สงคราม ชิป
ไต้หวันออกมาตรการต่อต้านการโจมตีทางเศรษฐกิจของจีน ในหลายอุตสาหกรรม ของประเทศ

เรื่องและภ“พโดย รอยเตอร์
เจ้าหน้าที่สืบหาสายลับของไต้หวันได้มีการเข้าสืบสวนบริษัทสัญชาติจีนประมาณ 100 แห่งที่ต้องสงสัยว่ามีการละเมิดวิศวกรด้านสารกึ่งตัวนำและผู้มีความสามารถด้านเทคโนโลยีอื่น ๆ อย่างผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่อาวุโสของสำนักงานสอบสวนไต้หวัน กล่าวเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2565
ตั้งแต่ต้น พ.ศ. 2564 มีบริษัทชั้นแนวหน้ากว่า 7 แห่งที่ถูกดำเนินคดี และยังมีบริษัทอีก 27 แห่งที่ทางสำนักงานสอบสวนได้เข้าบุกค้นหรือเรียกสอบปากคำเจ้าของบริษัท เจ้าหน้าที่ กล่าว
ไมโครชิปส่วนใหญ่ในโลกได้รับการผลิตโดยมหาอำนาจทางเทคโนโลยีอย่างไต้หวัน ซึ่งมีการนำไปใช้ในทุกสิ่งอย่างตั้งแต่เครื่องบินขับไล่ไปจนถึงโทรศัพท์มือถือ ทั้งนี้ รัฐบาลไต้หวันมีความกังวลมาอย่างเนิ่นนานเกี่ยวกับความพยายามของจีนในการลอกเลียนแบบความสำเร็จนี้ ซึ่งยังรวมไปถึงการจารกรรมทางเศรษฐกิจ การละเมิด ผู้มีความสามารถ และวิธีการอื่น ๆ เกาหลีใต้ ซึ่งเป็นคู่แข่งในระดับ ใกล้เคียงกันกับไต้หวันมากที่สุด ได้ครองส่วนแบ่งตลาดประมาณ ร้อยละ 17
เนื่องจากไต้หวันมีบริษัท ทีเอสเอ็มซี ซึ่งเป็นบริษัทผลิตชิปยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมและครองสัดส่วนร้อยละ 92 ของกำลังการผลิตสารกึ่งตัวนำที่ล้ำหน้าที่สุดในโลก ทำให้ไต้หวันผลิตชิปที่เล็กที่สุดและเร็วที่สุด รวมถึงได้ครอบครองในสิ่งที่สาธารณรัฐประชาชนจีนต้องการอย่างยิ่งยวด นั่นคือความเชี่ยวชาญในด้านชิป

อุตสาหกรรมไมโครชิปที่โดดเด่นของไต้หวันยังได้ทำหน้าที่เป็นดั่งเกราะป้องกันภัยรูปแบบต่าง ๆ จนถึงปัจจุบัน เนื่องจากอุตสาหกรรมสารกึ่งตัวนำมีความสำคัญยิ่งต่อเศรษฐกิจของจีน ไต้หวันจึงได้คาดการณ์ไว้ว่าปฏิบัติการทางทหารที่จะเป็นภัยต่อโรงงานผลิตนั้นจะเป็นที่พึ่งสุดท้ายของจีน นักวิเคราะห์ กล่าว
ภาวะการขาดแคลนชิปทั่วโลกและเป้าหมายของรัฐบาลจีนที่จะยอมพึ่งพาตนเองในด้านชิปขั้นสูงที่ได้รับการส่งเสริมจากนายสี จิ้นผิง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน อย่างเต็มกำลังมากยิ่งขึ้นในภายหลังสงครามการค้ากับสหรัฐฯ ได้ยกระดับความรุนแรงของการช่วงชิงผู้มีความสามารถด้านวิศวกรรมและเพิ่มความเสี่ยงให้แก่ไต้หวัน
เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2563 ไต้หวันรับมือปัญหานี้โดยการจัดตั้งหน่วยเฉพาะกิจภายในสำนักงานสอบสวนของกระทรวงยุติธรรม ซึ่งเป็นองค์กรหลักในการสืบหาสายลับเพื่อรับมือกับการละเมิดของจีน
