ความขัดแย้ง/ความตึงเครียดปัญหาหลักภัยคุกคามที่ไม่มีต้นแบบแน่นอนระดับภูมิภาคสภาพภูมิอากาศเอเชียใต้

สงครามแย่งชิง ทรัพยากร

วิธีการที่จีนปรับแหล่งน้ำเป็นอาวุธ

พรหม เชลล“น’ย์

รัฐบาลจีนผู้เป็นคอมมิวนิสต์ได้มีความตั้งใจจะปรับใช้อำนาจที่ตนมีเหนือประเทศอื่น ๆ มาใช้เป็นอาวุธ การผูกขาดของจีนในการจัดหาแร่ธาตุหายาก และแผนการให้กู้ยืมเงินระหว่างประเทศขนาดใหญ่ของจีนเป็นสองตัวอย่างที่เด่นชัด สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งปัจจุบันมีหนี้สินมากกว่าร้อยละ 5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศทั่วโลก ได้ลดทอนความสำคัญของผู้ให้กู้รายใหญ่ลง เช่น ธนาคารโลก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ และประเทศเจ้าหนี้ทั้งหมดขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจรวมกัน

พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ส่งเสริมและใช้ประโยชน์จากความจำเป็นในการพึ่งพาจีนของประเทศอื่นในด้านการค้า การเงิน ยาที่จำเป็นและเครื่องมือทางการแพทย์ แร่ธาตุ และรายได้จากการท่องเที่ยวเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์เชิงยุทธศาสตร์ของตน เครื่องมือที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนใช้ในการบีบบังคับประกอบด้วย ข้อจำกัดการส่งออกและนำเข้าอย่างไม่เป็นทางการและอุปสรรคอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับภาษี การคว่ำบาตรของผู้บริโภค การจำกัดกลุ่มนักท่องเที่ยวจีน และแม้กระทั่งการปิดกั้นการเข้าถึงการประมง

เมื่อดูจากประวัติการเมินเฉยต่อกฎกติการะหว่างประเทศของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ก็ไม่น่าแปลกใจเลยที่พรรคการเมืองภายใต้การนำของนายสี จิ้นผิง เลขาธิการใหญ่ ไม่ได้หันเหออกไปจากแนวคิดการปรับใช้แหล่งน้ำเป็นอาวุธ ซึ่งเป็นทรัพยากรที่ช่วยสร้างและหล่อเลี้ยงชีวิต ซึ่งการขาดแคลนที่เพิ่มขึ้นกำลังก่อให้เกิดความขุ่นมัวต่ออนาคตทางเศรษฐกิจของอินโดแปซิฟิก

การใช้อำนาจครอบงำทางน้ำแบบบีบบังคับ

ไม่นานหลังจากก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ผนวกซินเจียงและทิเบตเข้าด้วยกัน ซึ่งเป็นการเพิ่มอาณาเขตของประเทศกว่าสองเท่า และทำให้กลายเป็นประเทศที่มีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับสี่ของโลก การผนวกที่ราบสูงทิเบตที่อุดมไปด้วยน้ำเป็นหนึ่งในพัฒนาการทางภูมิศาสตร์การเมืองที่ก้าวกระโดดที่สุดในประวัติศาสตร์หลังสงครามโลกครั้งที่สอง และไม่ใช่เพียงแค่นั้น เพราะยังเป็นการทำให้จีนมีพรมแดนติดต่อกับภูฏาน อินเดีย พม่า และเนปาลอีกด้วย

ผู้นับถือศาสนาฮินดูสวดภาวนาในช่วงเทศกาลฉัฐบูชาบนฝั่งแม่น้ำพรหมบุตรในกูวาฮาติ ประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นสถานที่ที่สาธารณรัฐประชาชนจีนวางแผนจะสร้างเขื่อนใหญ่พิเศษเพื่อจัดการการไหลของแม่น้ำข้ามพรมแดน เอเอฟพี/เก็ตตี้อิมเมจ

ทิเบตเป็นแหล่งต้นน้ำของระบบแม่น้ำสายสำคัญ 10 สายในอินโดแปซิฟิก ซึ่งหมายความว่าการผนวกรวมครั้งนี้ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงแผนที่น้ำของภูมิภาค การเปลี่ยนแปลงนี้ได้เอื้ออำนวยให้จีนก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจผู้ครอบงำทางน้ำ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีผู้ใดในโลกยุคใหม่เป็นหรือเทียบเคียงได้

