การตอบโต้ภัยคุกคามด้านความมั่นคง รูปแบบใหม่
ประเทศทั้งหลายต้องสร้างความร่วมมือที่แข็งแกร่งเพื่อเผชิญหน้ากับความท้าทายในระดับภูมิภาคที่กำลังพัฒนาอยู่เรื่อย ๆ

ศรีภารนา บาเนอร์จี และ ปรัทนาศรี บาสุ/มูลนิธิวิจัยสังเกตการณ์
การเปลี่ยนแปลงทางแนวคิดด้านความมั่นคงนับตั้งแต่สิ้น สุดสงครามเย็นนั้นส่งผลให้มีการอำนวยความสะดวกแก่ ผู้ที่ไม่ใช่ทหาร ซึ่งถือเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงในรูป แบบใหม่ ความมั่นคงรูปแบบใหม่นั้นหมายรวมถึงความกังวลต่าง ๆ ด้านความมั่นคงของมนุษย์ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การขาดแคลนทรัพยากร เช่น พลังงานและอาหาร โรคติดต่อ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ อาชญากรรมข้ามชาติ การค้ามนุษย์และยาเสพติด รวมไปถึงการโยกย้ายถิ่นฐานครั้งใหญ่ นักวิเคราะห์พูดถึงสิ่งนี้ว่าเป็น หัวใจสำคัญในการพัฒนาความมั่นคงของมนุษย์ โดยทั่วไปแล้ว ประเด็นในเรื่องความมั่นคงรูปแบบใหม่เหล่านี้จะอยู่นอกขอบเขตการอภิปรายเกี่ยวกับภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติแบบเร่งด่วนที่มีมากขึ้น เช่น การรุกรานทางอาณาเขต การจัดการกับความท้าทายเหล่านี้มักทำให้ผู้มีบทบาทข้ามชาติต้องเข้ามามีส่วนร่วม
รายงานฉบับนี้ได้ทำการสำรวจว่า ความร่วมมืออันเกิดจากภัยคุกคามด้านความมั่นคงรูปแบบใหม่จะช่วยกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกได้อย่างไร ซึ่งมี 2 ประการที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน แต่ก็ยังมีความเกี่ยวข้องกัน ประการแรก คือ การระบุประเด็นสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อประเทศต่าง ๆ ในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก ประการที่สอง คือ การวิเคราะห์ว่าเวทีความร่วมมือต่าง ๆ เช่น เวทีการเจรจาด้านความมั่นคงจตุภาคี หรือ ควอด เวทีอภิปรายระดับภูมิภาคของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน โครงการเครือข่ายจุดเชื่อมสีฟ้า และสมาคมแห่งภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย จะสามารถช่วยบรรเทาปัญหาความมั่นคงรูปแบบใหม่และมอบโอกาสให้รัฐต่าง ๆ ในแง่ของการกำกับดูแลความมั่นคงและความร่วมมือระหว่างประเทศในภูมิภาคให้ดีขึ้นได้อย่างไร
ปัญหาด้านความมั่นคงรูปแบบใหม่: ภาพรวม
เอเชียใต้
เอเชียใต้ประสบกับภัยพิบัติทางธรรมชาติมาอย่างต่อเนื่อง เช่น ใน พ.ศ. 2547 แผ่นดินไหวและสึนามิได้ทำลายชายฝั่งบริเวณมหาสมุทรอินเดียจนเสียหายอย่างรุนแรง ใน พ.ศ. 2550 พายุไซโคลนสิทราได้พัดเข้าถล่มศรีลังกา อินเดีย ปากีสถาน อัฟกานิสถาน และบังกลาเทศ อีกทั้งยังทำให้เกิดภัยพิบัติรุนแรงตามมา ใน พ.ศ. 2563 พายุไซโคลนอำพันทำให้มีผู้คนพลัดถิ่นเกือบ 5 ล้านคนทั้งในบังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย และเมียนมาร์ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในการพลัดถิ่นครั้งใหญ่ที่สุดในโลกอันเนื่องมาจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ ภัยพิบัติเหล่านี้ก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจและการบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก บ่อยครั้งที่ผลกระทบมีความรุนแรงยิ่งขึ้นเนื่องมาจากระบบเตือนภัยล่วงหน้าที่ไม่เพียงพอและการรับมือที่ไร้ประสิทธิภาพ
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ประเทศในภูมิภาคดังกล่าวต้องเผชิญกับภัยคุกคามด้านความมั่นคงรูปแบบใหม่ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคาดการณ์ว่า ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นจะส่งผลกระทบร้ายแรงในพื้นที่ราบลุ่มต่ำของเอเชียใต้ ในขณะเดียวกัน ธารน้ำแข็งในเทือกเขาหิมาลัยที่ลดน้อยลงก็อาจเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อระบบแม่น้ำได้เช่นกัน

ยิ่งไปกว่านั้น การย้ายถิ่นฐานที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็ยังเพิ่มขึ้นอีกด้วย ในรายงานเมื่อ พ.ศ. 2561 ธนาคารโลกได้คาดการณ์ว่า ภายใน พ.ศ. 2593 ประชากรกว่า 140 ล้านคนจะย้ายถิ่นฐานออกจากประเทศบ้านเกิดอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การย้ายถิ่นฐานที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่เพียงแต่จะเพิ่มความตึงเครียดและความไม่เท่าเทียมกันเท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดความแตกต่างในการเข้าถึงบริการที่จำเป็น เช่น การศึกษาและการดูแลสุขภาพ เช่น บังกลาเทศที่ได้กลายมาเป็นประเทศที่ได้รับความเดือดร้อนจากปรากฏการณ์นี้ อีกทั้งยังรวมไปถึงการหลั่งไหลเข้ามาในประเทศของกลุ่มชาติพันธุ์โรฮีนจาที่พลัดถิ่นจากเมียนมาร์ ยิ่งก่อให้เกิดความท้าทายสำหรับบังกลาเทศ โฆษกข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติระบุว่า จากชาวโรฮีนจาที่พลัดถิ่นและผู้ขอลี้ภัยจาก เมียนมาร์ไปยังประเทศเพื่อนบ้านกว่า 1 ล้านคนนั้น ได้เข้าไปยังบังกลาเทศกว่า 860,000 คน
ในประเด็นนี้ สามารถพิจารณามาตรการการย้ายถิ่นฐานได้หลากหลายรูปแบบ รวมถึงการย้ายถิ่นฐานตามกระแสความคิดหลักสู่โครงการริเริ่มเพื่อการพัฒนาระดับประเทศ การประสานกรอบการทำงานด้านการย้ายถิ่นฐานและความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม
ตลอดจนการพัฒนาโครงการฝึกอบรมการรับมือด้านมนุษยธรรมที่ครอบคลุมสำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ ยุทธศาสตร์อื่น ๆ อาจรวมไปถึงการยกระดับความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน การสร้างความมั่นใจในการมีส่วนร่วมของกลุ่มประชาสังคม และการเสริมสร้างศักยภาพให้แก่ผู้อพยพและชุมชนผู้พลัดถิ่น
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงเป็นแหล่งรวมกลุ่มผู้ค้ายาเสพติดผิดกฎหมายที่ดำเนินกิจการอยู่ทั่วพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ ซึ่งถือเป็นแหล่งผลิตยาเสพติดที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของโลก อีกทั้งยังเป็นแหล่งผลิตฝิ่นชั้นแนวหน้า
องค์การสหประชาชาติได้ประมาณการว่าการเพาะปลูกฝิ่นในเมียนมานั้นเพิ่มขึ้นกว่าสามเท่าตั้งแต่ พ.ศ. 2549 และในปัจจุบันก็ได้ครอบคลุมพื้นที่ไปกว่า 60,703 เฮกตาร์ ถึงแม้จะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่บ้างในช่วงก่อนการรัฐประหารในเมียนมา แต่ภูมิภาครอบนอกกลับยังคงไม่ได้รับการพัฒนาจากโครงการต่าง ๆ ดังนั้นการดำเนินการที่ผิดกฎหมายอย่างการเพาะปลูกฝิ่นจึงยังคงเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้องค์การสหประชาชาติจะพยายามยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือโดยการเสนอมาตรการเพาะปลูกพืชผลทดแทนในเมียนมารวมถึงลาวแล้ว ทว่าการค้ายาเสพติดกลับยังคงเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งก่อให้เกิดความท้าทายแก่ประเทศอื่น ๆ เช่นกัน
เช่นในเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศที่มีกฎหมายยาเสพติดที่เข้มงวดที่สุดในโลกอยู่ในระดับหนึ่ง แต่ก็เป็นศูนย์กลางการขนส่งเฮโรอีนและเมทแอมเฟตามีน หลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น สาธารณรัฐประชาชนจีน และเกาหลีใต้ รวมถึงประเทศในกลุ่มอาเซียน พบว่ามีการเปลี่ยนจากการใช้เฮโรอีนไปเป็นสารกระตุ้นประเภทแอมเฟตามีนที่ลักลอบนำเข้าและซื้อขายจากพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ
เช่นเดียวกับในเอเชียใต้ หลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะอินโดนีเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนามก็กำลังเผชิญกับภัยคุกคามที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเช่นกัน องค์การสหประชาชาติคาดการณ์ว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า ความเสี่ยงจากอุทกภัยและภัยแล้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเพิ่มขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การสูญเสียทางเศรษฐกิจที่คิดเป็นร้อยละ 3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของฟิลิปปินส์ ร้อยละ 2 ในลาว และมากกว่าร้อยละ 1.5 ในกัมพูชา

ภัยคุกคามอื่น ๆ นั้นก็ร้ายแรงไม่แพ้กัน: พื้นที่ป่าในอินโดนีเซียได้ลดลงจากร้อยละ 65.4 ใน พ.ศ. 2533 จนเหลือเพียงร้อยละ 50.2 ใน พ.ศ. 2556 เนื่องมาจากมีการใช้ประโยชน์จากน้ำมันปาล์มมากเกินควร อีกทั้งขยะพลาสติกจากบางประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (รวมถึงจีน) ยังมีสัดส่วนคิดเป็นครึ่งหนึ่งของขยะพลาสติกทั้งหมดในมหาสมุทรของโลก และหลายประเทศอย่างอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ก็เผชิญกับภัยคุกคามอย่างต่อเนื่องจากแผ่นดินไหวและภัยพิบัติที่เกี่ยวข้อง ด้วยความที่เป็นประเทศที่ตั้งอยู่บริเวณวงแหวนแห่งไฟของมหาสมุทรแปซิฟิก
ประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิก
แม้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิกจะยังคงอยู่ในระดับต่ำ แต่ก็ไม่อาจมองข้ามภัยคุกคามจากภาวะโลกร้อนที่มีต่อหมู่เกาะเหล่านี้ไปได้ โดยเฉพาะระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น ประเทศเหล่านี้ยังเผชิญกับอาชญากรรมข้ามชาติ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ และการแสวงหาผลประโยชน์จากทรัพยากรอย่างผิดกฎหมายและไม่ยั่งยืน ประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิกมักจะมีทรัพยากรในการต่อสู้กับภัยคุกคามที่จำกัด ดังนั้นจึงต้องการความช่วยเหลือจากความร่วมมือแบบพหุภาคี
ความร่วมมือด้าน ภัยคุกคามรูปแบบใหม่
ความร่วมมือที่กำหนดมาเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงตามแบบแผนนั้นไม่เคยขาดแคลน ทว่าสิ่งที่จำเป็นคือการขยายขอบเขตของกลไกที่มีอยู่เพื่อให้ครอบคลุมถึงการบรรเทาภัยคุกคามด้านความมั่นคงรูปแบบใหม่ และเพื่อการสร้างกรอบความร่วมมือใหม่ ๆ
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา กรอบความมั่นคงระดับภูมิภาคของอาเซียนถูกทดสอบผ่านความท้าทายด้านความมั่นคงรูปแบบใหม่อยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้แก่ วิกฤตเศรษฐกิจในเอเชียเมื่อ พ.ศ. 2540 การระบาดของโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรงในช่วง พ.ศ. 2545-2546 การระบาดของโรคไข้หวัดนกเมื่อ พ.ศ. 2550 และเมื่อไม่นานมานี้คือภาวะการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ที่ขยายวงกว้างไปทั่วโลกใน พ.ศ. 2563
อาเซียนได้ริเริ่มปฏิบัติการกลไลมากมายเพื่อรับมือกับความท้าทายดังกล่าว เช่น ข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยการจัดการภัยพิบัติและการตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งเป็นแกนหลักของนโยบายสำหรับประเทศสมาชิกในการยกระดับความพยายามร่วมกันเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติและตอบโต้ต่อภัยพิบัติ ในขณะเดียวกัน การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกก็เป็นพื้นที่ที่ให้สมาชิกได้มาหารือเกี่ยวกับประเด็นด้านความมั่นคง และพัฒนามาตรการด้านความร่วมมือเพื่อยกระดับสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาคผ่านการกำหนดนโยบาย ภาคส่วนของประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียนได้ปูทางให้ประเทศต่าง ๆ ดำเนินความร่วมมือด้านความมั่นคงและแสวงหาแนวร่วมทางการเมือง
แผนปฏิบัติการอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะสตรีและเด็ก ได้กำหนดขั้นตอนต่าง ๆ เป็นการเฉพาะภายใต้ขอบเขตของกฎหมายและนโยบายภายในประเทศ รวมถึงพันธกรณีระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องของประเทศสมาชิกอาเซียน โดยมีเป้าหมายเพื่อจัดการกับความท้าทายระดับภูมิภาคที่พบบ่อยในทุกประเทศสมาชิก
เมื่อต้นปี พ.ศ. 2563 ประเทศสมาชิกอาเซียนได้รับมือกับภาวะการระบาดใหญ่ของโควิด-19 โดยการออกคำสั่งว่าด้วยข้อจำกัดในการเดินทางและเริ่มดำเนินการด้านการแบ่งปันข้อมูล
นอกจากนี้ อาเซียนยังทำงานร่วมกับประเทศอื่นบนเวทีต่าง ๆ เช่น โครงการริเริ่มอาเซียนบวกสามที่ดำเนินการร่วมกับญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้ กลุ่มประเทศสมาชิกยังดำเนินงานร่วมกับอินเดียในการฝึกซ้อมการบรรเทาภัยพิบัติภายใต้กรอบการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ตามจริงแล้ว อินเดียปรารถนาที่จะสร้างสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในการจัดการภัยพิบัติ ท่ามกลางภาวะการระบาดใหญ่ของโควิด-19 อินเดียยังแสดงให้เห็นถึงความยินดีที่จะร่วมมือกับอาเซียนในการผลิตยาสามัญและเทคโนโลยีทางการแพทย์
เครือข่ายจุดเชื่อมสีฟ้า
เมื่อ พ.ศ. 2562 ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกาได้เปิดตัวโครงการเครือข่ายจุดเชื่อมสีฟ้าเพื่อส่งเสริมการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน ในความร่วมมือกับหลายประเทศเช่น อินเดีย เครือข่ายดังกล่าวได้ให้ความสำคัญกับโครงการที่ยั่งยืน ซึ่งรวมถึงการผ่านการรับรอง ข้อตกลงสำคัญของเครือข่ายประการหนึ่งเกี่ยวข้องกับโครงการ “เมืองอัจฉริยะ” ในประเทศสมาชิกอาเซียน อีกทั้งบางประเทศยังได้เสนอพื้นที่ตลาดจุดเชื่อมสีฟ้าเพื่อช่วยให้ประเทศต่าง ๆ บรรลุผลสำเร็จด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน โดยการชี้ให้เห็นถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับความมั่นคงด้านอาหาร ภัยพิบัติ และสุขภาพด้วย
สมาคมแห่งภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย
สมาคมแห่งภูมิภาคมหาสมุทรอินเดียมีเป้าหมายที่จะเสริมสร้างความร่วมมือในภูมิภาคและการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านประเทศสมาชิก 23 ประเทศ และประเทศคู่เจรจาอีก 10 ประเทศ กลุ่มประเทศสมาชิกต้องเผชิญหน้าและจัดการกับความท้าทายด้านความปลอดภัยและความมั่นคงทั้งตามแบบแผนและรูปแบบใหม่มากมาย เช่น การกระทำอันเป็นโจรสลัด การปล้นสะดมทางทะเลโดยใช้อาวุธ การก่อการร้าย การค้ามนุษย์ การย้ายถิ่นฐานโดยไม่มีเอกสารการเดินทางที่ถูกต้องตามกฎหมาย ตลอดจนการค้าสัตว์ป่า ยาเสพติด และอาวุธ ความท้าทายที่เกิดขึ้นยังรวมถึงการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม การเสื่อมโทรมของสุขภาวะทางทะเล และการแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานี้ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2564 การประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญของสมาคมแห่งภูมิภาคมหาสมุทรอินเดียว่าด้วยการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรก ได้วางแนวทางในการจัดตั้งคณะทำงานของสมาคมแห่งภูมิภาคมหาสมุทรอินเดียว่าด้วยการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติ
ประเทศสมาชิกยังได้สรุปแนวทางปฏิบัติในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติในมหาสมุทรอินเดียด้วย สมาคมแห่งภูมิภาคมหาสมุทรอินเดียควรเสริมสร้างความร่วมมือในการต่อสู้กับภัยคุกคามด้านความมั่นคงรูปแบบใหม่ โดยยึดตามข้อเสนอแผนปฏิบัติการของสมาคมแห่งภูมิภาคมหาสมุทรอินเดียสำหรับคณะทำงานประจำด้านความปลอดภัยและความมั่นคงทางทะเล
โครงการอ่าวเบงกอลเพื่อความร่วมมือด้านเทคนิคและเศรษฐกิจจากหลายภาคส่วน
ประเทศสมาชิกโครงการอ่าวเบงกอลเพื่อความร่วมมือด้านเทคนิคและเศรษฐกิจจากหลายภาคส่วน ซึ่งประกอบด้วยบังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย เมียนมา เนปาล ศรีลังกา และไทย ได้ระบุว่าการต่อสู้กับการก่อการร้ายและการก่ออาชญากรรมระหว่างประเทศที่เป็นระบบนั้นเป็นหนึ่งในข้อกำหนดเบื้องต้นสำหรับการเติบโตอย่างยั่งยืนและการรักษาสันติภาพในภูมิภาค อนุสัญญาว่าด้วยความร่วมมือในการต่อสู้กับการก่อการร้ายระหว่างประเทศ การก่ออาชญากรรมข้ามชาติที่เป็นระบบ และการค้ายาเสพติดผิดกฎหมายของโครงการอ่าวเบงกอลเพื่อความร่วมมือด้านเทคนิคและเศรษฐกิจจากหลายภาคส่วนที่นำมาปรับใช้เมื่อ พ.ศ. 2552 ถือเป็นมาตรการเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประเทศสมาชิกในการต่อสู้กับความท้าทายเหล่านี้ร่วมกันภายใต้กฎหมายและระเบียบข้อบังคับของประเทศนั้น ๆ
แม้อนุสัญญาทั้ง 15 มาตราจะไม่ได้กล่าวถึงการค้ามนุษย์หรือการย้ายถิ่นฐานโดยไม่มีเอกสารการเดินทางที่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของประเทศสมาชิกโครงการอ่าวเบงกอลเพื่อความร่วมมือด้านเทคนิคและเศรษฐกิจจากหลายภาคส่วนก็ได้ประชุมร่วมกันเป็นประจำทุกปี อีกทั้งประเทศต่าง ๆ ก็อยู่ในขั้นตอนการให้สัตยาบันในกลไกความร่วมมือ โดยในภายหลัง ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติจะพัฒนามาตรการสำหรับความร่วมมือและการประสานงานในด้านการบังคับใช้กฎหมาย ด้านข่าวกรอง และด้านความมั่นคง ซึ่งการดำเนินการนี้อาจช่วยเร่งพัฒนาขีดความสามารถของเครื่องมือด้านความมั่นคง และทำให้การแบ่งปันข้อมูลตามเวลาจริงเกิดขึ้นได้ ในส่วนของการจัดการภัยพิบัติ ประเทศสมาชิกโครงการอ่าวเบงกอลเพื่อความร่วมมือด้านเทคนิคและเศรษฐกิจจากหลายภาคส่วนได้ให้การสนับสนุนความร่วมมือด้านการพัฒนาขีดความสามารถผ่านการแบ่งปันความรู้และความเชี่ยวชาญทางเทคนิค การกำหนดกรอบขั้นตอนมาตรฐานในการปฏิบัติงาน
รวมถึงการสร้างและให้เงินทุนแก่หน่วยรับมือภัยพิบัติ
การประชุมพหุภาคีกลุ่มย่อย
กลุ่มควอด
การเจรจาด้านความมั่นคงจตุภาคีหรือควอดเป็นความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างออสเตรเลีย อินเดีย ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ ซึ่งประเทศสมาชิกมีผลประโยชน์ร่วมกันในการสร้างความเจริญรุ่งเรืองภายในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก วาระการประชุมของกลุ่มควอดครอบคลุมความร่วมมือในหลายประเด็น เช่น เทคโนโลยีและวัสดุที่สำคัญ ห่วงโซ่อุปทานที่เชื่อถือได้ โครงสร้างพื้นฐาน ปัญญาประดิษฐ์ คอมพิวเตอร์ควอนตัม ประเด็นทางไซเบอร์ การรับมือโควิด-19 การผลิตวัคซีน ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งอาจดำเนินการร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียนในด้านความร่วมมือตามแต่ละประเด็นปัญหา
นอกจากนี้ กลุ่มควอดยังมีการพัฒนาโครงสร้างสถาปัตยกรรมที่ทนทานเพื่อการจัดการภัยพิบัติและการพัฒนาขีดความสามารถภายในอินโดแปซิฟิกด้วย
กลุ่มไตรภาคีระหว่างออสเตรเลีย อินเดีย และญี่ปุ่น
จุดที่สมบูรณ์แบบสำหรับออสเตรเลีย อินเดีย และญี่ปุ่นในการสร้างความร่วมมือและส่งเสริมระเบียบที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกติกาอาจหมายถึงสิ่งสำคัญทางภูมิยุทธศาสตร์ของอินโดแปซิฟิก
ทั้งสามประเทศมีความมุ่งมั่นที่จะจัดหาการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติให้แก่กันและกัน รวมถึงให้แก่ประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนั้น อินเดียและญี่ปุ่นยังได้ดำเนินการฝึกซ้อมร่วมโดยมุ่งเน้นไปที่ปฏิบัติการในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ อีกทั้งภาวะการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ยังทำให้ทั้งสามประเทศสามารถดำเนินงานในด้านการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และขีดความสามารถในการวิจัยได้ โดยการร่วมแบ่งปันอุปกรณ์ทางการแพทย์และร่วมปฏิบัติการในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ
ความท้าทายอีกประการหนึ่งคือ การประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ซึ่งได้ทวีความรุนแรงขึ้นเนื่องด้วยความต้องการของผู้บริโภค และคุกคามภาวะการขาดแคลนทรัพยากรให้ยิ่งแย่ลง อีกทั้งยังมีภัยคุกคามจากอาชญากรรมทางทะเลต่าง ๆ เช่น การกระทำอันเป็นโจรสลัด การค้ามนุษย์และการลักลอบนำเข้ามนุษย์ รวมถึงการบังคับใช้แรงงาน ในฐานะที่เป็นแหล่งชุมชนการประมงขนาดใหญ่ ออสเตรเลีย อินเดีย และญี่ปุ่นควรขยายการเข้าถึงของตนโดยการทำงานร่วมกันผ่านสมาคมแห่งภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย รวมถึงในเวทีที่มีเป้าหมายเดียวกันอื่น ๆ เช่น
คณะกรรมาธิการปลาทูน่าแห่งมหาสมุทรอินเดีย
ระเบียบใหม่ในระดับภูมิภาค
การจัดตั้งกลุ่มไตรภาคี พหุภาคีกลุ่มย่อย และพหุภาคี รวมถึงการทำงานร่วมกันแบบทวิภาคีที่เพิ่มขึ้นในหมู่ประเทศที่มีแนวคิดเดียวกัน ถือเป็นพัฒนาการสำคัญที่จะช่วยกำหนดระเบียบใหม่ในระดับภูมิภาค ในขณะเดียวกัน ทางเลือกเชิงยุทธศาสตร์ที่วางแบบขึ้นมาโดยอิงตามผลประโยชน์และวัตถุประสงค์ระดับประเทศต่าง ๆ จะยังคงเป็นตัวกำหนดคุณลักษณะของภูมิภาคอินโดแปซิฟิก
ประเทศต่าง ๆ ควรแสวงหายุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการระดับภูมิภาคเพื่อรับมือกับภัยคุกคามด้านความมั่นคงรูปแบบใหม่ที่มีอยู่อย่างหลากหลาย ผู้มีบทบาททั้งในภาครัฐและภาคเอกชนสามารถ
ต่อยอดจากกรอบการทำงานและโครงการริเริ่มระดับภูมิภาคที่มีอยู่ และสามารถสร้างแผนปฏิบัติการที่ตรงตามเป้าหมายมากยิ่งขึ้นได้
ความร่วมมือที่อิงตามบทบาทหน้าที่ที่มุ่งเน้นไปยังเป้าหมายที่เป็นรูปธรรมและวัดผลได้ กำลังกลายเป็นรูปแบบความร่วมมือที่เป็นที่ต้องการอย่างรวดเร็ว นอกเหนือจากรูปแบบดั้งเดิมซึ่งเป็นความร่วมมือที่อิงตามความจำเป็นทางเศรษฐกิจหรือความมั่นคง เวทีพหุภาคีกลุ่มย่อยที่เกิดขึ้นในอินโดแปซิฟิกในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมากำลังนำไปสู่โครงสร้างความร่วมมือที่อิงตามบทบาทหน้าที่ เหตุการณ์นี้อาจส่งผลในเชิงบวกต่อความคืบหน้าในด้านความมั่นคงรูปแบบใหม่
มูลนิธิวิจัยสังเกตการณ์ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย ได้เผยแพร่รายงานฉบับนี้เป็นครั้งแรกในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2565 โดยมีการเรียบเรียงเนื้อหาเพื่อให้เหมาะสมกับการนำเสนอของ ฟอรัม
ดูรายงานต้นฉบับฉบับเต็มได้ที่ https://www.orfonline.org/research/strengthening-partnerships-to-counter-non-traditional-security-threats-in-the-indo-pacific/