ปัญหาหลักสภาพภูมิอากาศอินโดแปซิฟิกเรื่องเด่น

ภัยคุกคาม ด้านความมั่นคง

การให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในยุทธศาสตร์การป้องกันประเทศ

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

อินโดแปซิฟิกอันกว้างใหญ่ถือเป็นแนวหน้าของความท้าทายทางสภาพภูมิอากาศที่สำคัญ ซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้ง ความไม่มั่นคง และการบังคับย้ายถิ่นฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงในทะเลและมหาสมุทรก่อให้เกิดภัยคุกคามด้านความมั่นคงที่เพิ่มมากขึ้น

“ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้น เช่น ความไม่มั่นคงด้านอาหารและน้ำที่เพิ่มขึ้น การบังคับย้ายถิ่นฐานและการพลัดถิ่น การรับมือกับภัยพิบัติและการฟื้นตัวที่ไม่เป็นไปตามคาดการณ์ และผลกระทบทางเศรษฐกิจในวงกว้าง อาจทำให้ช่องโหว่ด้านความมั่นคงที่มีอยู่ มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำลายขีดความสามารถในการรับมือ ปลุกปั่นความไม่พอใจ รวมทั้งทำให้ความตึงเครียดและความเปราะบางเลวร้ายลง” ตามรายงานของสภาทหารระหว่างประเทศว่าด้วยสภาพภูมิอากาศและความมั่นคงในหัวข้อ “สภาพภูมิอากาศและความมั่นคงในภูมิภาคอินโด-เอเชียแปซิฟิก” ที่เผยแพร่เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2563 “ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะมีผลต่อภูมิทัศน์ด้านความมั่นคงในภูมิภาคที่กำลังพัฒนา และมีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดความเสี่ยงทางภัยพิบัติใหม่ ๆ ซึ่งอาจเกิดขึ้นในรูปแบบที่คาดการณ์ได้ยาก”

ประชากรในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติมากกว่าประชากรที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคอื่นถึงห้าเท่า ตามรายงานของสภาทหารระหว่างประเทศว่าด้วยสภาพภูมิอากาศและความมั่นคง ซึ่งเป็นกลุ่มผู้นำทางทหารระดับอาวุโส ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงและสถาบันความมั่นคงที่ดำเนินงานเพื่อคาดการณ์ วิเคราะห์ และจัดการกับความเสี่ยงด้านความมั่นคงของสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป สภาทหารระหว่างประเทศว่าด้วยสภาพภูมิอากาศและความมั่นคงเปิดตัวที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ใน พ.ศ. 2562 เพื่อตอบสนองต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากผู้เชี่ยวชาญทางทหารในการแบ่งปันข้อมูลและแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดเพื่อจัดการกับปัญหาด้านความมั่นคงและมิติทางทหารเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

“โลกกำลังอยู่ในจุดหัวเลี้ยวหัวต่อสำหรับการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศของโลก … เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในด้านการรับรู้และการยอมรับที่เพิ่มขึ้นของมิติด้านความมั่นคงของสภาพภูมิอากาศ” ตามรายงานของสภาทหารระหว่างประเทศว่าด้วยสภาพภูมิอากาศและความมั่นคง ในหัวข้อ “รายงานสภาพภูมิอากาศและความมั่นคงของโลก พ.ศ. 2564” รายงานดังกล่าวระบุว่า “ถึงเวลาแล้วที่จะเปลี่ยนการรับรู้นั้นให้กลายเป็นการดำเนินการ ซึ่งขับเคลื่อนด้วยความรู้สึกที่เร่งด่วนระหว่างประเทศต่าง ๆ และผู้มีบทบาทที่สำคัญอื่น ๆ เพื่อรับมือกับความเสี่ยงด้านความมั่นคงทางสภาพภูมิอากาศ”