คดีที่มีการเข้าบุกค้นหรือสอบปากคำนั้นเป็นเพียง “ปลายยอดของภูเขาน้ำแข็ง” เจ้าหน้าที่อาวุโสจากสำนักงานสอบสวน กล่าว โดยได้ขอไม่ให้มีการเปิดเผยตัวตนเพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการสืบสวน
สำนักงานสอบสวนกล่าวว่า ความคิดเห็นของเจ้าหน้าที่คนดังกล่าวนั้นแสดงให้เห็นถึงมุมมองต่าง ๆ ของปัญหานี้
ความมุ่งมั่นที่เพิ่มมากขึ้น
ความกดดันทางทหารที่เพิ่มสูงขึ้นอันเนื่องมาจากจีนที่อ้างสิทธิ์ว่าไต้หวันซึ่งเป็นเกาะที่ปกครองตนเองเป็นดินแดนของตน ได้เสริมสร้างความมุ่งมั่นของรัฐบาลไต้หวันในการปกป้องอำนาจสูงสุดด้านการผลิตชิปของตน
นอกจากนี้ การรุกรานของจีนยังสร้างความกังวลในหมู่นานาประเทศว่า การที่จีนเข้าครอบครองอุตสาหกรรมของไต้หวันอาจนำไปสู่ความขัดแย้งในวงกว้างมากขึ้น เนื่องจากสหรัฐฯ เองก็พึ่งพาการผลิตชิปจากไต้หวัน การรับมือแบบพหุภาคีและความพยายามระดับโลกในการสร้างความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทานอาจช่วยปกป้องอุตสาหกรรมไมโครชิปของไต้หวันได้ ตามรายงานของการวิจัยศึกษาประจำเดือนมกราคม พ.ศ. 2565 ของศูนย์ความมั่นคงใหม่แห่งอเมริกา

ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 รัฐบาลไต้หวันได้เสนอกฎหมายที่ป้องกันไม่ให้จีนโจรกรรมเทคโนโลยีชิป ของตน ท่ามกลางความกังวลที่เพิ่มขึ้นว่ารัฐบาลจีนกำลังเร่งทำ การจารกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศไต้หวัน
คณะรัฐมนตรีไต้หวันได้เสนอข้อหาใหม่ของการจารกรรมทางเศรษฐกิจภายใต้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งกำหนดโทษจำคุกสูงสุด 12 ปีสำหรับการแพร่งพรายเทคโนโลยีหลักให้แก่จีนหรือ “กองกำลังศัตรูต่างประเทศ”
เช่น การใช้เทคโนโลยีการผลิตชิปขนาด 2 นาโนเมตรที่ล้ำหน้าที่สุดของบริษัททีเอสเอ็มซี ซึ่งนายโหลว ผิงเฉิง โฆษกของคณะรัฐมนตรี กล่าวว่า เทคโนโลยีดังกล่าวถือได้ว่ามีความสำคัญต่อความมั่นคงของไต้หวันภายใต้กฎหมายฉบับใหม่ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องได้รับการคุ้มครองเป็นพิเศษนอกเหนือจากกฎหมายว่าด้วยความลับทางการค้าที่มีอยู่
“ทุกคนต่างทราบดีว่าบริษัททีเอสเอ็มซี… เป็นเจ้าของเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลก” นายโหลว กล่าว “หากเทคโนโลยีของบริษัททีเอสเอ็มซีถูกโจรกรรมไป จะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างใหญ่หลวง”
นายโหลวกล่าวเสริมว่า ได้มีการจัดตั้งศาลที่กำหนดให้ดูแลคดี การจารกรรมทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะเพื่อเร่งการพิจารณาคดี
