ทรัพยากรส่วนรวมของโลกปัญหาหลักภัยคุกคามที่ไม่มีต้นแบบแน่นอนระดับภูมิภาคเรื่องเด่นเอเชียใต้

หนึ่งเส้นทางกับ หนี้ก้อนใหญ่

โครงการโครงสร้างพื้นฐานของจีน ทิ้งร่องรอยความสำนึกผิดของผู้ซื้อ

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

ด้วยเงินกู้ 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 7.6 พันล้านบาท) จากสาธารณรัฐประชาชนจีน สะพานที่เชื่อมเมืองหลวงมาเล่ของมัลดีฟส์กับสนามบินจึงได้รับฉายาว่าเป็น “สะพานสู่ความรุ่งเรือง” และชื่อที่เป็นทางการมากขึ้นก็คือสะพานมิตรภาพจีน-มัลดีฟส์ หรือ สะพานซีนามาเล ซึ่งเหมือนเป็นคำกล่าวที่เป็นมิตรในช่วงแรก ภายหลังการเปิดตัวสะพานดังกล่าวขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2561 การโดยสารข้ามฟากจากสนามบินไปยังเมืองหลวงด้วยเรือยนต์ที่มีความเร็วสูงนั้นก็ไม่จำเป็นอีกต่อไป อีกทั้งการพัฒนาที่เฟื่องฟูอย่างรวดเร็วบนเกาะฮูลฮุมาเลที่อยู่ใกล้เคียงก็ได้เกิดขึ้นอย่างอบอุ่น

เช่นเดียวกับความพยายามในโครงการโครงสร้างพื้นฐานหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางหลายโครงการของจีน ในที่สุดโครงการดังกล่าวก็ได้ติดกับโครงการของกลุ่มผู้มุ่งร้ายที่พลอยทำให้เผชิญกับหนี้สินที่ไม่ยั่งยืนไปด้วย การวิจัยศึกษาระยะเวลา 4 ปีที่เสร็จสิ้นเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2564 โดยนักวิจัยที่วิทยาลัยวิลเลียมแอนด์แมรี่ในวิลเลียมสเบิร์ก รัฐเวอร์จิเนีย เผยให้เห็นว่าประเทศที่มีรายได้อยู่ในระดับต่ำและระดับปานกลาง 42 ประเทศมีหนี้ในโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเกินร้อยละ 10 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ซึ่งรวมถึงบรูไน กัมพูชา ลาว มัลดีฟส์ เมียนมาร์ และปาปัวนิวกินี

เอดดาต้า ห้องปฏิบัติการเพื่อการพัฒนาระดับนานาชาติของสถาบันวิจัยระดับโลกของวิทยาลัยดังกล่าวระบุในรายงานเรื่อง “การธนาคารบนโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง: ข้อมูลเชิงลึกจากชุดข้อมูลใหม่ระดับโลกของโครงการพัฒนา 13,427 โครงการของจีน” ของตนว่าจีนให้การสนับสนุนโครงการต่าง ๆ โดยมีมูลค่าสูงถึง 843 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3.2 แสนล้านบาท) ทั่วทั้ง165 ประเทศ รายงานดังกล่าวระบุว่าหนี้สินประมาณ 385 พันล้านดอลลาร์ (ประมาณ 1.4 แสนล้านบาท) ที่เกี่ยวข้องกับโครงการเหล่านั้นโดยส่วนใหญ่ถูกปิดบังจากการตรวจสอบของประชาชน

เมื่อ พ.ศ. 2556 นายสี จิ้นผิง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้เปิดตัวโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางขึ้นเพื่อส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั่วทั้งแอฟริกา ยุโรป และอินโดแปซิฟิกด้วยเงินทุนสนับสนุนจากจีน นายสีคาดหวังว่าโครงการต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงโครงการด้านทางหลวง ทางรถไฟ โรงไฟฟ้า และท่อส่ง จะช่วยขยายการส่งออกและการเข้า ถึงสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งทางบกและทางทะเลของจีน ส่งเสริมการผลิตของจีน และเสริมสร้าง “อิทธิพลทางเศรษฐกิจ การเมือง และการทหารในต่างประเทศ” ของจีนได้ ตามรายงานของสภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยอิสระ “ทว่าหากการลงทุนใหม่ล้มเหลวในการสร้างผลตอบแทนที่มากพอ การลงทุนเหล่านั้นอาจยิ่งเพิ่มระดับหนี้อย่างไม่ยั่งยืนและก่อให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองกับจีน”