ปัจจุบัน เขื่อนขนาดใหญ่ที่จีนสร้างขึ้นใกล้กับชายแดนระหว่างประเทศของที่ราบสูงทิเบตทำให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนมีอำนาจเหนือประเทศปลายน้ำ ผู้คนมากกว่า 1 พันล้านคนในหลายสิบประเทศ
รวมถึงจีนแผ่นดินใหญ่ต้องพึ่งพาแม่น้ำที่มีต้นกำเนิดจากทิเบตเพื่อการอุปโภค บริโภค รวมถึงการได้รับโปรตีนจากปลาจำนวนมาก

ความต้องการได้พื้นที่ทางน้ำของจีนท้าทายความต้องการน้ำจืดในอินโดแปซิฟิก ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีความตึงเครียดทางน้ำต่อประชากรมากที่สุดในโลก น้ำกลายเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความแตกแยกครั้งใหม่ในความสัมพันธ์ของจีนกับประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ติดแม่น้ำ ความแตกแยกนี้เห็นได้ชัดขึ้นเมื่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้เปลี่ยนจุดมุ่งเน้นในการสร้างเขื่อนของตน จากแม่น้ำภายในที่เต็มไปด้วยเขื่อนไปเป็นแม่น้ำข้ามพรมแดนที่ไหลจากบ้านเกิดของชนกลุ่มน้อย

มีแม่น้ำข้ามพรมแดนที่สำคัญเพียง 3 สายเท่านั้น นั่นคือ แม่น้ำอามูร์ แม่น้ำอีลี และแม่น้ำอีร์ติช ซึ่งไหลไปยังคาซัคสถานหรือรัสเซีย ทั้งหมดมีต้นกำเนิดในจีนนอกที่ราบสูงทิเบต ซึ่งมีทรัพยากรน้ำและแร่ธาตุมากมายที่เป็นปัจจัยสำคัญให้เกิดการปราบปรามทางการเมือง การผันน้ำของจีนจากแม่น้ำอีลีเป็นการขู่ว่าจะเปลี่ยนทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดของคาซัคสถานอย่างทะเลสาบบาลคาช ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 18,000 ตารางกิโลเมตร ให้กลายเป็นทะเลอารัลอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของภัยพิบัติด้านสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น

เขื่อนจีนขนาดยักษ์จำนวนมากเหนือแม่น้ำข้ามพรมแดนซึ่งมีต้นกำเนิดจากทิเบตก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด จีน ซึ่งมีเขื่อนขนาดใหญ่จำนวนมากกว่าประเทศทั้งหมดในโลกรวมกัน ได้กลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการสร้างความร่วมมือเชิงสถาบันเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำร่วมกันในอินโดแปซิฟิก

ประเทศที่มีแนวโน้มที่จะแบกรับภาระจากโครงการควบคุมการไหลของแม่น้ำข้ามพรมแดนของพรรคคอมมิวนิสต์จีนคือประเทศที่อยู่ปลายน้ำที่ไกลที่สุดของแม่น้ำสายต่าง ๆ เช่น แม่น้ำโขงและแม่น้ำพรหมบุตร (หรือที่ชาวทิเบตเรียกว่าแม่น้ำยาร์ลุงซางโป) แม่น้ำพรหมบุตรเป็นแหล่งน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดของบังกลาเทศ ในขณะเดียวกัน เวียดนามอยู่ที่ปลายน้ำของแม่น้ำทั้งสองสายที่ไหลจากชายขอบของที่ราบสูงทิเบต นั่นคือ แม่น้ำแดงซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักของเวียดนามตอนเหนือ และแม่น้ำโขงซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักของเวียดนามตอนใต้

ในทางตรงกันข้ามกับสนธิสัญญาทางน้ำแบบทวิภาคีระหว่างประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศของจีน (รวมถึงสนธิสัญญาการแบ่งปันระหว่างประเทศคู่แข่งทางประวัติศาสตร์ อินเดียและปากีสถาน) จีนปฏิเสธแนวคิดการแบ่งปันน้ำหรือการจัดการทรัพยากรน้ำร่วมกันตามกฎ ดังนั้น จีนจึงปฏิเสธที่จะทำสนธิสัญญาการแบ่งปันน้ำกับประเทศปลายน้ำใด ๆ

