ความร่วมมือปัญหาหลักภัยคุกคามที่ไม่มีต้นแบบแน่นอนระดับภูมิภาคเรื่องเด่นเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ

การป้องปรามแบบบูรณาการ

การทบทวนแนวทางเชิงยุทธศาสตร์เพื่อ ตอบโต้ปฏิบัติการพื้นที่สีเทาของจีน

น.อ. (เกษียณอายุราชการ) อาเธอร์ เอ็น. ตูลัก/กองทัพบกสหรัฐฯ

น พ.ศ. 2557 ทั่วโลกได้รู้จักกับสงครามรูปแบบใหม่ที่ดำเนินการในระดับที่ต่ำกว่าความขัดแย้งที่มีการใช้อาวุธ เมื่อรัสเซียใช้มาตรการที่เรียกว่า “สงครามลูกผสม” เพื่อเข้ายึดคาบสมุทรไครเมียจากยูเครน อย่างไรก็ตาม วิธีการที่คล้ายกันนี้เคยถูกนำมาใช้แล้วสองปีก่อนหน้า ในตอนที่สาธารณรัฐประชาชนจีนใช้กำลังในการยึดสันดอนสกาโบโรห์จากฟิลิปปินส์ และจากนั้นได้รณรงค์อย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปีเพื่อพิชิตดินแดนโดยใช้กองเรือขุดลอกทางทะเลที่ใหญ่ที่สุดในโลกในการสร้างสิ่งปลูกสร้างเทียมในทะเลจีนใต้ ซึ่งทำให้จีนมี “ดินแดนอธิปไตยสีน้ำเงิน” ในรูปแบบของห่วงโซ่ฐานทัพทางทหารที่สร้างขึ้นบนพื้นที่ซึ่งมาจากการถมทะเล เนื่องจากได้รับผลประโยชน์จากการกระทำดังกล่าวมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยปราศจากการต่อต้านอย่างมีนัยสำคัญ จึงทำให้คอมมิวนิสต์จีนแสดงออกถึงความตั้งใจและความพร้อมมากขึ้นที่จะหันไปใช้กำลังที่เลวร้ายในการบีบบังคับเพื่อนบ้านของตนให้ยอมจำนนต่อการรณรงค์ขยายดินแดน จีนกระทำการดังกล่าวผ่านการดำเนินการอย่างก้าวร้าวในปฏิบัติการทางอธิปไตยเหนือดินแดน ปฏิบัติการบีบบังคับที่ดำเนินการโดยหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย กองกำลังกึ่งทหารและกองกำลังทหาร รวมถึงการใช้องค์ประกอบของหลักการและยุทธศาสตร์ “สงครามไร้ขีดจำกัด” และ “สงครามทั้งสามแบบ” ของตน ในช่วงสองปีที่ผ่านมาภายใต้การนำของนายสี จิ้นผิง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน และประธานคณะกรรมาธิการทหารส่วนกลาง จีนได้ยกระดับการใช้กำลังทหารอย่างเลวร้ายทั้งที่ขู่และดำเนินการจริง ตลอดทั้งพื้นที่รอบนอกทางตอนใต้และตะวันออก ซึ่งกองกำลังอินเดีย ญี่ปุ่น และไต้หวันได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญที่สุด

นอกจากนี้ใน พ.ศ. 2557 รัสเซียยังใช้สงครามลูกผสมในการแบ่งแยกเขตตะวันออกในภูมิภาคลูฮันสก์และโดเนตสก์ของยูเครน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสงครามในระยะแรกระหว่างรัสเซียกับยูเครน เมื่อไม่นานมานี้ รัสเซียใช้เวลาหนึ่งปีในการวางกำลังทางทหารขู่ตามชายแดนของตนที่ติดกับยูเครน เพื่อบีบบังคับให้ยูเครนยอมถอยจากการย้ายไปเข้าร่วมกับชาติตะวันตก ซึ่งท่าทีดังกล่าวได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นปฐมบทสู่การเริ่มต้นการรุกรานทางทหารตามแบบแผนของประเทศที่มีอธิปไตยในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 สำหรับจีนและรัสเซีย การแสดงให้เห็นว่าพวกเขาตั้งใจที่จะใช้กำลังนั้นถือเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายที่มีร่วมกันในการข่มขู่พันธมิตรและหุ้นส่วนของสหรัฐอเมริกา การรุกรานของทั้งสองประเทศนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้พันธมิตรและหุ้นส่วนสูญเสียศรัทธาในขีดความสามารถและเจตจำนงแห่งชาติของสหรัฐฯ ที่ว่าจะปฏิบัติตามสนธิสัญญาและข้อตกลงทางกลาโหมที่มีร่วมกัน การคุกคามด้วยกำลังดังกล่าวยังมุ่งหมายที่จะบีบให้สหรัฐฯ และประเทศอื่น ๆ ค่อย ๆ ยอมจำนนต่อการรุกรานและการบีบบังคับของจีน

ท้ายที่สุดแล้ว การรณรงค์เพื่อพิชิตดินแดนของจีนก็มีไต้หวันซึ่งเป็นเกาะที่ปกครองตนเองรวมอยู่ด้วย และในขณะเดียวกัน เป้าหมายของรัสเซียได้เริ่มจากยูเครนและอาจรวมไปถึงรัฐอื่น ๆ ที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตหรือรัฐบริวารของสนธิสัญญาวอร์ซอ เนื่องด้วยความรุกรานที่เพิ่มมากขึ้นนี้ จีนและรัสเซียต่างพยายามสร้างผลกระทบของการป้องปรามและการบีบบังคับเพื่อรักษาผลประโยชน์ทางดินแดนของตน และสร้างโอกาสในการรุกรานต่อไปในสภาพแวดล้อมการด้านดำเนินการและข้อมูลข่าวสาร

ภายหลังความสำเร็จตลอดเกือบทศวรรษของจีนและรัสเซียในการใช้กองกำลังทหาร กองกำลังกึ่งทหาร หน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย และวิธีการทางการพาณิชย์ที่ปราศจากความขัดแย้งที่มีการใช้อาวุธ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อยุทธวิธีพื้นที่สีเทา ตลอดจนการบีบบังคับทางทหารต่อประเทศเพื่อนบ้าน ถึงเวลาแล้วที่จะทบทวนแนวทางเชิงยุทธศาสตร์เพื่อรับมือกับความท้าทายดังกล่าวและวิธีการที่จะใช้ป้องปรามทั้งสองประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น การป้องปรามตามแบบแผนได้กลับมามีความสำคัญอย่างต่อเนื่องในแวดวงการทหาร รัฐบาล และวิชาการ เหมือนที่เคยเป็นในช่วงสงครามเย็นกับสหภาพโซเวียต ในช่วงสองปีที่ผ่านมา โลกได้เห็นด้วยตาตนเองถึงความซับซ้อนของการป้องปรามที่แสนท้าทายซึ่งเกิดจากการใช้ประโยชน์จากพื้นที่สีเทาของมหาอำนาจฝ่ายตรงข้าม ซึ่งอาจก่อให้เกิดความคลางแคลงใจต่อประสิทธิภาพของการป้องปรามตามแบบแผนของสหรัฐฯ ได้ ฝ่ายตรงข้ามกำลังใช้การกระทำที่ต่ำกว่าเกณฑ์ของความขัดแย้งเพื่อบรรลุเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ และอาจดำเนินการอย่างก้าวร้าวและสั่งสมผลประโยชน์ได้ก่อนที่สหรัฐฯ และพันธมิตรจะสามารถตอบโต้ได้

เรือของกองกำลังรักษาชายฝั่งจีนได้ทำการยิงปืนฉีดน้ำเมื่อเผชิญหน้ากับชาวประมงของฟิลิปปินส์ใกล้กับสันดอนสกาโบโรห์ในทะเลจีนใต้ สาธารณรัฐประชาชนจีนได้ใช้กำลังยึดสันดอนดังกล่าวจากฟิลิปปินส์ ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

สำหรับผู้สังเกตการณ์บางคน การป้องปรามดูจะอ่อนแอลงจากอำนาจทางเศรษฐกิจ ความสามารถทางการทหาร และเจตจำนงแห่งชาติของสหรัฐฯ ที่ลดลงอย่างแท้จริงหรือที่รับรู้ได้ ในฐานะสมาชิกวุฒิสภา นายจิม อินโฮเฟ และนายแจ็ค รีด ได้เตือนในบทวิจารณ์เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2563 บนเว็บไซต์ วอร์ ออน เดอะร็อกส์ ว่า “รากฐานการป้องปรามของอินโดแปซิฟิกในปัจจุบันนั้นกำลังพังทลายลง ในขณะเดียวกัน จีนที่รุกรานมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็ยังคงปรับปรุงกองทัพให้ทันสมัยอย่างครอบคลุม” นางมิเคเล ฟลัวร์นอย อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ฝ่ายนโยบาย ได้แสดงถึงความกังวลเหล่านี้ในหนึ่งเดือนต่อมา โดยเขียนลงในนิตยสารฟอเรนอัฟแฟร์สว่า เนื่องจาก “การผสมผสานที่แสนอันตรายอย่างไม่เคยมีมาก่อนของการรุกรานที่เพิ่มขึ้นและความแข็งแกร่งทางการทหารของจีน รวมถึงการที่สามารถทำลายการป้องปรามของสหรัฐฯ” ความเสี่ยงของสงครามจึง “สูงขึ้นกว่าที่เคยผ่านมาตลอดหลายทศวรรษ”

สื่อสารผ่านการรุกราน

จีนและรัสเซียกำลังจะบรรลุวัตถุประสงค์ทางการทหารตามแบบแผนในช่วงปลอดสงครามผ่านการทำสงครามพื้นที่สีเทา ซึ่งเป็นการต่อสู้คล้ายกับสงครามเย็นที่อาจจะมีการใช้ และได้ใช้ กองกำลังทหาร ระบอบเผด็จการทั้งสองประเทศได้แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจที่พร้อมจะใช้กองกำลังทหารเป็นหลักประกันรองรับปฏิบัติการในพื้นที่สีเทาและเพื่อเป็นการบีบบังคับ ซึ่งอาจเรียกวิธีนี้ได้ว่าเป็นการสื่อสารผ่านการรุกราน หรือรูปแบบที่รุนแรงซึ่งแสดงถึงความกระหายสงครามและความจองหองที่มุ่งหมายจะทำให้เป้าหมายที่เล็งไว้รู้สึกกลัวความรุนแรงและการบีบบังคับที่มากขึ้น จนต้องป้องปรามและปิดกั้นการดำเนินการของตนเอง จีนและรัสเซียพยายามแสดงให้เห็นถึงเจตจำนงที่เหนือกว่าในความพร้อมที่จะใช้กำลังเพื่อให้ฝ่ายตรงข้ามและผู้มีบทบาทที่เกี่ยวข้องยอมรับการอ้างสิทธิ์ในดินแดนของตนและหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า

วิธีการบีบบังคับอาจรวมถึงปฏิบัติการข่าวกรองลับ ปฏิบัติการทางไซเบอร์ การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ การแทรกแซงการเลือกตั้ง การใช้กองกำลังพลเรือนติดอาวุธทางทะเล การให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่ฝ่ายตรงข้าม การโฆษณาชวนเชื่อ มาตรการลงโทษทางการเมือง การแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากร การสนับสนุนฝ่ายค้านทางการเมืองภายในประเทศ และข้อจำกัดทางการค้า การสกัดกั้น (การสั่งห้าม) หรือการชักใยทางการเมือง รวมถึงการดำเนินการในรูปแบบอื่น ๆ

กองทัพปลดปล่อยประชาชนได้ดำเนินการรุกล้ำเพื่อบีบบังคับทั้งพื้นที่ทางอากาศ ทางบก และทางทะเลของเพื่อนบ้านของจีนอย่างไม่ลดละ เพื่อทำลายฝ่ายตรงข้ามและสร้างมาตรฐานใหม่ของ “ระดับปกติ” สำหรับการยั่วยุดังกล่าว นอกจากนี้ยังปรับปรุงเงื่อนไขต่าง ๆ เพื่อให้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดทางทหารและจุดยิงขีปนาวุธที่ใกล้กว่าเดิมสำหรับการเคลื่อนไหวที่ก้าวร้าวมากยิ่งขึ้น

ในกรณีของไต้หวัน การรุกล้ำของกองทัพปลดปล่อยประชาชนมีเจตนาเพื่อขัดขวางไม่ให้รัฐบาลประกาศความเป็นเอกราชของเกาะแห่งนี้อย่างเป็นทางการ ในขณะเดียวกันก็ลดทอนความรู้สึกและทำให้เสื่อมเสียเกียรติในทหารและพลเรือนของไต้หวัน อีกทั้งก่อให้เกิดความเหนื่อยล้าและความเครียดในบุคลากรและระบบสู้รบของไต้หวัน การสำแดงแสนยานุภาพของจีนพยายามลดทอนเจตจำนงของประเทศเป้าหมายในการดำเนินมาตรการ ซึ่งจะทำให้การดำเนินการทางการเมืองลดลง ท่าทีดังกล่าวที่แสดงให้เห็นนั้นมีจุดประสงค์เพื่อปลูกฝังความกลัว ความคลางแคลงใจ และความกังวลเพื่อทำให้ความมุ่งมั่นของไต้หวันอ่อนแอลง ใน พ.ศ. 2564 และในช่วงครึ่งปีแรกของ พ.ศ. 2565 จำนวนครั้งในการรุกล้ำของกองทัพปลดปล่อยประชาชนในเขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศของไต้หวันและจำนวนเครื่องบินในแต่ละภารกิจนั้นเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก โดยมีการรุกล้ำเกือบทุกวันใน พ.ศ. 2564

เครื่องบินขับไล่ เอฟ-16 ของกองทัพอากาศไต้หวันได้เฝ้าสังเกตการณ์เครื่องบินทิ้งระเบิดของจีนขณะที่บินเข้ามาใกล้ไต้หวัน ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

ชัยชนะในพื้นที่สีเทาของศัตรูทำให้การป้องปรามถูกทำลายจนไม่เหลือชิ้นดี และยังเพิ่มความเชื่อมั่นอย่างต่อเนื่องว่าพวกตนจะสามารถเอาชนะเดิมพันที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิมในสงครามตามแบบแผนได้ เนื่องจากรูปแบบการป้องปรามตนเองของสหรัฐฯ ถูกมองว่าเปราะบางและไม่มีประสิทธิภาพ การตอบโต้ต่อการรุกรานพื้นที่สีเทาที่ไม่ดีพอถือเป็นการเชื้อเชิญให้เกิดการรุกรานขึ้นอีกในอนาคต ดังที่นายเอลเลียต เอบรามส์ อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ และรองที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ เขียนไว้ในบทความของนิตยสารเนชันแนลรีวิว ประจำเดือนมีนาคม พ.ศ. 2565 โดยมีหัวข้อว่า “สงครามเย็นครั้งใหม่”

นอกจากนี้ นายเดวิด ซานโตโร และนายแบรด กลอสเซอร์แมน นักวิเคราะห์ด้านการทหารและนโยบาย ยังได้ตั้งข้อสังเกตว่า เนื่องจากปฏิบัติการในพื้นที่สีเทายังคงดำเนินต่อไปและไม่มีใครต่อต้าน จีนและรัสเซียจึงสามารถทำให้พันธมิตรของสหรัฐฯ ตื่นตระหนกและมีส่วนทำให้เกิดความรู้สึกว่าการป้องปรามของสหรัฐฯ กำลังเสื่อมถอย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อปฏิบัติการดังกล่าวทำให้เกิดการเสียชีวิตหรือเป็นภัยต่อชีวิต เช่น การสู้รบด้วยมือเปล่าที่เริ่มขึ้นโดยทหารของกองทัพปลดปล่อยประชาชนตามแนวชายแดนของจีนและอินเดียใน พ.ศ. 2563 ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 63 คน และบาดเจ็บกว่า 40 คน นอกจากนี้ใน พ.ศ. 2562 ยังมีการพุ่งชนและจมเรือประมงฟิลิปปินส์ด้วยน้ำมือเรือประมงจีนที่มีการสงสัยว่าเป็นส่วนหนึ่งของกองกำลังพลเรือนติดอาวุธทางทะเลของกองทัพปลดปล่อยประชาชน ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ลูกเรือฟิลิปปินส์ 22 คนลอยเคว้งอยู่ในน้ำก่อนที่จะได้รับการช่วยเหลือจากเรือประมงเวียดนาม

แล้วเราจะสามารถป้องปรามปฏิบัติการและการบีบบังคับในพื้นที่สีเทาของฝ่ายตรงข้ามอย่างไรได้บ้าง?

“โดยทั่วไปแล้ว ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์พลเรือนและการทหารชาวอเมริกันจะนึกถึงการป้องปรามสองรูปแบบ คือ การป้องปรามสงครามตามแบบแผนหรือสงครามนิวเคลียร์” พล.ท. เจมส์ ดูบิก ที่เกษียณอายุราชการจากกองทัพบกสหรัฐฯ เขียนไว้ในบทความของสมาคมกองทัพบกสหรัฐอเมริกาเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2565 อย่างไรก็ตาม ยังมีรูปแบบที่สามของการป้องปรามอยู่ นั่นก็คือ “การป้องปรามศัตรูของเราไม่ให้บรรลุเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ด้วยวิธีการที่ต่ำกว่าเกณฑ์ของสงครามตามแบบแผน” พล.ท. ดูบิก กล่าว

รายงานเมื่อ พ.ศ. 2562 ในหัวข้อ “การทบทวนถึงการป้องปรามในยุคของการแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์” ซึ่งกล่าวถึงความจำเป็นในการ บูรณาการการป้องปรามรูปแบบที่สามนี้ นายซานโตโร นายเบรนแดน โทมัส-นูน และนายแอชลีย์ ทาวน์เซนด์ ได้เขียนรายงานให้กับศูนย์สหรัฐศึกษาในซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ผู้เขียนทั้งสามท่านโต้แย้งว่าลักษณะของการแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ในอินโดแปซิฟิกนั้น “ต้องการแนวทางใหม่ ๆ ในการป้องปรามสำหรับสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย รวมถึงเหล่าพันธมิตรและหุ้นส่วน” ผู้เขียนยังเจาะจงเรียกร้องให้ใช้ยุทธศาสตร์เชิงรุกมากขึ้นเพื่อป้องปรามการบีบบังคับในพื้นที่สีเทา ที่สามารถ “ต่อต้าน ปฏิเสธ หรือลงโทษการบีบบังคับในแบบบูรณาการ”

แนวทางการป้องปรามที่ ‘ชัดเจน’

ยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิกของสหรัฐฯ ที่เปิดเผยโดยคณะรัฐบาลของนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 ได้อธิบายถึงแนวคิดของการป้องปรามแบบบูรณาการที่ประกาศโดยนายลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ใน พ.ศ. 2564 ยุทธศาสตร์นี้ได้รวมแนวคิดการป้องปรามการดำเนินการและการบีบบังคับในพื้นที่สีเทา ซึ่งทำให้ประเด็นนี้มีความโดดเด่นมากขึ้นกว่าในยุทธศาสตร์ฉบับ พ.ศ. 2562 ยุทธศาสตร์ฉบับ พ.ศ. 2562 รับรู้ว่ากิจกรรมในพื้นที่สีเทาของจีนได้เปลี่ยนแปลงจุดยืนด้านความมั่นคงไปไม่น้อย แต่ไม่ได้เรียกร้องให้มีการป้องปรามกิจกรรมดังกล่าว ยุทธศาสตร์ดังกล่าวเน้นย้ำว่าพันธมิตรและหุ้นส่วนนั้นคือตัวคูณกำลังรบ จากมุมมองของการป้องปรามและการสู้รบ ผลกระทบที่ปรากฏชัดนี้เกิดขึ้นจากความสามารถของพันธมิตรและหุ้นส่วนในการดำเนินการควบคู่ไปกับกองกำลังร่วมของสหรัฐฯ อย่างราบรื่น อันเป็นผลมาจากความพยายามและการลงทุนเพื่อสร้างและรักษาการทำงานร่วมกันในระบบยุทธวิธี การสื่อสาร และอาวุธ

เครื่องบินทิ้งระเบิด บี-2 สปิริตของกองทัพอากาศสหรัฐฯ บินเป็นหมู่ร่วมกับเครื่องบินขับไล่ของกองทัพอากาศออสเตรเลียและกองทัพอากาศสหรัฐฯ ในระหว่างภารกิจการฝึกอบรมทวิภาคีในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2565 เพื่อสนับสนุนอินโดแปซิฟิกที่เสรีและ
เปิดกว้าง จ.อ. เฮลีย์ ฮักซ์/กองทัพอากาศสหรัฐฯ

นายออสตินกล่าวถึงความสำคัญของพันธมิตรและหุ้นส่วนในยุทธศาสตร์ใหม่นี้ โดยอธิบายว่า “การป้องปรามแบบบูรณาการยังหมายถึงการทำงานร่วมกับหุ้นส่วนเพื่อป้องปรามการบีบบังคับและการรุกรานในระดับต่าง ๆ ของความขัดแย้ง ซึ่งรวมถึงส่วนที่เรียกว่าพื้นที่สีเทาด้วย” ยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิกของสหรัฐฯ พ.ศ. 2565 เรียกร้องให้มีการพัฒนา “โครงการริเริ่มที่ให้การสนับสนุนการป้องปรามและต่อต้านการบีบบังคับ เช่น การขัดขวางความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงอาณาเขตในดินแดนหรือบ่อนทำลายสิทธิของประเทศที่มีอำนาจอธิปไตยทางทะเล” นอกจากนี้ ยังมีแผนปฏิบัติการที่จะดำเนินการให้สำเร็จภายในต้น พ.ศ. 2567 อีกด้วย ทำให้รู้สึกถึงความเร่งด่วนและฉับไวของโครงการ

แรงผลักดันที่สำคัญสำหรับการป้องปรามแบบบูรณาการคือความจำเป็นในการจัดการความเสี่ยงของผลกระทบที่ไม่คาดคิดและผลลัพธ์ของปฏิบัติการป้องปรามที่ไม่ได้รับการบูรณาการอย่างเต็มรูปแบบทั่วทั้งรัฐบาลสหรัฐฯ รวมถึงพันธมิตรและหุ้นส่วน “ความพยายามในการป้องปรามของสหรัฐฯ ที่มุ่งเน้นไปยังผู้ที่มีโอกาสเป็นฝ่ายตรงข้ามเพียงหนึ่งรายอาจส่งผลกระทบลำดับที่สองและสามที่ไม่พึงประสงค์และไม่คาดคิดต่อการรับรอง การห้ามปราม และความพยายามในการป้องปรามของเราที่มุ่งเน้นไปยังผู้กระทำการรายอื่น ๆ” กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ระบุไว้ใน “ปฏิบัติการป้องปราม: แนวคิดการปฏิบัติการร่วม” พ.ศ. 2549 ศูนย์บัญชาการรบทางภูมิศาสตร์ต่าง ๆ ของกองทัพสหรัฐฯ ต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่ามี การบูรณาการการป้องปรามร่วมกัน เช่นเดียวกับพันธมิตรและหุ้นส่วนในพื้นที่รับผิดชอบของตน เช่น กองบัญชาการสหรัฐฯ ภาคพื้นอินโดแปซิฟิก ประสบภัยคุกคามร่วมกันจากรัสเซีย ซึ่งแน่นอนว่าประเด็นนี้จะเป็นจุดสนใจหลักของกองบัญชาการสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นยุโรป และกองบัญชาการยุทธศาสตร์สหรัฐฯ ในขณะเดียวกัน บทบาทของจีนซึ่งกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทั่วโลกก็จำเป็นต้องให้ศูนย์บัญชาการรบทั้งหมดมีส่วนร่วมในความพยายามในการป้องปรามแบบบูรณาการที่นำโดยกองบัญชาการสหรัฐฯ ภาคพื้นอินโดแปซิฟิก

การนำการป้องปรามแบบบูรณาการมาปรับใช้โดยมุ่งเน้นไปยังการดำเนินการและการบีบบังคับในพื้นที่สีเทา จำเป็นต้องมีการพัฒนาแนวคิดและวัตถุประสงค์ระดับยุทธบริเวณที่ชัดเจนซึ่งกำหนดเป้าหมายไปยังพฤติกรรมของจีนและรัสเซีย แนวคิดการปฏิบัติการร่วมของสหรัฐฯ พ.ศ. 2549 มีแนวทางและกรอบการทำงานเพื่อพัฒนาวัตถุประสงค์ในการป้องปรามและปฏิบัติการป้องปรามที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งยังได้ระบุถึงภัยคุกคามของปฏิบัติการพื้นที่สีเทาโดยเฉพาะ โดยอธิบายว่าโครงสร้างการป้องปรามต้องมีความยืดหยุ่นเพื่อใช้ป้องกัน “โอกาสที่ฝ่ายตรงข้ามจะเข้าใจผิดว่าการกระทำของตนเอง ‘ต่ำกว่าขอบเขตเรดาร์’ ของการแก้ไขและการตอบสนองของสหรัฐฯ”

นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ หารือเกี่ยวกับ ยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิกของสหรัฐฯ ฉบับใหม่ระหว่างการปราศรัย ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

การเปลี่ยนแปลงการรับรู้เหล่านี้จำเป็นต้องมีความชัดเจนของการสื่อสารและการปฏิบัติการเพื่อตอบโต้และลดทอนการดำเนินการในพื้นที่สีเทา ในด้านการดำเนินการตามแนวคิดการป้องปราม ดร. มาร่า คาร์ลิน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ฝ่ายยุทธศาสตร์ แผนงาน และขีดความสามารถ ได้โต้แย้งว่ากิจกรรมการป้องปราม “ต้องเกิดขึ้นเป็นประจำ เพื่อให้กระทรวงกลาโหมได้พิจารณาถึงผลกระทบจากการตัดสินใจที่เกี่ยวข้องกับการป้องปรามเป็นประจำ” ประการที่สอง กิจกรรมเหล่านั้นต้อง “เข้มงวดเพื่อให้แน่ใจว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเคารพผลการวิจัย แม้ว่าจะไม่เห็นด้วยก็ตาม” และประการสุดท้าย กิจกรรมต้องมีความชัดเจน” พล.ร.อ. แซม ปาปาโร ผู้บัญชาการกองเรือสหรัฐฯ ภาคพื้นแปซิฟิก กล่าวในการประชุมสัมมนากองทัพเรือทางทะเล อากาศ และอวกาศเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2565 ว่าการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพเกี่ยวกับ
ข้อความการป้องปรามของสหรัฐฯ เป็นแนวทางปฏิบัติการที่ “ครอบคลุม” ความพยายามในการป้องปรามทั้งหมดในแง่ของการเปลี่ยนแปลงการรับรู้ของฝ่ายตรงข้ามเกี่ยวกับเจตจำนงและขีดความสามารถของชาติ พันธมิตร และแนวร่วม

แนวคิดการปฏิบัติการร่วมตอกย้ำประเด็นนี้ โดยอธิบายว่าการป้องปรามจะต้องนำไปผสานเข้ากับปฏิบัติการประจำวัน ซึ่งหมายความว่าจะต้องสะท้อนให้เห็นในแผนการรณรงค์และคำสั่ง แผนรับมือวิกฤต และทุกขั้นตอนของการวางแผนด้านความขัดแย้ง เอกสารของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ระบุชัดเจนว่ากิจกรรมรณรงค์ในช่วงเวลาสงบศึกควรเป็นองค์ประกอบสำคัญในการปฏิบัติการป้องปราม และปฏิบัติการป้องปรามในช่วงปราศจากสงครามต้องสามารถ “ดำเนินต่อไปจนถึงช่วงวิกฤตการณ์ ความขัดแย้งที่มีการใช้อาวุธ การยกระดับ/ลดระดับ การยุติสงคราม และกิจกรรมหลังการทำสงคราม”

การบูรณาการพร้อมกับองค์ประกอบอื่น ๆ ของพลังอำนาจแห่งชาติและพร้อมกับพันธมิตรเป็นสิ่งจำเป็นต่อการทำให้ฝ่ายตรงข้ามต้องเผชิญความท้าทายที่หลากหลายในเวลาเดียวกัน หากองค์ประกอบทางทหารของอำนาจไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการป้องปรามแบบบูรณาการในวงกว้างอย่างชัดเจน “ก็เป็นไปได้ยากที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของจีนโดยใช้ปฏิบัติการต่าง ๆ เช่น การแสดงให้เห็นถึงกองกำลัง ปฏิบัติการและการฝึกแบบพหุภาคีด้านเสรีภาพในการเดินเรือ และความสัมพันธ์ทางทหารกับผู้นำจีน” น.อ. โทมัส เอ. โดรฮาน ที่เกษียณอายุราชการจากกองทัพอากาศสหรัฐฯ ระบุในทำนองเดียวกัน ปฏิบัติการป้องปรามที่ไม่ได้สร้างขึ้นบนวิธีการทางทหารซึ่งไม่ได้รับการส่งเสริมจากองค์ประกอบของอำนาจทางการทหารที่ชัดเจน รับรู้ได้ และเกี่ยวข้อง มีแนวโน้มที่จะล้มเหลว เช่น การตอบโต้สงครามกฎหมายหรือการต่อสู้ทางกฎหมายของจีนโดยอ้างถึงบรรทัดฐานและกฎหมายระหว่างประเทศ ไม่สามารถป้องปรามการขยายอาณาเขตได้ นางออเรเลีย จอร์จ มัลแกน ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองญี่ปุ่นและปัญหาด้านความมั่นคงในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือแห่งมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย ระบุไว้ในบทความของนิตยสารเดอะ ดิโพลแมต

ในทำนองเดียวกัน เราจำเป็นต้องใช้แนวทางแบบบูรณาการในการตอบโต้กิจกรรมในพื้นที่สีเทา เช่น การประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุมโดยกองเรือประมงขนาดใหญ่ของจีน ซึ่งเป็นผู้กระทำผิดที่ร้ายแรงที่สุดในโลก ตามรายงานของโครงการริเริ่มระดับโลกเพื่อต่อต้านองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติที่ตั้งอยู่ในกรุงเจนีวา ในการต่อสู้กับสงครามทางเศรษฐกิจรูปแบบนี้ สหรัฐฯ จะใช้การรวมกำลังแบบปรับได้ซึ่งรวมอำนาจทางทหารของกองทัพเรือสหรัฐฯ กับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของกองกำลังรักษาชายฝั่งสหรัฐฯ ซึ่งจะแสดงกิจกรรมและขีดความสามารถในการป้องปรามที่เห็นได้ชัดเจน

หน่วยทหารของกองทัพไต้หวันดำเนินการฝึกซ้อมด้วยกระสุนจริงเพื่อป้องปรามกองกำลังยกพลขึ้นบกทางชายฝั่งในระหว่างการฝึกฮันกวง เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2564 การฝึกซ้อมเป็นเวลา 5 วันนี้เป็นการเตรียมความพร้อมให้แก่กองทัพเพื่อรับมือกับการรุกรานไต้หวันของสาธารณรัฐประชาชนจีนที่อาจเกิดขึ้น ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

