การฝึกซ้อมของอินเดียและญี่ปุ่นแสดงให้เห็นถึงการกระชับความร่วมมือทางทหาร

เรดิโอฟรีเอเชีย
การซ้อมรบร่วมทางอากาศครั้งแรกระหว่างอินเดียและญี่ปุ่นแสดงให้เห็นถึงการกระชับความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงของทั้งสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เนื่องจากสาธารณรัฐประชาชนจีนพยายามที่จะใช้อำนาจและอิทธิพลในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก
การฝึกซ้อมวีร์การ์เดียนครั้งแรกใน พ.ศ. 2566 ซึ่งล่าช้ามากว่าสองปีอันเนื่องมาจากการระบาดของโควิด-19 นั้น ได้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-26 มกราคม ที่ฐานทัพอากาศเฮียคุริและฐานทัพอากาศอิรุมะนอกชายฝั่งของโตเกียว
ใน พ.ศ. 2562 กองทัพอากาศทั้งสองได้ทำการฝึกซ้อม ชินยูไมตรี ในอินเดีย โดยมุ่งเน้นไปยังความคล่องตัวและการทำงานร่วมกันทางยุทธวิธี
พล.อ.อ. ชุนจิ อิซุตสึ เสนาธิการของกองกำลังป้องกันตนเองทางอากาศญี่ปุ่น กล่าวว่า การฝึกซ้อมวีร์การ์เดียนซึ่งได้แก่ เครื่องบินขับไล่ เครื่องบินบรรทุกสินค้า และเครื่องบินบรรทุกน้ำมัน จะ “พัฒนาทักษะทางยุทธวิธีของกองกำลังป้องกันตนเองทางอากาศญี่ปุ่น โดยมีการส่งเสริมความเข้าใจร่วมกันระหว่างกองทัพอากาศญี่ปุ่นและอินเดีย ตลอดจนกระชับความร่วมมือด้านกลาโหมให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น”
“ญี่ปุ่นและอินเดียเป็นความสัมพันธ์แบบหุ้นส่วนระดับโลกเชิงยุทธศาสตร์พิเศษ” พล.อ.อ. อิซุตสึกล่าวกับผู้สื่อข่าว โดยเสริมว่า “อินเดียเป็นประเทศที่มีอุดมการณ์เดียวกัน” กับญี่ปุ่น
ทั้งสองประเทศเป็นสมาชิกของการเจรจาความมั่นคงจตุภาคี หรือควอด ร่วมกับออสเตรเลียและสหรัฐอเมริกา (ภาพ: เรือพิฆาตเฮลิคอปเตอร์ เจเอส ฮิวงะ ของกองกำลังป้องกันตนเองทางทะเลญี่ปุ่น (ด้านหน้า) เรือ ไอเอ็นเอส ชีวาลิก ของกองทัพเรืออินเดีย และเรือบรรทุกเครื่องบิน ยูเอสเอส โรนัลด์ เรแกน ของกองทัพเรือสหรัฐฯ แล่นในทะเลฟิลิปปินส์ระหว่างการฝึกมาลาบาร์ประจำ พ.ศ. 2565 กับออสเตรเลีย)
ญี่ปุ่นมีความระแวดระวังมากขึ้นต่อความก้าวร้าวของจีนที่กำลังขยายตัวในภูมิภาคดังกล่าว โดยระบุว่ารัฐบาลจีนเป็น “ความท้าทายเชิงยุทธศาสตร์” ที่ไม่เคยมีมาก่อนในยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงและกลาโหมแห่งชาติที่เผยแพร่ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2565
นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังสนับสนุนยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิกของสหรัฐฯ ซึ่งระบุว่า “การบีบบังคับและความก้าวร้าวของจีนแผ่ขยายไปทั่วโลก แต่มีความรุนแรงมากที่สุดในอินโดแปซิฟิก”
เมื่อกลางเดือนมกราคม พ.ศ. 2566 นายยาสุคาสุ ฮามาดะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมญี่ปุ่น ได้เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านความมั่นคงระหว่างญี่ปุ่นกับสหรัฐฯ ครั้งแรก ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เพื่อหารือเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเสริมสร้างขีดความสามารถในการป้องปรามและการตอบสนองของพันธมิตร
รัฐบาลญี่ปุ่นมีแผนที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการโจมตีโต้ตอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากความขัดแย้งในไต้หวันที่ปกครองตนเอง ความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี และข้อพิพาทในทะเลจีนใต้
นายคอลลิน โคห์ นักวิจัยจากวิทยาลัยนานาชาติศึกษา เอส. ราชารัตนัมในสิงคโปร์ กล่าวว่า รัฐบาลจีนได้ทำการบุกรุกทางอากาศเพิ่มขึ้นในช่องแคบไต้หวันและทะเลจีนตะวันออก “จีนกลายเป็นภัยคุกคามต่อประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคมากขึ้นเรื่อย ๆ”
นายโคห์ระบุว่า ญี่ปุ่นให้ความร่วมมือกับอินเดียในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยได้มีการฝึกซ้อมแบบทวิภาคีเพิ่มมากขึ้น
กองทัพของทั้งสองประเทศได้ทำการฝึกซ้อม ธรรมะการ์เดียน ประจำ พ.ศ. 2565 ที่เมืองเบลกาอุม ประเทศอินเดีย โดยที่กองกำลังทางทะเลของทั้งสองประเทศได้ฝึกร่วมกันมาตั้งแต่ พ.ศ. 2555
ภาพจาก: จ.อ. ไมเคิล บี. จาร์มีโอโลวสกี/กองทัพเรือสหรัฐฯ