จีนยืนกรานว่าทั้งแหล่งน้ำนิ่งและน้ำไหลอยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยอย่างเต็มที่ของประเทศที่แหล่งน้ำนั้นตั้งอยู่ โดยจีนอ้าง “อำนาจอธิปไตยที่ไม่อาจโต้แย้งได้” เหนือน้ำที่อยู่ฝั่งตัวเองของเส้นเขตแดนระหว่างประเทศ รวมถึงสิทธิ์ในการผันน้ำที่ใช้ร่วมกันได้มากเท่าที่ตนต้องการ

หลักการนี้เริ่มปรากฏในหลักการของฮาร์มอนที่มีชื่อเสียงในทางที่ไม่ดีและไม่ได้รับการยอมรับในปัจจุบันในสหรัฐอเมริกา เมื่อกว่าศตวรรษที่ผ่านมา หลักการดังกล่าวตั้งชื่อตามนายจัดสัน ฮาร์มอน อดีตอัยการสูงสุดสหรัฐฯ ผู้นำเสนอแนวคิดว่ากฎหมายระหว่างประเทศไม่ได้กำหนดภาระผูกพันของสหรัฐฯ ต่อเม็กซิโกในด้านทรัพยากรน้ำที่ใช้ร่วมกัน และมีอิสระที่จะผันน้ำจากแหล่งน้ำที่ใช้ร่วมกันได้มากตามที่สหรัฐฯ ต้องการ แม้จะมีหลักการดังกล่าว แต่สหรัฐฯ ก็ยังคงทำข้อตกลงการแบ่งปันน้ำกับเม็กซิโกตั้งแต่ พ.ศ. 2449 ถึง พ.ศ. 2487

จีน ซึ่งปฏิเสธอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการควบคุมทรัพยากรน้ำร่วมกัน พ.ศ. 2540 ได้ประกาศข้อโต้แย้งของตนอย่างเป็นทางการว่าประเทศต้นน้ำมีสิทธิ์ที่จะใช้อำนาจอธิปไตยเหนือน่านน้ำฝั่งตนของเขตแดนระหว่างประเทศโดยเด็ดขาด หรือมีสิทธิ์ที่จะผันน้ำที่ใช้ร่วมกันโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อประเทศปลายน้ำ

ซึ่งชี้ให้เห็นว่าหลักการของฮาร์มอนอาจตายจากไปในประเทศที่หลักการนี้เกิดขึ้น แต่ยังเหลือรอดในจีน

เขื่อนที่ใหญ่กว่าเขื่อนสามผา

จากภารกิจของเขื่อนที่มีเพื่อช่วยให้จีนบรรลุเป้าหมายความมีอำนาจหรืออิทธิพลมากกว่าในอินโดแปซิฟิกโดยการทำให้ประเทศเพื่อนบ้านของตนมีบทบาทที่เป็นรองตน พรรคคอมมิวนิสต์จีนจึงได้ประกาศเกี่ยวกับความเท่าเทียมและการพึ่งพาอาศัยกันในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่ในทางปฏิบัติแล้วจีนกลับไม่ได้ทำเช่นนั้น หากไม่มีอินโดแปซิฟิกที่มีจีนเป็นศูนย์กลาง จีนก็ไม่สามารถมีอำนาจระดับโลกได้ พรรคคอมมิวนิสต์จีนมองอินเดียและญี่ปุ่นว่าเป็นสองประเทศคู่แข่งที่มีศักยภาพในภูมิภาค ในบริบทนี้เองที่จีนต้องการใช้ไพ่ตายเรื่องแหล่งน้ำจืดของตนต่ออินเดีย ซึ่งเป็นไพ่ที่ใช้ไม่ได้ผลกับญี่ปุ่นเนื่องจากญี่ปุ่นแยกออกจากจีนทางทะเล

มุมมองทางอากาศของแม่น้ำโขงใน พ.ศ. 2562 นี้ที่อำเภอสังขะ จังหวัดหนองคาย ประเทศไทย ซึ่งตั้งอยู่ติดกับลาวทางด้านขวา โดยภาพเผยให้เห็นว่าทางน้ำที่เคยเอ่อล้นครั้งหนึ่งลดลงจนกลายเป็นลำน้ำเล็ก ๆ ไหลผ่านภาคเหนือของไทย ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากเขื่อนหลายแห่งที่สร้างขึ้นบริเวณต้นน้ำในจีนและลาว เอเอฟพี/เก็ตตี้อิมเมจ

ในการเผชิญกับอินเดีย พรรคคอมมิวนิสต์จีนพยายามเลียนแบบยุทธศาสตร์ลุ่มแม่น้ำโขง ด้วยการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่และอ่างเก็บน้ำบนแม่น้ำโขง จีนได้รับการควบคุมเหนือการไหลข้ามพรมแดนของแม่น้ำนั้น ซึ่งเป็นสายโลหิตของประเทศติดแม่น้ำที่อยู่ต่ำกว่า พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ลากประเทศที่อยู่ปลายน้ำเข้ามาพัวพันกับเกมปัญหาน้ำที่มีความเสี่ยงสูงที่ชื่อว่าโป๊กเกอร์ภูมิรัฐศาสตร์

เขื่อนขนาดใหญ่ทั้ง 11 แห่งของจีนบนแม่น้ำโขงมอบอำนาจให้จีนสามารถเปิดหรือปิดการไหลของแม่น้ำให้กับทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนใหญ่ได้ สิ่งนี้ทำให้ประเทศปลายน้ำต้องพึ่งพา “ไมตรีจิต” ของจีนในการเข้าถึงแหล่งน้ำจืดอย่างต่อเนื่อง

ด้วยยุทธศาสตร์ที่คล้ายคลึงกันแต่มีหลายมิติมากขึ้น ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนและกองทัพปลดปล่อยประชาชนมีความหวังที่จะเข้าควบคุมอินเดีย องค์ประกอบของสงครามทางอ้อมเห็นได้ชัดแจ้งในการกระทำของจีนต่ออินเดีย รวมถึงการปรับโครงสร้างการไหลข้ามพรมแดนของแม่น้ำ ดำเนินการโจมตีทางไซเบอร์ และค่อย ๆ รุกคืบดินแดนหิมาลัยที่เป็นข้อพิพาท การแก้ไขดินแดนนำไปสู่การเผชิญหน้าทางทหารบนเทือกเขาหิมาลัยอย่างต่อเนื่องระหว่างกองกำลังจีนและอินเดียตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2563 ซึ่งทำให้เกิดการปะทะกันมากขึ้น หรือแม้กระทั่งเกิดสงครามเต็มรูปแบบ

ท่ามกลางการเผชิญหน้าทางทหารกับอินเดียเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2564 รัฐสภาแห่งชาติจีนได้ให้การอนุมัติต่อการตัดสินใจของรัฐบาลจีนในการสร้างเขื่อนใหญ่พิเศษแห่งแรกของโลกบนแม่น้ำพรหมบุตร เขื่อนใหญ่พิเศษนี้จะคร่อมหุบเขาที่ยาวที่สุดและลึกที่สุดในโลกใกล้กับชายแดนทิเบตกับอินเดียที่มีการวางกำลังทหารอย่างหนัก

แนวแม่น้ำพรหมบุตรโค้งเป็นรูปตัวยูรอบเทือกเขาหิมาลัยและทอดผ่านยาร์ลุงซางโปแกรนด์แคนยอนในทิเบต ในขณะที่ดิ่งลงจากระดับความสูงมากกว่า 2,800 เมตรมุ่งหน้าสู่ที่ราบน้ำท่วมถึงของอินเดีย หุบเขาลึกดังกล่าวเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดในโลก โดยมีปริมาณพลังงานน้ำจากแม่น้ำที่ไม่เคยถูกใช้งานมากที่สุดของโลก

แกะเล็มหญ้าบนที่ราบสูงทิเบตที่มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำของแม่น้ำสายสำคัญในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกหลายสาย ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

เขื่อนใหญ่พิเศษจะทำลายสถิติเขื่อนสามผาของจีนบนแม่น้ำแยงซีเกียง และมีการวางแผนให้ผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นประมาณสามเท่าในแต่ละปี

การสร้างเขื่อนใหญ่พิเศษในพื้นที่ที่รู้กันดีว่ามีเหตุการณ์เกี่ยวกับแผ่นดินไหวเกิดขึ้นบ่อยครั้งอาจทำให้เขื่อนแห่งนี้กลายเป็น “ระเบิดน้ำ” สำหรับชุมชนปลายน้ำในอินเดีย ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2563 ชาวจีนประมาณ 400 ล้านคนต้องตกอยู่ในความเสี่ยงหลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่เป็นประวัติการณ์ทำให้เขื่อนสามผา ซึ่งเป็นเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดในโลก ตกอยู่ในอันตราย

ใน พ.ศ. 2564 พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้กำหนดให้มีการก่อสร้างเขื่อนโดยการสร้างทางหลวงเชิงยุทธศาสตร์ผ่านหุบเขาต้องห้าม และการเริ่มให้บริการรถไฟความเร็วสูงไปยังเมืองทหารที่อยู่ใกล้เคียง
ทางรถไฟและทางหลวงทำให้สามารถขนส่งเครื่องจักรกลหนัก วัสดุ
และคนงานไปยังภูมิภาคที่อยู่ห่างไกลได้ ซึ่งก่อนหน้านี้ภูมิประเทศที่ย่ำแย่ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงได้

เขื่อนใหญ่พิเศษจะทำให้จีนจัดการกับกระแสน้ำข้ามพรมแดนและใช้ประโยชน์จากการอ้างสิทธิ์ในดินแดนที่มีมานานต่อรัฐอรุณาจัลประเทศของอินเดียที่อยู่ปลายน้ำ

พรรคคอมมิวนิสต์จีนที่กำลังหาหนทางใช้น้ำเป็นอาวุธกับอินเดียยินดีที่จะเพิกเฉยต่อความเสียหายที่แก้ไขไม่ได้ซึ่งอาจเกิดจากโครงการนี้ ซึ่งเป็นความเสียหายที่มีผลต่อภูมิภาคที่อุดมไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ นอกจากนี้บริเวณนี้ยังเป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์สำหรับชาวทิเบต โดยมีภูเขา หน้าผา และถ้ำ เป็นตัวแทนของร่างเทพีผู้พิทักษ์ของพวกเขา นั่นคือ ดอร์เจ พักโม และแม่น้ำพรหมบุตรแสดงถึงกระดูกสันหลังขององค์เทพี

จากที่ประกอบด้วยที่ราบน้ำท่วมถึงและพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำ บังกลาเทศที่มีประชากรหนาแน่นมีแนวโน้มที่จะต้องแบกรับผลกระทบจากการทำลายล้างของโครงการดังกล่าว ประชากร 165 ล้านคนของประเทศต้องเผชิญกับอนาคตที่ตกอยู่ในความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ และความหายนะที่เกิดจากเขื่อนจีนอาจกระตุ้นให้เกิดการอพยพลี้ภัยไปยังอินเดียครั้งใหม่ ซึ่งปัจจุบันได้กลายเป็นบ้านของผู้อพยพชาวบังกลาเทศนับล้านคนแล้ว

ผลกระทบที่รุนแรงขึ้น

วัฒนธรรมทิเบตเป็นวัฒนธรรมที่เคารพต่อธรรมชาติ จึงทำหน้าที่เป็นผู้พิทักษ์ด้านสิ่งแวดล้อมมานานหลายศตวรรษ ซึ่งช่วยปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิทัศน์ที่บริสุทธิ์ แต่พรรคคอมมิวนิสต์จีนจอมกระหายค่อย ๆ ทำลายภูมิทัศน์อันศักดิ์สิทธิ์ต่อชาวทิเบตไป

ตั้งแต่การเร่งรีบทำเหมืองทองคำในพื้นที่ชายแดนที่ยึดได้จากอินเดียเมื่อหลายสิบปีก่อน ไปจนถึงการสร้างเขื่อนอย่างจริงจังในแม่น้ำนานาชาติ พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้เข้าสู่ภาวะการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในทิเบตที่มากเกินไป ชื่อจีนของทิเบตนับตั้งแต่สมัยราชวงศ์ชิงที่เป็นชาวแมนจูมีชื่อว่า “ชีซาง” หรือ “ดินแดนสมบัติตะวันตก” ซึ่งอธิบายถึงสาเหตุที่โครงการน้ำและการทำเมืองขนาดใหญ่ของจีนมุ่งเน้นไปที่ที่ราบสูงดังกล่าว

