ความ ‘หมกมุ่นกับพลังงานถ่านหิน’ ของจีนก่อให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับมลพิษอย่างร้ายแรง
เจ้าหน้าที่ ฟอรัม
แม้ว่าในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2565 ผู้นำจากทั่วโลกจะรวมตัวกันที่อียิปต์เพื่อประชุมเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ ทว่าภัยแล้งในประเทศจีนยังคงสร้างความหวาดหวั่นต่อการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และผลกระทบแบบระลอกคลื่นต่อแหล่งน้ำที่มีการใช้งานอย่างหนักหน่วง
สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นประเทศที่ปล่อยคาร์บอนมากที่สุด โดยคิดเป็นเกือบหนึ่งในสามของจำนวนทั้งหมดทั่วโลกต่อปี ถูกบังคับให้เพิ่มกำลังผลิตของโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินเพื่อชดเชยการผลิตที่ลดลงของโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำอันเนื่องมาจากแม่น้ำสายหลักอย่างแม่น้ำโขงและแม่น้ำแยงซีเกียงมีระดับน้ำลดน้อยลง ตามข้อมูลที่เจ้าหน้าที่จีนก็ยอมรับ
“ความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและการขาดกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำซึ่งเกิดจากปัจจัยตามฤดูกาล ส่งผลให้เกิดแรงกดดันสูงต่อเสบียงถ่านหิน” เจ้าหน้าที่ของคณะกรรมาธิการการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติยอมรับกับหนังสือพิมพ์โกลบอลไทมส์ของจีนเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2565
โรงไฟฟ้าของจีนเผาถ่านหิน 8.16 ล้านตันในช่วงสองสัปดาห์แรกของเดือนดังกล่าว ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ตามรายงานของวอยซ์ออฟอเมริกา การผลิตที่เพิ่มขึ้นนี้ก่อให้เกิดผลกระทบราคาแพง ไม่ว่าจะเป็นการที่โรงไฟฟ้าอุตสาหกรรมเหล่านั้นปล่อยก๊าซเรือนกระจกและของเสียอื่น ๆ ที่ก่อให้เกิดมลพิษต่อแหล่งน้ำบาดาลที่มีการปนเปื้อนมานาน เช่นเดียวกันกับคลื่นความร้อนที่จะทำให้เกิดความวุ่นวายเกี่ยวกับน้ำ
“ความกังวลเหล่านี้ยิ่งเลวร้ายลงไปอีกจากการพึ่งพาน้ำบาดาลมากเกินไปของจีนที่มีมานานหลายทศวรรษ ซึ่งเป็นผลมาจากความต้องการน้ำที่สูงเป็นอย่างมากสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม การชลประทานทางการเกษตร และการเติบโตของประชากร” ตามรายงานของนิตยสารเดอะดิโพลแมต
น้ำบาดาลถือเป็นแหล่งน้ำดื่มหลักของประชาชนชาวจีนประมาณร้อยละ 70 ของจำนวนประชากรกว่า 1.4 พันล้านคน นอกจากนี้น้ำบาดาลยังใช้ในการชลประทานอีกประมาณร้อยละ 40 ของพื้นที่เพาะปลูกในประเทศด้วย ตามรายงานของนิตยสารเดอะดิโพลแมตในเดือนกันยายน พ.ศ. 2565 (ภาพ: เกษตรกรยืนอยู่ใกล้กับเครื่องสูบน้ำในอ่างเก็บน้ำชุมชนที่เหลือน้ำเพียงน้อยนิดในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2565)
นิตยสารเดอะดิโพลแมตรายงานว่า “สิ่งที่ทำให้ปัญหานี้ซับซ้อนยิ่งขึ้นไปอีกคือทรัพยากรน้ำที่มีอยู่ของจีนเป็นมลพิษอย่างหนัก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม รวมถึงสุขภาพของทั้งมนุษย์ ที่ดินเพาะปลูก และคุณภาพของแม่น้ำ” “จากการประมาณการเมื่อไม่นานมานี้ เมืองต่าง ๆ กว่าร้อยละ 80 ของจีนปนเปื้อนมลพิษอย่างรุนแรง ซึ่งมีแหล่งที่มาจากทั้งในครัวเรือน อุตสาหกรรม เทศบาล และการเกษตร ในทำนองเดียวกัน งานวิจัยของรัฐบาลจีนเมื่อ พ.ศ. 2559 พบว่าประมาณร้อยละ 80 ของน้ำบาดาลในจีนมีการปนเปื้อนอย่างมีนัยสำคัญจากมลพิษต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงโลหะหนักอย่างสารหนู”
