เมื่อโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเผชิญกับอุปสรรคมากขึ้น นายสีอาจหาทางปรับภาพลักษณ์ให้โครงการอีกครั้ง
เจ้าหน้าที่ ฟอรัม
เกือบหนึ่งทศวรรษแล้วหลังจากที่มีการเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ถึงแผนการโครงสร้างพื้นฐานหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของรัฐบาลจีน แต่ก็ยังคงมีข้อถกเถียงถึงแนวทางของโครงการ ซึ่งทำให้มีการคาดการณ์ว่านายสี จิ้นผิง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน กำลังพยายามที่จะปรับภาพลักษณ์ให้นโยบายที่ยุ่งยากอันเลื่องชื่อของตนอีกครั้งเมื่อต้องต่อสู้กับความท้าทายภายในประเทศอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
ในระหว่างการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิกเมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2565 นายสีได้เรียกร้องให้มีการสร้าง “ชุมชนในเอเชียแปซิฟิกที่มีอนาคตร่วมกัน” ตามรายงานของสื่อที่ควบคุมโดยรัฐของสาธารณรัฐประชาชนจีน นายสีกล่าวว่า ที่ประชุมซึ่งมีประเทศสมาชิก 21 ประเทศนี้จะต้อง “เสริมสร้างการประสานงานในด้านนโยบายเศรษฐกิจมหภาค หล่อหลอมห่วงโซ่อุปทานและอุตสาหกรรมในภูมิภาคให้เชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้น และยกระดับการบูรณาการทางเศรษฐกิจในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง” รวมถึงมาตรการอื่น ๆ
“จากวิสัยทัศน์ของนายสีที่มีต่อชุมชนในเอเชียแปซิฟิกที่มีอนาคตร่วมกันนั้น จีนจะเป็น “ศูนย์กลาง” ในการเชื่อมต่อกับแต่ละประเทศในรูปแบบศูนย์กลางและศูนย์ย่อยของเครือข่ายห่วงโซ่อุปทานที่มีการกระจายตัว” ดร. มารีน่า เยว่ จาง รองศาสตราจารย์แห่งสถาบันความสัมพันธ์ระหว่างออสเตรเลียและจีนของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีซิดนีย์ เขียนในนิตยสารข่าวออนไลน์เดอะดิโพลแมตเมื่อต้นเดือนธันวาคม พ.ศ. 2565
คำอธิบายที่คล้ายกันมักจะถูกนำไปใช้กับโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ซึ่งโฆษณาชวนเชื่ออย่างเป็นทางการของพรรคคอมมิวนิสต์จีนพยายามที่จะปรับโฉมใหม่ให้กลายเป็นข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง หลังจากโครงการข้ามทวีปนี้เผชิญกับปัญหาจำนวนมาก โดยธนาคารโลกและหน่วยงานอื่น ๆ กล่าวถึงความเสี่ยงต่อประเทศที่เข้าร่วม เช่น การก่อหนี้กับผู้ให้กู้ยืมชาวจีน การบริหารต้นทุน การทำงานที่ย่ำแย่ การทุจริต ความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการสูญเสียอำนาจอธิปไตย
ประเทศในอินโดแปซิฟิก รวมถึงบังกลาเทศ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และมัลดีฟส์ได้ยกเลิก ลดระดับ หรือเจรจาต่อรองเกี่ยวกับโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางสำหรับข้อกังวลดังกล่าว ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2565 ด้วยภาวะเศรษฐกิจของประเทศดังกล่าวที่ตกต่ำและนำไปสู่การผิดนัดชำระหนี้ ผู้นำศรีลังกาจึงได้ยื่นคำขาดให้เจ้าหน้าที่จีนปรับโครงสร้างการชำระหนี้ของรัฐบาลศรีลังกา นักวิเคราะห์ชี้ให้เห็นถึงกรณีที่น่าหนักใจของท่าเรือฮัมบันโตตาในมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งเป็นโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางที่สร้างขึ้นด้วยเงินทุนจากจีนและอยู่ภายใต้การควบคุมของบริษัทรัฐวิสาหกิจของจีนเมื่อศรีลังกาประสบปัญหาในการชำระคืนเงินกู้
การที่รัฐบาลจีนปรับปรุงโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางภายใต้ชื่อใหม่นั้นไม่สามารถขจัดความหวั่นเกรงว่าโครงการนี้เป็นภัยแอบแฝงได้ โดยโครงการนี้เสนอความช่วยเหลือด้านการพัฒนาเพียงเพื่อจะใช้เป็นช่องทางในการขยายอิทธิพลทางการเมืองและการทหารของจีนเท่านั้น โดยท่าเรือต่าง ๆ เช่น แฮมบันโตตาอาจอนุญาตให้เรือของกองทัพเรือจีนสามารถเข้าถึงได้โดยไม่ต้องมีการกำกับดูแลจากหน่วยงานท้องถิ่น ไม่กี่วันก่อนที่นายสีจะกล่าวปราศรัยกับผู้นำการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิกในกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย เจ้าหน้าที่จีนได้พยายามปฏิเสธรายงานการประท้วงของมวลชนที่มุ่งเป้าไปที่โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางทางตะวันตกเฉียงใต้ของปากีสถาน ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ดิอีโคโนมิกไทมส์ของอินเดีย