พ่อค้าชาวอินเดียเดินไปตามริมฝั่งของแม่น้ำพรหมบุตรขณะรอเรือ เอเอฟพี/เก็ตตี้อิมเมจ

เมื่อใช้ทรัพยากรธรรมชาติของตนเองอย่างหมดสิ้นจากการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างสะเพร่าของตนแล้ว จีนกำลังดูดกลืนทรัพยากรอย่างโลภจากที่ราบสูงทิเบตที่เปราะบางทางระบบนิเวศน์ นี่ไม่เพียงแต่เป็นที่ราบสูงที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่ยังเป็นที่ราบสูงที่สูงที่สุดอีกด้วย จนได้รับสมญานามว่า “หลังคาโลก” เขื่อนใหญ่พิเศษบนแม่น้ำพรหมบุตรจะอยู่ที่ระดับความสูงประมาณ 1,520 เมตร ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดในบรรดาเขื่อนยักษ์ต่าง ๆ

เขื่อนขนาดใหญ่ที่จีนสร้างหรือวางแผนว่าจะสร้างส่วนใหญ่กระจุกอยู่ในเขตที่มีเหตุการณ์แผ่นดินไหวบ่อยครั้งในตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ซึ่งมีชาวทิเบตหรือชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ อาศัยอยู่เป็นส่วนใหญ่ โครงการดังกล่าวก่อให้เกิดความตึงเครียดทางชาติพันธุ์เกี่ยวกับการพลัดถิ่นและการจมอยู่ใต้น้ำ

อย่างไรก็ตาม ประเทศปลายน้ำก็อาจทำอะไรได้ไม่มากในการขัดขวางจีนจากการก่อความหายนะทางสิ่งแวดล้อมผ่านความจริงจังในการสร้างเขื่อน อินเดียมีความขัดแย้งกับจีน แม้ว่าจะมีความเสี่ยงเกิดสงครามและเป็นการท้าทายขีดความสามารถและอำนาจของจีน แต่ก็มีทางเลือกไม่มากนักในการจัดการกับการปรับโครงสร้างการไหลของแม่น้ำข้ามพรมแดนของจีนนอกเหนือจากการเน้นย้ำให้เห็นชัดถึง การกระทำโดยฝ่ายเดียวของจีน

กิจกรรมต้นน้ำของจีนได้จุดชนวนให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันในรัฐชายแดนของอินเดียและสร้างมลพิษต่อเส้นทางสายหลักของแม่น้ำพรหมบุตรอย่างแม่น้ำซีอัง ซึ่งครั้งหนึ่งเคยใสบริสุทธิ์ เขื่อนใหญ่พิเศษของจีนใกล้กับชายแดนอินเดียอาจก่อให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงในระดับมากกว่าที่เห็นในลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งเกิดความแห้งแล้งบ่อยมากขึ้นเนื่องจากเครือข่ายเขื่อนยักษ์ของจีน เขื่อนต่าง ๆ เหล่านั้นยังทำความเสียหายต่อความหลากหลายทางชีวภาพและการประมง โดยเป็นการขัดขวางวงจรน้ำท่วมประจำปีของแม่น้ำโขงและขัดขวางการไหลของตะกอนที่อุดมไปด้วยสารอาหารจากเทือกเขาหิมาลัย แต่เขื่อนเหล่านั้นก็ได้ช่วยให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนใช้ประโยชน์จากการควบคุมที่ต้นน้ำเพื่อสร้างอิทธิพลต่อนโยบายของประเทศปลายน้ำต่าง ๆ จีนไม่มีสนธิสัญญาทางน้ำกับประเทศลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง รายงานล่าสุดระบุว่า แม้ว่าในช่วงปลาย พ.ศ. 2563 จีนจะตกลงแบ่งปันข้อมูลตลอดทั้งปีกับคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นองค์กรปกครองส่วนภูมิภาค แต่จีนยังไม่ได้แสดงให้เห็นถึงระดับความโปร่งใสที่กำหนดหรือข้อมูลที่ทันเวลาเพียงพอสำหรับประเทศปลายน้ำในการจัดการกระแสน้ำ

เนื่องจากพรรคคอมมิวนิสต์จีนทำให้การควบคุมและการจัดการกระแสน้ำในแม่น้ำกลายเป็นจุดหนุนสำคัญของอำนาจของจีน อินโดแปซิฟิกจึงกลายเป็นจุดที่มีแนวโน้มที่จะเกิดความขัดแย้งทางน้ำมากที่สุด รัฐบาลจีนมีอำนาจทางการเงิน การค้า และอำนาจทางการเมือง เหนือประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศอยู่แล้ว ตอนนี้ ด้วยการดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งการควบคุมอย่างไม่สมดุลเหนือแม่น้ำข้ามพรมแดน จีนมุ่งที่จะไขว่คว้าทรัพยากรจากอินโดแปซิฟิก

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button