โครงการที่ได้รับทุนสนับสนุนจากจีนซึ่งเชื่อมสนามบินหลักของมัลดีฟส์กับเมืองหลวงที่ครั้งหนึ่งเคยเรียกกันว่า “สะพานสู่ความรุ่งเรือง” ได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของหนี้สินที่ไม่ยั่งยืน รอยเตอร์

ในมัลดีฟส์ การกู้ยืมในวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของนายอับดุลลา ยามีน ในช่วง พ.ศ. 2556 ถึง 2561 ดำเนินไปอย่างลื่นไหล แต่ในปัจจุบัน เจ้าหน้าที่กำลังปิดตัวโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางบางโครงการอันเนื่องมาจากการขาดศักยภาพในการอยู่รอดและความกังวลเรื่องหนี้สินที่เพิ่มขึ้น ตามรายงานประจำเดือนมกราคม พ.ศ. 2565 ของ อีโคโนมี่เน็กซ์ ซึ่งเป็นเว็บไซต์ให้บริการข่าวสารด้านการเงินและการเมือง นายนาชีดคาดว่าหนี้สินในประเทศของเขาที่มีต่อหน่วยงานของจีนจะสูงถึง 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.1 แสนล้านบาท) แม้เจ้าหน้าที่จีนจะอ้างว่าตัวเลขดังกล่าวต่ำกว่านั้นมากก็ตาม นายโมฮาเหม็ด นาชีด โฆษกรัฐสภาของประเทศหมู่เกาะและผู้นำพรรคเดโมแครตมัลดิฟส์ กล่าวกับดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส เมื่อ พ.ศ. 2562 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของมัลดีฟส์ที่คาดการณ์ไว้สำหรับ พ.ศ. 2565 อยู่ที่ประมาณ 5.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2 แสนล้านบาท) ตามรายงานของธนาคารโลก

นายนาชีดเริ่มส่งสัญญาณเตือนเกี่ยวกับหนี้สินดังกล่าวหลังจากที่พรรคของเขาสามารถเอาชนะนายยามีนได้ใน พ.ศ. 2561 นับตั้งแต่นายยามีนถูกโค่นล้ม รัฐบาลมัลดีฟส์ก็ได้สร้างสายสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับอินเดียมากขึ้น และนายนาชีดก็ได้เป็นผู้นำในการตั้งข้อพิพาทด้วยการโต้เถียงว่าอดีตผู้นำคนดังกล่าวผลักให้มัลดีฟส์เข้าสู่กับดักหนี้ รัฐบาลจะไม่สามารถชำระคืนเงินกู้จากจีนได้ เว้นแต่จะมีการตรวจสอบที่ทำให้หนี้ดังกล่าวลดลงมาสู่มูลค่าที่แท้จริง นายนาชีดกล่าวกับอีโคโนมี่เน็กซ์

รัฐบาลมัลดีฟส์ได้ยุติโครงการบางโครงการที่รีสอร์ทบนเกาะแล้ว “การก่อสร้างรีสอร์ทและการเป็นเจ้าของเกาะเหล่านี้กลับมาเป็นข้อกังขาอีกครั้ง” นายนาชีดบอกกับเว็บไซต์ดังกล่าว “มีเกาะประมาณ 6-7 เกาะที่อยู่ในขั้นตอนการก่อสร้างต่าง ๆ โดยบริษัทจีน ทว่าในขณะนี้ งานก่อสร้างกลับหยุดชะงักไปเป็นเวลานาน และความเป็นเจ้าของเกาะเหล่านี้ตามข้อตกลงยังคงต้องได้รับการพิจารณาในชั้นศาล”

