ทรัพยากรส่วนรวมของโลกปัญหาหลักระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นิทรรศการด้านกลาโหมของอินโดนีเซียแสดงถึงภาคกลาโหมของประเทศ ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ

กัสดี ดา คอสตา

ความสามารถทางอุตสาหกรรมกลาโหมอินโดนีเซียที่เติบโตขึ้นได้รับการจัดแสดงที่งานนิทรรศการและการประชุมด้านกลาโหมของอินโดนีเซียประจำ พ.ศ. 2565 ซึ่งเป็นการจัดงานครั้งที่เก้าของงานนี้ที่จัดขึ้นทุกสองปี โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2 – 5 พฤศจิกายน ณ กรุงจาการ์ตา นิทรรศการด้านกลาโหมที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังนำเสนอผลิตภัณฑ์ของบริษัทมากกว่า 900 แห่งจาก 31 ประเทศ รวมถึงการสัมมนาในหัวข้อต่าง ๆ เช่น อวกาศและการบำรุงรักษา เบื้องหลังนิทรรศการดังกล่าวมีการเจรจาเพื่อขายสินทรัพย์กลาโหมขนาดใหญ่ ซึ่งรวมไปถึงเครื่องบินขับไล่และเรือดำน้ำให้แก่อินโดนีเซีย

นายปราโบโว ซูเบียนโต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอินโดนีเซียซึ่งเป็นอดีตผู้บัญชาการกองทัพบก กล่าวในพิธีเปิดว่า ใจความสำคัญของนิทรรศการนี้คือ “สันติภาพ ความเจริญรุ่งเรือง และความมั่นคงที่แข็งแกร่ง” “อินโดนีเซียจะอยู่ในฐานะที่สามารถเปิดกว้างต่อความสัมพันธ์ภายนอกกับทุกประเทศ แสวงหาความสัมพันธ์ทางการทูตด้านกลาโหม พัฒนาเทคโนโลยีด้านกลาโหมในประเทศ ทำภารกิจด้านกลาโหมของอินโดนีเซียต่อโลก และส่งเสริมอุตสาหกรรมกลาโหมให้สามารถพึ่งพาตนเองได้”

บริษัทด้านกลาโหมของอินโดนีเซียทั้ง 158 แห่งมีสินทรัพย์ที่ผลิตในท้องถิ่นเป็นจำนวนมาก บริษัทผู้ผลิต พีที พินแดด ได้จัดแสดงรถถังขนาดกลางอย่างฮาริเมา รถยิงสนับสนุนบาดัก 6×6 และยานพาหนะยุทธวิธีมวง บริษัทพีที เดอร์กันทารา ของอินโดนีเซียได้แสดงการสาธิตเครื่องบินสะเทินน้ำสะเทินบก เอ็น210 และอากาศยานอื่น ๆ บริษัทผู้ผลิตเรือ พีที พาล ได้นำเสนอเรือสนับสนุนอเนกประสงค์ยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่แบบอู่ลอยรูปแบบใหม่ที่มีความยาว 163 เมตร รวมถึงเรือพยาบาล เรือพิฆาต และเรือดำน้ำแบบไร้คนขับ บริษัทพีที ดาฮานา จัดแสดงจรวดและยานพาหนะปล่อยจรวด อาวุธต่อต้านรถถัง ระบบป้องกันภัยทางอากาศแบบพกพา และโดรนอัจฉริยะ ดีเฟนส์ ไอดี ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจได้แสดงเครื่องบินขับไล่ เคเอฟเอ็กซ์/ไอเอฟเอ็กซ์ ที่พัฒนาร่วมกันกับบริษัทโคเรีย แอโรสเปซ อินดัสทรีส์

ในระหว่างงานนิทรรศการ นายปราโบโวได้ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างบริษัทพีทีเดอร์กันทารากับบริษัทโบอิงและบริษัทล็อกฮีดมาร์ตินของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเกี่ยวกับความสามารถในการผลิต การบำรุงรักษา การฝึกอบรม และการถ่ายทอดเทคโนโลยีอากาศยาน (ภาพ: นายปราโบโว ซูเบียนโต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอินโดนีเซีย (ซ้าย) และนายโจโก วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย (ขวา) เข้าร่วมงานนิทรรศการและการประชุมด้านกลาโหมของอินโดนีเซียประจำปี 2565 เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2565)

“ผมเชื่อว่านี่จะเป็นการพัฒนาที่ยอดเยี่ยม” นายโจโก วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย กล่าวเกี่ยวกับงานนิทรรศการในคำปราศรัยของตน “สิ่งที่สำคัญคือเรานำเทคโนโลยีขั้นสูงมาปรับใช้ในขอบเขตทางทหารและด้านกลาโหมให้ได้มากที่สุด ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่สำคัญมาก”

นอกจากนี้ แผนการขายเครื่องบินขับไล่ราฟาลที่ผลิตในฝรั่งเศสจำนวน 36 ลำให้กับอินโดนีเซียยังคงดำเนินต่อไป พล.อ.ท. โอกี ยานูอาร์ ผู้ช่วยด้านโลจิสติกส์ของคณะเสนาธิการกองทัพอากาศอินโดนีเซีย กล่าวกับ ฟอรัม ที่งานนิทรรศการ การเจรจาต่อรองราคากับบริษัทแดสซอลท์เอวิเอชันของฝรั่งเศสนั้นอยู่ระกว่างการดำเนินการ

พล.อ.ท. โอกีกล่าวว่า เครื่องบินขับไล่รุ่นที่ห้าจะถูกนำไปใช้ในจำนวนที่เท่ากันในทางตอนกลางและทางตะวันออกของอินโดนีเซียเพื่อป้องปรามและป้องกันภัยคุกคามต่อสภาพแวดล้อมทางยุทธศาสตร์ของประเทศ

“ทางตะวันตกนั้นเรามีเครื่องบินขับไล่ เอฟ-16 อยู่แล้ว” พล.อ.ท. โอกีกล่าว “สำหรับทางตอนกลางของประเทศ เราจะใช้เครื่องบินขับไล่สำหรับเมืองหลวงแห่งใหม่ของประเทศในกาลีมันตัน และสำหรับทางตะวันออกนั้น การส่งกำลังพลจะอยู่ที่เมืองเบียคของจังหวัดปาปัว ซึ่งหันไปทางทิศเหนือ นอกจากนี้ อินโดนีเซียยังต้องคาดการณ์ถึงความขัดแย้งอย่างเปิดเผยในทะเลจีนใต้อีกด้วย”

บริษัทพีทีพาลและบริษัทเนเวิลกรุ๊ปของฝรั่งเศสยังกำลังเจรจาเพื่อสร้างเรือดำน้ำเพื่อการสู้รบพลังงานดีเซล-ไฟฟ้า ชั้นสกอร์ปิเน่ จำนวน 2 – 6 ลำให้แก่อินโดนีเซีย ตัวแทนของเนเวิลกรุ๊ปกล่าวกับ ฟอรัม ข้อตกลงดังกล่าวเกิดขึ้นจากบันทึกความเข้าใจในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 ระหว่างบริษัทต่าง ๆ ภายใต้ข้อตกลงที่เสนอ เนเวิลกรุ๊ปจะจัดหาเทคโนโลยีและส่วนประกอบสำหรับเรือดำน้ำเพื่อนำไปสร้างขึ้นในอินโดนีเซียโดยบริษัทพีที พาล

สกอร์ปิเน่มีขีดความสามารถด้านอาวุธเทคโนโลยีการล่องหน และ “สามารถยิงได้ทั้งขีปนาวุธและตอร์ปิโด ซึ่งทำให้สกอร์ปิเน่แตกต่างจากเรือดำน้ำส่วนใหญ่” ตัวแทนกล่าว

กัสดี ดา คอสตา เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของ ฟอรัม รายงานจากประเทศอินโดนีเซีย

 

ภาพจาก: กระทรวงกลาโหมอินโดนีเซีย

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button