นอกจากนี้ นโยบายน้ำของจีนยังคุกคามประเทศอื่น ๆ อีกด้วย โดยรัฐบาลจีนถูกกล่าวหาว่าจำกัดการไหลของน้ำของเขื่อนในแม่น้ำโขง ซึ่งทำให้ประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ปลายน้ำอย่างลาวและไทยประสบปัญหาภัยแล้ง “ในเวลาเพียงเวลาไม่กี่ทศวรรษ ลุ่มแม่น้ำโขงได้ผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างรวดเร็วซึ่งช่วยส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม การพัฒนาดังกล่าวยังได้สร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมและท้าทายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศริมฝั่งแม่น้ำอีกด้วย” นักวิจัยในสิงคโปร์และสหรัฐอเมริการะบุในงานวิจัยที่ตีพิมพ์เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2565 ของวารสารอุทกวิทยาและวิทยาศาสตร์ระบบโลก ซึ่งเป็นวารสารของสหภาพธรณีวิทยายุโรป
ความหวังในการบรรเทาปัญหานี้ในอนาคตมีอยู่ริบหรี่ นักวิทยาศาสตร์จีนได้คาดการณ์ว่าพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศจะมีฝนตกน้อยกว่าปกติในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า โดยทางตอนใต้ของจีนอาจเผชิญกับภัยแล้งที่รุนแรง ซึ่งรวมไปถึงพื้นที่ที่ใช้พลังงานน้ำเป็นแหล่งพลังงานหลัก ตามรายงานของรอยเตอร์เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2565 ด้วยเหตุนี้จะยิ่งทำให้มีการเผาไหม้ถ่านหินและเชื้อเพลิงฟอสซิลอื่น ๆ มากขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการพลังงานในฤดูหนาว “ซึ่งในท้ายที่สุดแล้วจะเป็นการเพิ่มการปล่อยคาร์บอน และยิ่งเพิ่มความเสี่ยงของสภาพอากาศที่รุนแรง”
แนวทางดังกล่าวเป็นเพียง “การแก้ปัญหาผิดจุด เหมือนการดื่มพิษแก้กระหาย” นางหยู ไอฉุน นักวิจัยจากโกลบอลเอเนอร์จีมอร์นิเตอร์ซึ่งเป็นหน่วยงานไม่แสวงหาผลกำไร กล่าวต่อซีเอ็นเอ็นเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2565 “จีนหมกมุ่นอยู่กับพลังงานถ่านหิน โดยมีความรู้สึกว่าต้องพึ่งพาพลังงานดังกล่าวเป็นอย่างมาก” นางหยูกล่าว “เมื่อใดก็ตามที่เกิดปัญหาด้านพลังงานขึ้น จีนจะพยายามแสวงหาหนทางจากพลังงานถ่านหินเสมอ”
เนื่องด้วยการผลิตที่พุ่งสูงขึ้นของสาธารณูปโภคที่ควบคุมโดยรัฐบาลจีนนั้นทำให้เกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่กักความร้อน จึงทำให้นายสี จิ้นผิง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน เลือกที่จะไม่เข้าร่วมการประชุมภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 27 ที่อียิปต์ ซึ่งผู้นำจากประเทศต่าง ๆ ได้สานต่อคำมั่น “เกี่ยวกับประเด็นสำคัญหลายประการในการรับมือกับภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศ”
ในคำปราศรัยที่การประชุมภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 27 นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐ ได้ประกาศว่าจะบริจาคเงินจำนวน 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 5.4 พันล้านบาท) เพื่อช่วยให้แอฟริกาปรับตัวให้เข้ากับผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศได้ ตามรายงานของดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส “การรวมตัวกันในครั้งนี้จะต้องเป็นช่วงเวลาที่จะทบทวนถึงอนาคตและความสามารถที่มีร่วมกันของเราใหม่เพื่อเขียนเรื่องราวที่ดีกว่าให้กับโลกใบนี้” นายไบเดนกล่าว
ประธานาธิบดีไบเดน “แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าวิกฤตสภาพภูมิอากาศเป็นประเด็นสำคัญอันดับต้น ๆ สำหรับสหรัฐอเมริกา โดยในระดับประเทศคือการผ่านกฎหมาย และในระดับสากลคือการร่วมมือกับประเทศอื่น ๆ” นางเจนนิเฟอร์ มอร์แกน ทูตพิเศษด้านสภาพภูมิอากาศของเยอรมนี กล่าวกับดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส
ภาพจาก: ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส