ความร่วมมือทรัพยากรส่วนรวมของโลกปัญหาหลักระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สิงคโปร์และเวียดนามกระชับความสัมพันธ์ด้านกลาโหมเพื่อปกป้องผลประโยชน์ร่วมที่เพิ่มขึ้น

ทอม แอบกี

สิงคโปร์และเวียดนามเสริมสร้างความสัมพันธ์ด้านกลาโหมและความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เพื่อสร้างห่วงโซ่อุปทานสำหรับการผลิตทั่วโลก

นายชาน เฮงกี ปลัดกระทรวงกลาโหมสิงคโปร์ (ทางขวาในภาพ) และ พล.ท. อาวุโส ฮวง ซวน เชียน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมเวียดนาม ได้ลงนามในแผนงานสามปีเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 ระหว่างการเจรจานโยบายกลาโหมแห่งชาติครั้งที่ 13 ในสิงคโปร์ ข้อตกลงดังกล่าวระบุถึงการมีส่วนร่วมด้านกลาโหมของทั้งสองประเทศ โดยยืนยันข้อตกลงความร่วมมือด้านกลาโหม ซึ่งลงนามครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2552 และต่ออายุเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 ระหว่างการเยือนสิงคโปร์ของนายเหงียน ซวน ฟุก ประธานาธิบดีเวียดนาม

นายชานกล่าวว่าความต้องการสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นได้รับแรงผลักดันจากผลประโยชน์ร่วมกันของประเทศในสภาพแวดล้อมด้านกลาโหมที่มีความท้าทายและซับซ้อน ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก ตามรายงานข่าวประชาสัมพันธ์

นายชานและ พล.ท. เชียนได้หารือประเด็นเกี่ยวกับทะเลจีนใต้ ซึ่งเวียดนามเคยปะทะกับสาธารณรัฐประชาชนจีนในเรื่องสิทธิ์ในการขุดเจาะและทำประมง

พันธสัญญาด้านความมั่นคง ได้แก่ การดำเนินการเจรจาเชิงนโยบาย การแลกเปลี่ยน และการสัมมนาอย่างสม่ำเสมอ, การเสริมสร้างความร่วมมือทางทหาร และความร่วมมือในด้านที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน เช่น การค้นหาและกู้ภัย ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ การต่อต้านการก่อการร้ายและการแพทย์ทหาร ตามรายงานของกระทรวงกลาโหมสิงคโปร์

ความร่วมมืออย่างต่อเนื่องระหว่างกองทัพสิงคโปร์และกองทัพประชาชนเวียดนามเกี่ยวข้องกับความช่วยเหลือด้านการฝึกอบรม การติดต่อท่าเรือ และการแลกเปลี่ยนทางวิชาชีพในด้านต่าง ๆ เช่น การกู้ภัยเรือดำน้ำรวมถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ เช่น เจ้าหน้าที่ประสานงานของกองทัพประชาชนเวียดนามทำงานในศูนย์บูรณาการข้อมูลข่าวสารของสิงคโปร์และศูนย์ประสานงานความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติภูมิภาคชางงี

นายชานและ พล.ท. เชียนให้คำมั่นว่าจะ “ยกระดับการแลกเปลี่ยนของคณะผู้แทนในทุกระดับ” รวมถึงการฝึกอบรมด้านทรัพยากรมนุษย์และการแลกเปลี่ยนระหว่างกองทัพเรือ กองทัพอากาศ และกองกำลังรักษาชายฝั่งของทั้งสองประเทศ ตามข่าวประชาสัมพันธ์ของรัฐบาลเวียดนาม

“ทั้งสองประเทศได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการขยายการประสานงานในภาคส่วนอื่น ๆ เช่น ความมั่นคงทางไซเบอร์ ความมั่นคงทางทะเล การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล และการรับมือกับการแพร่ระบาดของโรค ตลอดจนการสนับสนุนซึ่งกันและกันอย่างแข็งขันภายใต้กรอบความร่วมมือด้านการทหารและกลาโหมของอาเซียน” ข่าวประชาสัมพันธ์ของรัฐบาลเวียดนามระบุ

ระหว่างการเยือนกรุงฮานอยเมื่อกลางเดือนตุลาคม พ.ศ. 2565 นางฮาลิมาห์ ยาค็อบ ประธานาธิบดีสิงคโปร์ ได้หารือเกี่ยวกับโครงการพัฒนาในเวียดนามซึ่งสิงคโปร์เป็นผู้ลงทุนหรือผู้สนับสนุน ซึ่งรวมถึงการสร้างสวนอุตสาหกรรมเวียดนาม-สิงคโปร์ที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงในพื้นที่ด้อยพัฒนา

สวนอุตสาหกรรมเวียดนาม-สิงคโปร์ที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงแห่งหนึ่งทางตอนใต้ของจังหวัดบินห์เดืองได้พัฒนาเขตอุตสาหกรรม 11 เขตโดยใช้ทุนรวมทั้งสิ้นประมาณ 19,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 6.9 แสนล้านบาท) ซึ่งสร้างมูลค่าการส่งออกกว่า 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี (ประมาณ 1.1 ล้านล้านบาท) โดยสร้างงานเกือบ 3 แสนตำแหน่งในเวียดนาม ตามรายงานของเว็บไซต์เวียดนามบรีฟฟิ่ง ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2565

นางยาค็อบกล่าวว่าสิงคโปร์จะยังคงแบ่งปันความเชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการกับเวียดนามและสนับสนุนการพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัล ส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลในอุตสาหกรรมสำคัญ และพัฒนาผู้เชี่ยวชาญที่มีคุณภาพสูง เช่น ผู้จัดการ วิศวกร และผู้เชี่ยวชาญอื่น ๆ

ประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งสองจะมีความสัมพันธ์ทางการทูตครบ 50 ปี และเป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ครบ 10 ปี ใน พ.ศ. 2566 สิงคโปร์เป็นหนึ่งในผู้ลงทุนต่างชาติสามอันดับแรกในเวียดนาม ร่วมกับญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ โดยเป็นผู้ลงทุนมากกว่าทุกชาติใน พ.ศ. 2563 และ 2564 การลงทุนส่วนใหญ่ของสิงคโปร์เป็นการลงทุนในนามของบริษัทระหว่างประเทศ เช่น บริษัทผู้ผลิตชิป อินเทล ซึ่งลงทุนไป 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 5.4 หมื่นล้านบาท) ในโรงงานทดสอบและประกอบในเวียดนาม

คาดว่าอินเทลจะลดการลงทุนในจีนเนื่องด้วยข้อจำกัดที่มีอยู่ในกฎหมายชิปและวิทยาศาสตร์ของสหรัฐฯ ซึ่งประกาศใช้เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2565 เพื่อส่งเสริมการวิจัยในประเทศและการผลิตสารกึ่งตัวนำในสหรัฐอเมริกา

ทอม แอบกี เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของ ฟอรัม รายงานจากประเทศสิงคโปร์

 

ภาพจาก: กระทรวงกลาโหมสิงคโปร์

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button