ติดอันดับอินโดแปซิฟิกอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง

การฝึกซ้อมทางทะเลภายใต้รหัสมาลาบาร์เน้นย้ำถึงความสำคัญของอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

การฝึกมาลาบาร์ พ.ศ. 2565 เป็นการฝึกทางทหารที่ประกอบด้วยกองทัพเรือจากออสเตรเลีย อินเดีย สหรัฐอเมริกา และกองกำลังป้องกันทางทะเลญี่ปุ่น โดยจะเริ่มขึ้นในวันที่ 8 พฤศจิกายนบริเวณนอกชายฝั่งโยโกซูกะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งอยู่ทางใต้ของกรุงโตเกียว การฝึกครั้งนี้จะดำเนินไปจนถึงวันที่ 18 พฤศจิกายน โดยมุ่งมั่นที่จะปรับปรุงการทำงานร่วมกันและส่งเสริมความคุ้นเคยกันระหว่างผู้เข้าร่วม

การฝึกแบบพหุภาคีนี้จะเน้นการฝึกอบรมทักษะการต่อต้านเรือดำน้ำ การเคลื่อนกำลังพลอย่างรวดเร็ว การเฝ้าระวัง และการคาดการณ์กองกำลัง ซึ่งนำโดยเรือบรรทุกอากาศยาน ยูเอสเอส โรนัลด์ เรแกน ของกองทัพเรือสหรัฐฯ ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ฮินดูสถานไทมส์

กองทัพอินเดียและกองทัพสหรัฐฯ ดำเนินการฝึกมาลาบาร์เป็นครั้งแรกบริเวณนอกชายฝั่งอินเดียตะวันตกเฉียงใต้เมื่อ พ.ศ. 2535 ต่อมาการฝึกเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ จนมีสมาชิกถาวรอย่างออสเตรเลียและญี่ปุ่น รวมถึงมีการจัดขึ้นในสถานที่ต่าง ๆ เช่น ทะเลฟิลิปปินส์ อ่าวเบงกอล และทะเลอาหรับ

การฝึกมาลาบาร์ พ.ศ. 2565 ที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพ มีกองทัพจากประเทศสมาชิกของการเจรจาความมั่นคงจตุภาคีหรือควอดเข้าร่วม ซึ่งดำเนินการฝึกซ้อมเป็นประจำเพื่อรับรองถึงอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง เช่น กองกำลังป้องกันตนเองทางทะเลญี่ปุ่นและกองทัพเรืออินเดีย ได้ดำเนินการฝึกทางทะเลในทะเลอันดามันนอกคาบสมุทรมาเลย์เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2565 อินเดียได้เข้าร่วมการฝึกพิตช์แบล็คที่กองทัพอากาศออสเตรเลียเป็นเจ้าภาพในเดือนสิงหาคมและกันยายน พ.ศ. 2565 และสมาชิกควอดทั้งสี่ประเทศได้เข้าร่วมการฝึกที่จัดขึ้นทุกสองปีอย่าง ริมออฟแปซิฟิก พ.ศ. 2565 โดยเป็นการฝึกทางทะเลระหว่างประเทศที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งจัดขึ้นโดยสหรัฐฯ ตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายนถึงต้นเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2565

กองกำลังทางทะเลของออสเตรเลีย อินเดีย ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ ทำงานร่วมกันเป็นประจำในอินโดแปซิฟิกเพื่อ “ส่งเสริมแนวทางความร่วมมือที่นำไปสู่ความมั่นคงและเสถียรภาพในภูมิภาค” ตามรายงานของกองบัญชาการสหรัฐฯ ภาคพื้นอินโดแปซิฟิก

(ภาพ: กองกำลังทางทะเลจากออสเตรเลีย อินเดีย ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา เคลื่อนพลผ่านอ่าวเบงกอลระหว่างการฝึกมาลาบาร์ พ.ศ. 2564)

ผลประโยชน์ร่วมกันของกลุ่มประเทศสมาชิกควอดมีต้นตอมาจากความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับเกาหลีเหนือและสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งรวมถึงการเผชิญหน้าตามแนวชายแดนอย่างต่อเนื่องระหว่างทหารจีนและอินเดียซึ่งบางครั้งถึงขั้นร้ายแรง ความพยายามของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่จะแทรกแซงกิจการภายในประเทศของออสเตรเลีย การปรากฏตัวอย่างต่อเนื่องของกองกำลังรักษาชายฝั่งและเรือประมงของจีนในเขตเศรษฐกิจพิเศษของญี่ปุ่นในทะเลจีนตะวันออก อีกทั้งการปลุกปั่นด้วยนิวเคลียร์และการปฏิเสธที่จะเลิกใช้อาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ

การรวมกลุ่มประเทศประชาธิปไตยในภูมิภาคทั้งควอดและกลุ่มพันธมิตรอูกัสที่ประกอบด้วยออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ถือเป็นการส่งสัญญาณอันทรงพลังไปยังเกาหลีเหนือและสาธารณรัฐประชาชนจีน ตามรายงานของนายไมเคิล กรีน ประธานบริหารของศูนย์ศึกษาการแห่งสหรัฐอเมริกาที่มหาวิทยาลัยซิดนีย์ในออสเตรเลีย “ผมคิดว่าบทเรียนจากควอดและอูกัสคือ หากความท้าทายที่มีต่อระเบียบและความมั่นคงในภูมิภาคเพิ่มขึ้น รัฐบาลก็เต็มใจที่จะสร้างเครือข่ายพันธมิตรและทำงานร่วมกันมากขึ้น” นายกรีนกล่าวระหว่างการอภิปรายเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2565 ที่ศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์และกิจการระหว่างประเทศ/การประชุมนิกเคอิในกรุงโตเกียว “ผมคิดว่านั่นเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับจีน เพราะอูกัสและควอดจะไม่เกิดขึ้นหากไม่มีการบีบบังคับจากจีน” ความขัดแย้งในภูมิภาคเกี่ยวโยงกับประเทศบางประเทศที่มีกองกำลังขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยสหรัฐฯ อยู่ในอันดับที่ 1 ในด้านการใช้จ่ายทางกองกำลัง จีนอยู่ในอันดับที่ 2 อินเดียอยู่ในอันดับที่ 3 สหราชอาณาจักรอยู่ในอันดับที่ 4 ญี่ปุ่นอยู่ในอันดับที่ 9 และออสเตรเลียอยู่ในอันดับที่ 12 ตามรายงานของเว็บไซต์ข้อมูลตลาดสตาทิสตา เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2565 บทเรียนที่รัฐบาลจีนควรนำไปใช้คือ “ยิ่งจีนกดดันเรามากเท่าใด เราจะยิ่งดำเนินการมากขึ้นเพื่อให้เกิดความมั่นคงร่วม” นายกรีนกล่าว

ภาพจาก: จ.อ. จัสติน สแต็ค/กองทัพเรือสหรัฐฯ

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button