ความร่วมมือปัญหาหลักภัยคุกคามที่ไม่มีต้นแบบแน่นอนระดับภูมิภาคเรื่องเด่นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

กองกำลัง พันธมิตร

การฝึกบาลิกาตันประจำปีผลักดันความเป็นพันธมิตรระหว่างฟิลิปปินส์กับสหรัฐฯ สู่ยุคใหม่

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

ในสถานการณ์จำลองด้านการป้องกัน กองทัพฟิลิปปินส์และกองทัพสหรัฐฯ นำระบบขีปนาวุธภาคพื้นดินสู่อากาศหลายระบบขึ้นฝั่งแบบสะเทินน้ำสะเทินบกที่ชายหาดลูซอนทางตอนเหนือของฟิลิปปินส์
จากนั้นจึงลำเลียงขีปนาวุธดังกล่าวไปยังฐานทัพบก นอกชายฝั่งทางตอนเหนือของเกาะลูซอน เฮลิคอปเตอร์แบล็กฮอว์กของฟิลิปปินส์ และเฮลิคอปเตอร์อาปาเช่และชีนุก ของสหรัฐฯ ได้ประสานงานปฏิบัติการ ใช้ดาดฟ้าร่วมกันทั้งในช่วงกลางวันและกลางคืน ในขณะเดียวกันกองกำลังร่วมยังได้ปล่อยบอลลูนในชั้นบรรยากาศจากลูซอนกลางเพื่อฝึกซ้อมสถานการณ์วิกฤตในการระบุเป้าหมายที่อาจเป็นศัตรู

ด้วยกิจกรรมที่แข็งแกร่งเช่นนี้ การฝึกบาลิกาตัน พ.ศ. 2565 ได้ช่วยยกระดับการทำงานร่วมกัน ความเป็นหุ้นส่วน และความเป็นพันธมิตรระหว่างฟิลิปปินส์และสหรัฐฯ ให้ดีขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา การฝึกบาลิกาตันครั้งที่ 37 ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคมถึง 8 เมษายน พ.ศ. 2565 ได้ทำให้ความหมายของวลีภาษาตากาล็อกที่ว่า “เคียงบ่าเคียงไหล่” มีความลึกซึ้งยิ่งขึ้น ตลอดจนแสดงให้เห็นว่าพันธมิตรที่เสริมความแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่องจะช่วยเพิ่มการป้องปรามแบบบูรณาการในอินโดแปซิฟิกได้อย่างไร

แก่นแท้ของการฝึกบาลิกาตันประจำ พ.ศ. 2565 ซึ่งได้แก่ การฝึกบังคับบัญชาและการควบคุมที่สมจริงอย่างไม่เคยมีมาก่อนได้ช่วยวางรากฐานสำหรับการฝึกบาลิกาตันประจำ พ.ศ. 2566 ที่จะเกิดขึ้นต่อไปและมีความล้ำสมัยและซับซ้อนยิ่งขึ้น การฝึกซ้อมโดยรวมแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมากมายของทั้งสองกองทัพ ตลอดจนส่งเสริมความภาคภูมิใจในกองกำลังที่ไม่มีใครเทียบได้ในหมู่กองกำลังที่ประจำการ กองทัพอากาศ กองทัพบก กองกำลังรักษาชายฝั่ง นาวิกโยธิน กองทัพเรือ และหน่วยปฏิบัติการพิเศษของฟิลิปปินส์ร่วมมือกับ กองทัพอากาศ กองทัพบก นาวิกโยธิน กองทัพเรือ กองทัพอวกาศ และหน่วยปฏิบัติการพิเศษของสหรัฐฯ เพื่อดำเนินการจัดกิจกรรมการทำงานร่วมกันแบบผสมผสาน เช่น การฝึกโจมตีทางอากาศ การฝึกยิงด้วยอาวุธจริงแบบผสมผสาน การฝึกอบรมในสภาพแวดล้อมในเมือง และการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม บุคลากรของกองทัพฟิลิปปินส์กว่า 4,200 นายและบุคลากรทางทหารของสหรัฐฯ 4,440 นายได้ร่วมกันแสดงให้เห็นถึงวิธียกระดับการป้องปรามโดยใช้ขีดความสามารถในปัจจุบัน การคิดค้นใหม่และปรับใช้ขีดความสามารถเหล่านั้นร่วมกันในรูปแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน

พล.ต. เจฟฟรีย์ เฮชาโนวา รองผู้บัญชาการทหารสูงสุดแห่งกองทัพฟิลิปปินส์ กล่าวกับ ฟอรัม เกี่ยวกับโครงการเปลี่ยนกองทัพไปสู่เป้าหมายด้านการป้องกันภายนอก โดยกล่าวว่า “ในปีนี้ เรารู้สึกตื่นเต้นเพราะเรามีโอกาสได้ใช้อุปกรณ์บางอย่างที่จัดซื้อไว้ภายใต้โครงการปรับปรุงความทันสมัยของกองทัพ”

“ก่อนหน้านี้ เราเห็นแต่อากาศยานหรือเครื่องบินขับไล่ของสหรัฐฯ บินอยู่กลางอากาศ ตอนนี้ เราได้บินร่วมกันแล้ว เพราะเครื่องบินขับไล่เอฟเอ-50 ของเรามาถึงแล้ว ตอนนี้ เราได้แล่นเรือร่วมกันแล้ว เพราะเรามีเรือรบบางลำที่มาถึงแล้ว นอกจากนี้ เรายังได้ปฏิบัติการสะเทินน้ำสะเทินบกร่วมกันด้วย เพราะเราก็มีอุปกรณ์บางส่วนแล้ว เรามีอุปกรณ์ป้องกันภัยทางอากาศบางส่วนที่มาถึงแล้ว เรามีปืนใหญ่วิถีโค้งอยู่จำนวนหนึ่งด้วยเช่นกัน” พล.ต. เฮชาโนวา กล่าวในระหว่าง การสัมภาษณ์ที่ค่ายอากีนัลโด สำนักงานใหญ่ของกองทัพฟิลิปปินส์ ณ เกซอนซิตีที่ในชานเมืองของกรุงมะนิลา ซึ่งเป็นที่ตั้งของศูนย์บัญชาการของบาลิกาตัน

ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์

การฝึกบาลิกาตันประจำ พ.ศ. 2565 สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่แน่นแฟ้นระหว่างฟิลิปปินส์และสหรัฐฯ ตลอดจนความมุ่งมั่นร่วมกันของทั้งสองประเทศต่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ซึ่งแสดงให้เห็นทุก ๆ วันผ่านความสัมพันธ์ที่อบอุ่นระหว่างผู้คน ตลอดจนความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่แน่นแฟ้น
มีชาวอเมริกันเชื้อสายฟิลิปปินส์มากกว่า 4 ล้านคนอาศัยอยู่ในสหรัฐฯ และมีพลเมืองชาวสหรัฐฯ เกือบ 300,000 คนอาศัยอยู่ในฟิลิปปินส์

