กระบอกเสียงความร่วมมือปัญหาหลักระดับภูมิภาคอินโดแปซิฟิกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แผนก

โอบรับ สภาพแวดล้อม ด้านความมั่นคงที่กำลังพัฒนา

กระทรวงกลาโหมสิงคโปร์

นายเฮง ชี ห่าว/รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

โครงการเอเชียแปซิฟิกสำหรับเจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2542 โดยนายเซลลัปปัน รามนาทัน ประธานาธิบดีสิงคโปร์ในสมัยนั้น นายรามนาทันได้ดำริ “ค่ายฤดูร้อน” ขึ้นมาเพื่อรวบรวมเจ้าหน้าที่ทหารจากทั่วทั้งเอเชียแปซิฟิกและในพื้นที่อื่น ๆ มาอยู่รวมกันเพื่อหารือในประเด็นด้านกลาโหมและด้านความมั่นคงอย่างตรงไปตรงมาและเปิดกว้าง และเพื่อเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์ แนวคิดขณะนั้นรวมถึงในตอนนี้คือการที่สภาพแวดล้อมแบบไม่เป็นทางการอย่างโครงการเอเชียแปซิฟิกสำหรับเจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงจะเป็นโอกาสที่มีค่ามากที่สุดสำหรับเจ้าหน้าที่ในการทำความรู้จักเจ้าหน้าที่ทหารจากพันธมิตรประเทศอื่น ๆ และได้รับประโยชน์จากการอภิปรายที่ตรงไปตรงมา ซึ่งนั่นอาจเกิดขึ้นไม่ได้ในระหว่างการประชุมอย่างเป็นทางการ

ตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา โครงการเอเชียแปซิฟิกสำหรับเจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงได้พัฒนาไปเป็นอีกหนึ่งคุณลักษณะที่เป็นที่ยอมรับในปฏิทินระดับภูมิภาค โครงการนี้ได้รวบรวมผู้เชี่ยวชาญ ผู้ปฏิบัติงาน และผู้เข้าร่วมจากกว่า 30 ประเทศทั่วโลกรวมถึงยุโรปและตะวันออกกลาง แพลตฟอร์มที่ครอบคลุมดังกล่าวซึ่งเป็นพื้นที่ให้เจ้าหน้าที่ทหารได้แลกเปลี่ยนมุมมองกันมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น เนื่องจากเรากำลังเผชิญกับความท้าทายด้านความมั่นคงมากมายในช่วงเวลาแห่งความผันผวนทางภูมิรัฐศาสตร์นี้

แนวโน้มและความท้าทายทางภูมิรัฐศาสตร์

แนวโน้มในสภาพแวดล้อมด้านความมั่นคงสามประการที่กำลังพัฒนาขึ้นตรงตามประเด็นปัญหาอย่างเฉพาะเจาะจง

แนวโน้มแรกคือการแข่งขันของมหาอำนาจ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การแข่งขันระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ปัจจุบันความเป็นปรปักษ์ระหว่างทั้งสองประเทศเกิดขึ้นหลายด้านนอกเหนือจากด้านกลาโหม ซึ่งรวมถึงด้านการค้า เทคโนโลยี และด้านการเงิน หนึ่งในด้านที่สหรัฐฯ และจีนกำลังแข่งขันกันเพื่อชิงความเป็นผู้นำคือด้านเทคโนโลยี ในภูมิภาคของเรา เรายังได้เห็นการอุบัติขึ้นหรือการเกิดใหม่อีกครั้งของความร่วมมือระดับภูมิภาค ซึ่งรวมถึงการเจรจาความมั่นคงจตุภาคีหรือควอด และที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้คือข้อตกลงความมั่นคงไตรภาคีที่ประกอบไปด้วยออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ เนื่องด้วยโครงการริเริ่มเหล่านี้ได้พัฒนาขึ้นแล้ว เราจึงหวังว่าโครงการเหล่านี้จะมีส่วนสนับสนุนในด้านสันติภาพและเสถียรภาพของภูมิภาคอย่างสร้างสรรค์ รวมทั้งเติมเต็มโครงสร้างความมั่นคงในภูมิภาค

แนวโน้มต่อมาคือความท้าทายด้านความมั่นคงใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นมา ซึ่งไม่ใช่รูปแบบเดิม ภาวะการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ที่กำลังดำเนินอยู่เป็นตัวอย่างที่สำคัญ และการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่าง หลายประเทศที่ไม่ได้เตรียมพร้อมในการรับมือกับความท้าทายของโควิด-19 และค่าใช้จ่ายจากการไม่ได้เตรียมพร้อมซ้ำสองจะยิ่งทวีคูณสำหรับทุกความท้าทายรูปแบบใหม่ที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

แนวโน้มที่สามคือการหยุดชะงักและความเสี่ยงด้านความมั่นคงที่เพิ่มขึ้นอันเนื่องมาจากเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี แม้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะก่อให้เกิดโอกาสใหม่ ๆ แต่ก็มีความเสี่ยงตามมาเช่นกัน เทคโนโลยีเดียวกันนี้ทำให้เกิดผู้กระทำการอันเป็นภัยคุกคามที่จะใช้ประโยชน์จากช่องโหว่ต่างๆ ได้อย่างง่ายดายขึ้นและใช้ต้นทุนที่ต่ำลง

แนวโน้มทั้งสามประการนี้มีสิ่งที่เหมือนกันหนึ่งประการนั่นคือ ความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างเทคโนโลยีและความมั่นคง เทคโนโลยีคือสนามรบของการแข่งขันของมหาอำนาจ แต่ถึงกระนั้น เทคโนโลยีก็ยังมอบวิธีการในการจัดการกับความท้าท้ายต่าง ๆ ของภาวะการระบาดใหญ่และการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ อีกทั้งยังนำมาซึ่งโอกาสและความเสี่ยงจำนวนมหาศาล

นายเฮง ชี ห่าว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอาวุโส ชมโปรแกรมจำลองการบินที่กองบัญชาการอากาศยานไร้คนขับของกองทัพอากาศสาธารณรัฐสิงคโปร์ กระทรวงกลาโหมสิงคโปร์

ความจำเป็นในการปรับตัวของกองทัพ

ด้วยการจู่โจมเข้ามาของภาวะการระบาดใหญ่ จึงเร่งให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล ทำให้สังคมและประเทศต่าง ๆ มีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับภัยคุกคามในพื้นที่นี้มากยิ่งขึ้น เราได้พึ่งพาเทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น และเมื่อการพึ่งพานั้นเพิ่มสูงขึ้น ความท้าทายใหม่ ๆ ก็จะปรากฏตามมาด้วย ทุกกองทัพจะต้องปรับตัวเพื่อให้รับมือกับความท้าทายดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ แล้วมีสิ่งใดบ้างที่กองทัพสามารถทำได้ ผมขอเสนอความพยายามที่มีอยู่สามประการ

ประการแรก กองทัพควรพิจารณาแนวคิดด้านกลาโหมในรูปแบบเดิมใหม่อีกครั้ง ในสงครามตามแบบแผน มีสิ่งคงเดิมสิ่งหนึ่งที่เรามองข้ามไป ได้แก่ ฝ่ายปฏิปักษ์ที่ระบุตัวตนได้ชัดเจน สายงานบังคับบัญชาที่รับผิดชอบ และวัตถุประสงค์ที่ถูกกำหนดขึ้น เป็นต้น เมื่อเผชิญกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ในขอบเขตต่าง ๆ เช่น ด้านไซเบอร์และข้อมูล สิ่งคงเดิมเหล่านี้จะเปลี่ยนแปลงไป เช่น เมื่อเผชิญกับการโจมตีด้านไซเบอร์หรือข้อมูล เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าใครเป็นตัวการ เราจะแยกแยะระหว่างการโจมตีที่เป็นอาชญากรรมและการโจมตีจากผู้มีบทบาททางการเมืองที่เป็นฝ่ายศัตรูได้อย่างไร แล้วเราจะรับมืออย่างไร และใครควรเป็นฝ่ายรับมือ ผมเชื่อว่ากองทัพจะต้องทบทวนหลักการ โครงสร้าง และขีดความสามารถของตนอีกครั้งเพื่อให้สามารถรับมือกับภัยคุกคามเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปนี้

ในด้านอื่นที่เกิดขึ้นใหม่ เช่น ระบบอัตโนมัติ เทคโนโลยีชีวภาพ และปัญญาประดิษฐ์ กองทัพจะต้องเผชิญหน้ากับข้อคำถามด้านจริยธรรมและความถูกต้องตามกฎหมาย เช่น แม้ปัญญาประดิษฐ์จะสามารถทำหน้าที่เป็นตัวคูณกำลังรบได้ แต่ก็อาจตามมาด้วยผลลัพธ์ที่ร้ายแรงหากปัญญาประดิษฐ์แสดงลักษณะที่ไม่ได้มีการคาดการณ์ไว้ ด้วยเหตุนี้ สิงคโปร์จึงได้กำหนดหลักปฏิบัติอันเป็นแนวทางเบื้องต้นที่รู้จักหน้าที่ ปลอดภัย น่าเชื่อถือ และแข็งแกร่งในภาคกลาโหมเพื่อส่งเสริมและยกระดับการพัฒนาและการใช้ปัญญาประดิษฐ์

ประการที่สอง ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนจำเป็นต้องมีมากขึ้นเพื่อให้มีการรับมือในระดับชาติที่มีประสิทธิภาพ ปัจจุบันความขัดแย้งมักจำกัดวงอยู่ในพรมแดนทางภูมิศาสตร์และเกิดขึ้นรอบนอกขอบเขตของสนามรบที่ชัดเจน จึงต้องมองกรอบแนวคิดทางสงครามรูปแบบเดิมในมุมที่ต่างออกไป ผู้รุกรานจะใช้ประโยชน์จากเป้าหมายอ่อนที่มีความพร้อมในการป้องกันน้อยกว่า ผู้กระทำการอันเป็นภัยคุกคามมีการใช้สื่อสังคมออนไลน์เพื่อแพร่กระจายข้อมูลเท็จ เริ่มต้นการรณรงค์เพื่อสร้างอิทธิพล แบ่งขั้วความคิด และฉีกทึ้งสังคมออกเป็นชิ้น ๆ สังคมหลายชาติพันธุ์และหลายศาสนา เช่น สิงคโปร์ จะมีความเปราะบางเป็นพิเศษ

ด้วยเหตุนี้ สิงคโปร์จึงใช้แนวทางระดับชาติสำหรับยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางไซเบอร์ หน่วยงานความมั่นคงทางไซเบอร์แห่งสิงคโปร์ที่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนในประเทศและหน่วยงานด้านกลาโหมทำงานอย่างใกล้ชิดกับภาคเอกชน เพื่อปกป้องเครือข่ายและโครงสร้างพื้นฐานทางข้อมูลที่สำคัญ

ยิ่งไปกว่านั้น ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนยังช่วยให้องค์กรด้านกลาโหมและการทหารได้ใช้ประโยชน์จากโอกาสที่ได้มาจากเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มความสามารถและประสิทธิภาพ การดำเนินการดังกล่าวจะช่วยให้องค์กรด้านกลาโหมได้ขยายกลุ่มผู้มีความสามารถ ได้แลกเปลี่ยนความคิดและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพของทรัพยากรเพื่อจัดการกับความท้าทายด้านเศรษฐกิจและสังคมร่วมกันได้

ทหารสิงคโปร์ ไทย และสหรัฐฯ เกลี่ยคอนกรีตที่โรงเรียนไทยในระหว่างการฝึกคอบร้าโกลด์ จ.อ. จูลิโอ ริเวอรา/กองทัพเรือสหรัฐฯ

ความร่วมมือระดับพหุภาคี

ประการที่สาม เมื่อพิจารณาจากลักษณะแบบข้ามชาติของภัยคุกคามที่กำลังเกิดขึ้น ความร่วมมือระดับพหุภาคีที่มีมากขึ้นจะเป็นกุญแจสำคัญในการจัดการกับภัยคุกคามได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในการสนับสนุนหน่วยงานพลเรือน องค์กรด้านกลาโหมอาจมีการทำงานร่วมกันเพื่อส่งเสริมกฎ บรรทัดฐาน และหลักการร่วมในด้านไซเบอร์ ข้อมูล ปัญญาประดิษฐ์ และด้านอื่น ๆ ที่เกิดขึ้น ในภาคกลาโหม กองทัพอยู่ในระดับที่เหมาะสมจะใช้ประโยชน์จากความสัมพันธ์ที่มีอยู่และเครือข่ายที่มีร่วมกับพันธมิตรระหว่างประเทศเพื่อรับมือกับความท้าทายด้านความมั่นคงข้ามชาติ ดังนั้น เราจึงขอสนับสนุนให้พันธมิตรของเราในภูมิภาคและนอกภูมิภาคใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มต่าง ๆ อย่างเต็มที่ เช่น การประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมประจำสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือ เอดีเอ็มเอ็ม และคณะทำงานของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ

สิงคโปร์เป็นผู้สนับสนุนความร่วมมือระดับพหุภาคีอย่างแข็งขันมาโดยตลอดเพื่อส่งเสริมสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาค ซึ่งสอดคล้องกับความสนใจของเราที่ต้องการส่งเสริมความสงบเรียบร้อยที่เปิดกว้างและเป็นไปตามกฎระเบียบ เรายังคงสร้างเครือข่ายที่มีอยู่อย่างต่อเนื่องเพื่อยกระดับความร่วมมือทางทหารเชิงปฏิบัติในขอบเขตที่สำคัญต่าง ๆ ด้วยประเด็นนี้และเพื่อเป็นการรับมือกับภัยคุกคามในด้านไซเบอร์และข้อมูลอย่างทันท่วงที ใน พ.ศ. 2564 เราจึงได้ประกาศว่าสิงคโปร์จะจัดตั้งศูนย์รวมความเป็นเลิศด้านความมั่นคงทางไซเบอร์และข้อมูลของการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอาเซียน ศูนย์ดังกล่าวจะส่งเสริมการแบ่งปันและการวิจัยด้านข้อมูลเพื่อช่วยให้ภูมิภาคนี้ได้ทำความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับมัลแวร์ทางไซเบอร์ รวมถึงข้อมูลที่ผิดพลาดและการบิดเบือนข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับด้านกลาโหมให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ในการก้าวไปข้างหน้า สิ่งสำคัญคือทุกองค์กรด้านกลาโหมต้องสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งของความร่วมมือเชิงปฏิบัติภายในภูมิภาค และมองหาโอกาสที่จะสร้างความร่วมมือในด้านใหม่ ๆ รวมถึงด้านที่กำลังเกิดขึ้น

การส่งเสริมมิตรภาพ

ปัจจุบัน การที่ประเทศต่าง ๆ จะร่วมมือกันจัดการกับปัญหาที่มีร่วมกันนั้นมีเหตุผลสนับสนุนมากกว่าที่เคย ผมหวังว่ากองทัพจะพิจารณาวิธีการต่าง ๆ ในการปรับตัวและรับมือกับความท้าทายด้านความมั่นคงที่ขยายตัวมากขึ้นเช่นกัน

ประเทศต่าง ๆ ก็เป็นเหมือนมิตรที่อาจมีการแบ่งปันผลประโยชน์และมุมมองร่วมกัน ในขณะเดียวกัน แต่ละประเทศอาจไม่เห็นพ้องต้องกันในประเด็นต่าง ๆ ได้ทุกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการเดิมพันด้วยผลประโยชน์ที่ขัดแย้งกันของประเทศ การระงับข้อพิพาทโดยสันติต้องมีผู้นำที่เปิดกว้างและยินดีที่จะพูดคุยหารือถึงความแตกต่าง นี่คือจุดที่ซึ่งความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นที่คุณสร้างขึ้นร่วมกับประเทศพันธมิตร อันเป็นเสียงที่คุ้นเคยอีกฟากของปลายสายโทรศัพท์ หรือในบริบทปัจจุบันอาจเรียกได้ว่าเป็นใบหน้าที่คุ้นเคยอีกด้านหนึ่งของหน้าจอ สามารถสร้างความแตกต่างที่ยิ่งใหญ่ได้

นี่คือคุณค่าระยะยาวของโครงการเอเชียแปซิฟิกสำหรับเจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงที่มีขึ้นเพื่อเสริมสร้างโครงสร้างความมั่นคงในภูมิภาคของเรา โดยการส่งเสริมมิตรภาพและความร่วมมือในหมู่เจ้าหน้าที่ทหาร o

นายเฮง ชี ห่าว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอาวุโสแห่งสิงคโปร์ ได้กล่าวบรรยายนี้ในระหว่างการจัดงานโครงการเอเชียแปซิฟิกสำหรับเจ้าหน้าที่ทหารระดับสูง ครั้งที่ 22 เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2564 ซึ่งจัดขึ้นแบบเสมือนจริงโดยวิทยาลัยนานาชาติศึกษา เอส. ราชารัตนัมของสิงคโปร์ โดยมีการเรียบเรียงเนื้อหาเพื่อให้เหมาะสมกับการนำเสนอของ ฟอรัม

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button