กระบอกเสียงความขัดแย้ง/ความตึงเครียดปัญหาหลักภัยคุกคามที่ไม่มีต้นแบบแน่นอนระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แผนก

แนวโน้มและความเป็นไปได้

ขยายความร่วมมือด้านความมั่นคงในอินโดแปซิฟิก

ดร.เอ‘ง เอ็ง เฮ็น/กระทรวงกล“โหมส‘งคโปร์

ครั้งสุดท้ายที่ผมได้ขึ้นกล่าวปราศรัยในที่ประชุม ปุตราจายาคือเมื่อสี่ปีที่แล้ว คงไม่เกินจริงหากจะกล่าวว่า นับตั้งแต่ที่เราได้พบกันเมื่อสี่ปีที่แล้ว โลกได้เปลี่ยนแปลงไปโดยไม่ได้เกิดขึ้นจากเพียงเหตุการณ์เดียว แต่มีถึงสองเหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์ที่สำคัญยิ่ง ซึ่งได้แก่โควิดและการรุกรานยูเครนของรัสเซีย ความท้าทายเฉพาะตัวเหล่านี้ยิ่งเป็นการทดสอบภาวะวิกฤตการเตรียมการ พันธมิตร และหุ้นส่วนที่มีอยู่ ซึ่งเผยให้เห็นถึงช่องโหว่และจุดอ่อนมากมาย เราควรจัดการปัญหาเหล่านี้ร่วมกัน เพราะไม่มีประเทศใดที่สามารถดำเนินการได้เพียงลำพัง พันธมิตรจากมาเลเซียของผมอย่างนายดาโต๊ะ ซรี ฮิชามมุดดิน ฮุสเซน ได้ชี้ให้เห็นถึงความท้าทายข้ามชาติอื่น ๆ อย่างถูกต้อง เช่น การก่อการร้าย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และภัยพิบัติทางธรรมชาติ ที่อาจต้องลดความสำคัญลงไปบ้างในช่วงที่เรากำลังจัดการกับเหตุการณ์ทั้งสองนี้ แต่ความท้าทายนั้นก็อาจสะเทือนประเทศของเราไม่ต่างกันในอนาคต

โควิดและความขัดแย้งระหว่างยูเครนกับรัสเซียส่งผลกระทบไปทั่วโลกและไปไกลเกินขอบเขตด้านความมั่นคง เราสามารถถอดบทเรียนจากเหตุการณ์ทั้งสองที่เชื่อมโยงกันนี้ในการพัฒนาหรือเสริมสร้างโครงการริเริ่มที่มีอยู่เพื่อให้ภูมิภาคของเราหรืออาเซียน (สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) เข้มแข็งขึ้น หรืออย่างน้อยก็มีความยืดหยุ่นมากขึ้นได้ แม้จะมีความท้าทายอยู่บ้าง แต่ผมจะมุ่งเน้นไปที่ความท้าทายสามประการต่อไปนี้

ประการแรกคือ การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานเนื่องด้วยสถานการณ์โควิด ผมจึงคิดว่าเราทุกคนต่างได้สัมผัสประสบการณ์ในประเทศของเราเองแล้ว เราได้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงการล็อกดาวน์ระดับประเทศที่ทำให้การไหลเวียนของวัตถุดิบและสินค้าสำเร็จรูปเกิดหยุดชะงัก ผมแน่ใจว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในอีกหลายต่อหลายประเทศ ซึ่งนำไปสู่การขาดแคลนผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภคที่จำเป็น รวมถึงวัตถุดิบหลัก ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เช่น สารกึ่งตัวนำ และแม้กระทั่งเวชภัณฑ์ที่สำคัญ เช่น อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล อีกทั้งความขัดแย้งระหว่างยูเครนกับรัสเซียยังส่งผลกระทบในทำนองเดียวกันด้วย ราคาสินค้าโภคภัณฑ์และเชื้อเพลิงได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วแล้ว รัสเซียเป็นผู้ส่งออกข้าวสาลีอันดับต้น ๆ ของโลก และเมื่อรวมเข้ากับยูเครนซึ่งเป็น “อู่ข้าวอู่น้ำของยุโรป” แล้ว ก็คิดเป็นสัดส่วนเกือบหนึ่งในสามของการส่งออกข้าวสาลีของโลกเลยทีเดียว รัสเซียยังเป็นผู้จัดหาก๊าซธรรมชาติให้แก่ยุโรปอีกประมาณร้อยละ 40 และอีกประมาณหนึ่งในสี่ของการนำเข้าน้ำมันดิบในสหภาพยุโรป

ทหารอินโดนีเซียยืนอยู่ใกล้ถังออกซิเจนเหลว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการส่งมอบเวชภัณฑ์จากรัฐบาลสิงคโปร์ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ที่ระบาดอย่างรุนแรง รอยเตอร์

โดยรวมแล้ว อาเซียนถือเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรแบบสุทธิ เราควรสำรวจกลไกในการรวบรวมทรัพยากรต่าง ๆ เพื่อสร้างความยืดหยุ่นและลดการหยุดชะงักภายในภูมิภาคของเราในช่วงวิกฤตให้เหลือน้อยที่สุด ใน พ.ศ. 2563 อาเซียนได้ให้คำมั่นในแถลงการณ์ร่วมของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและป่าไม้เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ความปลอดภัยและโภชนาการทางอาหารในภูมิภาคท่ามกลางภาวะการระบาดใหญ่ของโควิด-19 และยังผ่านกองทุนรับมือโควิด-19 ของอาเซียนที่ให้ความช่วยเหลือประเทศสมาชิกในการจัดหาเวชภัณฑ์และเครื่องมือทางการแพทย์ที่จำเป็นในการต่อสู้กับภาวะการระบาดใหญ่ นอกจากนี้ อาเซียนกำลังดำเนินการเพื่อเพิ่มการยกเว้นภาษีสำหรับรายการสินค้าที่จำเป็น รวมถึงขยายให้ครอบคลุมรายการอาหารที่เป็นวัตถุดิบหลักและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับวัคซีน นี่ถือเป็นโครงการริเริ่มที่ดี แต่เราต้องทำมากกว่านี้

ความท้าทายประการที่สองที่เราต้องเผชิญคือ การแข่งขันและการเกี่ยวดองกันทางภูมิรัฐศาสตร์ ในโลกที่สมบูรณ์แบบ การต่อสู้กับโควิดที่ถือเป็นความท้าทายด้านสาธารณสุขนั้น ควรเป็นเรื่องปกติทั่วไปที่ไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงอุดมการณ์หรือการเกี่ยวพันทางการเมือง รวมถึงเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วหรือเกิดขึ้นใหม่ เราทุกคนต่างทราบดีว่าเราไม่ได้อยู่ในโลกที่สมบูรณ์แบบ แต่ถึงกระนั้น สถาบันระดับพหุภาคีก็ต้องเผชิญกับความยากลำบากในการหลอมรวมให้เกิดการดำเนินงานร่วมกันในโลกที่มีการแบ่งข้าง แม้แต่การแจกจ่ายและการเลือกใช้วัคซีนก็อาจกลายเป็นเรื่องการเมืองและส่งผลให้เกิดความแตกต่างโดยสิ้นเชิงในด้านตัวเลือกวัคซีน การแจกจ่ายและการยอมรับวัคซีนการดูแลรักษาพยาบาล รวมถึงความเพียงพอของออกซิเจนและผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ ความขัดแย้งอย่างต่อเนื่องระหว่างยูเครนกับรัสเซียก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อความพยายามที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนและการพัฒนาวิสาหกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและการจัดหาเงินทุน ความพยายามที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยทางไซเบอร์ การสร้างเศรษฐกิจดิจิทัล และการยกระดับบรรทัดฐานทางดิจิทัล ซึ่งความพยายามเหล่านี้จะนำเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมระดับโลกได้ยากหากการแข่งขันเหล่านี้รุนแรงขึ้น

ความท้าทายประการที่สามคือ การกลับมาของภัยคุกคามหรือการกระตุ้นความรุนแรงของภัยคุกคาม ซึ่งผมหมายถึงการก่อการร้ายและการโจมตีทางไซเบอร์ แม้จะมีมาตรการจำกัดการเคลื่อนไหวอันเนื่องมาจากโควิด ทว่ากลุ่มผู้ก่อการร้ายก็ยังคงดำเนินการจัดระบบ ยุยง และก่อการโจมตีอยู่ ซึ่งรวมไปถึงในภูมิภาคของเราด้วย กลุ่มผู้ก่อการร้ายระดับโลกเช่น ไอซิส (กลุ่มรัฐอิสลามแห่งอิรักและซีเรีย) และอัลกออิดะฮ์ ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความยืดหยุ่นและความสามารถในการปรับตัวได้ดี พวกเขาได้รักษายุทธศาสตร์การสรรหาบุคลากรและการบ่มเพาะความรุนแรงของตนให้เป็นปัจจุบัน และกำลังใช้ประโยชน์จากพื้นที่ทางไซเบอร์ให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด ด้วยการยกเลิกมาตรการจำกัดด้านการเดินทางอันเนื่องมาจากโควิด เราจึงคาดการณ์ได้ว่าการก่อการร้ายจะมีเพิ่มขึ้น

ทั้งโควิดและความขัดแย้งระหว่างยูเครนกับรัสเซียยังแสดงให้เห็นถึงผลกระทบที่การบิดเบือนข้อมูลส่งผลต่อโลกความเป็นจริงในด้านภัยคุกคามจากพื้นที่ไซเบอร์ เนื่องด้วยสถานการณ์โควิด-19 ความเคลื่อนไหวของการสมคบคิดและการต่อต้านวัคซีนจึงก่อให้เกิดความตื่นตระหนกที่เกินควร ทำให้ประชาชนและรัฐบาลแตกแยก ทั้งยังบ่อนทำลายความพยายามด้านสาธารณสุขไปทั่วโลก

โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญอาจได้รับผลกระทบผ่านพื้นที่ดิจิทัลเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา เกิดการโจมตีด้วยมัลแวร์เรียกค่าไถ่ในระบบท่อส่งน้ำมันรายใหญ่ของอเมริกาอย่าง โคโลเนียล ไปป์ไลน์ ทำให้การไหลเวียนผลิตภัณฑ์ในชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ เกิดติดขัด เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2564 เกิดการโจมตีทางไซเบอร์ในระบบเชื้อเพลิงของอิหร่าน เมื่อไม่นานมานี้ การโจมตีทางไซเบอร์ส่งผลกระทบต่อการขนส่งน้ำมันจากคลังน้ำมันในเบลเยียมและเยอรมนี เหตุการณ์เหล่านี้เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการแบ่งแยกที่ผิดพลาดระหว่างโลกเสมือนและโลกความเป็นจริง

ทั้งผู้มีบทบาทของรัฐและนอกภาครัฐจะรับรู้ว่าอำนาจของพื้นที่ดิจิทัล และภัยคุกคามที่เล็ดลอดออกมาจากพื้นที่นี้จะมีแต่เพิ่มขึ้น

มุ่งสู่ความร่วมมือด้านความมั่นคง

อาเซียนสามารถจัดการกับความท้าทายเหล่านี้ร่วมกันได้โดยอยู่บนพื้นฐานของหลักปฏิบัติระหว่างประเทศที่แต่ละประเทศเห็นพ้องร่วมกัน ผมขอกล่าวถึงหลักการสำคัญสามประการ

ทหารจากสิงคโปร์ ไทย และสหรัฐอเมริกาเกลี่ยคอนกรีตสำหรับโรงเรียนในจังหวัดพิษณุโลกของประเทศไทย ในระหว่างการฝึกซ้อมคอบร้าโกลด์ จ.อ. จูลิโอ ริเวอรา/กองทัพเรือสหรัฐฯ

หลักการแรก เราต้องเชิดชูความเป็นอันดับหนึ่งของอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของทุก ๆ ประเทศ ในกรณีที่มีข้อพิพาทต่าง ๆ เราต้องปฏิเสธการรุกรานที่ใช้กำลังและมิชอบด้วยกฎหมายไม่ว่าจะมาจากประเทศใด และดำเนินการระงับข้อพิพาทด้วยสันติวิธีแทนซึ่งในที่นี้เรามีตัวอย่างที่ดี ไม่ว่าจะเป็นข้อพิพาทระหว่างมาเลเซียและอินโดนีเซียเกี่ยวกับเกาะซีปาตันและเกาะลีกีตัน ข้อพิพาทระหว่างมาเลเซียและสิงคโปร์เกี่ยวกับเกาะเปดราบรังกา มิดเดิลร็อกส์และเซาท์เลดจ์ รวมถึงการเวนคืนที่ดินโดยสิงคโปร์ทั้งในและรอบ ๆ ช่องแคบยะโฮร์ ซึ่งได้มีการระงับข้อพิพาทเหล่านี้อย่างสันติและเป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศหรือแนวทางปฏิบัติที่ได้รับการยอมรับเป็นอย่างดี