นาวิกโยธินฟิลิปปินส์ดำเนินการรักษาความปลอดภัยของชายหาดคลาเวเรีย จังหวัดคากายัน ในระหว่างการฝึกบาลิกาตันประจำ พ.ศ. 2565 ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

กิจกรรมด้านวิศวกรรมโยธาของบาลิกาตัน ซึ่งรวมถึงการสร้างโรงเรียนประถมศึกษาสี่แห่งที่ทนทานต่อสภาพภูมิอากาศ และการดำเนินการมีส่วนร่วมด้านสุขภาพของชุมชนหลายแห่งในจังหวัดทางตอนเหนือของฟิลิปปินส์เป็นส่วนใหญ่ แสดงให้เห็นว่าท้ายที่สุดแล้ว ความมั่นคงคือการเสริมสร้างพลังอำนาจให้แก่ประชาชนในท้องถิ่นเพื่อให้พวกเขาบรรลุสิ่งที่จำเป็นในการทำให้สังคมประสบความสำเร็จ “เราได้มีโอกาสเสริมสร้างความเป็นมิตรระหว่างกองกำลังของเรา และยังได้สร้างความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนที่ได้รับประโยชน์อีกด้วย” โดยเฉพาะในจังหวัดคากายันและอิซาเบลลา พ.อ. อาร์มัน มัมปุสตี นักวางแผนของสำนักงานรองเสนาธิการฝ่ายปฏิบัติการพลเรือน-ทหาร ซึ่งเป็นผู้ประสานงานโครงการ กล่าวกับ ฟอรัม “ผมพูดได้เลยว่า ชุมชนได้เรียนรู้อะไรมากมายจากสิ่งที่เราดำเนินการในปีนี้ การฝึกอบรมการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน การปฐมพยาบาล น้ำและสุขอนามัย ตลอดจนการฝึกเอาชีวิตรอดขั้นพื้นฐานจะเป็นประโยชน์ต่อพวกเขาในยามที่จำเป็นต้องใช้ทักษะ” พ.อ. มัมปุสตีกล่าว “ผมอยากเน้นย้ำเช่นกันว่า เมื่อทุกอย่างเสร็จสิ้นแล้ว หนึ่งในสิ่งตกทอดจากการฝึกบาลิกาตันที่จะคงอยู่ไปยาวนานก็คือสถานที่ต่าง ๆ ที่สร้างไว้ ผมอยากให้เราลองนึกดูว่าจะมีเด็กชายหญิงกี่คนที่จะได้ใช้โรงเรียนเหล่านี้ไปจนจบการศึกษา และจะมีอีกกี่คนที่ได้ประโยชน์จากการใช้โรงเรียนเป็นสถานที่หลบภัยในช่วงที่เกิดพายุและภัยพิบัติทางธรรมชาติอื่น ๆ”

ความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงระหว่างฟิลิปปินส์และสหรัฐฯ มีรากฐานหยั่งลึกในการปกป้องค่านิยมร่วมและผลประโยชน์ร่วมกันดังกล่าว ผู้นำการฝึก เน้นย้ำ “เคียงบ่าเคียงไหล่ และมุ่งแก้ปัญหาต่าง ๆ ร่วมกัน เป็นแนวคิดที่เป็นรากฐานของการฝึกบาลิกาตันมาโดยตลอด” พล.ต. เฮชาโนวา กล่าวกับ ฟอรัม “นับเป็นประวัติศาสตร์ที่ยาวนานมากระหว่างฟิลิปปินส์กับสหรัฐฯ เราต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กันในสงครามโลกครั้งที่สอง เราต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กันในเกาหลี เราต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กันในเวียดนาม ทั้งหมดนี้คือประวัติศาสตร์ของกองทัพของเรา ในปัจจุบัน บาลิกาตันเป็นภาพสะท้อนของการทำงานร่วมกันเพื่อยกระดับการรักษาความปลอดภัยในภูมิภาคของเรา”

เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านกลาโหมทั่วทั้งภูมิภาคร่วมกับพันธมิตร หุ้นส่วน และประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กองทัพฟิลิปปินส์ยังเป็นเจ้าภาพและฝึกอบรมกับหน่วยปฏิบัติการพิเศษออสเตรเลียกว่า 45 คน อีกทั้งยังได้เชิญผู้สังเกตการณ์จากบรูไน แคนาดา ฝรั่งเศส อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไทย เวียดนาม และสหราชอาณาจักรให้เข้าร่วมอีกด้วย

การบัญชาการและการควบคุม

ภายในเขตเต็นท์ปรับอากาศที่เรียงรายสลับซับซ้อนและล้อมรอบด้วยเส้นลวดหนามภายในค่ายอากีนัลโด บุคลากรกว่า 50 คนของฟิลิปปินส์และสหรัฐฯ ตลอดจนเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานบริการต่าง ๆ ได้ได้วิเคราะห์ข้อมูลตามเวลาจริง โดยแจกแจงรายละเอียดแผนที่และแผนภูมิเป็นเวลานานหลายชั่วโมงทุกวัน โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาแผนตอบโต้ภัยคุกคามภายนอกต่ออธิปไตยของฟิลิปปินส์แบบสมมติแต่มีความสมจริง และประเมินประสิทธิภาพที่เป็นไปได้ในพื้นที่รบ พวกเขาดำเนินสถานการณ์และเล่นเกมสงครามเพื่อปรับปรุงแผนอย่างต่อเนื่องตลอดการฝึก

นอกจากนี้ยังมีการฝึกซ้อมการบัญชาการและการควบคุม ที่เรียกว่า การฝึกเจ้าหน้าที่ หรือ สตาฟเอ็กซ์ ซึ่งช่วยให้กองทัพสามารถทดสอบแผนการในโลกแห่งความเป็นจริงได้เป็นครั้งแรก พ.อ. ไมเคิล โลจิโกผู้อำนวยการศูนย์การฝึกผสมและการฝึกร่วมแห่งกองทัพฟิลิปปินส์กล่าวกับ ฟอรัม สตาฟเอ็กซ์แสดงให้เห็นถึงบริบทเชิงกลยุทธ์ที่กว้างขึ้นตลอดจนลักษณะที่ปัจจัยทางการทูต เศรษฐกิจ การเมืองและการพัฒนาส่งผลกระทบต่อวิกฤต “สตาฟเอ็กซ์จะช่วยให้เรานึกถึงสิ่งที่เราไม่เคยนึกถึงมาก่อน เพื่อเผยให้เห็นหงส์ดำ หรือเพื่อพิจารณาว่าการปฏิบัตินั้นเป็นไปตามแผนหรือไม่” พ.อ. โลจิโก กล่าว หงส์ดำโดยทั่วไปจะหมายถึงเหตุการณ์ที่คาดเดาไม่ได้หรือไม่คาดคิดซึ่งอาจส่งผลกระทบรุนแรง

สตาฟเอ็กซ์ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีคุณค่ามากกว่าแค่การวางแผน “สิ่งที่เรามุ่งเน้นไม่ใช่แผนหรือผลิตภัณฑ์ แต่เป็นกระบวนการที่สำคัญที่สุด” น.อ. ไบรอัน โวลฟอร์ด ผู้บัญชาการหน่วยส่งกำลังบำรุงนาวิกโยธินที่ 3 แห่งนาวิกโยธินสหรัฐฯ ที่โอกินาวะ ประเทศญี่ปุ่น กล่าวกับ ฟอรัม โดยที่ น.อ. โวลฟอร์ด ดำรงตำแหน่งของผู้บัญชาการกองกำลังเฉพาะกิจร่วมของสหรัฐฯ ในระหว่างการฝึกซ้อมครั้งนี้

“สตาฟเอ็กซ์ช่วยให้เราเรียนรู้กระบวนการมากมาย ซึ่งช่วยให้เราบีบอัดเวลาจากข้อมูลที่ได้รับจากห่วงโซ่ไปสู่การตัดสินใจ” น.อ.พิเศษ อีริก เอสการ์ชา หัวหน้าศูนย์บัญชาการกองทัพฟิลิปปินส์ อธิบาย “ดังนั้น เราจึงกำลังแก้ปัญหาจำนวนมาก” น.อ.พิเศษ เอสการ์ชา ซึ่งมีบทบาทเป็นผู้บัญชาการกองกำลังเฉพาะกิจร่วมของฟิลิปปินส์ในการฝึกสตาฟเอ็กซ์ กล่าว

“เราเริ่มดำเนินการจากปัญหาที่ค่อนข้างแก้ไขง่าย แต่ในปีหน้า เราจะมุ่งเน้นไปยังปัญหาที่ซับซ้อนมากขึ้นและสามารถแก้ไขได้” น.อ. โวลฟอร์ด กล่าว “เราสามารถรวมตัวกันเป็นองค์กรเฉพาะกิจได้” เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 การฝึกบาลิกาตันจึงมีจำนวนผู้เข้าร่วมหลักลดลงอย่างมากถึง 300 คนใน พ.ศ. 2563 และ พ.ศ. 2564 “สิ่งที่เรากำลังทำอยู่ในปัจจุบันคือการสร้างสิ่งที่เรามีและการนำเรากลับไปอยู่ในจุดที่เราเคยอยู่ก่อนหน้านี้ แล้วจึงยกระดับต่อไปในปีหน้า” น.อ. โวลฟอร์ด กล่าว

“สิ่งที่เราเรียนรู้ที่นี่ให้ผลลัพธ์เป็นสองเท่าอย่างแท้จริง เหล่านาวิกโยธินรุ่นเยาว์ ทหารรุ่นเยาว์ บุคลากรชาวฟิลิปปินส์ และบุคลากรชาวอเมริกัน มีโอกาสที่จะได้พบปะพูดคุยกันถึงวิธีที่เราทำสิ่งต่าง ๆ ตลอดจนความสามารถ กระบวนการคิด และการเรียนรู้ของเรา” น.อ. โวลฟอร์ด กล่าว “โดยส่วนตัวแล้ว ผมชอบที่จะได้เห็นว่าประเทศอื่น ๆ แก้ไขปัญหาอย่างไร การฝึกครั้งนี้เป็นสถานการณ์ที่แตกต่างกันภายใต้ภูมิประเทศที่แตกต่างกัน โดยมีตัวแปรต่าง ๆ ที่คุณต้องจัดการ การได้สัมผัสกับตัวแปรเหล่านั้นช่วยได้อย่างมาก ไม่เพียงแต่สำหรับการวางแผนในการฝึกที่นี่เท่านั้น แต่สำหรับการวางแผนในสถานที่อื่น ๆ ด้วย”

การฝึกบาลิกาตันประจำ พ.ศ. 2566 จะได้รับการออกแบบโดยใช้ผลิตภัณฑ์หลักจาก สตาฟเอ็กซ์ พ.ศ. 2565 และจะต่อยอดจากความสำเร็จของการฝึกโดยรวม เช่น ในระหว่างการฝึกครั้งถัดไป ผู้บัญชาการของสตาฟเอ็กซ์จะดำเนินการฝึกหลังการบัญชาการ น.อ.พิเศษ เอสการ์ชา และ น.อ. โวลฟอร์ด อธิบาย

“ผมตั้งหน้าตั้งตารอเวลาที่กองทัพสหรัฐฯ และฟิลิปปินส์จะมารวมตัวกัน ซึ่งเป็นเรื่องง่ายพอ ๆ กับการเสียบปลั๊กและเล่น” น.อ.พิเศษ เอสการ์ชา กล่าว “ผมเปรียบเทียบสิ่งนี้กับดนตรี นักดนตรีทุกคนเข้าใจซึ่งกันและกัน แม้พวกเขาอาจจะพบกันเป็นครั้งแรก แต่พวกเขาสามารถร้องเพลงร่วมกันและประสานเสียงกันได้”

บุคลากรทางทหารของฟิลิปปินส์และสหรัฐฯ ขนถ่ายระบบขีปนาวุธแพทริออตจากเรือยกพลขึ้นบกบนชายหาดอปาร์รีทางตอนเหนือของฟิลิปปินส์ในระหว่างการซ้อมรบแบบผสมผสาน ส.อ. เมลานี มาร์ติเนซ/นาวิกโยธินสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม การฝึกบาลิกาตันกำลังสร้างมาตรฐานใหม่ที่สูงกว่าการประสานงานระหว่างเจ้าหน้าที่ฝึกร่วมกัน “โดยผิวเผินแล้ว การฝึกบาลิกาตันเป็นเวทีสำหรับการปรับปรุงการฝึกอบรม ความสามารถในการปฏิบัติงานร่วมกัน การทำงานร่วมกัน ซึ่งทั้งหมดนี้มีส่วนส่งเสริมความมั่นคงของฟิลิปปินส์” พ.อ. โลจิโก ตั้งข้อสังเกต แต่การฝึกครั้งนี้มีวัตถุประสงค์อื่น ๆ ด้วย “ในการฝึกบาลิกาตัน เราส่งข้อความเชิงกลยุทธ์ไปยังศัตรูของเราว่าเราไม่ได้อยู่เพียงลำพังในตอนนี้ พันธมิตรและหุ้นส่วนของเราสามารถมาช่วยเราได้เสมอและส่งมอบทุกสิ่งที่เราขาดไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม เรายังคงฝึกซ้อมร่วมกัน และความเป็นพันธมิตรก็ยังคงแข็งแกร่งเช่นเดิม”