ระเบียงเศรษฐกิจระหว่างจีนกับปากีสถานที่เปิดตัวเมื่อ พ.ศ. 2558 มีมูลค่า 6.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2.2 ล้านล้านบาท) ซึ่งเป็นทั้งเครือข่ายถนนและส่วนเชื่อมต่อทางรถไฟยาว 3,000 กิโลเมตร เขตอุตสาหกรรม รวมไปถึงท่อนำส่งที่เชื่อมต่อภูมิภาคซินเจียงในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีนกับเมืองกวาดาร์ ซึ่งเป็นเมืองประมงของปากีสถาน ทำให้รัฐบาลจีนสามารถเข้าถึงเส้นทางการค้าในทะเลอาหรับที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ได้
การก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกของจีนที่กวาดาร์ทำให้ชุมชนเกิดความวุ่นวาย เนื่องจากมีการเดินประท้วงในวงกว้างและขู่ว่าจะขัดขวางอิทธิพลของจีนในรัฐบาลท้องถิ่น การรักษาความปลอดภัยที่เพิ่มสูงขึ้น และเรือลากอวนของจีนที่ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ในชุมชนประมงหยุดชะงัก ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ดิอีโคโนมิกไทมส์เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2565 (ภาพ: เจ้าหน้าที่ของกองทัพเรือปากีสถานยืนเฝ้ายามขณะที่เรือบรรทุกสินค้าของจีนเตรียมออกจากท่าเรือในกวาดาร์เมื่อ พ.ศ. 2559)
ความไม่พอใจได้ปะทุขึ้นถึงระดับที่รุนแรง
“ท่าเรือกวาดาร์เป็นดั่งเพชรยอดมงกุฎแห่งระเบียงเศรษฐกิจระหว่างจีนกับปากีสถานมาช้านาน แต่ในกระบวนการดังกล่าวเมืองนี้ได้กลายเป็นศูนย์กลางของรัฐความมั่นคง” หนังสือพิมพ์ดอว์นของปากีสถานระบุในบทบรรณาธิการเมื่อปลาย พ.ศ. 2564 “แทนที่จะเป็นท่าเรือที่เบิกทางไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่กลับให้ผลลัพธ์ที่ตรงกันข้าม การลิดรอนสิทธิมีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากการเคลื่อนไหวของประชาชนถูกจำกัดโดยกองกำลังรักษาความปลอดภัยและมีการตั้งคำถามถึงกิจกรรมของประชาชนอย่างไม่มีเหตุผล หลายคนกล่าวว่าตนถูกทำให้รู้สึกเหมือนเป็นคนต่างถิ่นในดินแดนของตนเอง”
ขณะที่เหตุการณ์ความไม่สงบยังดำเนินต่อไปในกวาดาร์ การประท้วงครั้งประวัติศาสตร์ได้ปะทุขึ้นในเมืองต่าง ๆ และในวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยทั่วประเทศจีน เนื่องจากการจำกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาที่เข้มงวดของรัฐบาล การประท้วงดังกล่าว ซึ่งมีการเรียกร้องให้นายสีลาออกจากตำแหน่งเพียงไม่กี่สัปดาห์หลังจากที่เขาได้รับวาระการดำรงตำแหน่งห้าปีเป็นครั้งที่สามในฐานะหัวหน้าพรรค ถือเป็นการประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดในจีนในรอบหลายปีและดูเหมือนจะส่งผลให้เจ้าหน้าที่ผ่อนปรนการปิดเมืองและการตรวจเชื้อในคนหมู่มาก
นอกจากนี้ยุทธวิธี “ปลอดโควิด” ของรัฐบาลจีนยังได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนอย่างรุนแรง เนื่องจากโรงงานและธุรกิจต่าง ๆ ถูกปิดหลายครั้งเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของไวรัส ในขณะเดียวกัน ประเทศประชาธิปไตยทั่วโลกกำลังตัดความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและห่วงโซ่อุปทานของตนกับจีน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่จีนก่อสงครามเพิ่มขึ้นในช่องแคบไต้หวันและทะเลจีนใต้ การละเมิดสิทธิมนุษยชนและการบังคับใช้แรงงานในซินเจียง รวมถึงแนวปฏิบัติลงโทษทางการค้าของจีน
ความท้าทายที่นายสีต้องเผชิญยังทำให้โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางตกอยู่ในความเสี่ยง ตามรายงานในหัวข้อ “การส่งมอบโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ประจำเดือนธันวาคม พ.ศ. 2565 โดยเอดดาต้า ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการวิจัยที่วิทยาลัยวิลเลียมแอนด์แมรี่ในสหรัฐอเมริกา “ต้องเผชิญกับลมต้านขนาดใหญ่ กล่าวคือ การชะลอตัวทางเศรษฐกิจและชื่อเสียงในแง่ลบ ด้วยประเทศผู้กู้ยืมจำนวนหลายประเทศที่มีปัญหาหนี้สินเนื่องจากพวกเขาประสบปัญหาในการชำระคืนเงินกู้”
การปฏิรูปใหม่อีกครั้งไม่สามารถปกปิดข้อบกพร่องดังกล่าวได้
“มีเหตุผลหลายประการที่ในอนาคตอันใกล้นี้ยังไม่มีความเป็นไปได้ที่นายสีจะตระหนักถึงวิสัยทัศน์ของตนเองในการสร้างชุมชนในเอเชียแปซิฟิก อย่างน้อยก็ในระดับการปกครอง” นายจางเขียนในเดอะดิโพลแมต “ประการแรก ประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียส่วนใหญ่ของจีนยอมรับระเบียบโลกด้านเสรีภาพและประชาธิปไตยที่นำโดยสหรัฐฯ และยังมองว่าการขยายอิทธิพลของจีนที่มีการปกครองแบบเผด็จการเป็นความท้าทายด้านความมั่นคงของประเทศเหล่านั้น”
ภาพจาก: ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส