ความขัดแย้ง/ความตึงเครียดติดอันดับปัญหาหลักระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อินโดนีเซียใช้มาตรการเพื่อป้องกันการทำประมงที่เป็นภัยต่อสัตว์น้ำ

ทอม แอบกี

เนื่องจากการทำประมงมีความสำคัญต่อความมั่นคงด้านอาหารและเศรษฐกิจของประเทศ อินโดนีเซียจึงปรับใช้สินทรัพย์ทางทหารและความมั่นคงเพื่อปกป้องการทำประมงที่สำคัญที่สุดรอบเกาะเรียวในทะเลนาทูน่าจากการทำประมงเกินขนาด การทำเหมืองทรายใกล้ชายฝั่ง และการบุกรุกดินแดน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบุกรุกโดยเรือของจีน

อินโดนีเซียบริโภคปลามากกว่า 40 กิโลกรัมต่อคนต่อปี จึงทำให้ประเทศหมู่เกาะแห่งนี้เป็นหนึ่งในประเทศที่ใช้ปลาประกอบอาหารมากที่สุดในโลก น่านน้ำของอินโดนีเซียเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของปลามากกว่า 3,000 สายพันธุ์ โดยอุตสาหกรรมการประมงมีการจ้างงานประมาณ 12 ล้านคน

กระทรวงกลาโหมอินโดนีเซีย หรือที่รู้จักกันในชื่อ เคมฮาน รวมถึงกระทรวงกิจการการเดินเรือและการประมงกำลังหาทางจัดตั้ง “เขตป้องกันทางทะเลและการประมงแบบบูรณาการของหมู่เกาะเรียว” เพื่อเพิ่มศักยภาพทางทะเลและรักษาอธิปไตยของประเทศในทะเลนาทูน่า ตามที่อินโดนีเซียอ้างสิทธิว่าเป็นส่วนหนึ่งของทะเลจีนใต้ เจ้าหน้าที่จากทั้งสองกระทรวงได้เดินทางเยือนจังหวัดหมู่เกาะเรียวในช่วงกลางเดือนตุลาคม พ.ศ. 2565 เพื่อหารือเกี่ยวกับแผนการและกลยุทธ์ต่าง ๆ ตั้งแต่นโยบายทางทะเลและการประมงแบบบูรณาการ ไปจนถึงนโยบายพรมแดนเพื่อการป้องกันและความมั่นคง ตามรายงานของกระทรวงกลาโหมอินโดนีเซีย

ในระหว่างการสนทนากันเป็นกลุ่ม นายอาดี ปรีฮันทารา ผู้ว่าราชการจังหวัดหมู่เกาะเรียว ได้ระบุถึงลำดับความสำคัญต่าง ๆ ได้แก่ “การเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจในด้านการเดินเรือ ความเข้าใจด้านสิ่งแวดล้อม และความเป็นเลิศในระดับภูมิภาคเพื่อเพิ่มความมั่งคั่งให้กับประชาชน”

การประมงของจังหวัดได้จับสัตว์น้ำรวมมูลค่าทั้งสิ้น 556 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท) ใน พ.ศ. 2564 นำโดยอนุภูมิภาคนาทูน่ารีเจนซี ซึ่งมีมูลค่าการจับสัตว์น้ำกว่า 180 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 6.6 พันล้านบาท) ตามรายงานของนายอารีฟ ฟาดิลละห์ หัวหน้ากิจการทางทะเลและการประมงประจำจังหวัด

เนื่องจากการประมงในนาทูน่ารีเจนซีมีความสำคัญต่ออินโดนีเซีย จึงจำเป็นต้องมีแผนการเชิงกลยุทธ์ไว้ปกป้องการประมงเหล่านี้ นายฟาดิลละห์กล่าว

กระทรวงกิจการทางทะเลและการประมงได้กำหนดและจัดการพื้นที่อนุรักษ์ทางทะเลประมาณ 80 แห่งเพื่อลดการทำประมงเกินขนาด ซึ่งรวมถึงพื้นที่หนึ่งที่ได้รับการกำหนดในเดือนเมษายน พ.ศ. 2565 ที่เกาะบินตันในจังหวัดเกาะเรียวตะวันออก ซึ่งครอบคลุมพื้นที่กว่า 138,000 เฮกตาร์

เกาะร้างและไร้ผู้อยู่อาศัยของอินโดนีเซียหลายแห่งถูกใช้สำหรับปฏิบัติการขุดลอกชายหาดเพื่อขุดทรายไปใช้ในการก่อสร้าง ตามรายงานของมองกาเบย์ แพลตฟอร์มข่าวการอนุรักษ์ประจำสหรัฐอเมริกา ปฏิบัติการนี้สร้างความเสียหายต่อการประมงและกระตุ้นให้ชุมชนชาวประมงแสดงความไม่พอใจต่อรัฐบาล

ผู้นำเสนอรายอื่น ๆ ของการสนทนาเป็นกลุ่มได้เน้นย้ำความจำเป็นในการปกป้องแนวชายฝั่งและความสำคัญของการผสมผสานมาตรการทางกลาโหมและความมั่นคงเข้ากับวัฒนธรรมการประมง เพื่อตอบโต้เรือของสาธารณรัฐประชาชนจีนที่รุกล้ำเข้ามาในน่านน้ำของอินโดนีเซียในทะเลนาทูน่าบ่อยครั้ง รัฐบาลอินโดนีเซียจึงได้เสริมความแข็งแกร่งให้กับการมีบทบาทของกองทัพและจัดให้มีการฝึกซ้อมทางทะเลที่นาทูน่า เบซาร์และบริเวณโดยรอบ ซึ่งเป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดของพื้นที่ดังกล่าว (ภาพ: เรือเคอาร์ไอ คาเรล ซัตซุยทูบัน แห่งกองทัพเรืออินโดนีเซีย ลาดตระเวนเขตเศรษฐกิจพิเศษของประเทศในทะเลนาทูน่าเมื่อ พ.ศ. 2559)

รัฐบาลจีนได้ใช้การอ้างสิทธิ์ตามอำเภอใจต่อร้อยละ 90 ของทะเลจีนใต้เป็นข้ออ้างในการล่วงล้ำเข้ามาในน่านน้ำของอินโดนีเซียในนาทูน่ารีเจนซี ทั้ง ๆ ที่อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศได้ปฏิเสธให้การอ้างสิทธิ์ดังกล่าวหลายครั้งเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ตาม

ใน พ.ศ. 2552 แผนที่อย่างเป็นทางการของจีนได้นับรวมนาทูน่ารีเจนซีเป็นดินแดนของจีน และจุดไฟของความขัดแข้งกับรัฐบาลอินโดนีเซีย และในต้น พ.ศ. 2563 เรือประมงของจีนได้เข้าสู่น่านน้ำบริเวณเกาะนาทูน่าเหนือ โดยได้รับการคุ้มกันโดยเรือรักษาชายฝั่งของจีน ตามรายงานของรอยเตอร์ รัฐบาลอินโดนีเซียได้ส่งเรือรบและระดมกองเรือประมงของตนเพื่อตอบโต้ ซึ่งนำไปสู่การเผชิญหน้ากันยาวนานหลายเดือนและก่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดระหว่างรัฐบาลทั้งสองประเทศ

ภาพจาก: เก็ตตี้อิมเมจ

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button