กิจกรรมที่ผิดกฎหมายปัญหาหลักระดับภูมิภาคอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้างเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ

ประเทศต่าง ๆ ในอินโดแปซิฟิกเพิ่มความร่วมมือท่ามกลางภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

การสร้างความพร้อมรับมือ ความไว้วางใจ และความเชื่อมั่นในโลกไซเบอร์ยังคงเป็นความสำคัญสูงสุดในหมู่ประเทศที่มีวิสัยทัศน์ร่วมกันเกี่ยวกับอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง ตามรายงานของ การเจรจาด้านความมั่นคงจตุภาคี หรือควอด ซึ่งประกอบด้วยออสเตรเลีย อินเดีย ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา โดยภัยคุกคามอย่างต่อเนื่องที่เกิดจากมัลแวร์เรียกค่าไถ่และการโจมตีทางไซเบอร์ที่ผิดกฎหมายโดยเกาหลีเหนือและผู้กระทำการอันโหดร้ายอื่น ๆ ยังคงสร้างโอกาสให้กับประเทศต่าง ๆ ที่สนับสนุนวิสัยทัศน์ที่ครอบคลุมและอิงตามกฎ ภัยคุกคามเหล่านี้ก่อให้เกิดความร่วมมือใหม่ ๆ และขยายตัวออกไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศควอด

ตัวอย่างล่าสุดของความสัมพันธ์ที่เพิ่มขึ้นเหล่านี้คือการประกาศของกระทรวงกลาโหมญี่ปุ่นในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2565 ว่าได้เข้าร่วมอย่างเป็นทางการกับศูนย์ความเป็นเลิศเพื่อความร่วมมือด้านการป้องกันทางไซเบอร์ หรือนาโต ซึ่งส่งเสริมความร่วมมือระหว่างผู้เชี่ยวชาญในการวิจัยการป้องกันทางไซเบอร์ การฝึกอบรม และการฝึกปฏิบัติที่ครอบคลุมเทคโนโลยี ยุทธศาสตร์ การปฏิบัติการ และกฎหมาย

“การป้องกันทางไซเบอร์ของญี่ปุ่นที่พร้อมรับมือมากขึ้นจะช่วยยกระดับการป้องกันตนเองของประเทศ และในขณะเดียวกันก็ช่วยให้เกิดการป้องกันร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับพันธมิตร” นายโยอิจิโระ ซาโตะ ศาสตราจารย์ด้านเอเชียแปซิฟิกศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยริทสึเมคังเอเชียแปซิฟิกในญี่ปุ่น กล่าวกับหนังสือพิมพ์เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2565

ญี่ปุ่นรวมการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ไว้ในแผนการเสริมสร้างขีดความสามารถด้านการป้องกันในช่วง 5 ปีข้างหน้า ตลอดจนตั้งใจที่จะเพิ่มบุคลากรป้องกันทางไซเบอร์ที่กองบัญชาการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์จาก 890 คนเป็นประมาณ 5,000 คนภายใน พ.ศ. 2570 ตามรายงานของเซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ การประกาศเกี่ยวกับนาโตของญี่ปุ่นเป็นส่วนหนึ่งของ “ความพยายามร่วมกันเพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างหุ้นส่วนและพันธมิตรที่มีแนวคิดเดียวกัน ด้านการยับยั้งกิจกรรมของรัฐที่เป็นอันตรายในโลกไซเบอร์ และปกป้องระเบียบที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกติกา รวมทั้งในพื้นที่ดิจิทัลด้วย” นายบาร์ต โฮเกวีน หัวหน้าฝ่ายเสริมสร้างความสามารถทางไซเบอร์แห่งศูนย์นโยบายไซเบอร์ระหว่างประเทศ สถาบันนโยบายเชิงยุทธศาสตร์ของออสเตรเลีย กล่าวกับหนังสือพิมพ์ดังกล่าว

ประเทศต่าง ๆ คาดการณ์ว่าจะเกิดการบุกรุกมากขึ้นโดยผู้โจมตีอิสระและไม่ใช่รัฐใน พ.ศ. 2566 ตามรายงานของแมนเดียนท์ ซึ่งเป็นบริษัทรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ในสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ แมนเดียนท์ยังคาดการณ์ว่าอิหร่าน เกาหลีเหนือ สาธารณรัฐประชาชนจีน และรัสเซีย จะ “มีบทบาทอย่างมาก” ใน พ.ศ. 2566 โดยใช้การโจมตีแบบทำลายล้าง การดำเนินการด้านข้อมูล และภัยคุกคามทางการเงิน

ควอดจัดตั้งความร่วมมือด้านการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์เพื่อจัดการกับภัยคุกคามดังกล่าว โดยเฉพาะจากเกาหลีเหนือ

“ในโลกดิจิทัลที่มีภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่ซับซ้อนมากขึ้น เราตระหนักถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการใช้แนวทางร่วมกันเพื่อเสริมความปลอดภัยทางไซเบอร์” ผู้นำควอดกล่าวในแถลงการณ์ร่วมหลังการประชุมสุดยอด ณ โตเกียว เมื่อต้น พ.ศ. 2565

ทำเนียบขาวประเมินว่ารัฐบาลเกาหลีเหนือได้สนับสนุนงบประมาณร้อยละ 30 ของโครงการอาวุธอานุภาพทำลายล้างสูงผ่านกิจกรรมทางไซเบอร์ที่ผิดกฎหมาย

“กิจกรรมทางไซเบอร์ที่เป็นอันตรายของเกาหลีเหนือเป็นสิ่งที่น่ากังวลอย่างมาก” นางแอนน์ เนเบอร์เกอร์ รองที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติด้านไซเบอร์และเทคโนโลยีเกิดใหม่ของประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ กล่าวเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2565 “คุณเห็นได้ว่าเราอ้างถึงการโจมตีทางไซเบอร์ของเกาหลีเหนือหลายครั้ง ต่อโครงสร้างพื้นฐานของสกุลเงินดิจิทัล ที่เราเชื่อว่าเกาหลีเหนือได้หลอกล่อเงินจำนวนมหาศาล”

นางเนเบอร์เกอร์กล่าวว่า สหรัฐอเมริกาและพันธมิตรกำลังใช้เครื่องมือหลายประเภทเพื่อค้นหากิจกรรมทางไซเบอร์ที่ผิดกฎหมายของเกาหลีเหนือ และลงโทษผู้ที่ต้องแสดงความรับผิดชอบ “งานของเราในการต่อต้านกิจกรรมทางไซเบอร์ที่เป็นอันตรายของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีเกิดจากการร่วมมือกับแนวร่วมและพันธมิตรใกล้ชิด รวมถึงความร่วมมือด้านข่าวกรองเกี่ยวกับภัยคุกคาม ผู้กระทำความผิด ตลอดจนการทำงานเพื่อให้การเคลื่อนย้ายเงินทุนผิดกฎหมายผ่านโครงสร้างพื้นฐานสกุลเงินดิจิทัลเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น” นางเนเบอร์เกอร์กล่าว โดยใช้ชื่ออย่างเป็นทางการของเกาหลีเหนือ

ผู้นำควอดมุ่งมั่นที่จะปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางไซเบอร์ที่สำคัญ โดยการแบ่งปันข้อมูลภัยคุกคาม ระบุและประเมินความเสี่ยงในห่วงโซ่อุปทานที่อาจเกิดขึ้นกับผลิตภัณฑ์และบริการที่เปิดใช้งานทางดิจิทัล ปรับปรุงมาตรฐานความปลอดภัยของซอฟต์แวร์พื้นฐานให้สอดคล้องกับการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐบาล ตลอดจนใช้ประโยชน์จากอำนาจซื้อโดยรวมเพื่อปรับปรุงระบบนิเวศการพัฒนาซอฟต์แวร์ ออสเตรเลียจะออกหน้าในการปกป้องโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ โดยอินเดียจะมุ่งเน้นไปที่ความยืดหยุ่นและความปลอดภัยของห่วงโซ่อุปทาน ญี่ปุ่นจะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาแรงงานและความสามารถพิเศษ และสหรัฐอเมริกาจะมุ่งเน้นไปที่มาตรฐานความปลอดภัยของซอฟต์แวร์ โดยมีเป้าหมายร่วมกันเพื่อป้องกันเหตุการณ์ทางไซเบอร์ พัฒนาขีดความสามารถระดับชาติและระดับนานาชาติสำหรับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้น และตอบสนองอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ หากจำเป็น

“เรามีความกังวลอย่างจริงจังร่วมกันเกี่ยวกับภัยคุกคามที่ซับซ้อนและทำลายล้าง ซึ่งเกิดจากผู้ประสงค์ร้ายทางไซเบอร์และความเสี่ยงที่เกิดขึ้นต่อความมั่นคงแห่งชาติ ตลอดจนยืนยันความมุ่งมั่นของเราในการยกระดับการประสานงานตามลำดับความพยายามเพื่อเสริมสร้างศักยภาพของสมาชิกควอดและพันธมิตรทั่วทั้งภูมิภาคอินโดแปซิฟิก” ตามหลักการของความร่วมมือด้านการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ “เราขอยืนยันอีกครั้งถึงความสำคัญของการยกระดับความพยายามร่วมกันเพื่อเพิ่มบุคลากรด้านการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ โดยพิจารณาจากการรับรู้ร่วมกันว่าการโจมตีทางไซเบอร์กำลังเพิ่มขึ้นและมีความซับซ้อนมากขึ้น และเรายังแบ่งปันความท้าทายในการสร้างความเชี่ยวชาญที่เพียงพออีกด้วย นอกเหนือจากการเสริมสร้างศักยภาพแล้ว สมาชิกของควอดจะทำงานร่วมกันเพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้แก่เจ้าหน้าที่ด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์โดยรวมของเรา ตลอดจนกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านไซเบอร์ที่มีความสามารถ”

 

ภาพจาก: ไอสต็อก

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button