ความร่วมมือปัญหาหลักระดับภูมิภาคเอเชียใต้

การฝึกยุทธ อภิยาส แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือที่เติบโตขึ้นระหว่างอินเดียและสหรัฐฯ

จ้าหน้าที่ ฟอรัม

กองกำลังทหารของอินเดียและสหรัฐอเมริกาจัดการฝึกซ้อมทางทหารร่วมกันเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2565 เพื่อยกระดับการฝึกในพิกัดตำแหน่งสูงและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสองประเทศ การฝึกเป็นเวลาสองสัปดาห์ครั้งนี้เริ่มต้นเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน ที่เมืองอาวลี รัฐอุตตราขัณฑ์ ในเทือกเขาหิมาลัยทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย โดยมีผู้เข้าร่วมเป็นทหารจากกองพลน้อยทหารราบที่ 2 ของกองทัพบกสหรัฐฯ, กองบินที่ 11 และกองกำลังอัสสัมของกองทัพบกอินเดีย

กระทรวงกลาโหมอินเดียระบุว่า การฝึกประจำปี ยุทธ อภิยาส ซึ่งแปลว่า “แนวทางปฏิบัติในสงคราม” ได้รับการออกแบบมาเพื่อแลกเปลี่ยน “แนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด กลยุทธ์ เทคนิค และขั้นตอนระหว่างกองทัพของทั้งสองประเทศ”

การฝึกนี้มุ่งเน้นไปที่การรักษาสันติภาพ ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และการบรรเทาภัยพิบัติ ตามรายงานของกระทรวงกลาโหมอินเดีย การฝึกซ้อมภาคสนามจะเกี่ยวข้องกับกลุ่มการต่อสู้แบบบูรณาการ ตัวคูณกำลังรบ การส่งกำลังเพื่อปฏิบัติการ ทักษะการสงครามบนภูเขา การอพยพผู้ป่วย การช่วยเหลือทางการแพทย์ในการต่อสู้ และวิศวกรรมการรบ การฝึกเพิ่มเติมนั้นมีตั้งแต่การฝึกเกี่ยวกับระบบอากาศยานไร้คนขับและเทคนิคในการตอบโต้ระบบดังกล่าว ตลอดจนปฏิบัติการสารสนเทศ

การฝึกซ้อมครั้งนี้เน้นย้ำถึงความสัมพันธ์ด้านกลาโหมที่เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ระหว่างอินเดียและสหรัฐฯ โดยเมื่อ พ.ศ. 2559 สหรัฐฯ ได้กำหนดให้อินเดียเป็นพันธมิตรด้านกลาโหมที่สำคัญเพื่อความร่วมมือด้านเสถียรภาพในภูมิภาค และในเดือนเมษายน พ.ศ. 2565 ทั้งสองประเทศก็ได้ลงนามในข้อตกลงการเฝ้าระวังทางอวกาศเพื่อสนับสนุนการแบ่งปันข้อมูลและความร่วมมือด้านอวกาศ

นอกจากนี้ ทั้งสองประเทศยังเสริมสร้างความร่วมมือในโลกไซเบอร์ผ่านการฝึกอบรมและการฝึกซ้อม รวมถึงได้ขยายการแบ่งปันข้อมูลไปยังทุกขอบเขตการสู้รบ ตามรายงานของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ

นายลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ กล่าวในแถลงการณ์เมื่อวันที่ 11 เมษายนว่า “เมื่อไม่นานมานี้ เราได้ทำข้อตกลงที่จะร่วมมือกันในด้านยานพาหนะไร้คนขับทางอากาศผ่านเทคโนโลยีกลาโหมและโครงการริเริ่มทางการค้าของทั้งสองประเทศ” “และในวันนี้ เราเห็นพ้องที่จะเปิดตัวมาตรการความร่วมมือด้านห่วงโซ่อุปทานใหม่ ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถสนับสนุนความต้องการด้านกลาโหมที่สำคัญของกันและกันได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น”

นายออสตินระบุว่า บรรดาหุ้นส่วนต่างให้ความสำคัญกับสาธารณรัฐประชาชนจีนมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งจีนพยายามที่จะ “ปรับเปลี่ยนภูมิภาคและระบบระหว่างประเทศในวงกว้างมากขึ้น ด้วยแนวทางที่เอื้อผลประโยชน์ให้แก่ตน”

พ.ต. โจนาธาน ลูอิส แห่งกองทัพบกสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นแปซิฟิก กล่าวกับนิตยสารข่าวนิกเคอิเอเชียว่า การฝึกยุทธ อภิยาส ประจำ พ.ศ. 2565 นี้มุ่งเน้นไปยังปฏิบัติการที่มีสภาพอากาศหนาวเย็นในพิกัดตำแหน่งสูง ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่ก่อให้เกิดความท้าทายที่มีลักษณะเฉพาะ

สถานที่ของการฝึกครั้งนี้ก็มีความสำคัญเช่นกัน เนื่องจากอยู่ห่างจากเส้นแบ่งเขตควบคุมตามความเป็นจริงไม่ถึง 100 กิโลเมตร โดยเส้นแบ่งเขตดังกล่าวเป็นเขตชายแดนยาว 3,400 กิโลเมตรที่มีข้อพิพาทกันระหว่างอินเดียและจีน ซึ่งเป็นจุดที่มีการปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่างกองกำลังของทั้งสองประเทศเมื่อไม่นานมานี้ใน พ.ศ. 2563

แม้ว่าจะเคยมีการจัดการฝึกยุทธ อภิยาส ที่รัฐอุตตราขัณฑ์มาแล้วก่อนหน้านี้ใน พ.ศ. 2557, 2559 และ 2561 แต่การฝึกซ้อมเหล่านั้นจัดขึ้นที่บริเวณเชิงเขาซึ่งอยู่ห่างจากเส้นแบ่งเขตควบคุมตามความเป็นจริงมากกว่า 300 กิโลเมตร ตามรายงานของนายเจฟ สมิธ นักวิจัยด้านเอเชียใต้ที่ศูนย์เอเชียศึกษาของมูลนิธิเฮอริเทจ “นี่ถือเป็นความก้าวหน้าครั้งใหม่” นายสมิธกล่าวกับนิกเคอิเอเชีย

การฝึกซ้อมดังกล่าวเป็นสัญญาณว่ารัฐบาลอินเดียยินดีที่จะร่วมมือกับสหรัฐฯ แม้ว่ารัฐบาลจีนจะไม่ต้องการให้เป็นเช่นนั้นก็ตาม นางทันวี มาดัน นักวิชาการอาวุโสของสถาบันบรูกกิงส์ กล่าวกับนิกเคอิเอเชีย “นี่ถือเป็นสัญญาณว่าอินเดียจะไม่เปิดโอกาสให้จีนเข้ามาขัดขวางความร่วมมือของอินเดีย”

นางมาดันระบุว่า “การฝึกซ้อมตลอดจนสถานที่ฝึกซ้อมครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความคืบหน้าและระดับความสบายใจที่เพิ่มมากขึ้นในความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และอินเดียในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา” และชี้ว่าการฝึกซ้อมดังกล่าวจัดขึ้นในวันครบรอบ 60 ปีของสงครามระหว่างจีนและอินเดียเมื่อ พ.ศ. 2505 ซึ่งในตอนนั้นสหรัฐฯ ได้ให้ความช่วยเหลือแก่อินเดีย

การฝึกยุทธ อภิยาส ประจำ พ.ศ. 2564 ซึ่งมุ่งเน้นการฝึกในพิกัดตำแหน่งสูงและในสภาพภูมิอากาศที่หนาวเย็นนั้น ได้จัดขึ้นที่ฐานฝึกร่วมเอลเมนดอร์ฟ-ริชาร์ดสันในรัฐอะแลสกา (ภาพ: ทหารอินเดียและสหรัฐฯ ฝึกการใช้อาวุธระหว่างการฝึกยุทธ อภิยาส ในรัฐอะแลสกาเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2564)

ภาพจาก: อเลฮานโดร เปนา/กองทัพอากาศสหรัฐฯ

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button