หนี้สินที่ซ่อนอยู่กับต้นทุนที่สูง

ด้วยภาระผูกพันด้านการเงินเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ ซึ่งมีมูลค่าเกือบ 85 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3.2 ล้านล้านบาท) ต่อปี ปัจจุบันจีนจึงมีการใช้จ่ายมากกว่าสหรัฐอเมริกาและมหาอำนาจอื่น ๆ ด้วยอัตรากำไร 2 ต่อ 1 ตามรายงานของเอดดาต้า แทนที่จะให้เงินทุนช่วยเหลือหรือเงินกู้ที่ไม่มีข้อผูกมัดเล็กน้อยเพื่อสนับสนุนประเทศที่กำลังดิ้นรน ทว่าหน่วยงานของจีนกลับ “ใช้หนี้สินแทนที่จะเป็นการช่วยเหลือเพื่อสร้างตำแหน่งผู้มีอำนาจเหนือตลาดในตลาดการเงินเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ” ตามที่ระบุในรายงานของเอดดาต้า นับตั้งแต่มีการเปิดตัวโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2556 จีนก็ยังคงรักษาอัตราส่วนของเงินกู้ยืมต่อเงินช่วยเหลือเป็น 31 ต่อ 1 ตามที่ระบุในรายงานดังกล่าว

นักวิจัยกล่าวว่า หนี้สินส่วนใหญ่ในโครงการรถไฟความเร็วสูงที่เชื่อมระหว่างเมืองคุนหมิงของจีนกับเมืองเวียงจันทน์ของลาวนั้นถูกปกปิดจากการตรวจสอบของสาธารณชน รอยเตอร์

เงื่อนไขการกู้ยืมโดยผู้ให้กู้ที่เป็นรัฐวิสาหกิจของจีนนั้นเอื้อประโยชน์น้อยกว่าเมื่อเทียบกับเจ้าหนี้ระดับพหุภาคี และเงินกู้เฉลี่ยก็มาควบคู่กับอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4.2 แต่ถึงกระนั้น ปัญหาที่ใหญ่กว่าสำหรับผู้เสียภาษีในประเทศลูกหนี้ก็คือ ลักษณะการให้กู้ยืมดังกล่าวมักถูกบดบังจากมุมมองของสาธารณชน จึงยากต่อการประเมินการเปิดเผยความจริงของรัฐบาลที่กำลังประสบปัญหา

นั่นเป็นเพราะว่าร้อยละ 70 ของการให้กู้ยืมในต่างประเทศของจีนมีการส่งไปยังบริษัทรัฐวิสาหกิจ ธนาคารรัฐวิสาหกิจ นิติบุคคลเฉพาะกิจ กิจการร่วมทุน และสถาบันของภาคเอกชนโดยตรง รายงานของ เอดดาต้าระบุ บ่อยครั้งที่ประเทศลูกหนี้จะไม่กู้ยืมเงินโดยตรง แม้ว่าอาจทำให้ต้องรับผิดหากเกิดการผิดนัดชำระ

“โดยส่วนใหญ่หนี้เหล่านี้จะไม่ปรากฏในงบแสดงฐานะการเงินของรัฐบาล” รายงานดังกล่าวระบุ อย่างไรก็ตาม ผู้ให้กู้โดยส่วนใหญ่จะ “ได้รับประโยชน์จากรูปแบบโดยชัดแจ้งหรือโดยนัยของการคุ้มครองความรับผิดของรัฐบาลเจ้าบ้าน ซึ่งได้ทำให้ความแตกต่างระหว่างหนี้สินภาคเอกชนและหนี้สาธารณะไม่ชัดเจน และก่อให้เกิดความท้าทายในการจัดการการเงินสาธารณะครั้งสำคัญ”

