เรือสอดแนมของจีนสร้างความกังวลในอินเดีย
มันดีป ซิงห์
การส่งเรือสอดแนมสองลำของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนในมหาสมุทรอินเดียได้สร้างความกังวลในหมู่เจ้าหน้าที่รัฐบาลและนักวิเคราะห์ของรัฐบาลอินเดียเกี่ยวกับเจตนาของรัฐบาลจีน
เรือหยวนหวัง 5 ได้จอดเทียบท่าที่ศรีลังกาเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2565 ทั้ง ๆ ที่การประท้วงของชาวอินเดียเกิดจากความกังวลเกี่ยวกับอิทธิพลของรัฐบาลจีนต่อรัฐบาลศรีลังกา ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน รัฐบาลอินเดียได้เลื่อนการทดสอบระบบขีปนาวุธเมื่อเรือหยวนหวัง 6 ล้ำเข้าสู่มหาสมุทรอินเดียหลังจากข้ามช่องแคบลอมบอกในอินโดนีเซีย (ภาพ: เรือหยวนหวัง 5 แล่นมาถึงท่าเรือฮัมบันโตตาในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2565 ท่ามกลางการตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับภารกิจของเรือสอดแนมในศรีลังกา)
เรือติดตามของจีนแต่ละลำติดตั้งจานเรดาร์แบบหมุนสี่จาน เจ้าหน้าที่อาวุโสของกองทัพเรืออินเดียกล่าวกับ ฟอรัม เรือที่มีความยาว 222 เมตรและหนัก 25,000 ตันนี้สามารถติดตามขีปนาวุธทิ้งตัวและดาวเทียม อีกทั้งยังรวบรวมสัญญาณข่าวกรองได้อีกด้วย
“การเข้าสู่น่านน้ำมหาสมุทรอินเดียของเรือหยวนหวัง 6 ใกล้กับหมู่เกาะอันดามันและนิโคบาร์ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนทำให้การทดสอบขีปนาวุธของอินเดียในบริเวณดังกล่าวล่าช้าออกไป” นายประทีก โจชิ นักวิจัยของศูนย์ศึกษาสันติภาพระหว่างประเทศของกรุงนิวเดลี กล่าวกับ ฟอรัม
มีการทดสอบขีปนาวุธร่อนความเร็วเหนือเสียงพิสัยไกล บราห์มอสของอินเดียบนเกาะดังกล่าวในช่วงต่อมาของเดือนเดียวกัน ซึ่งตามรายงานเดิมมีกำหนดการทดสอบในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน
เรือสอดแนมทั้งสองลำมีระยะเรดาร์ถึง 750 กิโลเมตร เจ้าหน้าที่ของกองทัพเรืออินเดียกล่าว และได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ทรัพย์สินทางยุทธศาสตร์จำนวนมากในอินเดียตอนใต้อยู่ในขอบเขตการสอดแนมของเรือหยวนหวัง 5 ในขณะที่เรือจอดเทียบท่าที่ท่าเรือฮัมบันโตตาของศรีลังกาเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ในช่วงกลางเดือนสิงหาคม และยังรวมถึงสถานที่ทดสอบขีปนาวุธในเมืองจันดิปูร์ รัฐโอดิชา, องค์การวิจัยดาวเทียมอินเดียที่ศรีหริโคตา, โรงไฟฟ้านิวเคลียร์กัลปักคามและคูดันคูลาม ตลอดจนกองบัญชาการกองทัพเรือตอนใต้ในโคจิ
นายโจชิกล่าวว่าท่าเรือฮัมบันโตตาดำเนินการโดยรัฐวิสาหกิจของจีน และรัฐบาลอินเดียกังวลว่าท่าเรือพาณิชย์แห่งนี้อาจเป็นสถานที่รองรับเรือรบของกองทัพเรือของกองทัพปลดปล่อยประชาชนได้ การประท้วงในกรุงนิวเดลีทำให้การจอดเทียบท่าของเรือหยวนหวัง 5 ล่าช้าออกไปเป็นเวลาห้าวัน โดยกัปตันเรืออ้างว่ามาประจำการเพื่อภารกิจสันติภาพและเพื่อเพิ่มความเข้าใจในการสื่อสารระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนและศรีลังกาเกี่ยวกับการวิจัยและเทคโนโลยีอวกาศ
“กระทรวงการต่างประเทศและกองทัพเรืออินเดียได้แสดงออกต่อสาธารณะว่ามองข้ามภัยคุกคามปัจจุบันจากเรือสอดแนมจีน และให้ความสำคัญมากขึ้นกับความพร้อมของอินเดียในการคาดการณ์ภัยคุกคามดังกล่าว” นายโจชิกล่าว “แต่โดยส่วนตัวแล้วอินเดียได้บอกต่อถึงความวิตกกังวลไปยังรัฐบาลที่เกี่ยวข้อง”
ความไม่สบายใจของอินเดียยิ่งเพิ่มขึ้นจากการที่กองกำลังทหารของอินเดียปะทะกับกองกำลังจีนตามแนวชายแดนระหว่างประเทศเป็นครั้งคราว นายโจชิกล่าว
น.อ. จิตราภู อุเดย์ ภาสการ์ (เกษียณอายุ) นักวิเคราะห์ด้านกลาโหมของอินเดีย กล่าวกับ ฟอรัมว่าการจอดเรือสอดแนมของกองทัพเรือของกองทัพปลดปล่อยประชาชนเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความกังวล แต่ไม่จำเป็นต้องยกให้เป็นเรื่องเร่งด่วน
“หลังจากการประชุมใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 20 การมุ่งเน้นของจีนในด้านขีดความสามารถในการข้ามพรมแดนโดยเพิ่มขีดความสามารถของกองทัพเรือและกองทัพอากาศก็เริ่มเห็นได้ชัด” น.อ. ภาสการ์กล่าว “หากพูดถึงประเด็นของไต้หวันและทะเลจีนใต้ กองทัพเรือของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในเร็ว ๆ นี้ เหตุการณ์รุนแรงในพื้นที่ไต้หวันอาจเบียดให้ภูมิภาคมหาสมุทรอินเดียตกไปเป็นภูมิภาคที่มีความสำคัญต่ำแต่ก็ยังอยู่ในความสนใจ”
มันดีป ซิงห์ เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของ ฟอรัม รายงานจากกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย
ภาพจาก: เอเอฟพี/เก็ตตี้