นอกจากนี้ รัฐบาลไต้หวันยังได้เสนอกฎหมายที่เข้มงวดขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้บริษัทจีนสามารถละเมิดผู้มีความสามารถของไต้หวันผ่านทางบริษัทที่ตั้งอยู่ในประเทศที่สามได้ โดยรัฐสภาไต้หวันต้องผ่านกระบวนการพิจารณาแก้ไขกฎหมายดังกล่าวก่อนที่จะขึ้นบัญญัติเป็นกฎหมาย
ทางการไต้หวันได้เพิ่มบทลงโทษที่เข้มงวดขึ้นสำหรับการลงทุนด้วยวิธีการที่ผิดกฎหมายของจีนในไต้หวัน ซึ่งรัฐบาลระบุว่าวิธีการดังกล่าวนำไปสู่การจารกรรมทางอุตสาหกรรมหลายคดีในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
“การแทรกซึมในหลายอุตสาหกรรมของไต้หวันจากห่วงโซ่อุปทานสีแดงของจีนมีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา” นายซู เจิงชาง นายกรัฐมนตรีไต้หวัน กล่าวในแถลงการณ์โดยมีการกล่าวถึงผู้จัดหาด้านเทคโนโลยีของจีน “พวกเขาละเมิดผู้มีความสามารถด้านเทคโนโลยีชั้นสูงของประเทศเรา รวมถึงโจรกรรมเทคโนโลยีที่เป็นแกนหลักและที่สำคัญของประเทศเราไป”
ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2565 สำนักงานสอบสวนได้ดำเนินปฏิบัติการที่ยิ่งใหญ่ที่สุดจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นการเข้าบุกค้นบริษัท 8 แห่งโดยมีเป้าหมายเพื่อรับมือกับสิ่งที่เรียกว่า “กิจกรรมการละเมิดผู้มีความสามารถและการโจรกรรมความลับที่ผิดกฎหมายของพรรคคอมมิวนิสต์จีน”
กลอุบายที่ปรับใช้
การที่บริษัทสัญชาติจีนจะจ้างวิศวกรสัญชาติไต้หวันนั้นไม่ใช่เรื่องที่ผิดกฎหมาย แต่ถึงกระนั้น กฎหมายของไต้หวันก็ห้ามไม่ให้มีการลงทุนจากจีนในบางภาคส่วนของห่วงโซ่อุปทานสารกึ่งตัวนำ ซึ่งรวมถึงการออกแบบชิป นอกจากนี้ยังกำหนดให้มีการทบทวนในหลายด้าน เช่น บรรจุภัณฑ์สำหรับชิป จึงเป็นเรื่องยากสำหรับบริษัทชิปของจีนที่จะดำเนินกิจการในไต้หวันอย่างชอบด้วยกฎหมาย

วิศวกรสัญชาติไต้หวันสามารถไปทำงานที่จีนได้ ทว่าหลายคนกลับชื่นชอบคุณภาพชีวิตในไต้หวันมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีมาตรการจำกัดของโควิด-19 ซึ่งทำให้การเดินทางยากลำบากยิ่งขึ้น
คดีหนึ่งที่อยู่ระหว่างการสืบสวนนั้นเกี่ยวข้องกับบริษัทแห่งหนึ่งที่อ้างว่าตนเป็นบริษัทวิเคราะห์ข้อมูลของไต้หวัน ซึ่งทางการเชื่อว่าเป็นสาขาหนึ่งของบริษัทชิปที่ตั้งอยู่ในเซี่ยงไฮ้ที่มีการส่งพิมพ์เขียวของการออกแบบชิปไปยังจีน ตามรายงานของเจ้าหน้าที่อาวุโสและผู้ร่วมวิชาชีพเดียวกัน
เมื่อกลางเดือนมีนาคม พ.ศ. 2565 สำนักงานสอบสวนได้เรียกตัวเจ้าของบริษัทดังกล่าวมาสอบปากคำหลังจากที่มีการเฝ้าตรวจตราเป็นเวลาเกือบหนึ่งปี เจ้าหน้าที่ปฏิเสธที่จะระบุชื่อบริษัทเนื่องจากยังไม่ได้มีการยื่นฟ้อง
ยุทธวิธีอื่น ๆ ที่จีนเคยใช้ ได้แก่ การรวมหน่วยงานในประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำ เช่น หมู่เกาะเคย์แมน ที่ทำให้การระบุหาการลงทุนจากจีนเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น
บริษัทสตาร์เบลซเทคโนโลยี ซึ่งเป็นบริษัทด้านการออกแบบวงจรรวมที่ตั้งอยู่ในกรุงปักกิ่ง ถูกกล่าวหาว่าได้เปิดทำการศูนย์วิจัยและพัฒนาในศูนย์กลางเทคโนโลยีของไต้หวันอย่างเมืองซินจู๋โดยไม่ได้รับอนุญาต เอกสารของศาลระบุว่า มีการกล่าวหาว่าบริษัทดังกล่าวดำเนินการสัมภาษณ์งานผ่านโปรแกรมซูม รวมถึงใช้บริษัทสัญชาติฮ่องกงในการจัดการบัญชีเงินเดือนและประกันภัย
บริษัทตงฝูไมโครอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของรัฐบาลจีน ถูกกล่าวหาว่ามีสำนักงานที่ผิดกฎหมาย โดยมีการจ่ายเงินเดือนของพนักงานเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐผ่านทางบัญชีต่างประเทศที่โอนผ่านบริษัทย่อยในฮ่องกง โดยจำเลยถูกตัดสินว่ามีความผิดในเดือนมกราคม พ.ศ. 2565
สิ่งที่เป็นที่ต้องการมากที่สุด
ใน พ.ศ. 2564 นางลูซี่ เฉิน รองประธานศูนย์วิจัยอิสยาห์ในกรุงไทเป กล่าวว่า บริษัทชิปของจีนได้พยายามแสวงหาบุคลากรโดยมอบข้อเสนอเงินเดือนที่เพิ่มขึ้นสองถึงสามเท่าจากระดับเงินเดือนในประเทศ นักออกแบบวงจรรวมที่สามารถทำงานได้จากพื้นที่ไกลคือหนึ่งในบรรดาตำแหน่งที่เป็นที่ต้องการมากที่สุด
ผู้บริหารบริษัทชิปในเมืองซินจู๋กล่าวว่า แม้การแข่งขันในแง่ของเงินเดือนจะเป็นเรื่องยาก ทว่าบริษัทในประเทศก็มุ่งมั่นที่จะให้การพัฒนาในสายอาชีพในระยะยาวรวมถึงสวัสดิการในสถานที่ทำงาน เช่น ศูนย์ดูแลเด็กช่วงกลางวัน บริการนวด และสถานออกกำลังกาย
ผู้ที่ยินดีให้ถูกละเมิดมีความเสี่ยงที่จะไม่สามารถสมัครงานในบริษัทด้านเทคโนโลยีของไต้หวันได้อีก ทั้งยังมีความเสี่ยงที่จะต้องอับอายต่อหน้าสาธารณชน ผู้บริหารระดับสูงของบริษัททีเอสเอ็มซีหลายคนที่ไปทำงานให้กับบริษัทชิปรายใหญ่ของจีนอย่างเอสเอ็มไอซี ได้ถูกตีตราว่าเป็นผู้ทรยศในวงการสื่อของไต้หวัน
ทางการกำลังดำเนินการเพื่อเพิ่มบทลงโทษสำหรับการละเมิด โดยโทษจำคุกสูงสุดได้ปรับจากเดิมที่ 3 เดือนเป็น 3 ปี และค่าปรับสูงสุดได้เพิ่มขึ้นจาก 5,200 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณเกือบ 2 แสนบาท) เป็น 520,525 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณเกือบ 20 ล้านบาท)
เจ้าหน้าที่ ฟอรัม มีส่วนช่วยในรายงานฉบับนี้