองการเปิดตัวเรือรบต่อต้านเรือดำน้ำลำแรกจากทั้งหมดแปดลำในเดือนธันวาคม เรือดังกล่าวได้รับการต่อขึ้นสำหรับกองทัพเรืออินเดียโดยช่างต่อเรือและวิศวกรของการ์เดนรีช โดยได้รับการตั้งชื่อว่า อาร์นาลา เพื่อสื่อถึงความสำคัญทางยุทธศาสตร์ทางทะเล ตามชื่อเกาะอาร์นาลาของกษัตริย์นักรบฉัตรปาตีศิวาจีมหาราชแห่งจักรวรรดิมารธา ตามรายงานของดิอินเดียนเอกซ์เพรส

เรือชั้นอาร์นาลาได้รับการออกแบบมาสำหรับปฏิบัติการต่อต้านเรือดำน้ำในน่านน้ำชายฝั่งและปฏิบัติการทางทะเลที่มีความรุนแรงต่ำ ซึ่งรวมถึงการเฝ้าระวังใต้ผิวน้ำในน่านน้ำชายฝั่ง ตามรายงานของเว็บไซต์เคอร์เรนต์อัฟแฟร์สของอินเดีย

และในปีนี้เรายังได้เห็นความเคลื่อนไหวของพันธมิตรด้านความมั่นคงระหว่างออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ ซึ่งรู้จักกันในนาม อูกัส ข้อตกลงนี้ช่วยให้ออสเตรเลียได้มาซึ่งเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์โดยการจัดหาเทคโนโลยีและความสามารถในการใช้งานเรือ

เมื่อเดือนธันวาคม คณะผู้แทนจากทั้งสามประเทศได้เดินทางไปเยือนอู่ต่อเรือเอกชนในสหรัฐฯ ซึ่งต่อเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์และพบกับผู้เชี่ยวชาญเพื่อหารือเกี่ยวกับทักษะและความรู้ทางเทคนิคที่จำเป็นสำหรับการผลิตเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ ตามรายงานของกองบัญชาการสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นอินโดแปซิฟิก

การเยือนครั้งดังกล่าวได้ส่งเสริมเจตนารมณ์ของออสเตรเลียที่จะพัฒนาอู่ต่อเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์และผลิตแรงงานออสเตรเลียที่มีทักษะ การฝึกอบรม และคุณสมบัติที่จำเป็นสำหรับการต่อเรือ การดำเนินการ และการรักษาเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ที่ติดอาวุธตามแบบ ตามรายงานของกองบัญชาการสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นอินโดแปซิฟิก สมาชิกอูกัสได้เน้นย้ำว่าข้อตกลงของพวกตนจะไม่จัดหาอาวุธนิวเคลียร์ให้แก่ออสเตรเลีย

“นี่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการลงทุนในรากฐานของความแข็งแกร่งที่สำคัญที่สุดของเรา นั่นก็คือพันธมิตรของเรา รวมถึงการปรับปรุงข้อตกลงเพื่อให้สอดคล้องกับภัยคุกคามในปัจจุบันและอนาคตได้ดียิ่งขึ้น” นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวถึงอูกัส ตามรายงานของกองบัญชาการสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นอินโดแปซิฟิก

ภาพจาก: ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

แสดงความคิดเห็นที่นี่

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

บทความที่เกี่ยวข้อง

Back to top button