หลักการที่สอง ถึงแม้แต่ละประเทศจำเป็นต้องสามารถทำการตัดสินใจบนพื้นฐานของผลประโยชน์ของประเทศตน แต่ก็จะมีกลไกร่วมกันในการจัดการกับความท้าทายข้ามชาติและการมีส่วนร่วมในมาตรการสร้างความเชื่อมั่นเพื่อลดความตึงเครียดและลดผลกระทบที่ตามมา ซึ่งก็มีตัวอย่างเชิงบวกของความร่วมมือในภูมิภาคของเราเช่นกัน เช่น มาเลเซียและสิงคโปร์เป็นส่วนหนึ่งของหน่วยลาดตระเวนช่องแคบมะละกาที่เริ่มปฏิบัติการเมื่อ พ.ศ. 2547 และมาเลเซียก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงด้านความร่วมมือไตรภาคีในทะเลซูลู-เซเลเบสที่บัญญัติขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2560 เพื่อจัดการกับภัยคุกคามอย่างการก่อการร้ายและ
การกระทำอันเป็นโจรสลัด เรามีโครงการริเริ่มเพื่อสร้างความเชื่อมั่น เช่น ระเบียบปฏิบัติว่าด้วยการเผชิญหน้าในทะเลที่นอกเหนือแผน ซึ่งการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจาทั้ง 18 ประเทศของกองทัพเรือก็ได้ปฏิบัติกันมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังมีแนวทางปฏิบัติสำหรับการเผชิญหน้าทางทหารบนอากาศด้วย เราควรใช้กรอบความร่วมมือที่คล้ายคลึงกันเพื่อจัดการกับความท้าทายข้ามชาติ รวมถึงการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานสำหรับสินค้าโภคภัณฑ์ที่จำเป็น หรือแม้กระทั่งพลังงาน

หลักการที่สาม ในภาคส่วนด้านความมั่นคง เราต้องยกระดับการเจรจาและการทำงานร่วมกัน สร้างความเชื่อมั่น และเพิ่มความเข้าใจผ่านแพลตฟอร์มที่จัดตั้งขึ้น การประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนและการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจา ซึ่งประกอบไปด้วย 18 ประเทศที่จัดเตรียมกองกำลังทหารร่วมกันได้เกือบร้อยละ 90 ของกองทัพของโลก ซึ่งขณะนี้ได้กลายเป็นการเตรียมการด้านความมั่นคงของเอเชียไปแล้วโดยพฤตินัย นอกจากนี้ เรายังมีข้อตกลงการป้องกันประเทศร่วมกันห้าฝ่าย ซึ่งได้แก่ ออสเตรเลีย มาเลเซีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ และสหราชอาณาจักร
เราทำงานร่วมกันผ่านโครงการริเริ่มต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ศูนย์รวมความเป็นเลิศด้านความมั่นคงทางไซเบอร์และข้อมูลของการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอาเซียน เครือข่ายการป้องกันทางไซเบอร์ของอาเซียน และศูนย์ข้อมูลต่อต้านการก่อการร้าย แพลตฟอร์มพหุภาคีเหล่านี้อำนวยความสะดวกในการแบ่งปันข้อมูล เสริมสร้างความไว้วางใจระหว่างกองทัพ และยกระดับความร่วมมือสำหรับภูมิภาคของเราเพื่อบรรลุเป้าหมายที่มีร่วมกัน และบรรเทาภัยคุกคามที่มีร่วมกันของเรา

เราจะให้ความน่าเชื่อถือแก่ความเป็นศูนย์กลางของอาเซียนมากขึ้นด้วยการเสริมสร้างความยืดหยุ่นและการรับมือต่อความท้าทายเหล่านี้ภายในอาเซียนและโดยอาเซียน

เหตุการณ์สำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์สองเหตุการณ์ได้เปลี่ยนแปลงโลกของเราไปนับตั้งแต่ที่เราได้พบกันครั้งล่าสุด มีการเปิดเผยจุดอ่อนและข้อบกพร่องมากมาย และเราต้องดำเนินการร่วมกันในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้เพื่อให้แน่ใจว่าสันติภาพ เสถียรภาพ และความก้าวหน้าจะยังคงดำเนินต่อไปทั้งในภูมิภาคของเราและนอกภูมิภาคของเรา

ดร. เอิง เอ็ง เฮ็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสิงคโปร์ กล่าวปราศรัยในที่ประชุมปุตราจายาในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2565รั้งที่ 6 ที่มาเลเซีย ซึ่งจัดขึ้นโดยสถาบันกลาโหมและความมั่นคงแห่งมาเลเซียเพื่อการพบปะกันของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เจ้าหน้าที่ และนักวิชาการสำหรับหารือเกี่ยวกับ ประเด็นด้านกลาโหมและความมั่นคง โดยมีการเรียบเรียงเนื้อหาเพื่อให้เหมาะสมกับการนำเสนอของ ฟอรัม

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button