ผู้เชี่ยวชาญทางทหารแนะนำให้เสริมสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชนผู้มีบทบาทด้านกลาโหมและความมั่นคง ซึ่งตรวจสอบเกี่ยวกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งต่อสภาพแวดล้อมด้านความมั่นคง ผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพภูมิอากาศระบุว่า ผู้มีบทบาทเหล่านี้ควรได้รับมอบหมายให้พัฒนาแนวทางในการบูรณาการภัยคุกคามที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศเข้ากับนโยบายและการวางแผนทางกลาโหม รวมถึงปลูกฝังแนวทางเพื่อแบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดและใช้ประโยชน์จากความเชี่ยวชาญด้านความพร้อมรับมือ ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และการบรรเทาภัยพิบัติ

“เนื่องจากเป็นปัญหาด้านความมั่นคงที่ค่อนข้างใหม่และไม่ใช่ในรูปแบบเดิม ความร่วมมือระหว่างชุมชนด้านความมั่นคงในการทำความเข้าใจและรับมือกับภัยคุกคามด้านความมั่นคงทางสภาพภูมิอากาศ สามารถช่วยปรับปรุงการเตรียมความพร้อมสำหรับสภาพแวดล้อมด้านความมั่นคงที่เปลี่ยนแปลงไป” ตามรายงานของสภาทหารระหว่างประเทศว่าด้วยสภาพภูมิอากาศและความมั่นคงแห่งภูมิภาคอินโด-เอเชียแปซิฟิก

นายเซอร์รังเจล วิปส์ จูเนียร์ ประธานาธิบดีแห่งปาเลา ต้อนรับผู้เข้าร่วมการประชุมว่าด้วยมหาสมุทรของเราในปาเลาเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2565 กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ

ไม่มีเวลาให้รออีกต่อไป

กลุ่มประเทศระดับภูมิภาคใช้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นหัวข้อหลักในการหารือเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งชาติและความร่วมมือข้ามชาติมาเป็นเวลานาน เช่น การประชุมหมู่เกาะแปซิฟิกได้ทำงานเพื่อรักษากระบอกเสียงที่เข้มแข็งและร่วมมือกันของ 18 ประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิกที่ทำให้เกิดการประชุมเจรจาต่อรองเกี่ยวกับทรัพยากรเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

“ผู้นำการประชุมหมู่เกาะแปซิฟิกตระหนักว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นภัยคุกคามหนึ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในภูมิภาคของเรา” นายเฮนรี พูนา เลขาธิการการประชุมหมู่เกาะแปซิฟิก กล่าวในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 ที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2564 “แม้ว่าจะมีความคืบหน้าในการเจรจา แต่จำเป็นต้องทำให้ได้มากกว่านี้”

การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 จบลงด้วยการที่ผู้นำระดับโลกกว่า 100 คนให้คำมั่นสัญญาว่าจะยุติการตัดไม้ทำลายป่าภายใน พ.ศ. 2573 เพื่อชะลอการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประเทศผู้ลงนามที่อยู่ในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก ได้แก่ ออสเตรเลีย ภูฏาน บรูไน จีน ฟิจิ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เนปาล นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ ศรีลังกา สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม แถลงการณ์ระบุว่า บรรดาผู้ลงนามได้ถือว่าคำมั่นสัญญาดังกล่าวจำเป็นต่อการบรรลุเป้าหมายของข้อตกลงปารีส ซึ่งเป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่ได้รับการรับรองโดย 196 ฝ่ายใน พ.ศ. 2558 เพื่อจำกัดภาวะโลกร้อนไม่ให้สูงขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส

การประชุมว่าด้วยมหาสมุทรของเราเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2565 ได้จัดทำแผนปฏิบัติการ 6 ประเด็นเพื่อต่อสู้กับผลกระทบร้ายแรงต่อแหล่งน้ำของโลกและได้รับคำมั่นสัญญามากกว่า 400 รายการ ซึ่งคิดเป็นมูลค่า 1.635 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 6 แสนล้านบาท) จากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกเพื่อปกป้องสุขภาพและความมั่นคงของมหาสมุทร

“กลุ่มประเทศหมู่เกาะถือเป็นแนวหน้าของมหาสมุทรคู่และความท้าทายด้านสภาพอากาศ” นายเซอร์รังเจล วิปส์ จูเนียร์ ประธานาธิบดีแห่งปาเลา ซึ่งร่วมเป็นเจ้าภาพการประชุมกับนายจอห์น เคอร์รี่ ทูตพิเศษด้านสภาพภูมิอากาศของนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าว “ด้วยการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ปาเลาไม่เพียงแต่สามารถแสดงให้ทั่วโลกเห็นว่าเราตกอยู่ในความเสี่ยงต่อวิกฤตเหล่านี้มากเพียงใด แต่ยังแสดงให้เห็นถึงวิธีแก้ไขปัญหามากมายในปัจจุบันหากเราปรับใช้วิธีการต่าง ๆ ดังกล่าว”

นายวิปส์เรียกภัยคุกคามที่ประเทศในภูมิภาคแปซิฟิกต้องเผชิญว่าเป็นความจริง โดยกล่าวว่าจำเป็นต้องมีการประสานงานร่วมกันเพื่อพลิกสถานการณ์

“ชุมชนมหาสมุทรและชุมชนชายฝั่งได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” นายวิปส์กล่าว และขอให้ชาวปาเลารวมถึงผู้คนทั่วโลกเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาดังกล่าว “ความสัมพันธ์ของเรากับมหาสมุทรนั้นมีความเป็นส่วนตัวอย่างมาก มหาสมุทรคือบ้านของเรา คือสายใยชีวิตของเรา คือสิ่งที่หล่อหลอมตัวตนของเรา”

นายเคอร์รี่เน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของสหรัฐฯ ในการเอาชนะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มหาสมุทรเป็น “ตัวควบคุมอุณหภูมิสภาพภูมิอากาศที่ยอดเยี่ยม” นายเคอร์รี่กล่าว “ความมุ่งมั่นเหล่านี้ช่วยจัดการกับภัยคุกคามบางส่วนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดต่อมหาสมุทรในเวลานี้” นายเคอร์รี่กล่าว “ความมุ่งมั่นเหล่านี้จัดการกับมลพิษจากพลาสติก การทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ตลอดจนวิกฤตสภาพภูมิอากาศ โดยไม่ใช่เพียงคำพูด แต่เป็นการลงมือทำ”

นับตั้งแต่ พ.ศ. 2557 เป็นต้นมา การประชุมมหาสมุทรของเราได้ก่อให้เกิดความมุ่งมั่นดำเนินการมากกว่า 1,800 รายการ ซึ่งคิดเป็นมูลค่าประมาณ 1.08 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 4 ล้านล้านบาท)

การคาดการณ์ทางวิทยาศาสตร์ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจนถึง พ.ศ. 2583 จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงยิ่งขึ้นต่อประเทศต่าง ๆ รวมถึงเกาหลีเหนือ และประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตามรายงานการประมาณการของสภาข่าวกรองแห่งชาติสหรัฐฯ ช่องโหว่ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งภายในและเพิ่มความเสี่ยงต่อความไม่มั่นคงในประเทศที่กำลังพัฒนา รวมถึงประเทศหมู่เกาะขนาดเล็กทั่วทั้งมหาสมุทรแปซิฟิกอีกด้วย ตามรายงานเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2564

“ประเทศกำลังพัฒนามีแนวโน้มที่จะต้องปรับตัวให้เข้ากับความท้าทายต่าง ๆ ที่เกิดจากการทวีความรุนแรงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในวงกว้างมากขึ้น การบริหารจัดการน้ำที่ไม่มีประสิทธิภาพในประเทศกำลังพัฒนาจะเพิ่มความเสี่ยงต่อผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศ ซึ่งบ่อนทำลายการดำรงชีพและสุขภาพของประชาชน บางประเทศจะเผชิญกับโรคอุบัติใหม่หรือโรคที่มีความรุนแรงมากขึ้น ตลอดจนผลผลิตที่ลดลงจากวัตถุดิบทางการเกษตรที่มีอยู่เดิม” ตามรายงานที่มีชื่อว่า “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการตอบสนองระหว่างประเทศที่เพิ่มความท้าทายต่อความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ จนถึง พ.ศ. 2583” “นอกจากนี้ ผู้ก่อความไม่สงบและผู้ก่อการร้ายอาจได้รับประโยชน์ เราประเมินว่าประเทศส่วนใหญ่ที่อัลกออิดะห์หรือรัฐอิสลามแห่งอิรักและซีเรีย หรือไอซิสมีส่วนร่วมอยู่นั้นตกอยู่ในความเสี่ยงสูงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”

หลักฐานแสดงให้เห็นว่าภัยพิบัติทางธรรมชาติสามารถเป็นจุดเริ่มต้นของการระบาดในการก่อการร้าย ตามรายงานที่ระบุใน “วาระการเปลี่ยนแปลง พ.ศ. 2565: การกำหนดอนาคตที่แตกต่างให้กับประเทศของเรา” ซึ่งเป็นงานวิจัยที่ตีพิมพ์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 โดยสถาบันนโยบายเชิงยุทธศาสตร์ของออสเตรเลีย ซึ่งรายงานตั้งข้อสังเกตว่า การก่อการร้ายในศรีลังกาและประเทศไทยพุ่งสูงขึ้นหลังจากที่เกิด
สึนามิในมหาสมุทรอินเดียเมื่อ พ.ศ. 2547

“สภาพอากาศที่ร้อนขึ้นจะทำให้เกิดการหยุดชะงักทางเศรษฐกิจและสังคมในภูมิภาคของเราอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศต่าง ๆ เช่น อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ที่มีช่องโหว่ทางเศรษฐกิจสังคมที่สำคัญ” ตามรายงานของสถาบันนโยบายเชิงยุทธศาสตร์ของออสเตรเลีย

อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์คิดเป็นร้อยละ 90 ของประชากรที่มีความเป็นอยู่ต่ำกว่าเส้นแบ่งความยากจนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตามข้อมูลของสถาบันนโยบายเชิงยุทธศาสตร์ของออสเตรเลีย รายงานดังกล่าวระบุว่า การจ้างงานทั่วทั้งภูมิภาคอยู่ในภาคส่วนที่ไม่เป็นทางการ โดยไม่มีเครือข่ายความปลอดภัยทางสังคมอย่างเป็นทางการที่จะช่วยสนับสนุนประชากรจำนวนมากที่พลัดถิ่นจากภัยพิบัติ

“ความเหลื่อมล้ำกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และความตึงเครียดทางชาติพันธุ์และศาสนาก่อนหน้านี้ได้นำไปสู่อุบัติภัยครั้งใหญ่ของการใช้ความรุนแรง ขบวนการแบ่งแยกดินแดน และการก่อการร้าย” ตามรายงานของสถาบันนโยบายเชิงยุทธศาสตร์ของออสเตรเลีย “มีแนวโน้มว่าการหยุดชะงักของสภาพภูมิอากาศจะทำให้เหตุการณ์และการโจมตีของผู้ก่อการร้ายในภูมิภาคลดลง”

ชายคนหนึ่งเดินผ่านบ้านร้างหลังจากที่ประสบภัยน้ำท่วมเนื่องจากระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นในจังหวัดชวาตอนกลาง ประเทศอินโดนีเซีย ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

ผลกระทบทางเศรษฐกิจ

สำนักงานเลขาธิการโครงการสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคแปซิฟิก ซึ่งเป็นโครงการริเริ่มร่วมที่ดำเนินการในซามัวและเข้าร่วมโดยสถาบันระหว่างประเทศต่าง ๆ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้ให้ความสำคัญกับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมต่อการดำรงชีวิตและมรดกทางวัฒนธรรมของแปซิฟิกตั้งแต่ทศวรรษ 1970 (พ.ศ. 2513-2522) สำนักงานเลขาธิการโครงการสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคแปซิฟิกระบุใน “แผนยุทธศาสตร์ประจำ พ.ศ. 2560 – 2569” ว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศชายฝั่งและป่าไม้ มหาสมุทร แหล่งน้ำจืด และความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชุมชนประเทศแผ่นดินต่ำขนาดเล็ก ซึ่งมีระดับน้ำทะเลสูงขึ้นและรูปแบบของสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงก่อให้เกิดการหยุดชะงักทางสังคมและเศรษฐกิจ

“ประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิกกำลังพยายามสร้างสมดุลระหว่างความจำเป็นและความปรารถนาทางเศรษฐกิจของประชากรที่เพิ่มขึ้นด้วยการรักษาสภาพแวดล้อมที่ดีและระบบธรรมชาติ” ตามรายงานเกี่ยวกับแผนของสำนักงานเลขาธิการโครงการสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคแปซิฟิก “ความสามารถของเราในการจัดการกับภัยคุกคามเหล่านี้ร่วมกันเพื่อสร้างความร่วมมือและวิธีแก้ปัญหาที่ยั่งยืน ซึ่งทำให้เกิดโอกาสที่ได้รับจากบริการด้านระบบนิเวศและความมุ่งมั่นทางการเมืองที่มั่นคง จะเป็นตัวกำหนดอนาคตของประชากรในหมู่เกาะแปซิฟิก”

ประเด็นสำคัญของสำนักงานเลขาธิการโครงการสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคแปซิฟิกจนถึง พ.ศ. 2569 ได้แก่ ความพร้อมกับรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปกป้องระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ การจัดการขยะและการควบคุมมลพิษ ตลอดจน
ธรรมาภิบาลด้านสิ่งแวดล้อม แม้ว่าภาวะการระบาดใหญ่ของโควิด-19 จะก่อให้เกิดความท้าทายในการทำงานร่วมกันและการดำเนินการตามแผน แต่ผู้นำของสำนักงานเลขาธิการโครงการสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคแปซิฟิกก็ยังคงมีความมุ่งมั่นต่อภารกิจนี้

“ความกลัว และความไม่แน่นอนต่อสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นนั้นถือเป็นเรื่องธรรมดา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราได้เห็นแล้วว่าสิ่งต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างมากในช่วงสองปีที่ผ่านมา อันเป็นผลมาจากภาวะการระบาดใหญ่” นายโคสี ลาทู ผู้อำนวยการทั่วไปของสำนักงานเลขาธิการโครงการสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคแปซิฟิก ระบุในข้อความบนเว็บไซต์ขององค์กรเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2565 “ถึงอย่างไร เราก็ยังยืนหยัดเช่นเดิม ในช่วงเวลาที่ไม่แน่นอนอย่างปัจจุบันนี้ เราจำเป็นต้องพร้อมรับมือ เราต้องไม่ยอมแพ้ เรามีหน้าที่ต้องปรับตัว เปลี่ยนแปลง และอดทน”

นายลาทูและสมาชิกคนอื่น ๆ กล่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่การพูดคุยจะเปลี่ยนผ่านไปสู่การดำเนินการอย่างแท้จริง และหลายหน่วยงานก็เริ่มดำเนินการแล้ว

“รัฐบาล สถาบัน และบุคคลที่เกี่ยวข้องต่างกำลังดำเนินการเพื่อลดความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีการวางนโยบายใหม่ ๆ เช่น ระบบการดูแลสุขภาพที่ได้รับการปรับปรุงและวิธีการแก้ปัญหาเชิงนวัตกรรมเพื่อรับมือกับผลกระทบเชิงลบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ตามรายงานของสถาบันเอเชียโซไซตีแห่งสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นเครือข่ายระดับโลกที่สนับสนุนการเจรจาและเสริมสร้างความร่วมมือในสวิตเซอร์แลนด์และเอเชีย “แต่ก็ยังมีปัญหาอีกมากที่ยังคงต้องแก้ไขต่อไป และไม่มีเวลาให้รออีกแล้ว”

มีเพียงกองหินกองเล็ก ๆ เท่านั้นที่ยังคงอยู่เหนือสายน้ำในช่วงน้ำลงบนเนินที่ไม่มีคนอาศัยอยู่บนเกาะมาจูโรในหมู่เกาะมาร์แชลล์ เนื่องจากน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นกัดเซาะแนวชายฝั่งและบ่อน้ำจืดมีการปนเปื้อน ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

การขาดการดำเนินการ

ในขณะที่กองทัพส่วนใหญ่ทั่วโลกปรับตัวเพื่อจำกัดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แต่กองทัพปลดปล่อยประชาชนยังคงไม่แม้แต่จะเอ่ยถึงยุทธศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศของตน

นายสี จิ้นผิง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของจีน โดยเริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2573 และจะบรรลุการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายใน พ.ศ. 2603 “แต่ผู้นำอาวุโส นักวิชาการ และนักยุทธศาสตร์ของกองทัพปลดปล่อยประชาชนไม่ค่อยพูดถึงเรื่องนี้เท่าใดนัก” ตามรายงานของดีเฟนส์วันเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2565

“แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดของกองทัพจีนและกองกำลังเกี่ยวกับภัยคุกคามด้านความมั่นคงรูปแบบใหม่ แต่การรับมือกับผลกระทบยังไม่ปรากฏว่าเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ความมั่นคง” ตามรายงานของดีเฟนส์วัน

กองทัพปลดปล่อยประชาชนยอมรับอย่างเงียบ ๆ ในสมุดปกขาวของกระทรวงกลาโหมเมื่อ พ.ศ. 2553 ว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศถือเป็นความกังวลด้านความมั่นคง หลังจากที่ต่อต้านการดำเนินการดังกล่าวมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ ตามรายงานของบล็อกสถาบันนิติสงคราม

เมื่อ พ.ศ. 2562 สถาบันนิติสงครามตั้งข้อสังเกตว่า “การที่จีนเปลี่ยนจากผู้กังขาไปสู่ผู้ที่มีความเชื่อมั่นอย่างแท้จริงเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความมั่นคงนั้น โดยส่วนใหญ่แล้วไม่ใช่เพราะผู้นำเชื่อมั่นในทันทีว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเกิดขึ้นจริง” “จีนได้รับผลกระทบจากอุทกภัยที่เลวร้ายลง ภัยแล้งที่รุนแรงขึ้น ผลผลิตทางการประมงที่ลดลง และการเปลี่ยนแปลงทางนิเวศวิทยาอื่น ๆ รัฐบาลเข้าใจมาโดยตลอดว่า สภาพภูมิอากาศที่ร้อนขึ้นจะเป็นภัยคุกคามต่อการผลิตทางการเกษตรของประเทศ ซึ่งทำให้เมืองที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจเสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ และทำให้แม่น้ำหลายสายของประเทศแห้งลงในที่สุด”

ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในเมืองใหญ่ ๆ ของจีนส่วนใหญ่ตั้งอยู่ตามชายฝั่งตะวันออกและเมืองตามหุบเขาที่มีแม่น้ำไหลผ่าน ตามรายงานของดีเฟนส์วัน หากอ้างอิงตามรูปแบบประชากร งานวิจัยชี้ให้เห็นว่าน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นจะทำให้ประชากรชาวจีนต้องพลัดถิ่นอย่างน้อย 30 ล้านคนภายใน พ.ศ. 2593 ตามรายงานของดีเฟนส์วัน นอกจากนี้ สิ่งอำนวยความสะดวกและกองกำลังของกองทัพปลดปล่อยประชาชนยังมีความเสี่ยงต่อการพลัดถิ่น ซึ่งรวมถึงการก่อตั้งสิ่งก่อสร้างเหล่านั้นบนแนวปะการังเทียมในทะเลจีนใต้

“กองทัพปลดปล่อยประชาชนได้จัดตั้งคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพภูมิอากาศเมื่อ 13 ปีที่แล้ว แต่ดูเหมือนว่าจะไม่มีการดำเนินการใด ๆ เลย ไม่มีการกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในสมุดปกขาวของกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2562 ของกองทัพปลดปล่อยประชาชน และกองทัพปลดปล่อยประชาชนเองก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับภัยคุกคามจากภัยพิบัติด้านสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกอบรมหรือมุมมองเชิงยุทธศาสตร์” กระทรวงกลาโหมรายงาน “ยังไม่มีการอภิปรายสาธารณะเกี่ยวกับการฝึกซ้อมหรือความพยายามที่จะต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมด้านความมั่นคงของจีน และการก่อสร้างบนเกาะในทะเลจีนใต้ก็ไม่ได้มีท่าทีว่าจะชะลอตัวลงแต่อย่างใด แม้ว่าในความเป็นจริงแล้วเมื่อน้ำแข็งละลาย สิ่งก่อสร้างหลายแห่งจะจมอยู่ใต้น้ำก็ตาม”

