ทรัพยากรส่วนรวมของโลกปัญหาหลักภัยคุกคามที่ไม่มีต้นแบบแน่นอนระดับภูมิภาคเรื่องเด่นเอเชียใต้

มุ่งใต้และปฏิบัติการตะวันออก

นโยบายของไต้หวันเปิดโอกาสให้เกิดความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์กับอินเดีย

ซาเฮลี ฉัตรรัฐ

แม้ว่าจะไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นครั้งแรก นโยบายมุ่งใต้ใหม่ของใต้หวัน ซึ่งนำเสนอโดยนางไช่ อิงเหวิน เมื่อครั้งที่เธอเข้าดำรงตำแหน่งใน พ.ศ. 2559 ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ที่ครอบคลุมในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันกับประเทศเป้าหมายหลัก 18 ประเทศ รวมถึงประเทศสมาชิก 10 ประเทศของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน ประเทศในเอเชียใต้ 6 ประเทศ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

ซึ่งแตกต่างจากนโยบายมุ่งใต้ก่อนหน้านี้ภายใต้นายหลี่ เติงฮุย และนายเฉิน ฉุยเปี่ยน อดีตประธานาธิบดี ที่มุ่งเน้นไปที่การพึ่งพาซึ่งกันและกันทางเศรษฐกิจ นโยบายมุ่งใต้ใหม่ของนางไช่มีแรงจูงใจที่กว้างขึ้น ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อเสริมสร้างการแลกเปลี่ยนระหว่างผู้คนและกระจายขอบเขตไปสู่การแลกเปลี่ยนทางการศึกษาและการท่องเที่ยวเพื่อเสริมสร้างอำนาจอ่อนของไต้หวันในภูมิภาค

“นโยบายมุ่งใต้ใหม่คือยุทธศาสตร์สำหรับเอเชียของไต้หวัน เป้าหมายและอุดมคติของนโยบายดังกล่าวตรงกับแนวคิดของอาเซียนเกี่ยวกับนโยบายปฏิบัติการตะวันออกของอินโดแปซิฟิกและอินเดีย” นางไช่กล่าว ตามรายงานของนิตยสารข่าวออนไลน์เดอะดิโพลแมต “ด้วยการทำงานร่วมกัน โครงการริเริ่มเหล่านี้สามารถบรรลุผลประโยชน์ร่วมกันด้วยความสำเร็จทางเศรษฐกิจและสังคมที่เสริมกัน”

นางไช่ อิงเหวิน ประธานาธิบดีไต้หวัน พูดคุยหารือกับกองหนุนของกองทัพในระหว่างการฝึกซ้อมที่นานชิปู รอยเตอร์

นโยบายมุ่งใต้ใหม่มุ่งเน้นไปที่ 4 ด้านหลัก:

  • ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า สร้างพันธมิตรทางเศรษฐกิจและการค้าใหม่โดยการส่งออกบริการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ช่วยวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของไต้หวันขยายตัวในประเทศเป้าหมาย และให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่บริษัทไต้หวัน นอกจากนี้ยังเชื่อมต่ออย่างใกล้ชิดมากขึ้นกับห่วงโซ่อุปทานและอุปสงค์ในประเทศของประเทศเป้าหมาย ตลอดจนร่วมมือกันในโครงการโครงสร้างพื้นฐาน
  • การแลกเปลี่ยนผู้มีความสามารถ แบ่งปันทรัพยากรบุคคลและเสริมความแข็งแกร่งของประเทศพันธมิตรโดยการขยายโครงการแลกเปลี่ยนและฝึกอบรมสำหรับนักวิชาการรุ่นเยาว์ นักเรียนศึกษา และบุคลากรในอุตสาหกรรม โดยโครงการริเริ่มต่าง ๆ ได้แก่ โครงการแลกเปลี่ยนทางวิชาการระดับทวิภาคี เว็บไซต์จับคู่ผู้มีความสามารถในประเทศมุ่งใต้ใหม่ และแพลตฟอร์มข้อมูลข่าวสารสำหรับบริษัทในไต้หวันเพื่อจดทะเบียนธุรกิจและแสวงหาผู้มีความสามารถ
  • การใช้ทรัพยากรร่วมกัน สร้างโอกาสความร่วมมือระดับทวิภาคีและพหุภาคีโดยการใช้ประโยชน์จากอำนาจอ่อนของไต้หวันในด้านวัฒนธรรม การท่องเที่ยว การดูแลรักษาพยาบาล เทคโนโลยี การเกษตร รวมถึงวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยกลยุทธ์ต่าง ๆ ประกอบด้วย การส่งเสริมความร่วมมือทางการเกษตร การเพิ่มการท่องเที่ยวแบบสองทางร่วมกับประเทศอื่น ๆ และการดึงดูดผู้อยู่อาศัยจากประเทศต่าง ๆ ในมุ่งใต้ใหม่มายังไต้หวันเพื่อการบริการดูแลสุขภาพที่มีคุณภาพ
  • การเชื่อมถึงกันในระดับภูมิภาค ยกระดับการแลกเปลี่ยนอย่างเป็นทางการและเป็นส่วนตัว ลงนามและขยายระยะเวลาข้อตกลงทางการค้า จัดตั้งสถาบันความร่วมมือระดับพหุภาคีและทวิภาคีร่วมกับประเทศพันธมิตร และยกระดับการเจรจาและการสื่อสาร

สิ่งสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ของนโยบายมุ่งใต้ใหม่สำหรับไต้หวัน

มีเพียงสิบกว่าประเทศเท่านั้นที่มีความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกับไต้หวัน เนื่องด้วยประเทศส่วนใหญ่ให้การยอมรับสาธารณรัฐประชาชนจีนแทน โดยพรรคคอมมิวนิสต์จีนยืนกรานว่าจีนเป็นรัฐอธิปไตยเพียงรัฐเดียวภายใต้ชื่อจีน และเกาะที่ปกครองตนเองของไต้หวันก็เป็นส่วนหนึ่งของรัฐดังกล่าวเช่นกัน แม้สหรัฐฯ ที่เป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย “จีนเดียว” จะไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกับไต้หวัน แต่สหรัฐฯ และไต้หวันมี “ความสัมพันธ์อย่างไม่เป็นทางการที่แน่นแฟ้น” ตามการรายงานของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ

“แม้สหรัฐอเมริกาจะไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวัน ทว่าเรามีความสัมพันธ์อย่างไม่เป็นทางการที่แน่นแฟ้น … นั่นคือความสนใจในสันติภาพและเสถียรภาพตลอดช่องแคบไต้หวันที่มั่นคง” ตามที่ระบุในรายงานสรุปข้อมูลของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ซึ่งได้กล่าวถึงพระราชบัญญัติความสัมพันธ์ไต้หวัน พ.ศ. 2522 ที่ได้ระบุพื้นฐานทางกฎหมายสำหรับความสัมพันธ์และเป็นที่ตั้งแห่งความมุ่งมั่นของสหรัฐฯ ที่จะสนับสนุนไต้หวันให้รักษาขีดความสามารถด้านการป้องกันไว้ได้ ไต้หวันและสหรัฐฯ มีค่านิยมที่คล้ายคลึงกัน มีความเชื่อมโยงทางการค้าและเศรษฐกิจที่ลึกซึ้ง ทั้งยังมีสายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างประชาชนที่ได้ก่อเกิดเป็นรากฐานของมิตรภาพในประเทศทั้งสอง

สหรัฐฯ ตั้งความหวังว่า “ความแตกต่างระหว่างจีนกับไต้หวันจะได้รับการแก้ไขด้วยสันติวิธี” ตามที่ระบุในรายงานสรุปข้อมูล
ดังกล่าว

นโยบายมุ่งใต้ใหม่ยังมองได้ว่าเป็นโครงการริเริ่มของไต้หวันในการสร้างความสัมพันธ์ร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านในด้านธุรกิจ การค้า การศึกษา รวมถึงการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนและการท่องเที่ยว

นายนเรนทระ โมที นายกรัฐมนตรีอินเดีย (กลาง) เปิดตัวโลโก้โครงการเมคอินอินเดีย เมื่อ พ.ศ. 2557 ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

“นโยบายมุ่งใต้ใหม่ได้ส่งเสริมการพัฒนาเชิงเศรษฐกิจในรูปแบบใหม่สำหรับประเทศที่ลดการพึ่งพาตลาดเดียว … และหลีกเลี่ยงการแข่งขันกับโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีนโดยตรง โดยจะมุ่งเน้นไปที่โครงสร้างพื้นฐานระดับภูมิภาค” ตามที่ระบุในเอกสารจากรัฐบาลเรื่อง “การมุ่งหน้าขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ : นโยบายมุ่งใต้ใหม่ของไต้หวัน” “โครงการต่าง ๆ ของไต้หวันเป็นเรื่องเกี่ยวกับผู้คนและอำนาจอ่อนที่สนับสนุนการท่องเที่ยว การศึกษา การบริการดูแลสุขภาพ เทคโนโลยี วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมถึงการเกษตร”

อินเดียและนโยบายมุ่งใต้ใหม่

ความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับไต้หวันโดยส่วนมากได้ดำเนินอยู่ท่ามกลางเงามืดของการปฏิบัติตามนโยบายจีนเดียวของอินเดีย แต่ถึงกระนั้น การเปลี่ยนแปลงในสภาพแวดล้อมทางภูมิยุทธศาสตร์อาจทำให้อินเดียกลายมาเป็นจุดหมายปลายทางด้านการลงทุนที่น่าสนใจสำหรับไต้หวัน

ภายหลังการก่อตั้งจีนใน พ.ศ. 2492 อินเดียได้ให้การยอมรับและต่อมาได้สร้างสายสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกับจีน ใน พ.ศ. 2514 อินเดียได้ให้การสนับสนุนจีนเพิ่มเติมที่องค์การสหประชาชาติ ซึ่งหลังจากนั้นได้กำจัดไต้หวันออกจากสมัชชาสหประชาชาติและคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเพื่อสนับสนุนจีน และเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นการปิดประตูการสร้างความร่วมมือระหว่างอินเดียและไต้หวัน ถึงอย่างไรก็ตาม
ตามนโยบายมองตะวันออก พ.ศ. 2535 ของรัฐบาล อินเดียเริ่มให้ความสนใจกับพื้นที่ใกล้เคียงฝั่งตะวันออกของตนมากขึ้นอีกครั้ง ใน พ.ศ. 2538 ไต้หวันและอินเดียได้ร่วมก่อตั้งศูนย์เศรษฐกิจและวัฒนธรรมไต้หวันในนิวเดลี และสมาคมอินเดียไทเปในไทเป หน่วยงานทั้งสองเริ่มให้บริการด้านกงสุลควบคู่ไปกับการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจ การค้า การศึกษา และการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชน

นับแต่นั้นเป็นต้นมา การเกี่ยวพันกันระหว่างอินเดียและไต้หวันก็ค่อย ๆ แข็งแกร่งขึ้น ในช่วงครึ่งหลัง พ.ศ. 2557 อินเดียได้เปลี่ยนนโยบายมองตะวันออกของตนเป็นนโยบายปฏิบัติการตะวันออก โดยได้ให้ความสำคัญกับความร่วมมือในระดับภูมิภาคมากขึ้น ภายใต้การนำของนายนเรนทระ โมที นายกรัฐมนตรี อินเดียได้เริ่มดำเนินโครงการริเริ่มมากมายเพื่อดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น เมคอินอินเดีย ซึ่งโดยหลักแล้วเป็นโครงการสนับสนุนให้วิสาหกิจต่างประเทศจัดตั้งหน่วยการผลิตในอินเดีย โครงการริเริ่มนี้ยังช่วยให้วิสาหกิจต่างประเทศจดทะเบียนธุรกิจในอินเดียได้ง่ายดายยิ่งขึ้น อีกทั้งโครงการดังกล่าวยังทำให้หน่วยงานต่างประเทศสามารถจัดตั้งหน่วยลงทุนในอินเดียได้ง่ายขึ้นและปฏิบัติได้มากยิ่งขึ้นด้วยระบบภาษีรวมของสินค้าและบริการ รัฐบาลอินเดียยังได้ประกาศการอุดหนุนโดยรัฐต่าง ๆ เพื่อดึงดูดการลงทุน เช่น รัฐคุชราต รัฐมหาราษฏระ รัฐอานธรประเทศ รัฐทมิฬนาฑู และรัฐอุตตรประเทศ ที่เสนอการอุดหนุนทางบก ทางน้ำ และด้านพลังงาน

นายกรัฐมนตรีโมทีรอการมาถึงของแขกคนสำคัญที่กำลังมาเยือนในนิวเดลี ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

นอกจากนี้ นโยบายมุ่งใต้ใหม่ยังอนุญาตให้ไต้หวันย้ายฐานการผลิตบางส่วนไปยังอินเดีย ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางด้านการลงทุนที่น่าสนใจอันเนื่องมาจากการมีแรงงานฝีมือดีและราคาถูก

“ไต้หวันและอินเดียเป็นพันธมิตรที่วางใจกันได้และเป็นธรรมชาติต่อกันและกัน สองประเทศของเรามีค่านิยมสำคัญตามหลักพื้นฐานร่วมกัน เช่น เสรีภาพ ประชาธิปไตย หลักนิติธรรม และการเคารพสิทธิมนุษยชน” นายเบาชวน เกอร์ เอกอัครราชทูตไต้หวันประจำอินเดียกล่าวกับหนังสือพิมพ์ฮินดูสถานไทมส์ประจำเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2563 “เห็นได้ชัดว่านโยบายปฏิบัติการตะวันออกของอินเดียกับนโยบายมุ่งใต้ใหม่ของไต้หวันมีจุดตัดอันใหญ่หลวง ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ของไต้หวันกับอีก 18 ประเทศเป้าหมายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ และเขตโอเชียเนีย”

เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งและยกระดับสายสัมพันธ์ทางอุตสาหกรรมและการค้าระหว่างอินเดียและไต้หวัน ศูนย์เศรษฐกิจและวัฒนธรรมไต้หวันและสมาคมอินเดียไทเปจึงได้ลงนามในข้อตกลงเพื่อส่งเสริมความร่วมมือในอุตสาหกรรมด้วย บริษัทวิสาหกิจในไต้หวัน เช่น บริษัทฟ็อกซ์คอนน์และบริษัทแม็กซิส ได้เริ่มต้นการผลิตขึ้นในอินเดีย ยิ่งไปกว่านั้น เนื่องด้วยไต้หวันมีวัฒนธรรมคล้ายคลึงกับประเทศในเอเชียตะวันออก จึงทำให้ไต้หวันสามารถเรียนรู้ประสบการณ์และแบบจำลองธุรกิจจากญี่ปุ่น สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ได้ เนื่องจากประเทศเหล่านี้ได้ดำเนินกิจการในอินเดียมาระยะหนึ่งแล้ว

“เรากำลังเห็นถึงการปรับเปลี่ยนโครงสร้างห่วงโซ่อุปทาน ทั่วโลกที่ได้สร้างโอกาสมากมายสำหรับไต้หวันและอินเดียในการยกระดับความเชื่อมโยงของเราในด้านการผลิตต่อไป” นายเกอร์ กล่าวกับฮินดูสถานไทมส์ “ดังนั้น เราจึงควรประเมินคุณค่าของตำแหน่งแต่ละลำดับและกำหนดนโยบายอย่างรอบคอบเพื่อหล่อหลอมให้เกิดความเป็นพันธมิตรที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น”

ไต้หวันได้แสดงความยินดีที่จะกระชับสายสัมพันธ์กับอินเดีย ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมายหลักตามคำสั่งของนโยบายมุ่งใต้ใหม่ อินเดียเองก็ต้องการพันธมิตรที่จะเข้าร่วมโครงการเมคอินอินเดียของตนมากขึ้น เพื่อที่จะเริ่มต้นการผลิตในอินเดียและเริ่มต้นการจำหน่ายที่ไม่ใช่เฉพาะในอินเดีย แต่ยังส่งออกไปยังต่างประเทศด้วย นอกเหนือจากนั้น เบื้องหลังอิทธิพลของจีนที่เพิ่มขึ้นในเอเชียใต้ผ่านโครงการโครงสร้างพื้นฐานหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางนั้นคือโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางตามที่ทราบกันดีอยู่แล้วและการขาดดุลการค้าของอินเดียกับจีน ดังนั้น ความร่วมมือทางธุรกิจและวัฒนธรรมระหว่างอินเดียและไต้หวันที่ขยายวงกว้างมากขึ้นอาจพิสูจน์ให้เห็นถึงข้อได้เปรียบสำหรับทั้งสองประเทศ

“ตลอดระยะเวลา 25 ปีที่ผ่านมา ทั้งไต้หวันและอินเดียต่างได้รับประโยชน์อย่างมากจากการค้าและการลงทุนที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง การแลกเปลี่ยนด้านการศึกษา รวมถึงความร่วมมือทางเทคโนโลยี” นายเกอร์ กล่าวกับฮินดูสถานไทมส์ “ถึงเวลาแล้วที่เราจะกำหนดวัตถุประสงค์ที่เป็นประโยชน์ร่วมและกลยุทธ์ในการบรรลุวัตถุประสงค์นั้นขึ้นมาใหม่”

บทความนี้ได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกในกระดานข่าวภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของศูนย์ตะวันออก-ตะวันตก และสามารถเข้าถึงได้ที่ https://www.eastwestcenter.org/publications/india%E2%80%99s-act-east-and-taiwan%E2%80%99s-new-southbound-policy-are-win-win. โดยมีการเรียบเรียงเนื้อหาเพื่อให้เหมาะสมกับรูปแบบการนำเสนอของฟอรัมและมีการรายงานเพิ่มเติมโดยเจ้าหน้าที่ฟอรัม

บทความนี้ได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกในกระดานข่าวภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของศูนย์ตะวันออก-ตะวันตก และสามารถเข้าถึงได้ที่ https://www.eastwestcenter.org/publications/india%E2%80%99s-act-east-and-taiwan%E2%80%99s-new-southbound-policy-are-win-win. โดยมีการเรียบเรียงเนื้อหาเพื่อให้เหมาะสมกับรูปแบบการนำเสนอของฟอรัมและมีการรายงานเพิ่มเติมโดยเจ้าหน้าที่ฟอรัม

แสดงความคิดเห็นที่นี่

ความเป็นส่วนตัวของคุณเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเรา หากคุณเลือกที่จะระบุที่อยู่อีเมลของคุณ เจ้าหน้าที่ของ ฟอรัม จะใช้เพื่อติดต่อกับคุณเท่านั้น เราจะไม่เปิดเผยหรือเผยแพร่ที่อยู่อีเมลของคุณ เฉพาะชื่อและเว็บไซต์ของคุณเท่านั้นที่จะปรากฏในความคิดเห็นของคุณ ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

บทความที่เกี่ยวข้อง

Back to top button