องค์ประกอบอำนาจในทางทหารมีความสำคัญต่อทุกยุทธศาสตร์การป้องปราม กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ระบุว่า จีนถือเป็น “ความท้าทายอันดับ 1” สำหรับสหรัฐฯ และใน พ.ศ. 2563 ก็ได้เปิดเผยโครงการริเริ่มการป้องปรามในแปซิฟิก เพื่อระบุและปรับใช้จุดยืนและขีดความสามารถของกองกำลังที่จำเป็นสำหรับการป้องปรามในภูมิภาคนี้ ฝ่ายตรงข้ามจะประเมินประสิทธิภาพในการเปลี่ยนแปลงจุดยืนของกองกำลังและการปรับปรุงขีดความสามารถ แต่องค์ประกอบทางทหารของการป้องปรามจะต้องมีความชัดเจน ซึ่งอาจได้รับการแสดงออกในรูปแบบของกองกำลังภาคสนาม การฝึกซ้อมระดับทวิภาคีและพหุภาคี (และการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้เข้าร่วมในการทำงานร่วมกัน) การแสดงให้เห็นถึงขีดความสามารถที่เกี่ยวข้องในการทดลองและการฝึกซ้อม รวมถึงการลงทุนทางการเงินในขีดความสามารถในการสู้รบที่สำคัญ ประการสุดท้ายจะเห็นได้ชัดในการระดมทุนของรัฐบาลสหรัฐฯ ในโครงการริเริ่มการป้องปรามในแปซิฟิก เพื่อยกระดับจุดยืนของกองกำลัง การฝึกอบรมหลายมิติ
การทดลอง และการป้องกันขีปนาวุธระดับยุทธบริเวณ

กรอบการทำงานสำหรับความร่วมมือ

ความร่วมมือกับประเทศที่มีอุดมการณ์เดียวกันมีความสำคัญต่อความมั่นคงระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับโลก ยุทธศาสตร์
อินโดแปซิฟิก พ.ศ. 2562 ได้มุ่งเน้นถึงความจำเป็นในการบูรณาการการมีส่วนร่วมของพันธมิตรและหุ้นส่วนไว้ในความมั่นคงโดยรวม ด้วยยุทธศาสตร์ดังกล่าว สหรัฐฯ มุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างความเป็นพันธมิตรและความร่วมมือให้มีมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็พยายามพัฒนากรอบความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกันเพื่อยกระดับความมั่นคงโดยรวม ในรายงานของศูนย์สหรัฐอเมริกาศึกษาในปีนั้น นายซานโตโร โทมัส-นูน และนายทาวน์เซนด์ระบุว่า หากความพยายามและปฏิบัติการด้านการป้องปรามได้รับการประสานงานและบูรณาการร่วมกับพันธมิตรและหุ้นส่วนแล้ว จะสามารถ “ทำให้การดำเนินการของจีนมีค่าใช้จ่ายหลายทางและทำให้ผลกระทบจากยุทธศาสตร์การป้องปรามของแต่ละประเทศเพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณ”

เมื่อ พ.ศ. 2563 นายมาร์ค เอสเปอร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ในขณะนั้น ได้ยกระดับการวางแผนและการกำกับดูแลความพยายามในการสร้างพันธมิตรและความร่วมมือด้วยการเผยแพร่แนวทางการสร้างพันธมิตรและความร่วมมือ แนวทางดังกล่าวระบุถึง “ทิศทางและลำดับความสำคัญพื้นฐานสำหรับการบรรลุแนวทางเชิงยุทธศาสตร์ที่มีการประสานงานกันกับพันธมิตรและหุ้นส่วนของเรา” ตามรายงานของคณะเสนาธิการร่วม ซึ่งวัตถุประสงค์คือเพื่อให้มั่นใจว่ากระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ จะรักษาความได้เปรียบทางยุทธศาสตร์ในระยะยาวผ่านความพยายามในการแข่งขันที่มีการประสานงานกันมากขึ้น โดยใช้ประโยชน์จากจุดแข็งที่มีอยู่เดิมจากความสัมพันธ์ของกระทรวงกลาโหม ประเด็นสำคัญต่าง ๆ ของแนวทาง ได้แก่
การวางแผนสำหรับกองกำลังที่มีการประสานงานกันมากขึ้น “เพื่อช่วยประสานงานด้านการพัฒนากองกำลังของพันธมิตรและหุ้นส่วนเพื่อให้ได้กองกำลังในอนาคตที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น”

กรอบยุทธศาสตร์สหรัฐฯ สำหรับอินโดแปซิฟิกที่พัฒนาขึ้นใน พ.ศ. 2561 โดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ และประกาศใช้ใน พ.ศ. 2564 (ส่วนหนึ่งเพื่อสื่อสารเจตนาของสหรัฐฯ อย่างชัดเจนและป้องปรามจีนไม่ให้รุกรานไต้หวัน) ระบุว่า พันธมิตรที่แข็งแกร่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการป้องปรามการรุกรานและป้องกันไม่ให้เกิดสงครามแบบเปิด นอกจากนี้ยังกล่าวถึงภัยคุกคามจากการบีบบังคับและการโน้มน้าวที่มุ่งร้ายโดยเสนอความช่วยเหลือแก่ประเทศอื่น ๆ ในอินโดแปซิฟิกในการตอบโต้ข่าวกรอง การจารกรรม การลักลอบ และปฏิบัติการโน้มน้าวของจีนต่อดินแดนอธิปไตยของตน ยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิกของสหรัฐฯ พ.ศ. 2565 สร้างขึ้นจากกรอบการทำงานในปัจจุบันและกรอบการทำงานและแนวทางอื่น ๆ
ที่ผ่านมา เพื่ออาศัยขีดความสามารถโดยรวมของพันธมิตรและหุ้นส่วนในการป้องปราม