แม้ว่ากองทัพปลดปล่อยประชาชนและพรรคคอมมิวนิสต์จีนจะขาดความโปร่งใสในการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ แต่นักวิเคราะห์เชื่อว่านายสีต้องกังวลว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลกระทบต่อโครงการโครงสร้างพื้นฐานหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของเขา “บริษัทของจีน ประชาชน และรัฐเองก็กำลังเผชิญกับปัญหาด้านความมั่นคงที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศมากขึ้น เช่น น้ำท่วมและความแห้งแล้งอย่างรุนแรง การอพยพ และการประท้วงเกี่ยวกับการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับการสนับสนุนจากจีน” ตามรายงานของสถาบันนิติสงคราม “ไม่ใช่เรื่องเกินจริงที่จะกล่าวว่า การตอบสนองของจีนต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร น้ำ และน้ำท่วม จะส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อประชากรหลายพันล้านคนในทศวรรษหน้า”

นอกจากนี้ นักสิ่งแวดล้อมยังกล่าวโทษจีนที่สร้างเขื่อนขึ้นตามแนวแม่น้ำโขง ซึ่งก่อให้เกิดน้ำท่วมและภัยแล้งครั้งประวัติศาสตร์ที่ส่งผลเสียต่อชาวประมง รวมถึงส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชนที่ต้องพึ่งพาแม่น้ำโขงในด้านอาหารและรายได้ “ไม่ว่าฝนจะตกลงมามากเพียงใดในช่วงฤดูฝน แต่การจำกัดการไหลของน้ำในเขื่อนต้นน้ำก็ได้ทำลายผลสำเร็จทางนิเวศวิทยาของแม่น้ำโขงและทรัพยากรธรรมชาติจากแม่น้ำที่ประชากรนับสิบล้านคนพึ่งพาอาศัยอยู่” นายไบรอัน ไอเลอร์ ผู้อำนวยการโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของศูนย์สติมสัน กล่าวกับเว็บไซต์ข่าวดอยช์เวลล์ของเยอรมนี

รัฐบาลจีนปฏิเสธว่าเขื่อนเป็นสาเหตุที่ทำให้การประมงพังทลายลง อีกทั้งยังปฏิเสธเกี่ยวกับปัญหาอื่น ๆ ที่อยู่ปลายน้ำ ตามรายงานของเอ็นบีซี นิวส์ ในช่วงปลาย พ.ศ. 2563 จีนได้สร้างแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับการไหลของแม่น้ำตลอดทั้งปี นักวิจารณ์กล่าวว่า การแบ่งปันข้อมูลไม่ได้เปลี่ยนแปลงความเป็นจริงเกี่ยวกับการใช้ชีวิตในภูมิภาคนี้และผลกระทบที่ยังคงเกิดขึ้นจากเขื่อน

“เราทราบถึงข้อตกลงและคำมั่นสัญญาของจีนที่จะแบ่งปันข้อมูล แต่สิ่งเหล่านั้นไม่เพียงพอ” นางสาวเพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์ขององค์กรแม่น้ำนานาชาติ ซึ่งเป็นองค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ตั้งอยู่ในแคลิฟอร์เนีย กล่าวกับดอยช์เวลล์ “มีใครบางคนบอกว่า การเปิดหรือปิดก๊อกน้ำนั้นไม่ได้ช่วยอะไรเลย แม่น้ำโขงและผู้คนในบริเวณนั้นต้องการการไหลของน้ำตามธรรมชาติและการไหลเวียนตามระบบนิเวศเพื่อคงไว้ซึ่งประโยชน์จากธรรมชาติ”