ความท้าทายเหล่านั้นเริ่มปรากฏชัดในลาว ที่ได้เปิดตัวการเชื่อมทางรถไฟร่วมกับจีนซึ่งมีมูลค่า 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2.3 แสนล้านบาท) ไปเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2564 เส้นทางดังกล่าวได้เชื่อมเมืองหลวงเวียงจันทน์ของลาวกับเมืองคุนหมิงทางตอนใต้ของจีน นายทองลุน สีสุลิด ประธานาธิบดีลาว ได้ป่าวประกาศถึง “ยุคใหม่ของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสมัยใหม่” ในการเปิดตัวเส้นทางรถไฟดังกล่าว พร้อมเสริมว่า “ความฝันของประชาชนลาวเป็นจริงแล้ว” ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เดอะมะนิลาไทมส์

แม้รัฐบาลลาวจะตั้งความหวังไว้ว่าเส้นทางรถไฟนี้จะสร้างผลกำไรกลับคืนมาได้ภายใน พ.ศ. 2570 ทว่าผู้เชี่ยวชาญต่างเกรงว่าเงินกู้ยืมจากจีนที่ได้ยืมไปนั้นจะไม่ยั่งยืน นายโจนาธาน แอนดรูว์ เลน นักวิเคราะห์จากสถาบันธนาคารพัฒนาเอเชีย ระบุในรายงานประจำเดือนกันยายน พ.ศ. 2563 ว่ามี “ตรรกะทางการค้าที่จำกัดสำหรับเส้นทางรถไฟราคาแพง” ที่เชื่อมประเทศที่มีประชากร 7 ล้านคนกับเมืองคุนหมิง นายเลนชี้แนะว่าผลประโยชน์ของลาวไม่ควรเกินดุลความเสี่ยง “การชำระหนี้นั้นจะยิ่งสร้างความตึงเครียดต่อความสามารถในการเก็บภาษีที่จำกัดของรัฐบาลลาว” นายเลน ระบุ

นายโกตาบายา ราชปักษา ประธานาธิบดีศรีลังกาในขณะนั้น และนายหวัง อี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศจีน ได้เดินทางมาถึงโครงการพอร์ตซิตี้เพื่อฟื้นฟูทะเลที่ได้รับเงินสนับสนุนจากจีน ในโคลอมโบ เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2565 ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

รายงานของเอดดาต้าเตือนว่าหนี้สินเกือบครึ่งหนึ่งของประเทศลาวทั้งหมด 13.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 5.1 แสนล้านบาท) มีจีนเป็นผู้ครอบครอง และการเชื่อมเส้นทางรถไฟก็ยิ่งแสดงให้เห็นถึงหนี้ที่ซุกซ่อนอยู่ โครงการนี้มีบริษัทรัฐวิสาหกิจของจีน 3 แห่งและองค์กรวิสาหกิจในลาวอีก 1 แห่งร่วมเป็นหุ้นส่วนกัน โดยจีนจะถือหุ้นร้อยละ 70 ของหนี้สิน 3.54 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.3 แสนล้านบาท) สำหรับการเชื่อมเส้นทางรถไฟดังกล่าว มีความไม่แน่นอนว่าประเทศใดจะต้องช่วยเหลือกิจการร่วมทุนครั้งนี้หากมีการผิดนัดชำระเงินกู้ นักวิจัยจากเอดดาต้า ระบุ เอดดาต้าเตือนว่าหากเส้นทางรถไฟ “ทำกำไรได้ไม่มากพอ ประมาณร้อยละ 0-100 ของหนี้ 3.54 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.3 แสนล้านบาท) ทั้งหมดอาจกลายเป็นภาระผูกพันในการชำระคืนของรัฐบาลลาว”

ความสิ้นหวังในศรีลังกา

ใน พ.ศ. 2565 ศรีลังกาประสบปัญหาการขาดแคลนสิ่งจำเป็น เช่น นมผงและก๊าซหุงต้ม และประสบวิกฤตหนี้ ซึ่งปัญหาลุกลามถึงขั้นสุดท้ายในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมเมื่อประเทศต้องเผชิญกับการล้มละลายและผิดนัดชำระหนี้ต่างประเทศอย่างเป็นทางการ เพียงแค่ พ.ศ. 2565 เพียงปีเดียว ภาระหนี้ต่างประเทศของศรีลังกามีมูลค่ารวม 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2.68 แสนล้านบาท) ตามรายงานของนิตยสารข่าวออนไลน์เดอะดิโพลแมต หนี้ต่างประเทศของศรีลังกามากกว่า5.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.95 ล้านล้านบาท) โดยมีกำหนดชำระเงินจำนวน 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 9.59 แสนล้านบาท) ภายใน พ.ศ. 2569