การป้องปรามแบบบูรณาการจำเป็นต้องลงทุนในการสร้างขีดความสามารถโดยรวมของแต่ละประเทศด้วยทรัพยากรที่สามารถให้การสนับสนุนการร่วมมือกันได้ นายฮัล แบรนด์ส ศาสตราจารย์ด้านกิจการทั่วโลกแห่งวิทยาลัยนานาชาติศึกษาขั้นสูง จอห์นส์ ฮอปกินส์ และอดีตผู้ช่วยพิเศษของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ด้านการวางแผนยุทธศาสตร์ เขียนไว้ในนิตยสารเนชันแนลรีวิว เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2565 ว่า การตอบโต้ความพยายามของจีนในการขยายขอบเขตอิทธิพลนั้นจำเป็นต้องมี “การระดมกำลังระดับพหุภาคีที่ยิ่งใหญ่ยิ่งขึ้นเพื่อต่อต้านอำนาจของจีน แม้ว่าจะต้องแลกมาด้วยความตึงเครียดและการจัดกำลังทหารที่มากขึ้นในเอเชียก็ตาม” ยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิกของสหรัฐฯ พ.ศ. 2565 ได้ขยายขอบเขตของพันธมิตรและหุ้นส่วนที่เกี่ยวข้อง และยอมรับความคาดหวังที่เพิ่มขึ้นสำหรับ “หุ้นส่วนในยุโรป แม้กระทั่งในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งกับจีนมากที่สุดเช่นเดียวกับไต้หวัน” นายวิคราม เจ. สิงห์ ที่ปรึกษาอาวุโสของโครงการสถาบันสันติภาพแห่งเอเชียของสหรัฐฯ ระบุไว้ในบทวิจารณ์บนเว็บไซต์ของสถาบันเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2565 หากต้องมีการบูรณาการความพยายามในการป้องปรามอย่างเต็มรูปแบบ พันธมิตรและหุ้นส่วนต้องมีบทบาทที่โดดเด่นมากขึ้น และสหรัฐฯ ต้องพร้อมที่จะอำนวยความสะดวกให้แก่ความพยายามดังกล่าว

การทำงานร่วมกันก็เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญของ ขีดความสามารถโดยรวมเช่นกัน ดังนั้นจึงส่งเสริมการป้องปรามโดยตรง ยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิกของสหรัฐฯ พ.ศ. 2565 ระบุว่า “สหรัฐอเมริกาจะทำงานร่วมกับพันธมิตรและหุ้นส่วนทั่วทั้งภูมิภาคนี้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการทำงานร่วมกัน รวมถึงพัฒนาและปรับใช้ขีดความสามารถในการทำสงครามขั้นสูง ในขณะที่เราให้การสนับสนุนพวกเขาในการปกป้องพลเมืองและผลประโยชน์ทางอธิปไตย” ตามที่ได้ระบุไว้ก่อนหน้านี้ พันธมิตรและหุ้นส่วนนั้นคือตัวคูณกำลังรบ แนวคิดการปฏิบัติการร่วมของกระทรวงกลาโหมระบุว่า “ผลในการป้องปรามของการประสานงานและการบูรณาการดังกล่าวนั้นมีทั้งทางด้านการเมืองและการทหาร” โดยผลกระทบทางการเมือง “ส่วนใหญ่มาจากผลกระทบที่การตอบโต้ของแนวร่วมมีต่อการรับรู้ของผู้มีอำนาจตัดสินใจฝ่ายตรงข้ามเกี่ยวกับเจตจำนงทางการเมืองของสหรัฐฯ และพันธมิตร”

การวางแผนฉุกเฉินแบบบูรณาการในหมู่พันธมิตรหลักถือเป็นหนึ่งในแนวทางที่แนะนำ เพื่อแสดงให้เห็นถึงการร่วมกันต่อต้าน ความเป็นไปได้ที่จีนจะรุกรานไต้หวัน ความพยายามในการป้องปรามการบีบบังคับของจีนและการดำเนินการในพื้นที่สีเทาจะต้องมีความสมดุล โดยควบคู่ไปกับการป้องปรามภัยคุกคามอื่น ๆ เช่น โอกาสการที่จีนจะกลับมาโจมตีกองทัพอินเดียตามแนวชายแดนเทือกเขาหิมาลัยที่เรียกกันว่าเส้นควบคุมแท้จริง ซึ่งเป็นข้อพิพาทของทั้งสองประเทศ เมื่อพันธมิตรและหุ้นส่วนมีการทำงานร่วมกันที่ดีขึ้น ซึ่งจะกลายเป็นอีกปัจจัยที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนจะต้องพิจารณาในการตัดสินใจว่าจะจุดชนวนให้เกิดสงครามทางเลือกหรือไม่

การเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจ

ความสำคัญของการทำให้ถูกต้องถูกบันทึกไว้ในการสังเกตการณ์เมื่อ พ.ศ. 2561 โดยนายไมค์ มาซาร์ นักวิเคราะห์จากแรนด์คอร์ปอเรชั่น การป้องปรามนั้นล้มเหลวได้ง่ายกว่าการประสบความสำเร็จ เนื่องจากการไม่มีสงครามไม่ได้หมายความว่าการป้องปรามนั้นได้ผล อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดสงครามขึ้น ก็ไม่แปลกที่จะวิเคราะห์ว่ายุทธศาสตร์การป้องปรามนั้นเกิดความผิดพลาดในส่วนใด “สงครามลวง” ที่มีการบีบบังคับโดยการส่งกองกำลังไปตามชายแดนยูเครนของรัสเซียซึ่งกินเวลาร่วมปี ทำให้มีเวลาเพียงพอในการปฏิบัติการและพยายามป้องปรามอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันไม่ให้รัสเซียรุกราน แต่รัสเซียก็ไม่ได้ถูกป้องปรามแต่อย่างใด ในคำให้การต่อหน้าคณะกรรมาธิการกิจการทหารของรัฐสภาสหรัฐฯ ของ พล.อ. ท็อด วอลเตอร์ส ผู้บัญชาการกองบัญชาการสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นยุโรป ได้ยอมรับว่ายุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ในการป้องปรามรัสเซีย
ไม่ให้รุกรานยูเครนนั้นล้มเหลว นายไมค์ กัลลาเกอร์ ผู้แทนสหรัฐฯ ได้โต้แย้งในทำนองเดียวกันต่อหน้าคณะกรรมาธิการและในบทความแสดงความคิดเห็นในหนังสือพิมพ์เดอะวอลล์สตรีทเจอร์นัล

นอกจากปฏิบัติการป้องปรามที่ตั้งอยู่บนฐานของขีดความสามารถและเจตจำนงทางทหารที่น่าเชื่อถือแล้ว สหรัฐฯ ยังต้องสร้างความมั่นใจให้แก่พันธมิตรและหุ้นส่วนว่าตนจะให้การสนับสนุนในการช่วยรับรองความมั่นคงของพวกเขา หากสหรัฐฯ ไม่ตอบโต้ต่อ การดำเนินการและการบีบบังคับในพื้นที่สีเทาของฝ่ายตรงข้าม พันธมิตรและหุ้นส่วนอาจสูญเสียความเชื่อมั่นและรู้สึกสองจิตสองใจที่จะอยู่ฝั่งสหรัฐฯ มากกว่าที่จะยืนหยัดอย่างแน่วแน่ต่อภัยคุกคามทางทหาร เช่น ฟิลิปปินส์ได้สูญเสียการปกครองสันดอนสกาโบโรห์ไปในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2555 หลังจากทำข้อตกลงถอนตัวร่วมกันที่สหรัฐฯ เป็นผู้เจรจา แต่กลับมีเพียงรัฐบาลฟิลิปปินส์ฝ่ายเดียวที่ปฏิบัติตาม จึงเป็นการปล่อยให้จีนได้ครอบครองดินแดนของฟิลิปปินส์ไป ความขัดแย้งที่เริ่มขึ้นเมื่อสองเดือนก่อนหน้านั้น ส่งผลให้เกิดการปรึกษาหารือระหว่างรัฐบาลสหรัฐฯ และรัฐบาลฟิลิปปินส์ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. แต่สหรัฐฯ ก็ยังไม่แสดงความชัดเจนว่าสนธิสัญญาการป้องกันร่วมกันระหว่างสหรัฐฯ และฟิลิปปินส์จะครอบคลุมถึงหมู่เกาะที่ปกครองโดยฟิลิปปินส์ในทะเลจีนใต้หรือไม่ ซึ่งนั่นก่อให้เกิดความคลุมเครือว่าในกรณีที่จำเป็น สหรัฐฯ จะทำการแทรกแซงโดยตรงหรือไม่ ฟิลิปปินส์คาดหวังว่าจะได้รับการสนับสนุนมากกว่านี้และพยายามทำให้สหรัฐฯ มีส่วนร่วมในการแก้ไขวิกฤตดังกล่าวให้มากที่สุด แต่จีนกลับยึดการปกครองสันดอนดังกล่าวหลังจากส่งกองกำลังจำนวนมากมาเพื่อขับไล่เรือของฟิลิปปินส์ ตามรายงานของโครงการริเริ่มเพื่อความโปร่งใสทางทะเลเอเชีย ใน พ.ศ. 2557 กระทรวงกลาโหมจีนระบุต่อสาธารณะว่า สันดอนดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของ “ดินแดนที่เป็นของจีนมาตั้งแต่อดีต” ความล้มเหลวในการรับรองดังกล่าวจะลดทอนความเชื่อมั่นต่อความพยายามป้องปรามที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

เมื่อรับรู้ว่าประเทศพันธมิตรและหุ้นส่วนจะตัดสินความเป็นหุ้นส่วนด้านความมั่นคงของรัฐบาลสหรัฐฯ จากประสบการณ์ที่ผ่านมาของประเทศอื่น ๆ รัฐบาลของประธานาธิบดีไบเดนจึงได้ให้การรับรองถึงคำมั่นสัญญาของสหรัฐฯ เช่น ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2565 นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ให้การรับรองต่อรัฐบาลฟิลิปปินส์ว่า สหรัฐฯ จะเข้ามาปกป้องหากฟิลิปปินส์ถูกโจมตีในทะเลจีนใต้ ตามรายงานของรอยเตอร์ นายบลิงเคนกล่าวว่า สนธิสัญญาการป้องกันร่วมของทั้งสองประเทศนั้นมีความแน่นแฟ้นอย่างยิ่ง “การโจมตีด้วยอาวุธต่อกองทัพฟิลิปปินส์ เรือสาธารณะ และอากาศยานจะนำไปสู่ การปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาการป้องกันร่วมของสหรัฐฯ ภายใต้สนธิสัญญาดังกล่าว” นายบลิงเคนกล่าว “ฟิลิปปินส์เป็นมิตร หุ้นส่วน และพันธมิตรที่ไม่มีสิ่งใดมาทดแทนได้สำหรับสหรัฐฯ”

เพื่อให้การป้องปรามแบบบูรณาการมีประสิทธิภาพสูงสุด จะต้องมีการรณรงค์อย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี โดยมีการประสานงานกับพันธมิตรและหุ้นส่วน รวมถึงได้รับการประเมินและปรับปรุงหลายครั้งเพื่อทำให้กระบวนการคิดและการตัดสินใจที่จะรุกรานของจีนมีความลำบากยิ่งขึ้น ฝ่ายตรงข้ามจำเป็นต้องทราบถึงขีดความสามารถที่มีประสิทธิภาพซึ่งอยู่ในตำแหน่งที่สามารถทำให้เกิดค่าใช้จ่าย ได้รับการปฏิบัติการโดยกองกำลังที่มีความสามารถและได้รับการฝึกอบรม รวมถึงได้รับการสนับสนุนจากเจตจำนงและความมุ่งมั่นระดับชาติที่ชัดเจน ดังที่ พล.อ. แจ็ค คีน ที่เกษียณอายุราชการจากกองทัพบกสหรัฐฯ กล่าวย้ำในระหว่างการออกอากาศทางช่องฟ็อกซ์บิสซิเนส ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2565 ว่า: “เราต้องสร้างการป้องปรามทางทหารที่มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง การมีอำนาจทางทหารในแผนการแต่ไม่ส่งไปยังจุดที่มีภัยคุกคาม ถือว่ายังดีไม่พอ”

“การป้องปรามไม่ได้ ‘เกิดขึ้น’ ในสุญญากาศ” ตามที่แนวคิด การปฏิบัติการร่วมของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ พ.ศ. 2549 ระบุไว้ ต้องมียุทธศาสตร์ที่ได้รับการสนับสนุนจากแนวคิดการปฏิบัติการป้องปรามและวัตถุประสงค์ในการป้องปรามที่ชัดเจน พล.ร.อ. ปาปาโรเน้นย้ำเรื่องนี้ในคำกล่าวของเขาเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2565 ว่า “การป้องปรามไม่ใช่กิจกรรม แต่เป็นผลลัพธ์” และเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการรักษาไว้ซึ่งอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button