ภัยคุกคามในปัจจุบัน

เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2564 ฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีไบเดนเผยถึงแผนการโดยละเอียดสำหรับหน่วยงานรัฐบาลสหรัฐฯ ในการดำเนินการตามแผนการปรับตัวและเตรียมความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีเป้าหมายคือ รวบรวมความพร้อมด้านสภาพภูมิอากาศในภารกิจและโครงการในทุกระดับของรัฐบาล รวมถึงกองทัพ

“การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นภัยคุกคามในปัจจุบันต่อความมั่นคงของประเทศ และกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ต้องดำเนินการอย่างรวดเร็วและกล้าหาญเพื่อรับมือกับความท้าทายนี้ ตลอดจนเตรียมพร้อมสำหรับความเสียหายที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้” นายลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ กล่าวในแถลงการณ์เกี่ยวกับแผนการปรับตัวของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ “เราไม่ได้มุ่งหมายเพียงแค่จะปรับตัวให้เข้ากับความหายนะของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเท่านั้น แต่เราจะทำงานร่วมกับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกเพื่อรับมือกับภัยคุกคามนี้”

นายออสตินเรียกการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศว่าเป็นแรงขับเคลื่อนที่ไม่เสถียร ซึ่งจำเป็นต้องมีภารกิจใหม่ ๆ และสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานที่เปลี่ยนแปลงไป เหตุการณ์สภาพอากาศรุนแรงส่งผล
กระทบต่อความพร้อมของกองทัพและทำให้สูญเสียทรัพยากรต่าง ๆ ไป นายออสตินกล่าว ในอนาคต กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ จะดำเนินงานครอบคลุมถึงผลกระทบด้านความมั่นคงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในการวิเคราะห์ความเสี่ยง การพัฒนายุทธศาสตร์ และการวางแผนทั้งหมด นอกจากนี้ยังรวมความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศเข้ากับการสร้างแบบจำลอง การจำลองสถานการณ์ และการทำสงครามอีกด้วย

“การพัฒนาประมาณการทางข่าวกรองที่ลื่นไหลและเครื่องมือในการตัดสินใจเกี่ยวกับอนาคตที่ไม่แน่นอนตามธรรมชาติ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เฉพาะเจาะจงบางอย่างอาจเกิดขึ้นได้แต่ก็ยังไม่ทราบโดยแน่ชัด ต้องใช้ทั้งวินัยและความยืดหยุ่น การวิเคราะห์ภัยคุกคาม การสร้างแบบจำลองและการจำลอง การทำสงคราม ตลอดจนการทดลองจะช่วยยกระดับความเข้าใจของกระทรวงกลาโหมเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานทั้งในปัจจุบันและอนาคต” ตามที่ระบุในแผนการปรับตัวด้านสภาพภูมิอากาศของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ พ.ศ. 2564 “การใช้ปัญญาประดิษฐ์เพื่อพัฒนารูปแบบการคาดการณ์และเครื่องมือที่ช่วยสนับสนุนการตัดสินใจสำหรับกระบวนการตัดสินใจในการดำเนินงานและธุรกิจ จะช่วยแจ้งให้ทราบถึงการวางแผนและการดำเนินงานในสหรัฐฯ และต่างประเทศ”

แผนของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เรียกร้องให้ร่วมมือกับพันธมิตรและประเทศอื่น ๆ ในด้านเทคโนโลยีใหม่ ๆ โดยการสร้างขีดความสามารถของประเทศพันธมิตรเพื่อตอบสนองต่ออันตรายที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการทำงานร่วมกับชุมชนที่อยู่ติดกับกองบัญชาการทางทหารของสหรัฐฯ เพื่อสร้างความพร้อมในการรับมือร่วมกันและยกระดับระบบนิเวศที่ใช้ร่วมกัน

“การวางแผนสำหรับปัจจุบันและในอนาคตเป็นหน้าที่ของเรา” นายออสตินกล่าว “และเราคงจะไม่สนใจปัญหานี้หากเราไม่คิดว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลกระทบต่อสิ่งที่เราทำอย่างไร”

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button