แถวรอรับอาหารและเชื้อเพลิงที่ยาวเหยียดจุดชนวนให้เกิดการประท้วงทั่วศรีลังกาเป็นเวลาหลายสัปดาห์ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2565 ซึ่งนำไปสู่การลาออกในเดือนกรกฎาคมของประธานาธิบดีโกตาพญา ราชปักษา ซึ่งผู้ถูกตำหนิว่าเป็นผู้ทำลายเศรษฐกิจ

“ไม่มีทางออกอื่นนอกจากให้ประธานาธิบดีออกไป” นายนาเวนดรา ลิยานารัชชี อายุ 27 ปี หนึ่งในผู้ประท้วง กล่าวกับหนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทมส์เมื่อกลางเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2565

ฝ่ายนิติบัญญัติของศรีลังกาเลือกนายรนิล วิกรมสิงหะ นายกรัฐมนตรีศรีลังกา ขึ้นเป็นประธานาธิบดีแทนหลังจากที่นายราชปักษาหนีออกนอกประเทศไป

แม้ว่าการภาวะขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรงของประเทศที่พึ่งพาการท่องเที่ยวส่วนหนึ่งเกิดจากการระบาดของโควิด-19 แต่การกู้ยืมเงินอย่างต่อเนื่องของรัฐบาลนำไปสู่หนี้สินต่างชาติที่ไม่สามารถชำระได้จำนวนมาก เดอะดิโพลแมตรายงานว่า เศรษฐกิจหดตัวลงร้อยละ 1.5 ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงกันยายน พ.ศ. 2564 และอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.1 ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2564

การขาดแคลนเงินสดของศีลังกามีส่วนให้เกิดการทรุดตัวลงทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นผลให้ชะลอการนำเข้าเชื้อเพลิงลง ระดับน้ำในเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำที่ลดลงอย่างรวดเร็วจนทำให้กำลังการผลิตพลังงานไฟฟ้าลดลง ผู้นำของศรีลังกาขอการผ่อนปรนจากเจ้าหนี้สาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2565 เนื่องจากเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้ ตามรายงานของวีออน เครือข่ายข่าวระดับโลกที่ตั้งอยู่ในอินเดีย นายราชปักษากล่าวกับนายหวัง อี้ ในเดือนเดือนมกราคมว่า “หากให้ความสนใจในการปรับโครงสร้างการชำระหนี้คืนเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นท่ามกลางการเผชิญหน้ากับการระบาดของโควิด-19 คงจะเป็นเรื่องน่ายินดีต่อศรีลังกาอย่างยิ่ง” ตามรายงานของ วีออน ทว่าจีนไม่ได้ตกลงที่จะผ่อนปรนใด ๆ “ศรีลังกาจะเอาชนะอุปสรรคที่เกิดขึ้นชั่วคราวนี้ได้อย่างแน่นอนโดยเร็วที่สุด” โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนกล่าว

ประมาณร้อยละ 70 ของท่าเรือฮัมบันโดตาในศรีลังกาถูกปล่อยเช่าให้แก่ผู้ประกอบการรัฐวิสาหกิจของจีนภายใต้สัญญา 99 ปี เอเอฟพี/เก็ตตี้อิมเมจ

ตั้งแต่ พ.ศ. 2550 ศรีลังกาได้สร้างหนี้สินเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นมูลค่า 1.18 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3.93 แสนล้านบาท) ผ่านพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 36.4 ของหนี้ต่างประเทศของศรีลังกา เจ้าหนี้รายใหญ่อันดับสองคือธนาคารพัฒนาเอเชีย ซึ่งให้เงินกู้แก่ศรีลังกาเป็นจำนวนเงินมูลค่า 4.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.53 แสนล้านบาท) ตามรายงานของรอยเตอร์ เจ้าหนี้รายใหญ่รองลงมาคือญี่ปุ่นและจีน ซึ่งทั้งสองประเทศให้กู้ยืมเป็นจำนวนเงินประมาณ 3.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.16 แสนล้านบาท)

แม้ว่าจีนจะไม่ใช่เจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดของศรีลังกา ทว่าโครงการต่าง ๆ ของจีนกลับกลายเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันมากที่สุด ตัวอย่างหนึ่งที่ได้รับความสนใจมากที่สุดคือท่าเรือฮัมบันโตตา ซึ่งเปิดให้บริการเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2553 ด้วยเงินทุนจากจีนและสุดท้ายก็ถูกจีนควบคุม เมื่อ พ.ศ. 2560 บริษัทไชน่าเมอร์ชานท์พอร์ตโฮลดิ้งส์จำกัดได้รับสัญญาเช่า 99 ปีเพื่อดำเนินการในท่าเรือ และได้เข้าซื้อหุ้นร้อยละ 70 ของโครงการดังกล่าว โดยร่วมลงทุนกับการท่าเรือศรีลังกาที่ดำเนินการโดยรัฐบาล เมื่อศรีลังกาไม่สามารถชำระหนี้ได้

การทุจริต การประท้วง และเรื่องอื้อฉาว

ทั่วทั้งอินโดแปซิฟิกและทั่วโลกยังคงมีเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางอยู่เสมอ งานวิจัยของเอดดาต้าระบุว่า ร้อยละ 35 ของโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางประสบกับปัญหาด้านการดำเนินงาน เช่น “เรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการทุจริต
การละเมิดแรงงาน อันตรายต่อสิ่งแวดล้อม และการประท้วงของประชาชน” เมื่อลองเทียบกันแล้ว ร้อยละ 21 ของผลงานด้านโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลจีนที่นอกเหนือจากโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางก็เผชิญกับปัญหาที่คล้ายคลึงกัน “ผู้กำหนดนโยบายของประเทศเจ้าภาพได้พับเก็บโครงการแถบและเส้นทางระดับสูง เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับการทุจริตและราคาที่สูงเกินไป รวมถึงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญต่อความรู้สึกของประชาชนซึ่งทำให้การรักษาความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับจีนเป็นเรื่องยาก” รายงานดังกล่าวระบุ โดยใช้อีกชื่อย่อหนึ่งของโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง

มาเลเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางได้ถูกระงับลงกลางคันอันเนื่องมาจากเรื่องอื้อฉาว อาจแสดงให้เห็นแนวโน้มนี้อย่างเห็นได้ชัดมากขึ้น เช่น โครงการทางรถไฟสายชายฝั่งตะวันออก ซึ่งเป็นโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางที่โดดเด่นของมาเลเซีย ทางรถไฟยาวกว่า 640 กิโลเมตรที่จะเชื่อมต่อเมืองพอร์ตกลังทางชายฝั่งตะวันตกเข้ากับเมืองโกตาบารูทางชายฝั่งตะวันออก โครงการดังกล่าวถูกระงับไปใน พ.ศ. 2561 เนื่องจากข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการทุจริต โดยตั้งแต่นั้นมาก็ได้มีการเจรจาและปรับแก้ใหม่อีกหลายครั้ง ตามรายงานของเดอะ ดิโพลแมต เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2564

โครงการนี้ถือเป็นศูนย์กลางของเรื่องอื้อฉาวซึ่งในท้ายที่สุดก็ทำให้นายนาจิบ ราซัก นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ลาออกจากตำแหน่งไปในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2561 ในปีนั้น นายนาจิบต้องประสบกับความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งอย่างคาดไม่ถึงให้แก่นายมาฮาดีร์ โมฮามัด วัย 92 ปี ซึ่งเป็นผู้นำประเทศมาเป็นเวลา 22 ปีก่อนที่จะเกษียณอายุเพื่อปล่อยให้นายนาจิบเผชิญความท้าทาย

การก่อสร้างโครงการทางรถไฟสายชายฝั่งตะวันออกของมาเลเซียมีความล่าช้าอันเนื่องมาจากข้อพิพาทด้านราคาและเรื่องอื้อฉาวทางการเมือง เอเอฟพี/เก็ตตี้อิมเมจ

เมื่อนายนาจิบพบเจอกับความพ่ายแพ้ ก็ “คงจะไม่มีใครผิดหวังไปมากกว่ารัฐบาลจีนแล้ว” ตามรายงานของนิตยสารฟอเรนโพลิซี เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2562 เนื่องจากนายนาจิบได้ให้สิทธิ์พิเศษแก่จีนในการเข้าถึงโครงการต่าง ๆ มากมายทั่วประเทศ โดยในท้ายที่สุดนายนาจิบก็กลายเป็นจุดรวมของเรื่องอื้อฉาวที่เชื่อมโยงไปยังกองทุนพัฒนาแห่งชาติที่รู้จักกันในชื่อ กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติมาเลเซีย หรือ 1เอ็มดีบี นิตยสารฟอเรนโพลิซีรายงานว่า ฝ่ายตรงข้ามได้กล่าวหาว่า “เงินบางส่วนของจีนที่หลั่งไหลเข้ามาในมาเลเซียนั้นถูกนำมาเติมทดแทนเงินกองทุนที่หายไปเป็นจำนวนมากของกองทุนดังกล่าว”

ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2562 หนังสือพิมพ์เดอะวอลล์สตรีทเจอร์นัลได้แสดงหลักฐาน รายงานการประชุมชุดหนึ่งแสดงให้เห็นว่า
เจ้าหน้าที่มาเลเซียได้ให้ข้อเสนอแก่เจ้าหน้าที่จีนว่า จีนควรให้เงินสนับสนุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานด้วยค่าใช้จ่ายที่สูงเกินจริงเพื่อช่วยชำระหนี้ของ 1เอ็มดีบี “หากเป็นเรื่องจริง รายงานดังกล่าวจะเป็นหลักฐานอย่างเป็นรูปธรรมที่เพิ่มน้ำหนักให้กับข้อสงสัยที่มีร่วมกันว่า จีนใช้ประโยชน์จากระบอบการปกครองที่มีการทุจริตเพื่อขับเคลื่อน” โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของตน ตามรายงานของนิตยสารฟอเรนโพลิซี

นายนาจิบเองก็ไม่รอดพ้นจากเรื่องอื้อฉาวนี้ โดยเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2564 ศาลมาเลเซียได้ตัดสินลงโทษและจำคุกเป็นเวลา 12 ปีในข้อหาทุจริต ศาลพบว่านายนาจิบได้รับเงินประมาณ 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 383 ล้านบาท) จากบริษัทเอสอาร์ซี อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเป็นหน่วยงานเดิมของ 1เอ็มดีบี ที่เลิกกิจการไปแล้วในขณะนี้

เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2564 นายอิสมาอิล ซาบรี ยาค็อบ ได้เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและให้คำมั่นว่าจะดำเนินการโครงการทางรถไฟต่อไป อย่างไรก็ตาม ความเสียหายต่อชื่อเสียงของโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางก็ได้เกิดขึ้นแล้ว นางอากาธา คราธซ์ รองผู้อำนวยการแห่งสถาบันวิจัยโรเดียมกรุ๊ป บริษัทวิจัยและวิเคราะห์ กล่าวกับศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์และกิจการระหว่างประเทศในพอดแคสต์เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2564 ว่า ภาวะการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ได้เน้นย้ำถึงแนวโน้มที่มีอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งทำให้โครงการต่าง ๆ ของจีนกำลังถูกระงับเนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับความยั่งยืนของหนี้ นางคราธซ์กล่าวว่า “นี่เป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องเล่าทั้งหมดเกี่ยวกับการทูตแบบกับดักหนี้” “เพียงไม่นาน สื่อต่างประเทศก็จะเริ่มจับประเด็นความพ่ายแพ้เหล่านั้น และความสนใจต่อโครงการก็จะกลายเป็นเรื่องที่ค่อนข้างขมขื่น”

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button