การป้องกันร่วมกัน

ใน พ.ศ. 2565 ผู้นำฟิลิปปินส์และสหรัฐฯ ได้บรรลุความก้าวหน้าด้านความเป็นพันธมิตร โดยการเสริมสร้างความมุ่งมั่นต่อสนธิสัญญาป้องกันประเทศร่วมกันระหว่างสหรัฐฯ และฟิลิปปินส์ที่ลงนามใน พ.ศ. 2494 ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2564 นายลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ได้เดินทางเยือนกรุงมะนิลาเพื่อยืนยันความเป็นพันธมิตรที่แข็งแกร่งและแน่วแน่ระหว่างสหรัฐฯ และฟิลิปปินส์ เนื่องในโอกาสที่ทั้งสองฝ่ายเฉลิมฉลอง 75 ปีของความสัมพันธ์ทางการทูต และวันครบรอบ 70 ปีของกระทรวงกลาโหมฟิลิปปินส์ นายออสตินได้พบปะกับนายโรดริโก ดูแตร์เต ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์, นายออสตินได้พบปะกับนายโรดริโก ดูแตร์เต ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์, นายเดลฟิน ลอเรนซานา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมฟิลิปปินส์ในขณะนั้น และนายทีโอโดโร ล็อกซิน จูเนียร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฟิลิปปินส์ในขณะนั้น เพื่อเน้นย้ำถึงความเป็นศูนย์กลางของความเป็นพันธมิตรระหว่างฟิลิปปินส์และสหรัฐฯ ในวงกว้างภายในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก

หลังการพบปะดังกล่าว นายลอเรนซานาได้ประกาศถึงการตัดสินใจของนายดูแตร์เตที่จะสานต่อข้อตกลงการเยือนของกองกำลัง ซึ่งมีรายละเอียดเกี่ยวกับแนวทางการปฏิบัติต่อบุคลากรทางทหารในแต่ละประเทศ “ความเป็นพันธมิตรระหว่างสหรัฐฯ และฟิลิปปินส์ที่เข้มแข็งและยืดหยุ่นจะยังคงมีความสำคัญต่อความมั่นคง เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาคอินโดแปซิฟิกสืบไป ข้อตกลงการเยือนของกองกำลังที่ได้รับการฟื้นฟูอย่างเต็มที่จะช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายดังกล่าวร่วมกัน” นายออสตินกล่าวในขณะนั้น

ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2564 นายลอเรนซานาเดินทางไปยังกรุงวอชิงตันเพื่อตอบแทนการเดินทางเยือนของนายออสตินในโอกาสเฉลิมฉลองครบรอบ 70 ปีของพันธมิตร “เหตุการณ์สำคัญนี้ท่ามกลางการพัฒนาระดับภูมิภาคในปัจจุบันเป็นโอกาสพิเศษในการยืนยันความสัมพันธ์อันยั่งยืนซึ่งผูกมัดประเทศของเรา” นายลอเรนซานากล่าว อีกทั้งเสริมว่า “ขณะนี้ เรามีความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับข้อกังวลและลำดับความสำคัญด้านกลาโหมและความมั่นคงของกันและกัน ตลอดจนเข้าใจถึงเป้าหมายร่วมกันสำหรับประเทศและภูมิภาคของเรา”

มีการปรึกษาหารือระดับสูงเกิดขึ้นตามมาหลายครั้ง ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2564 คณะกรรมการป้องกันร่วมและคณะกรรมการ
การมีส่วนร่วมด้านความมั่นคงได้จัดประชุมกันในฟิลิปปินส์ หลังจากนั้นไม่นาน พล.อ. จอส ซี ฟาอุสติโน เจอาร์ ผู้บัญชาการสูงสุดแห่งกองทัพฟิลิปปินส์ในขณะนั้น และ พล.ร.อ. จอห์น อาควิลิโน ผู้บัญชาการกองบัญชาการสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นอินโดแปซิฟิก ได้มอบหมายให้กองกำลังของตนเพิ่มความพร้อมในการทำงานร่วมกัน นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ตัวแทนทางการทหารได้พัฒนาความเข้าใจเกี่ยวกับสนธิสัญญาป้องกันประเทศร่วมกันระหว่างสหรัฐฯ และฟิลิปปินส์ เพื่อเพิ่มความพร้อมและตรวจสอบให้แน่ใจว่าสนธิสัญญาดังกล่าวยังคงตอบสนองต่อภูมิทัศน์ด้านความมั่นคงที่พัฒนาขึ้นในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก “เราจำเป็นต้องปรับปรุงความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับสนธิสัญญาป้องกันประเทศร่วมกันต่อไป” พล.ต. เฮชาโนวา กล่าวกับ ฟอรัม “เนื่องจากสนธิสัญญาดังกล่าวจัดทำขึ้นระหว่างฟิลิปปินส์และสหรัฐฯ จึงควรมีความเข้าใจร่วมกันทั้งในด้านเงื่อนไข ขั้นตอนการดำเนินงาน การตีความสถานการณ์ การตีความกฎหมาย และหลักการ ซึ่งเป็นการตรวจสอบความถูกต้องของหลักการและการทำงานร่วมกันของกองทัพในกรณีที่มีการบังคับใช้สนธิสัญญานี้”

การดำเนิน การป้องปรามแบบบูรณาการ

พล.ร.อ. อาควิลิโน กล่าวถึงความท้าทายที่เกิดขึ้นในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกในคำให้การต่อคณะกรรมาธิการการทหารของวุฒิสภาสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2565 “สาธารณรัฐประชาชนจีนกำลังดำเนินการรณรงค์ที่จัดทำขึ้นเฉพาะเพื่อใช้อำนาจของตนทุกรูปแบบในความพยายามถอนรากถอนโคนระเบียบที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกติกาเพื่อผลประโยชน์ของตนเองและเพื่อให้ผลร้ายแก่ประเทศอื่น ๆ ทั้งหมด” พล.ร.อ. อาควิลิโน กล่าว การดำเนินการขยายอำนาจของจีนในทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อทะเลฟิลิปปินส์ตะวันตก ในฟิลิปปินส์ ตลอดจนการเพิกเฉยต่อคำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการถาวรที่เห็นด้วยกับฟิลิปปินส์เกี่ยวกับการอ้างสิทธิ์ในดินแดนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของจีนในทะเลจีนใต้เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าจีนไม่เคารพระเบียบที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกติกาสากล พล.ร.อ. อาควิลิโน ระบุในคำให้การของตน

ในสภาพแวดล้อมที่เป็นภัยคุกคามในปัจจุบัน “จีนกำลังใช้ยุทธวิธีพื้นที่สีเทา เราจำเป็นต้องร่วมมือกับฟิลิปปินส์และสหรัฐฯ เพื่อตอบโต้ความคิดริเริ่มของศัตรูในเขตพื้นที่สีเทา” พล.ต. เฮชาโนวา แห่งกองทัพฟิลิปปินส์ อธิบาย ยุทธวิธีพื้นที่สีเทาหมายถึงการกระทำบีบบังคับที่นอกเหนือไปจากกิจกรรมทางการทูต เศรษฐกิจ และการเมืองตามปกติ แต่ยังไม่ถึงขั้นความขัดแย้งที่มีการใช้อาวุธ

“ผู้กระทำการชาวจีนและประเทศจีนใช้ความแตกต่างของกฎหมายเพื่อแสวงหาผลประโยชน์จากทะเลฟิลิปปินส์ตะวันตก จีนรู้ดีว่าพวกเขากำลังส่งเรือสีเทาซึ่งละเมิดความแตกต่างของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล” พล.ต. เฮชาโนวา กล่าวเสริม ขณะดำรงตำแหน่ง นายดูแตร์เต “ชี้แจงอย่างชัดเจนเมื่อเขาเข้าร่วมการประชุมองค์การสหประชาชาติ นายดูแตร์เตกล่าวว่าคำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการถาวรในขณะนี้เป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายระหว่างประเทศ และฟิลิปปินส์จะปฏิบัติตามระเบียบที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกติกาเสมอในการระงับข้อพิพาทในทะเลฟิลิปปินส์ตะวันตก” พล.ต. เฮชาโนวา กล่าว

“ในขณะที่สนธิสัญญาป้องกันประเทศร่วมกันระหว่างสหรัฐฯ และฟิลิปปินส์ ตระหนักถึงเป้าหมายสำคัญในความพยายามแก้ไขความขัดแย้งอย่างสันติ แต่หากความพยายามเหล่านั้นไม่ประสบผลสำเร็จ การฝึกบาลิกาตันก็เป็นตัวแทนของความพยายามหลักของฟิลิปปินส์และสหรัฐฯ ในการเพิ่มขีดความสามารถทวิภาคีในการตอบสนองต่อการละเมิดสันติภาพหรือภัยคุกคามใด ๆ จากการละเมิดสันติภาพ” นายสก็อต ไวดี้ หัวหน้าการฝึกระดับพหุชาติของกองบัญชาการสหรัฐฯ ภาคพื้นอินโดแปซิฟิกและผู้บัญชาการฝึก กล่าว “ภารกิจของกองบัญชาการคือการป้องกันความขัดแย้งผ่านการดำเนินการป้องปราบแบบบูรณาการและการเตรียมความพร้อมที่จะต่อสู้และเอาชนะหากจำเป็น การฝึกบาลิกาตันช่วยเตรียมความพร้อมให้กับปฏิบัติการด้านการป้องกันประเทศของกองทัพฟิลิปปินส์และสหรัฐฯ เมื่อจำเป็น”

บาลิกาตันประจำ พ.ศ. 2565 สอดคล้องกับทิศทางของ พล.ร.อ. อาควิลิโน ในการดำเนินการตามความคิดริเริ่ม โดยกำหนดให้กองกำลังร่วมพิจารณา ลงมือปฏิบัติ และดำเนินการให้แตกต่างออกไป “เรากำลังดำเนินการร่วมกับพันธมิตรในฟิลิปปินส์โดยพยายามแสดงบทบาทและมุ่งเน้นไปที่ความสามารถในการปฏิบัติงานร่วมกัน ซึ่งจำเป็นสำหรับกองทัพฟิลิปปินส์และสหรัฐฯ เพื่อปรับปรุงความเร็วในการตอบสนองต่อภาวะวิกฤต เพิ่มความสามารถในการทำงานร่วมกัน ปรับปรุงประสิทธิภาพของภารกิจ ตลอดจนเพิ่มความสามัคคีของความพยายาม” นายไวดี้ กล่าว ฟิลิปปินส์และสหรัฐฯ กำลังยกระดับข้อตกลงความร่วมมือด้านการป้องกันประเทศเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น ปรับปรุงความสามารถในการตอบสนองระดับทวิภาคี ตลอดจนช่วยให้สหรัฐฯ สามารถดำเนินการได้อย่างยืดหยุ่นมากขึ้นในฟิลิปปินส์

การเสริมความแข็งแกร่งให้พันธมิตร “เป็นกิจกรรมที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง” พล.ต. เฮชาโนวา กล่าว “เรายังคงเดินหน้าใช้ขีดความสามารถของทั้งสองประเทศในการทำให้มั่นใจว่าหากเกิดสถานการณ์ที่เราจะต้องต่อสู้ร่วมกัน เราจะสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

การแสดง ความร่วมมือด้านเทคโนโลยี

กองทัพฟิลิปปินส์และสหรัฐฯ ใช้การฝึกบาลิกาตันเพื่อทดลองเทคโนโลยีและโปรโตคอลต่าง ๆ เพื่อปรับปรุงศักยภาพในการต่อสู้แบบผสมผสานและร่วมกัน “”เราทราบดีว่าทุกครั้งที่เราจะออกไปต่อสู้ เราจะต่อสู้ร่วมกับมิตรสหาย หุ้นส่วน และพันธมิตร และวิธีที่ดีและมีประสิทธิภาพมากที่สุดหากคุณต้องต่อสู้คือการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีไว้ล่วงหน้า” พล.จ. เจมส์ ไอเซนฮาวร์ ผู้บัญชาการกองกำลังเฉพาะกิจแบบหลายมิติของกองทัพบกสหรัฐฯ ในขณะนั้น ซึ่งเป็นแกนหลักของการปรับปรุงความสมัยของกองทัพบก กล่าวกับ ฟอรัม “การพัฒนาเทคโนโลยีร่วมกับหุ้นส่วนและพันธมิตรเป็นสิ่งสำคัญเสมอในการสร้างความสัมพันธ์และสร้างความไว้วางใจ

นาวิกโยธินฟิลิปปินส์ใช้ยานพาหนะโจมตีแบบสะเทินน้ำสะเทินบกในระหว่างการฝึก
ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

“เราสามารถแบ่งปันบทเรียนของเราได้ในหลาย ๆ ด้าน และนั่นอาจกระตุ้นหรือสร้างแรงบันดาลใจให้พวกเขาก้าวไปสู่ระดับความชำนาญที่สูงขึ้น ตลอดจนสร้างขีดความสามารถที่พวกเขาอาจไม่เคยมีมาก่อน อย่างไรก็ตาม เราก็ได้เรียนรู้จากประเทศเหล่านั้นมากพอ ๆ กับที่ประเทศเหล่านั้นเรียนรู้จากเรา ดังนั้นเราจึงเข้าหาประเทศเหล่านั้นอย่างตรงไปตรงมาในฐานะหุ้นส่วนที่จริงใจ” พล.จ. ไอเซนฮาวร์ กล่าว “เนื่องจากพวกเขาอาศัยอยู่ที่นี่ พวกเขาจึงมีความคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่มี ดังนั้นการได้เรียนรู้วิธีคิดและมุมมองของพวกเขา ตลอดจนความเข้าใจในประวัติศาสตร์ของภูมิภาคนี้เป็นข้อมูลอันมีค่าเสมอ ทำให้เราทราบว่าเราจะทำงานอย่างไร และทำให้เราคิดว่าจะทำงานร่วมกันในสภาพแวดล้อมนี้ได้อย่างไร” ศูนย์บัญชาการกองกำลังเฉพาะกิจแบบหลายมิติเข้าร่วมการฝึกบาลิกาตันเป็นครั้งแรกใน พ.ศ. 2565 กองทัพฟิลิปปินส์และสหรัฐฯ ได้จัดการฝึกเป็นครั้งแรกใน พ.ศ. 2529

บาลิกาตันเป็นตัวอย่างของการฝึกที่ช่วยให้กองทัพฟิลิปปินส์และสหรัฐฯ สามารถพัฒนาตัวเลือกเชิงยุทธศาสตร์ในการต่อต้านสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในแนวหมู่เกาะชั้นที่หนึ่ง เช่น เครือข่ายการปฏิเสธการเข้าถึงพื้นที่ เครือข่ายดังกล่าวสร้างความท้าทายให้แก่กองกำลังร่วม ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการประสานงานอย่างเข้มข้น ไม่ว่าแนวทางดังกล่าวจะมุ่งเป้าไปที่จุดศูนย์ดุลของเครือข่ายหรือเพื่อขจัดความสามารถของฝ่ายตรงข้ามทีละชั้นก็ตาม “เครือข่ายเหล่านั้นได้รับการสร้างขึ้นเพื่อป้องกันการใช้อำนาจรุก เมื่อเราพัฒนาความสามารถ ศูนย์บัญชาการกองกำลังเฉพาะกิจแบบหลายมิติจะกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญของความพยายามร่วมกันในการต่อต้านเครือข่ายการปฏิเสธการเข้าถึงพื้นที่ เพื่อสร้างลู่ทางและช่วยให้กองกำลังร่วมสามารถทำในสิ่งที่ตนเองถนัด” พล.จ. ไอเซนฮาวร์ อธิบาย “ในสภาพแวดล้อมอย่างภูมิภาคอินโดแปซิฟิก การใช้อำนาจรุกเป็นสิ่งจำเป็น และเทคโนโลยีมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการใช้อำนาจรุก หากเราไม่มีเสรีภาพในการดำเนินการหรือเสรีภาพในการซ้อมรบ เราจะตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะสามารถจัดหาทางเลือกเชิงยุทธศาสตร์ให้แก่ผู้นำของเราได้”

ตามข้อกำหนดด้านการป้องกันดินแดนของฟิลิปปินส์ “แพทริออตเป็นตัวอย่างที่ดีของขีดความสามารถที่เราสามารถนำมาใช้ในสภาพแวดล้อมเช่นนี้เพื่อช่วยเหลือพันธมิตรและหุ้นส่วน” พล.จ. ไอเซนฮาวร์ กล่าว ในระหว่างการฝึกบาลิกาตัน กองทัพของทั้งสองประเทศได้ติดตั้งระบบแพทริออตแบบสะเทินน้ำสะเทินบกบนยานเบาะลมของกองทัพเรือสหรัฐฯ และเคลื่อนย้ายขีปนาวุธแพทริออต 2 ลูกภายในเฮลิคอปเตอร์ ซีเอช-47 ซึ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ตามรายงานของ พ.ท. แมทธิว ดัลตัน ผู้บัญชาการกองพลน้อยปืนใหญ่ป้องกันภัยทางอากาศที่ 38 ของกองทัพบกสหรัฐฯ ในขณะนั้น ซึ่งช่วยขนส่งอุปกรณ์ดังกล่าว ระบบแพทริออต ซึ่งประกอบด้วยเรดาร์ ขีปนาวุธ เครื่องปล่อยขีปนาวุธ และยานพาหนะสนับสนุน ที่สามารถติดตามและยิงใส่ขีปนาวุธและอากาศยานของศัตรูภายในเก้าวินาทีหลังจากปล่อย โดยมีพิสัยไกลสุดที่ 70 กิโลเมตร

“การนำระบบแพทริออตไปใช้ที่ลูซอนเหนือเป็นตัวอย่างของสถานการณ์ที่สมจริงมาก ซึ่งเราสามารถดำเนินการได้ในทุกพื้นที่ในอินโดแปซิฟิก การดำเนินการในฟิลิปปินส์ทำให้เราสามารถทำงานร่วมกับพันธมิตรระดับทวิภาคี ซ้อมรบเพื่อรับมือสงคราม ฝึกฝนการใช้ยุทโธปกรณ์ และดำเนินการบำรุงรักษาระดับภาคสนามในสภาวะที่เข้มงวด” พ.อ. ดัลตัน กล่าว “ทหารและผู้นำของเราต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์และความคิดเชิงวิพากษ์เพื่อเอาชนะอุปสรรคบางอย่างที่จะปรากฏขึ้นเฉพาะตอนที่มีการวางกำลังห่างจากแหล่งรวมรถเป็นพันไมล์เท่านั้น”

กองทัพฟิลิปปินส์และสหรัฐฯ ได้ทดสอบขีดความสามารถและเทคโนโลยีแบบผสมผสานร่วมกันชนิดอื่น ๆ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการยืนยันแนวคิดการปฏิบัติการใหม่ ๆ ระหว่างกองทัพทั้งสอง กองทัพฟิลิปปินส์และหน่วยปฏิบัติการพิเศษของสหรัฐฯ ได้ดำเนินการฝึกซ้อมยึดสนามบินจำลอง ณ สนามบินคากายันเหนือ เพื่อปรับแต่งยุทธวิธีและขั้นตอนในการติดตั้งระบบจรวดปืนใหญ่เคลื่อนที่สูงที่รู้จักกันในชื่อ ไฮมาร์ส ควบคู่ไปกับการแทรกซึมอย่างรวดเร็ว หรือ ไฮเรน เมื่อได้รับการขนถ่ายไปยังพื้นที่เป้าหมายแล้ว ไฮมาร์สที่ใช้ขีปนาวุธจะถูกนำมาใช้เพื่อโจมตีเป้าหมาย จากนั้นจึงโหลดกลับขึ้นเครื่องบินอย่างรวดเร็วและนำออกจากพื้นที่ก่อนที่ศัตรูจะโจมตีกลับ นอกจากนี้ ไฮมาร์สยังสามารถลงจอดบนบกและนำไปใช้กับเป้าหมายทางทะเลได้อีกด้วย

ระหว่างการฝึกบาลิกาตัน หน่วยปฏิบัติการพิเศษของฟิลิปปินส์และสหรัฐฯ ยังมีส่วนร่วมในการดำเนินงานที่ซับซ้อนในหลายมิติ เพื่อเพิ่มการทำงานร่วมกันและการทดลอง เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับสถานการณ์ที่นอกเหนือจากการต่อต้านองค์กรหัวรุนแรงสุดโต่ง กองทัพฟิลิปปินส์และหน่วยปฏิบัติการพิเศษของสหรัฐฯ จัดการเป้าหมายและบูรณาการความสามารถในการต่อต้านองค์กรหัวรุนแรงสุดโต่งเข้ากับสภาพแวดล้อมของคู่ต่อสู้ ภายในขอบเขตทางอากาศ หน่วยควบคุมการสู้รบทางอากาศดำเนินการยิงปืนใหญ่ 105 มม. และ 30 มม. ตลอดจนอาวุธยุทโธปกรณ์นำวิถีความแม่นยำสูงจาก เอซี-130 ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ เข้าสู่ระยะบาฮาซา ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ เอซี-130 สนับสนุนการฝึกสนับสนุนทางอากาศของกองทัพฟิลิปปินส์อย่างใกล้ชิดในฟิลิปปินส์

ที่ค่ายแมกไซไซและทั่วทั้งลูซอน กิจกรรมการฝึกอบรมของหน่วยปฏิบัติการพิเศษของสหรัฐฯ ภาคพื้นดินสร้างขึ้นจากความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับยุทธวิธีสงครามที่แหวกแนวและผิดปกติ เพื่อพัฒนาทักษะของหน่วยปฏิบัติการพิเศษของสหรัฐฯ ตลอดจนเพื่อยกระดับการทำงานร่วมกันของสหรัฐฯ และกองทัพฟิลิปปินส์ กองกำลังแบบผสมผสานได้สำรวจเป้าหมายที่ซับซ้อนทั่วพื้นที่ตะวันออกของเกาะลูซอน รวมถึงการแทรกซึมและการฟื้นสภาพที่ดินของเกาะกอร์เรฮีดอร์อีกด้วย นอกชายฝั่งปาลาวัน ทีมหน่วยปฏิบัติการพิเศษของสหรัฐฯ ระดับพหุภาคี รวมถึงสมาชิกของหน่วยปฏิบัติการพิเศษทางเรือแห่งกองทัพฟิลิปปินส์ หน่วยคอมมานโดของออสเตรเลีย และหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือของกองทัพเรือสหรัฐฯ ได้ดำเนินการฝึกปฏิบัติการขัดขวางทางทะเล ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการโจมตีทางอากาศและทางทะเลเพื่อยึดแท่นขุดเจาะก๊าซและน้ำมันในทะเลฟิลิปปินส์คืน

กองทัพสหรัฐฯ และศูนย์บัญชาการกองกำลังเฉพาะกิจแบบหลายมิติได้ร่วมมือกับกองทัพฟิลิปปินส์เพื่อยกระดับการประยุกต์ใช้ด้านความมั่นคงใหม่ โดยได้ปล่อยบอลลูนในชั้นบรรยากาศจากค่ายแมกไซไซในลูซอนกลาง เพื่อทดสอบความสามารถในชั้นบรรยากาศเพื่อสนับสนุนการตระหนักรู้ทางทะเลและมีส่วนช่วยในการปฏิบัติงานหลายมิติ หน่วยปฏิบัติการฟิลิปปินส์และสหรัฐฯ ได้ทดสอบบอลลูนไร้คนขับที่ระดับความสูง 15,000 – 21,000 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล และสูงกว่าระดับความสูงทำการของสายการบินพาณิชย์ บอลลูนช่วยเพิ่มความเป็นไปได้ในการป้องกัน เช่น การสร้างกลุ่มดาวทางอากาศล่องหนเพื่อส่งข้อมูล เช่น วิดีโอการเฝ้าระวัง และเพิ่มขีดความสามารถในการทำสงครามอิเล็กทรอนิกส์

เฮลิคอปเตอร์ ซีเอช-53อี ซูเปอร์สตัลเลียน ของกองนาวิกโยธินสหรัฐฯ มีส่วนร่วมในการติดตั้งระบบขีปนาวุธแพทริออตที่หาดอปาร์รีทางตอนเหนือของฟิลิปปินส์ ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2565 ส.อ. คัลลาฮาน มอร์ริส/นาวิกโยธินสหรัฐฯ

สำหรับกองทัพฟิลิปปินส์และสหรัฐฯ การฝึกบาลิกาตันได้แสดงให้เห็นถึงคุณค่าของการทดลองอย่างสม่ำเสมอ เห็นได้จากมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่ประสบความสำเร็จและความสำเร็จที่เกิดขึ้นเฉพาะกิจหรือในระหว่างการฝึก “การฝึกซ้ำอย่างรวดเร็วเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ยิ่งเราสามารถฝึกซ้ำกับหุ้นส่วนและพันธมิตรได้มากเท่าใด เรายิ่งสามารถฝึกซ้ำกับกองกำลังร่วมได้มากขึ้นและบรรลุศักยภาพที่แตกต่างกันได้เร็วยิ่งขึ้นเท่านั้น ตลอดจนช่วยให้เราตระหนักถึงวิธีการสู้รบของเราในอีกหลายปีข้างหน้า” พล.จ. ไอเซนฮาวร์ อธิบาย “ในระดับหนึ่ง การฝึกบาลิกาตันช่วยให้เราสบายใจและรับรู้มากขึ้นว่าเราสามารถทดลองให้ก้าวหน้าขึ้น เราสามารถฝึกให้ก้าวหน้าขึ้น และเราสามารถทำได้ในลักษณะที่ซับซ้อนและมีความรับผิดชอบ ตลอดจนสร้างการทำงานร่วมกันและความมั่นใจที่เพิ่มขึ้นระหว่างสองพันธมิตร”

สร้างแรงส่ง

การฝึกบาลิกาตันประจำ พ.ศ. 2565 เป็นเวทีสำหรับการสร้างขีดความสามารถในการทดลองที่ซับซ้อนมากขึ้นและสร้างความเป็นหุ้นส่วนที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นสำหรับการฝึกบาลิกาตันประจำ พ.ศ. 2566 พ.อ. ดัลตัน กล่าวว่า กองพลน้อยปืนใหญ่ป้องกันภัยทางอากาศที่ 38 “ตั้งตารอให้ถึงปีหน้าเพื่อสร้างความก้าวหน้าอันยิ่งใหญ่ที่เราทำในการปฏิบัติการป้องกันภัยทางอากาศและการควบคุมน่านฟ้า เราได้หารือเกี่ยวกับการฝึกอบรมและการบูรณาการในอนาคตร่วมกับกองบัญชาการป้องกันภัยทางอากาศกองทัพอากาศฟิลิปปินส์ในช่วงบาลิกาตันประจำ พ.ศ. 2566” รวมถึงกับกองบินเตือนภัยเพื่อการควบคุมอากาศยานที่ 580 และกลุ่มป้องกันภัยทางอากาศและขีปนาวุธที่ 960 ของกองทัพฟิลิปปินส์ “การฝึกครั้งนี้เป็นครั้งแรกของเราที่ได้มีส่วนร่วมกับพันธมิตรของกองพลน้อยปืนใหญ่ป้องกันภัยทางอากาศที่ 38 ซึ่งเป็นการสร้างสายสัมพันธ์ใหม่แห่งมิตรภาพและช่วยให้หน่วยของเราได้ฝึกฝนแลกเปลี่ยนและแบ่งปันความรู้เกี่ยวกับขีดความสามารถของเรา” พ.อ. ดัลตัน
กล่าว “เราได้เรียนรู้วิธีที่เราสามารถทำงานร่วมกันได้ในช่วงเวลาที่มีความขัดแย้งเพื่อป้องกันการโจมตีด้วยกระสุนจริงที่น่าเชื่อถือ ว่องไว และเป็นอันตรายถึงชีวิต”

มีแนวโน้มว่าการฝึกบาลิกาตันจะดียิ่งขึ้นใน พ.ศ. 2566 เนื่องจากความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างกองทัพฟิลิปปินส์และสหรัฐฯ มีความแน่นแฟ้นมากกว่าเดิมในระหว่างการฝึก พ.ศ. 2565 นี้ ตามรายงาน ความมุ่งมั่นของทั้งสองประเทศที่มีต่อสนธิสัญญาป้องกันประเทศร่วมกันและความเป็นพันธมิตรทางทหารของสหรัฐฯ และฟิลิปปินส์ของพิสูจน์แล้วว่าแข็งแกร่งกว่าที่เคยเป็นมาตลอดทั้งการฝึกนี้ “ผมถือว่าการฝึกบาลิกาตันในปีนี้เป็นปีที่โดดเด่นสำหรับกองกำลังของเรา” พ.อ. มัมปุสตี แห่งกองทัพฟิลิปปินส์ กล่าว “ภายหลังการระบาดใหญ่ที่กินเวลากว่าสองปี การฝึกบาลิกาตันได้แสดงให้เห็นว่า ไม่ว่ากิจกรรมการฝึกอบรมทวิภาคีและสถานการณ์ในปัจจุบันจะมีช่องโหว่มากน้อยเพียงใด กองกำลังของเราก็มีความพร้อม อีกทั้งปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว ทำงานร่วมกันได้ และมีความยืดหยุ่น ซึ่งถือเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความมุ่งมั่น
อันยาวนานในประวัติศาสตร์และมิตรภาพของที่เรามีร่วมกัน”


สนธิสัญญาป้องกันประเทศร่วมกัน

ระหว่างสาธารณรัฐฟิลิปปินส์กับสหรัฐอเมริกา ลงนามเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2494

มาตรา 1 ภาคีผู้ทำสัญญาดำเนินการตามที่กำหนดไว้ในกฎบัตรสหประชาชาติเพื่อระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศใด ๆ ที่ภาคีผู้ทำสัญญาอาจเกี่ยวข้องด้วยวิธีการอย่างสันติในลักษณะที่ไม่เป็นภัยต่อสันติภาพ ความมั่นคง และความยุติธรรมระหว่างประเทศ และปกป้องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากภัยคุกคามหรือการใช้กำลังในลักษณะใด ๆ ที่ไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของสหประชาชาติ

มาตรา 2 เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของสนธิสัญญานี้ได้อย่างมีประสิทธิผลยิ่งขึ้น ภาคีผู้ทำสัญญาจะรักษาและพัฒนาขีดความสามารถทั้งส่วนบุคคลและส่วนรวมในการต่อต้านการโจมตีด้วยอาวุธ ทั้งแบบแยกส่วนหรือร่วมกันโดยการช่วยเหลือตนเองหรือช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

มาตรา 3 ภาคีผู้ทำสัญญาจะปรึกษาหารือร่วมกันผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของตนหรือผู้รักษาการแทน เกี่ยวกับการปฏิบัติตามสนธิสัญญานี้เป็นครั้งคราวและเมื่อใดก็ตามที่เห็นว่าบูรณภาพแห่งดินแดน ความเป็นอิสระทางการเมือง หรือความมั่นคงของภาคีผู้ทำสัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถูกคุกคามจากการโจมตีด้วยอาวุธจากภายนอกในมหาสมุทรแปซิฟิก

มาตรา 4 ภาคีผู้ทำสัญญาแต่ละฝ่ายตระหนักดีว่าการโจมตีด้วยอาวุธในเขตภูมิภาคแปซิฟิกต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเป็นอันตรายต่อความสงบสุขและความปลอดภัยของตน และขอยืนกรานว่าจะดำเนินการเพื่อตอบสนองต่ออันตรายร่วมกันตามกระบวนการตามรัฐธรรมนูญของตน การโจมตีด้วยอาวุธใด ๆ และมาตรการทั้งหมดที่เป็นผลจากการโจมตีดังกล่าว จะต้องรายงานต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติโดยทันที มาตรการดังกล่าวจะสิ้นสุดลงเมื่อคณะมนตรีความมั่นคงได้ใช้มาตรการที่จำเป็นเพื่อฟื้นฟูและรักษาสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ

มาตรา 5 เพื่อวัตถุประสงค์ของมาตรา 4 การโจมตีด้วยอาวุธต่อภาคีผู้ทำสัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งให้ถือว่าเป็นการโจมตีด้วยอาวุธต่ออาณาเขตมหานครของภาคีผู้ทำสัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือต่ออาณาเขตหมู่เกาะภายใต้เขตอำนาจศาลของตนในมหาสมุทรแปซิฟิก กองทัพ เรือสาธารณะ หรืออากาศยานในมหาสมุทรแปซิฟิก

มาตรา 6 สนธิสัญญาฉบับนี้ไม่ส่งผลกระทบและจะไม่มีการตีความว่ากระทบต่อสิทธิและภาระผูกพันของภาคีผู้ทำสัญญาภายใต้กฎบัตรสหประชาชาติ หรือความรับผิดชอบของสหประชาชาติในการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศในทางใดทางหนึ่ง

มาตรา 7 สนธิสัญญาฉบับนี้ต้องมีการให้สัตยาบันโดยสาธารณรัฐฟิลิปปินส์และสหรัฐอเมริกาตามกระบวนการรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้อง และจะมีผลบังคับใช้เมื่อมีการแลกเปลี่ยนสัตยาบันสาร ณ กรุงมะนิลา

มาตรา 8 สนธิสัญญานี้มีผลบังคับใช้โดยไม่มีกำหนด ภาคีผู้ทำสัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสิทธิยุติสนธิสัญญาได้หลังจากแจ้งให้ภาคีผู้ทำสัญญาอีกฝ่ายทราบล่วงหน้าครบ 1 ปี

ที่มา: สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ สภาผู้แทนราษฎร หอสมุดนิติบัญญัติ

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button